Skip to main content
sharethis

อดีตผู้สื่อข่าวประชาไทเผย การอยู่ภายใต้ความกลัวจนเคยชินอาจเป็นหนทางหายนะของสื่อมวลชน ขณะที่ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แค่อ่านรายงานการดำเนินคดีมาตรา 116 ก็ถูก กสทช. ตักเตือน ด้านประวิตร โรจนพฤกษ์ ระบุย้ำในงานเขียนทุกครั้งว่า เผด็จการทหารไม่มีความชอบธรรม


เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2560 มีเดีย อินไซด์ เอาท์ จัดงานเสวนาในหัวข้อ “การทำข่าวการเมือง – สิทธิมนุษยชน ในสถานการณ์ไร้สิทธิมนุษยชน” โดยมีผู้ร่วมสนทนาเป็นสื่อมวลชนทั้งหมด 3 คน คือ มุทิตา เชื้อชั่ง อดีตผู้สื่อข่าวประชาไท ผู้ได้รับรางวัล เอเอฟพี เคท เวบบ์ ประจำปี 2558 (Agence France-Presse Kate Webb) สำหรับการทำงานในสถานการณ์ที่ยากลำบากในภูมิภาคเอเชีย, นิติธร สุรบัณฑิตย์ ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวี ซึ่งได้รับรางวัลสื่อมวลชนเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2558 (Human Rights Media Awards) จากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สำหรับการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่คำนึงถึงการเคารพ ปกป้อง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้ได้รับรางวัลเสรีภาพสื่อนานาชาติประจำปี 2560 จากคณะกรรมการคุ้มครองสื่อ (CPJ's 2017 International Press Freedom Award) เพื่อเป็นเกียรติกับการยืนหยัดทำงานในวิชาชีพสื่อและต่อสู้กับอำนาจรัฐที่คุกคามเสรีภาพสื่อ

 

มุทิตา เชื้อชั่ง: ภาวะไร้สิทธิเสรีภาพอาจเป็นหนทางหายนะของสื่อมวลชน

 

สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากความเคยชินคือความสิ้นหวัง และหากเราสิ้นหวังเราก็จะไม่มีแรงที่จะทำอะไร ไม่มีแรงที่จะคิดอะไร มันกดเรานานจนเราชิน ทั้งหมดนี้คือหนทางหายนะสำหรับอาชีพนี้

 

มุทิตา เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า ปัจจุบันเธอไม่ได้ทำงานประจำเป็นผู้สื่อข่าวที่สำนักข่าวประชาไทแล้ว แต่ก็ยังคงทำรายงานข่าว หรือสกู๊ปข่าวอยู่บ้าง ซึ่งครั้งนี้จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานที่สำนักข่าวประชาไททั้งหมด 12 ปี ตั้งแต่ประชาไทเริ่มก่อตั้ง

เธอเล่าว่า หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยก็เริ่มทำงานกับประชาไท โดยช่วงแรกติดตามข่าวการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม จนกระทั่งการเมืองเริ่มมีความขัดแย้งหนักขึ้น ด้วยความสนใจประวัติศาสตร์การเมืองเป็นทุนเดิม จึงทำให้รู้สึกว่ามีปัญหาบางอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องและยาวนาน จึงทำเธอย้ายสนามข่าวเข้าสู่ประเด็นการเมือง และประเด็นนักโทษทางการเมือง

“พอการเมืองมันเริ่มมีความขัดแย้ง มันก็ดึงเราไปโดยอัตโนมัติ และพอดีที่สถาบันฯ ถูกดึงลงมาอยู่ในพื้นที่ทางการเมือง และก็มีคดีหมิ่นฯ เกิดขึ้นเยอะ ตอนนั้นเราก็ทำข่าวใหม่ๆ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรมาก แต่ก็ลงไปทำ ด้วยความสนใจส่วนตัว”

มุทิตา เล่าต่อว่า จากการเริ่มทำข่าวเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในช่วงแรกเธอตกใจว่าเพราะอะไรคำพิพากษาในคดีลักษณะนี้จึงมีโทษที่สูงมาก ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจ ประกอบกับการที่สื่อหลักไม่ค่อยได้ติดตามรายงานข่าวลักษณะนี้ จึงทำให้เริ่มตามประเด็นดังกล่าวอย่างจริงจัง

เธอแลกเปลี่ยนต่อไปถึงประสบการณ์ของการทำงาน 12 ปี โดยเปรียบเทียบช่วงเวลาระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับรัฐบาลทหาร แม้ว่ารัฐบาลพลเรือนจะมีปัจจัยบางอย่างที่รบกวนการทำงานอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถนำมาเทียบได้กับการทำงานภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร

“ถ้าเป็นรัฐบาลพลเรือนมันก็ปัญหาเยอะแยะ มีเรื่องการละเมิดสิทธิ กรณีที่เกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ว่าคนทำงานจะมีแรงขับที่ต่างกันมากกับช่วงนี้ คือเราจะรู้สึกว่าเขาทำอย่างนี้ได้ไง และมันก็จะมีความรู้สึกว่าต้องการจะตรวจสอบ และเราก็ทำมันโดยที่ไม่มีความกังวล ความกลัว หรือถ้ามีก็มีน้อยมากในยุครัฐบาลพลเรือน คือถ้าจะฟ้องก็ฟ้อง จะทำอะไรก็ทำไป เรารู้สึกว่ามันยังอยู่ในกลไกปกติ แต่พอหลังรัฐประหารมันเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ”

เธออธิบายความรู้สึกสั้นๆ กับการทำงานภายใต้รัฐบาลทหารว่าแตกต่างจากการทำงานภายใต้รัฐบาลพลเรือนตรงที่ “มันไม่สามารถทำนาย คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น” และเมื่อมองไปยังเพื่อนร่วมอาชีพก็พบว่าแต่ละคนไม่สามารถที่จะทำงานภายใต้สถานการณ์ของการรัฐประหารได้อย่างเต็มที่ อาจจะด้วยความเป็นองค์กรขนาดใหญ่ และเป็นองค์กรธุรกิจจึงยากที่จะเสี่ยง แม้ว่าจะรู้สึกถึงความไม่ปกติก็ตาม ขณะที่องค์กรเล็กๆ ก็รู้สึกถึงความโดดเดี่ยว อีกทั้งไม่ได้มีศักยภาพที่เพียงพอ และเป็นการทำงานภายใต้ความไม่มั่นใจว่าจะได้รับผลกระทบใดๆ หรือไม่

“แต่มันเป็นความโชคที่มีการสนับสนุนจากทีม คือถ้าสมมติเป็นคนกล้าหาญ แต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทีม ทีมไม่เอาด้วย ไม่เห็นด้วย มันก็โดดเดี่ยวพอสมควร แต่ในบรรยากาศที่มันมีคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้พอๆ กัน มันก็สำคัญมาก ทำให้เราทำงานไปได้เรื่อยๆ”

เธอเล่าต่อว่า ตัวชี้วัดของตัวเองต่อการทำอาชีพสื่อมวลชนว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าจุดไหนที่เริ่มมีความเสี่ยงคือ การทำงานแล้วรู้สึกกังวลว่าจะโดนอะไรไหม จนไต่ระดับไปถึงขั้นมีความกลัว เช่น กังวลถึงสวัสดิภาพตัวเอง สวัสดิภาพขององค์กร สวัสดิภาพแหล่งข่าว ภาวะแบบนี้จะทำงานต่อไปเรื่อยๆ จนถึงขั้นทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง ซึึ่งถือเป็นเรื่องที่แย่ซึ่งสื่อมวลชนทุกคนอาจจะต้องเจอไม่มากก็น้อย

“อาจจะมีเหตุผลหลายแบบที่ทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่เรามีคาถาปลอบใจตัวเองเสมอคือ อันนี้อาจจะไม่ได้เกิดจากความกลัวของเราเอง แต่เป็นกังวลเรื่องสวัสดิภาพของแหล่งข่าว บางอย่างที่เรารู้ จังหวะเวลามันเผยแพร่ตอนนี้ไม่ได้ แต่มันอาจจะได้ในอนาคต เรามีหลายอย่างที่เก็บไว้ซึ่งไม่สามารถรายงานได้ตอนนี้ การไม่ได้ตีเหล็กตอนร้อนมันก็มีข้อเสีย แต่สิ่งสำคัญคือเราไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงของคนอื่น เราก็ค่อยมาเขียนรายงานสรุปอีกทีหนึ่งเมื่อเวลามันผ่านมานานแล้ว”

เธอระบุด้วยว่า สิ่งที่แย่ที่สุดสำหรับการทำอาชีพสื่อมวลชนคือ ความรู้สึกเคยชิน เช่นกลัวกันจนชิน มีอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็กลัว แล้วก็เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเอง และไม่พยายามทดลองขยับเพดาน ไม่พยายามไต่เส้น ไม่พยายามท้าทาย เพราะว่ามีความกังวล และมีข้ออ้างมากมายที่ใช้อธิบายตัวเองว่าทำไมถึงทำแบบนั้น

“สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปจากความเคยชินคือความสิ้นหวัง และหากเราสิ้นหวังเราก็จะไม่มีแรงที่จะทำอะไร ไม่มีแรงที่จะคิดอะไร มันกดเรานานจนเราชิน ทั้งหมดนี้คือหนทางหายนะสำหรับอาชีพนี้”



นิติธร สุรบัณฑิตย์: แค่อ่านรายงานการดำเนินคดีตามมาตรา 116 ออกอากาศก็ถูก กสทช. เตือน
 

แหล่งข่าวโทรมาบอกว่า พี่ออกไปแป๊บเดียวทางเจ้าหน้าที่ทหารก็เข้ามาที่บ้านเลย คือมันเป็นสภาวะที่เราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี

 

นิติธรเริ่มต้นทำข่าวตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 ซึ่งเป็นจุดก่อตัวของความขัดแย้งซึ่่งท้ายที่สุดนำมาสู่การรัฐประหาร โดยช่วงนั้นเขาทำข่าวอยู่ที่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ติดตามประเด็นของภาคประชาสังคม จากนั้นไม่นานก็ย้ายมาเป็นผู้สื่อข่าวที่วอยซ์ทีวีช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เท่ากับว่าตั้งแต่เริ่มทำงานเป็นผู้สื่อข่าวสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศอยู่ในสภาวะไม่ปกติมาตลอด

“มันเริ่มจากช่วงที่มีความขัดแย้ง และก็เข้าสู่ระบอบเผด็จการ คืออยู่ในสภาวะแบบนี้มาตลอด บางทีก็คุยกับเพื่อนว่า ถ้าสมมติเราทำข่าวการเมืองตอนที่เป็นระบบรัฐสภา เป็นระบบที่มีการหาเสียงปกติ ความรู้สึกมันจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ก็ยังตอบตัวเองไม่ได้ แล้วนี่ก็ 3 ปีกว่า ก็ยังอยู่ในระบบเดิม”

การทำงานในช่วงเวลาที่ไม่ปกติสำหรับเขาทำให้พบว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ก็เกิดขึ้นได้ เขาพูดถึงช่วงปี 2558 ซึ่งมีผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 116 เป็นจำนวนมาก ตอนนั้นเขาจัดรายการโทรทัศน์ และได้รายงานเหตุการณ์จับกุมดำเนินคดีตามมาตราดังกล่าว พร้อมกับอ้างข้อมูลการดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 ในุครัฐบาล คสช. มาประกอบรายงาน แต่กลับถูก กสทช. ตักเตือนในเรื่องเนื้อหาการนำเสนอ

“เรารู้ว่าศักยภาพที่เราพอจะทำได้คือการรายงานข้อเท็จจริง คือตอนนั้นทีวีไม่สามารถที่จะวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือเชิญคนมาวิจารณ์เรื่องการเมืองได้ เพราะวอยซ์ทีวีมี MOU ไว้กับ กสทช. คือตอนนี้มันเกิดเรื่องคุณรินดา ที่ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟสบุ๊ค กล่าวหาท่านนายกฯ เรื่องการโอนเงิน และเธอถูกแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น และตอนนั้นมีรายงานของ iLaw ที่มีการรวบรวมลักษณะ และตัวเลขของการแจ้งข้อกล่าวหา 116 ในช่วงเวลานั้น ซึ่งสูงมากและมีความสัมพันธ์กับการดำเนินคดีในศาลทหาร ผมเพียงแค่หยิบรายงานตัวนั้นมาอ่านออกอากาศ อ่านเฉยๆ ไม่มีคอมเมนต์ ไม่มีการโยงประเด็น ไม่มีการต่อยอดอะไรเลย แค่อ่านตามที่ iLaw รายงาน แต่จัดรายการผ่านไปได้ 2-3 วัน ทางผู้บริหารบอกว่าเรื่องนี้คณะอนุฯ เนื้อหา ของ กสทช. กำลังจะพิจารณา และอาจจะมีความผิดทำให้ช่องถูกปรับ หรืออาจจะมีการปรับเปลี่ยนตัวเนื้อหา หรือตัวรายการ”

เขาพูดถึงความรู้สึกต่อเรื่องที่เกิดขึ้นว่า เขาเพียงแค่รายงานเนื้อหาขององค์กรอื่น โดยไม่ได้ชี้นำแต่อย่างใด ทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาได้ และรู้สึกว่าตนเองอาจจะกำลังสร้างปัญหาให้กับองค์กร แม้สิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้มีอะไรที่ผิดเลยก็ตาม

“ตอนนั้นจำได้เลยว่าผมกลัว กลัวที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่มันเป็นความกลัวที่เราก็รู้อยู่ว่า เราไม่ผิด แต่เราก็พอเดาได้ว่า ผลการตัดสินมันจะไม่ออกในเชิงที่เราไม่ผิดแน่นอน มันเป็นความกลัวที่น่ากลัวมากกว่าความกลัวปกติ คืออันนี้เรารู้ว่าเราไม่ผิด แต่สุดท้ายเราต้องผิดจริงๆ ทางรายการก็ถูกตักเตือน แต่โชคดีที่ไม่ถูกปรับ เพราะไม่งั้นผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน”

ขณะที่อยู่ในช่วงเวลาของการรอผลการตัดสินจาก กสทช. เขาได้เดินเข้าไปพบผู้บริหารเพื่อขอแสดงความรับผิดชอบโดยการของดจัดรายการ 1 สัปดาห์ เพื่อความสบายใจของตัวเขาเอง ทว่าเขาก็เข้าใจไม่ได้ว่าตัวเองกำลังแสดงความรับผิดต่ออะไร เมื่อมาคิดตอนหลังเขาก็ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าเขาเลือกที่จะทำอย่างนั้นทำไม แต่สิ่งที่เขาได้รู้คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขานั้นเป็นสิ่งที่สอนให้รู้ว่า เขากำลังทำงานในสภาวะที่ยากลำบาก เพราะเพียงแค่นำเสนอรายงานเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ก็ยังถูกควบคุม

ต่อมาเขาเล่าถึงประสบการณ์การทำงานข่าวการเมืองที่ผ่านมาราว 3 ปีว่า เวลาที่ไปตามข่าวที่รัฐสภา สิ่งที่พบเห็นบ่อยที่สุดคือกระบวนการกลไกของรัฐสภา เช่นการออกกฎหมายของ สนช. การทำงานของ สปช. และ สปท. ซึ่งจะมีภาพข่าวออกมาแบบหนึ่ง ในขณะที่ข่าวการเมืองอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การมีคนออกมาประท้วง มีคนถูกจับกุมดำเนินคดี ซึ่งก็จะมีภาพที่ออกมาอีกภาพหนึ่ง ทว่าทั้งสองภาพนี้กลับเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่า เหมือนเรากำลังอยู่กันคนละโลก 

“โลกของอีกคนหนึ่งกำลังปฏิรูป กำลังออกกฎหมาย แต่โลกของอีกคนหนึ่งกำลังวุ่นวายว่า ตัวเองจะถูกจับไหม จะถูกตั้งข้อกล่าวหากี่ข้อกล่าวหา มันเป็นภาวะที่เวลาไปทำงานแล้วมันรู้สึกถึงความแตกต่าง คนสองประเภทนี้ไม่สามารถที่จะจูนเข้าหากันได้เลย เหมือนมันไปคนละทางกันเลย”

ต่อมา นิติธรได้รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์รายการประเภทสารคดีเชิงข่าวในช่วงปลายปี 2559 และช่วงก่อนหน้านั้นเขาได้ทำงานรายงานพิเศษที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งอยู่เป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษคือ กฎอัยการศึก

“ตอนนั้นผมทำเรื่องการซ้อมทรมาน ก็ได้ไปคุยกับครอบครัวหนึ่งที่คนในครอบครัวถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำ ซึ่งเป็นกรณีที่ชัดเจนเพราะทาง ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดแล้ว เพียงแต่ว่าคดียังไม่ขึ้นสู่ศาล ซึ่งเรื่องเกิดขึ้นมา 8 ปีแล้ว เราก็ไปสัมภาษณ์ปกติ แต่เวลาเราออกมาแล้ว แหล่งข่าวโทรมาบอกว่า พี่ออกไปแป๊บเดียวทางเจ้าหน้าที่ทหารก็เข้ามาที่บ้านเลย คือมันเป็นสภาวะที่เราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี”

นอกจากนี้ ยังมีประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยได้รับการติดต่อจาก ‘ผู้ใหญ่’ คนหนึ่งซึ่งรับผิดชอบเรื่องการบริหารงานส่วนราชการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อขอพบเขาที่โรงแรมขณะลงพื้นที่ไปทำงาน โดยมาพูดคุยถึงเนื้อหางานที่จะทำว่าจะทำอะไรบ้าง แต่ ‘ผู้ใหญ่’ คนดังกล่าวดูมีความเกรงใจอยู่บ้างเพราะอาจจะเห็นว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง จึงไม่ได้ขอให้ยกเลิกการทำงานในประเด็นที่เขาได้ตั้งไว้ แต่เสนอให้ไปทำเรื่องอื่นๆ แทน พร้อมทั้งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานอย่างเต็มที่
 


ประวิตร โรจนพฤกษ์: เราจะไม่ยอมให้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นเรื่องปกติ

 

สิ่งหนึ่งที่ผมระลึกถึงเสมอในการปฏิบัติหน้าที่สื่อก็คือ เราจะไม่ยอมให้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นเรื่องปกติ 

 

ประวิตรกล่าวในช่วงเริ่มต้นว่า ไม่ได้คิดว่าเผด็จการทหาร หรือ คสช. จะอยู่ยาว หรืออยู่นานแค่ไหน เพียงแค่ว่าจะต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ได้คิดว่า ราคาที่ต้องจ่ายจะมากน้อยแค่ไหน และไม่ได้คิดว่าการต่อสู้เพื่อเสรีภาพของสื่อ หรือเสรีภาพขั้นพื้นฐานจะยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี่้

“สิ่งหนึ่งที่ผมระลึกถึงเสมอในการปฏิบัติหน้าที่สื่อก็คือ เราจะไม่ยอมให้การปกครองในระบอบเผด็จการทหารเป็นเรื่องปกติ ในแง่นี้คนก็อาจจะถามว่าหน้าที่สื่อก็แค่รายงานข่าวไป ใครยึดอำนาจก็รายงานข่าวไปว่าใครเป็นกลุ่มที่ยึดอำนาจแค่นั้นก็น่าจะจบหรือไม่ พูดแฟร์ๆ ทุกวันนี้เราก็ยังเห็นสื่อโดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ก็ยังทำหน้าที่วิจารณ์รัฐบาลได้อยู่บ้าง มันก็ไม่ได้เป็นแบบเกาหลีเหนือ แต่ว่าถ้าสื่อส่วนใหญ่มองว่าเผด็จการทหารที่มาจากการยึดอำนาจไม่ต่างจากรัฐบาลปกติที่มีความชอบธรรมที่มาจากการเลือกตั้ง ผมว่าสื่อก็จะมีส่วนในการร่วมสังฆกรรมทำให้ระบอบเผด็จการทหารอยู่ต่อไป และจะกลายบัตรเชิญให้เกิดการรัฐประหารในอนาคตเกิดขึ้นได้อีก”

เขากล่าวต่อไปว่า แม้ปัจจุบันสื่อมวลชนจะทำงานตรวจสอบรัฐบาล แต่ก็ทำเหมือนรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลปกติที่มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งบางสื่อยังมีลักษณะของการเชียร์รัฐบาลทั้งในทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นภาวะที่ค่อนข้างวิปริต ซึ่่งภาวะดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นจากทัศนะที่ว่า ระบอบเผด็จการทหารดีกว่าระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นการมองในระยะสั้นเท่านั้น เพราะมันเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยลงไปด้วย

เขาระบุว่า สิ่งที่เขาทำทุกครั้งที่เขียนงาน หรือแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดียคือ การย้ำเตือน ตอกย้ำถึงสภาวะไร้ความชอบธรรมของระบอบเผด็จการทหาร และรัฐบาลเผด็จการทหารในปัจจุบัน

“นี่คือสิ่งที่ผมไม่เปลี่ยน 3 ปีครึ่ง แม้ว่าเขาอาจจะเอาผมไปปรับทัศนคติ 2 รอบ ตอนนี้ก็เจอข้อหา 116 กับ พ.ร.บ.คอมฯ พ่วง ถูกห้ามไปต่างประเทศครั้งหนึ่ง เพราะผมคิดว่ามันเป็นพันธะหน้าที่ที่เราจะต้องทำทิ้งไว้ ส่วนอีก 30 ปีข้างหน้าผมก็คงไม่มีหรือบทบาท ก็คนเป็นคนรุ่นใหม่ๆ ที่ยังอยู่”

เขากล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ หรือเสรีภาพในการแสดงออกในหลายๆ สังคมที่มีอารยะเขาอยู่ในจุดนั้นกันนานแล้ว แต่ประเทศเราต้องต่อสู้ในสิ่งที่เป็นพื้นฐานมากๆ ยังมีคนไทยต้องติดคุกเพียงเพราะพูดในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสถาบันฯ หรือเรื่องทหารก็ตาม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสลดที่สังคมไทยยังติดอยู่ในวงจรที่ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง

“ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ตอนที่ผมรับรางวัลอยู่ที่นิวยอร์ก ก็มีนักข่าวช่องหนึ่งโทรมาหาผมตอนตีสาม เขาก็อยากสัมภาษณ์เรื่องที่เราได้รางวัล ผมก็เข้าใจแหละว่ามันตีสาม แต่ที่เมืองไทยก็คงบ่ายสามโมง ผมก็รับปากยินดีให้สัมภาษณ์สด เขาก็ขอไปบอก บ.ก. ก่อน แล้วก็โทรมาบอกใหม่ว่า บ.ก. เขาบอกว่ามันคงไม่เป็นความคิดที่ดีหรอกนะที่จะให้ผมพูดสดออกทีวี ก็เลยแจ้งมาอีกว่าขอยกเลิก และตามความเข้าใจผมคนที่โทรมาก็ซีเนียร์พอสมควร นี่ก็คือสภาพความเป็นจริงของการเซ็นเซอร์ตัวเองในสังคมไทย ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องมาตรา 112 หรือเรื่องทหาร แต่มันมีเรื่องความเกรงใจ มีการที่หลายช่องต้องไปเซ็น MOU กับ กสทช. หรืออาจจะถูกกดดันด้วยรูปแบบอื่นๆ ก็ตามแต่ แต่สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องที่ปกติ ซึ่งผมไม่ยอม”

เขาเห็นว่า สังคมไทยที่มองเห็นสภาวะที่ไร้เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องปกติ จะเป็นสังคมที่สิ้นหวัง และเห็นว่าไม่มีสังคมไหนที่ได้อะไรมาฟรีๆ โดยเฉพาะเรื่องเสรีภาพ และประชาธิปไตย ทุกอย่างมีราคาที่ต้องจ่าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net