ศุภมิตร ปิติพัฒน์: ระลึกถึงคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ได้ใกล้คุณสุรินทร์ถึงกับจะรู้ว่าท่านพอใจบทบาทไหนของท่านมากที่สุดในการทำงานให้แก่สาธารณะ แต่ผมเสียดายแทนวงวิชาการด้านรัฐศาสตร์และปรัชญาการเมืองของไทยที่เสียนักวิชาการที่มากด้วยความรู้ความสามารถคนหนึ่งให้แก่วงการเมือง ซึ่งจะเป็นเพราะข้อจำกัดตรงไหนก็ตามที ไม่ได้เปิดช่องให้ท่านแสดงบทบาทที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์อะไรได้มากนัก

บทบาทด้านการต่างประเทศของท่านกลับมีความโดดเด่นมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเป็นผู้ริเริ่มผลักดันการเปลี่ยนแปลงปทัสถานเดิมของอาเซียนอย่างจริงจัง ทั้งเมื่อตอนที่ท่านเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการอาเซียน

คุณสุรินทร์มองเห็นความสำคัญของอาเซียนที่จะช่วยให้ประเทศสมาชิกเพิ่มน้ำหนักของอำนาจต่อรองและอำนาจกำหนดผลในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น แต่พร้อมกันนั้นคุณสุรินทร์ก็เห็นว่าการจะทำให้เสียงและบทบาทของอาเซียนในเวทีโลกมีพลังขึ้นมาได้ จะอาศัยแต่เฉพาะปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่เป็นการขยายตัวเติบโตและบูรณาการเขตเศรษฐกิจเท่านั้นไม่เพียงพอ

ความเข้มแข็งของอาเซียนที่จะเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีภูมิภาคและเวทีโลกยังต้องอาศัยความเข้มแข็งของระบอบการเมืองภายในที่จะเกิดขึ้นได้จากการพัฒนาสภาวะทางการเมืองของประเทศสมาชิกในทางที่เป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิมนุษยชน ปกป้องเสรีภาพและความมั่นคงของประชาชน

เพื่อผลักดันประเทศสมาชิกอาเซียนให้มีพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางดังกล่าว คุณสุรินทร์สนับสนุนการเปลี่ยนปทัสถานของอาเซียนจากเดิมที่ยึดเคร่งครัดมาแต่แรกก่อตั้งในหลักการเคารพอธิปไตยและไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิกด้วยกัน มาเป็นปทัสถานที่คุณสุรินทร์เรียกว่า flexible engagement

ข้อเสนอเรื่อง flexible engagement ของท่านเน้นการเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันแสดงความคิดเห็นและความห่วงใยต่อสถานการณ์ภายในของประเทศสมาชิกได้อย่างเปิดกว้างและด้วยการเปิดใจรับฟังความเห็นต่อกิจการภายในของกันและกันอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องที่จะส่งผลกระทบระหว่างกันข้ามพรมแดนมาได้

ในความหมายแบบนี้ flexible engagement จึงเป็นปทัสถานสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใช้บริหารจัดการผลกระทบอันเกิดจากภาวะการขึ้นต่อกันและกัน (interdependence) ในเรื่องต่างๆ ที่จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ และหลีกเลี่ยงนัยที่จะทำให้เข้าใจว่าเป็นปทัสถานที่จะมุ่งเข้าไปแทรกแซงการเมืองภายในของประเทศอื่นซึ่งจะไม่มีประเทศไหนยอมเป็นแน่

ท่านเข้าใจอาเซียนในข้อนี้ดี การจะผลักดันปทัสถานใหม่จึงต้องใช้ภาษาการทูตให้ออกมาแนบเนียน และในเรื่องความแนบเนียนทางการทูต การเจรจา การพูดที่น่าฟังและน่ารับฟัง คุณสุรินทร์ไม่เป็นที่สองรองใคร

แต่เรื่องในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะหาการผลักดันเรื่องไหนของใครที่จะให้ผลสำเร็จคงอยู่ยั่งยืนนั้นยังต้องอาศัยองค์ประกอบและเงื่อนไขแวดล้อมอื่นๆ นอกเหนือจากความพยายามและการริเริ่มของบุคคลนั้น เป็นปัจจัยเกื้อหนุนอยู่อีกมาก ถึงแม้ไม่อาจสรุปได้ว่าคุณสุรินทร์เปลี่ยนปทัสถานของอาเซียนได้สำเร็จแค่ไหน หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่แน่ใจว่าจะเป็นความสำเร็จที่ยั่งยืน แต่ในประวัติศาสตร์ของประชาคมอาเซียนย่อมจะต้องกล่าวถึงคุณูปการอันเกิดจากการริเริ่มและความพยายามอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อยของคุณสุรินทร์ในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ปทัสถานใหม่ๆ เป็นกรอบการดำรงอยู่ร่วมกันระหว่างรัฐและระหว่างประชาชนในประชาคมอาเซียนเสมอไป

ถ้าแม้นว่าท่านจะไม่เลือกชีวิตการทำงานสาธารณะอย่างที่เลือกไปแล้ว แต่ตัดสินใจเลือกทำงานเป็นอาจารย์นักวิชาการต่อมา ผมเชื่อว่าผลงานวิชาการที่อาจารย์สุรินทร์ พิศสุวรรณจะผลิตออกมา ไม่ว่าจะในทางปรัชญาการเมือง หรือในประเด็นปัญหาสังคมการเมืองและรัฐศาสตร์ เช่นที่เกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลงานวิชาการเหล่านั้นน่าจะสร้างผลกระทบในวงกว้างได้ไม่เพียงในด้านยุทธศาสตร์และนโยบาย แต่ยังจะเป็นมรดกทางความคิดที่ดำรงอยู่ยืนนานในทางที่เอื้อและหนุนนำให้สภาวะสังคมการเมืองของไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่สนับสนุนเสรีภาพ มนุษยภาพ และการมีขันติธรรม อันเป็นคุณค่ารากฐานสำหรับการธำรงประชาธิปไตย และเป็นคุณค่าที่ท่านยึดถือเชื่อมั่นเป็นหลักการตลอดมา

เมื่อใดที่ผมเห็นคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณ ผมจะนึกถึงศาสตราจารย์ Judith Shklar อาจารย์ผู้สอนปรัชญาการเมืองให้แก่ท่านที่มหาวิทยาลัย Harvard ผู้ล่วงลับไปแล้วคู่กันเสมอ และเมื่อใดที่นึกถึงขึ้นมา ผมก็จะนึกถึง Liberalism of Fear ที่ท่านเสนอไว้พร้อมกันไปด้วย

เป้าหมายปลายทางของ Liberalism of Fear คือการหาทางให้มนุษย์ได้อยู่ในสังคมที่ปลอดจากความหวาดกลัวต่อความโหดร้ายทารุณที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกายและต่อจิตใจ ความกลัวในข้อนี้เป็นสากล ดังนั้น การหาทางสร้างสังคมที่มนุษย์เราทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ต้องหวาดกลัวความทารุณโหดร้ายจึงเป็นเป้าหมายที่มนุษย์ทุกคนต้องการ

ผมจึงขอลงท้ายบทระลึกถึงคุณสุรินทร์ พิศสุวรรณด้วยข้อเสนอของศาสตราจารย์ Shklar เกี่ยวกับ Liberalism of Fear ที่คุณสุรินทร์เห็นด้วยเป็นแน่ ดังการทำงานตลอดชีวิตของท่านได้หาทางผลักดันสภาวะที่มนุษย์จะอยู่ร่วมกันได้โดยปลอดจากความหวาดกลัวที่จะตกเป็นเหยื่อของการทารุณโหดร้าย ศาสตราจารย์ Shklar เสนอว่า

“...[L]iberalism of fear รับปกปักรักษาให้สิทธิที่เสมอภาคต่างๆ ได้รับการป้องกันอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย มันมิได้วางฐานของตัวมันเองบนความเข้าใจเรื่องสิทธิอย่างที่ถือว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่เห็นว่าสิทธิต่างๆ เป็นการอนุญาตและเป็นการมอบอำนาจกระทำการที่ประชาชนทั้งหลายต้องมีไว้เพื่อธำรงเสรีภาพของพวกเขาและเพื่อป้องกันพวกเขาจากการถูกละเมิดทำร้ายที่มาจากการใช้อำนาจในทางที่ผิด ระเบียบแบบพหุนิยมที่จัดสถาบันเพื่อแบ่งแยกศูนย์กลางอำนาจออกเป็นหลายส่วนและให้การรับรองสิทธิต่างๆ อย่างเป็นสถาบันเป็นเพียงคำบรรยายลักษณะสังคมการเมืองแบบเสรีนิยม แต่จำเป็นอย่างยิ่งด้วยที่มันจะต้องเป็นสังคมการเมืองประชาธิปไตย เพราะว่าถ้าหากปราศจากความเสมอภาคในอำนาจที่จะป้องกันและยืนยันถึงสิทธิของตนอย่างเพียงพอแล้ว เสรีภาพก็เป็นแต่เพียงความหวังเท่านั้น ถ้าปราศจากสถาบันต่างๆ ของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนและสถาบันตุลาการที่เป็นอิสระ มีความเป็นธรรม คนทั่วไปเข้าถึงได้ และเปิดให้อุทธรณ์คำตัดสินได้ และถ้าไม่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลากหลายเสียแล้ว เสรีนิยมก็จะตกอยู่ในอันตราย และเป้าหมายทั้งหมดของ liberalism of fear ก็คือการหาทางป้องกันไม่ให้เกิดผลลัพธ์แบบนั้นขึ้นมา ดังนั้น ก็เป็นเรื่องโดยชอบแล้วที่จะกล่าวว่าเสรีนิยมกับประชาธิปไตยจะต้องจับคู่แต่งงานกันและอยู่กินร่วมกันตลอดไปอย่างสัตย์ซื่อไม่มีนอกใจไปหาคนอื่น แต่มันเป็นการจับคู่แต่งด้วยเหตุผลทางการเมือง”

[...[L]iberalism of fear adopts a strong defense of equal rights and their legal protection. It cannot base itself upon the notion of rights as fundamental and given, but it does see them, as just those licenses and empowerments that citizens must have in order to preserve their freedom and to protect themselves against abuse. The institutions of a pluralist order with multiple centers of power and institutionalized rights is merely a description of a liberal political society. It is also of necessity a democratic one, because without enough equality of power to protect and assert one’s rights, freedom is but a hope. Without the institutions of representative democracy and an accessible, fair, and independent judiciary open to appeals, and in the absence of a multiplicity of politically active groups, liberalism is in jeopardy. It is the entire purpose of the liberalism of fear to prevent that outcome. It is therefore fair to say that liberalism is monogamously, faithfully, and permanently married to democracy-but it is a marriage of convenience.]

คุณสุรินทร์อาจไม่ได้ทิ้งผลงานความสำเร็จยิ่งใหญ่ แต่ปัญหาที่ท่านมุ่งหวังตั้งใจจะแก้และหาทางเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้มันดีขึ้นตลอดชีวิตการทำงานของท่านคือภารกิจที่ยิ่งใหญ่ เมื่อท่านจากไปแล้ว ก็เป็นเราที่จะต้องร่วมกันรับภารกิจนั้นมาสานต่อ.

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค ศุภมิตร ปิติพัฒน์

เกี่ยวกับผู้เขียน: รศ.ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เป็นหัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท