Skip to main content
sharethis

เครือข่าย #Saveนาบอน ประกาศยุติการชุมนุมพร้อมเดินทางกลับ จ.นครศรีธรรมราช หลังบรรลุข้อตกลง 4 ข้อกับรัฐบาลให้จัดทำ SEA ใหม่ ตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อศึกษาผลกระทบ ระงับการออกใบอนุญาตสร้างโรงงานไฟฟ้าขยะ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ด้าน ‘เรียง สีแก้ว’ ตัวแทนกลุ่มย้ำจะจับตาดูภาครัฐอย่างใกล้ชิด ขณะที่ EnLaw เผยเอกสารฉบับเต็ม ‘ประยุทธ์’ สั่งว่า “บูรณาการแก้ปัญหาต่อไป ร่วมมือทุกหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กฎหมาย ทุกหน่วยงาน”

 

24 ธ.ค. 2564 สำนักข่าวกรีนนิวส์รายงานว่าเครือข่าย #Saveนาบอน ประกาศยุติการชุมนุมแล้วในวันนี้ (24 ธ.ค. 2564) เวลา 17.45 น. หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามตอบรับข้อเรียกร้อง 4 ข้อของทางกลุ่ม ทั้งยังลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการกลางจัดทำการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์ หรือ SEA (Strategic Environmental Assessment) และสั่งระงับการเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้านาบอนแห่งที่ 1 และ 2 ระหว่างรอผล SEA

เรียง สีแก้ว ตัวแทนเครือข่าย #Saveนาบอน ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของ The Reporters ว่าหลังจากยุติการชุมนุมวันนี้ ทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้เตรียมรถบัสไปส่งประชาชนชาว อ.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช ถึงบ้าน เช่นเดียวกับกรณีของพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น

เรียงกล่าวว่าผลการเจรจาเป็นไปตามข้อตกลงคือ นายกฯ ยินยอมให้มีการตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาโดยให้มีตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธาน และให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นเลขานุการ โดยมีตัวแทนประชาชนจาก อ.นาบอน เป็นเลขานุการร่วมอีก 1 คน หลังจากนั้น จะต้องมีการวางกรอบแผนการศึกษาในระดับยุทธศาสตร์ และต้องเปิดให้นักวิชาการ รวมถึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาว่าพื้นที่ อ.นาบอน มีความพร้อมมากน้อยแค่ไหนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล หรือโรงไฟฟ้าขยะกลางชุมชน นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะต้องระงับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขยะไว้ก่อน จนกว่าผลงานศึกษา SEA จะเสร็จสิ้น

หากผลการศึกษาปรากฎว่าพื้นที่ อ.นาบอน ไม่เหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าขยะจะต้องยุติโครงการทุกอย่าง รวมถึงยุติการทำแบบประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA (Environmental Impact Assessment) อีกด้วย แต่หากผลการศึกษาระบุว่าสามารถจัดตั้งโรงไฟฟ้าขยะได้ ก็ต้องมาทบทวนการจัดทำ EIA อีกครั้งให้มีมาตรการที่รัดกุมมากขึ้น เช่น มาตรการกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน และปรอท เป็นต้น นอกจากนี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและ จ.นครศรีธรรมราช ต้องเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวน 13 ครัวเรือนโดยด่วน ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดที่เครือข่าย #Saveนาบอน เสนอไปนั้นได้รับการตอบรับจากรัฐบาลทั้งหมด

ทั้งนี้ เรียงคาดว่าการตั้งคณะกรรมการกลางน่าจะเสร็จสิ้นในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. ปีหน้า และกระบวนการจัดทำ SEA น่าจะแล้วเสร็จประมาณ 1 ปีตามหลักสากล เพราะพื้นที่ไม่กว้างเท่า อ.จะนะ จ.สงขลา ที่มีความซับซ้อนเชิงพื้นที่มากกว่า จึงต้องใช้เวลาจัดทำ SEA นานกว่า อย่างไรก็ตาม เรียงเน้นย้ำว่าประชาชนในพื้นที่ อ.นาบอน จะจับตาดูและเพิ่มความเข้มข้นด้านการตรวจสอบและจัดทำ SEA ในชั้นคณะกรรมการ เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐบาลทำอะไรที่บิดพริ้วไปจากที่ตกลงกับประชาชนไว้

ต่อมา เวลา 19.25 น. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ทวีตรูปภาพหนังสือราชการจากปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ส่งถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุว่านายกฯ ได้ลงนามรับทราบ และมีคำสั่งให้ “บูรณาการแก้ปัญหาต่อไป ร่วมมือทุกหน่วยงานตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง กฎหมาย ทุกหน่วยงาน” โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวสรุปได้ว่านายฯ รับทราบข้อเสนอ 4 ข้อตามที่เครือข่าย #Saveนาบอน เสนอ ได้แก่ 1) ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับข้อเสนอและข้อเรียกร้องของประชาชนไปพิจารณาทบทวนการจัดทำ SEA และ EIA 2) ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพิจารณาอย่างเร่งด่วน เรื่องการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า 3) ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานและจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงบริษัทเจ้าของโครงการทั้ง 2 บริษัทไปชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน พร้อมช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 13 ครัวเรือน และ 4) จัดตั้งคณะกรรมการกลางซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อจัดทำ SEA

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net