ก้าวผ่านอดีตนำไปสู่อนาคตระบบหลักประกันสุขภาพ (1)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นในประเทศไทยมานานกว่า 15 ปี เริ่มจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นมารองรับในเดือน พ.ย.2545 จากวันนั้นถึงวันนี้ ประเทศไทยได้พัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังนี้

ระยะที่ 1 (ปี 2545-2550) : ก้าวไปสู่โครงสร้างและเครือข่ายในการทำงาน

ในระยะแรกที่จัดตั้ง สปสช. ถือว่าได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย สธ.ยินยอมให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำหน้าที่เป็นสำนักงานสาขาจังหวัดของ สปสช. จวบจนกระทั่ง สปสช.จัดตั้งสำนักงานสาขาเขตครบทั้ง 12 เขต บทบาทของสำนักงานสาขาจังหวัดก็เริ่มเปลี่ยนไปจนกระทั่งปิดตัวไปในที่สุดเมื่อปีงบประมาณ 2558

ขณะที่ภาพของการสร้างเครือข่ายการทำงานก็เริ่มมีการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานความร่วมมือระหว่าง 3 กองทุน ประกอบด้วย สปสช., สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง เพื่อประสานความร่วมมือต่างๆ ให้เป็นไปในทางเดียวมากยิ่งขึ้น ส่วนการทำงานกับภาคีและภาคประชาชนก็มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนในปี 2547 (ปัจจุบันมี 146 ศูนย์ใน 77 จังหวัด) การสร้างแกนนำเครือข่ายภาคประชาชนในการสนับสนุนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาร่วมจัดตั้งกองทุนสุขภาพหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ โดยมีการร่วมจ่ายและบริหารโดยคณะกรรมการฯ เพื่อสนับสนุนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

ในส่วนของสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในยุคแรก สปสช.ใช้ชุดสิทธิประโยชน์ของโครงการสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล (สปร.) เป็นฐาน โดยเพิ่มยารักษาโรคเอดส์ในปี 2549 รวมทั้งยังมีโครงการพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดระบบอื่นๆ ได้วางรากฐานในระยะยาว เช่น ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งต่อมากลายเป็นสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.), การดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายด้วยการล้างช่องท้องเองที่บ้าน, การเสริมสร้างความเข้มแข็งของบริการปฐมภูมิต่างๆ ตลอดจนการฟื้นฟูและดูแลสุขภาพคนพิการ

นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังริเริ่มนโยบายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ใน 2549 ซึ่งในตอนเริ่มต้นมี อปท.เข้าร่วม 888 แห่ง (เพิ่มเป็น 7,755 แห่งหรือ 99.73% ในปี 2559) ส่วนงบคุณภาพบริการเริ่มมีการตั้งงบประมาณใน 2550 มีการสร้างหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพเชิงระบบ 5 หลักเกณฑ์ ทั้งปัจจัยนำเข้า กระบวนการ และผลลัพธ์ เกี่ยวกับโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของหน่วยบริการปฐมภูมิและเครือข่าย

ขณะที่การจัดสรร/การจ่ายเงินให้สถานพยาบาลก็มีพัฒนาการเรื่อยมา โดยแบ่งเป็นรายการใหญ่ 9 รายการในปี 2546 แล้วเพิ่มเป็น 14 รายการในปี 2550 รวมทั้งเริ่มมีการบริหารจัดการผู้ป่วยรายโรค (disease management system) ใช้ในกรณีของโรคเอดส์, วัณโรค, โรคหัวใจที่ต้องผ่าตัด, โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, การผ่าตัดต้อกระจก, โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย ฯลฯ อย่างไรก็ดี การปรับแยกบทบาทผู้ซื้อ-ผู้ให้บริการ (purchaser-provider split) ทำให้ สธ.ต้องปรับตัวพอสมควรแม้กฎหมายจะให้ระยะเวลาตามบทเฉพาะกาลไว้ถึง 3 ปีก็ตาม

ระยะที่ 2 (ปี 2551-2555): ก้าวสู่ภาพบูรณาการกองทุน

ในช่วงนี้ สปสช.เริ่มขยายเครือข่ายทำงานกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น ILO, WB, WHO, JIICA, EU, ASSA ทำให้การสร้างหลักประกันสุขภาพประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ส่วนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลในระยะนี้ได้เพิ่มการดูแลผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายในปี 2551 การปลูกถ่ายตับในเด็กในปี 2554 การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจในปี 2554 การให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ H1N1 ในปี 2552 การเปิดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบและใช้สิทธิโดยใช้บัตรประชาชนแทนบัตรหลักประกันถ้วนหน้า (บัตรทอง) ในปี 2552 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสนอนโรงพยาบาลโดยมีเตียงสำรองที่โรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ โดยโรงพยาบาลเหล่านี้ได้รับการจ่ายเงินในอัตราพิเศษ

นอกจากนี้ สปสช.ยังได้ร่วมกับกองทุนประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง บูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพให้เป็นรูปธรรมโดยจัดทำมาตรฐานการรักษา HIV/AIDS และโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยที่เปลี่ยนระบบประกันสุขภาพ และในปี 2555 ก็ได้เริ่มโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น” โดยประชาชนทุกคนสามารถไปรับบริการที่ใดก็ได้โดยไม่ถูกถามสิทธิและไม่ต้องสำรองจ่ายค่าใช้จ่ายล่วงหน้า รวมทั้งริเริ่มนโยบายใหม่ๆ ด้วยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการฟื้นฟูคนพิการ ผู้สูงอายุอีกด้วย

สำหรับการบริหารงบประมาณในระยะนี้ สปสช.ได้รับจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มจาก 2,100 บาทในปี 2551 เป็น 2,895.6 บาทในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 38% มีการบริหารจัดการผู้ป่วยรายโรคมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการผู้ป่วยรายโรค เช่น เอดส์, วัณโรค, เบาหวานและความดัน, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเม็ดเลือดขาว, การผ่าตัดแก้ไขปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็ก, โรคเลือดออกง่ายฮีโมฟีเลีย, การผ่าตัดตาต้อกระจกเพื่อป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุ, ลมชัก, ปลูกถ่ายไขกระดูก, หลอดเลือดสมองตีบ, ปลูกถ่ายกระจกตา, นิ่วในทางเดินปัสสาวะ ฯลฯ

ไฮไลต์ที่สำคัญอีกประการ คือ การจัดหายาเอดส์แบบรวม ทำให้ได้ยาราคาถูกลงและนำไปสู่การต่อรองและจัดซื้อบริการและยาราคาแพงที่ส่วนกลาง เช่น ราคาบริการ HD จาก 2,000 บาท/ครั้ง เหลือ 1,500 บาท/ครั้ง, น้ำยาล้างไตผ่านช่องท้องจากถุงละ 160 บาทเหลือ 105 บาท, ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงจากเข็มละ 750 บาทเป็น 250 บาท ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ถึง 7,222,234.128 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 5,122 ล้านบาทต่อปี

ระยะที่ 3 (ปี 2556-ปัจจุบัน): ก้าวเข้าสู่ประเทศไทย 4.0

ปี 2559 มีการตั้งกลไกเสริมความร่วมมือระหว่าง สปสช. และ สธ. ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับประเทศ หรือเรียกว่าคณะกรรมการฯ 7×7 คณะทำงานกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับเขต หรือเรียกว่า คณะทำงานฯ 5×5 และคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปรับปรุงแนวทางการบริหารกองทุน เพื่อติดตามความก้าวหน้าและความสำเร็จการทำงานร่วมกัน ใน 5 ประเด็นคือ กลไกการทำงาน การเงินการคลัง การจัดบริการร่วมกันการจัดการข้อมูลร่วมกัน และการทำให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ

ขณะที่การพัฒนาสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลในช่วงนี้ สปสช.ได้เพิ่มเรื่องการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว (Long term care) โดยเริ่มดำเนินการก่อนในเป้าหมาย 100,000 คน ใน 1,000 ตำบล ส่วนงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มจาก 2,755.60 บาทในปี 2556 เป็น 3,109.87 บาท ในปี 2560 (เพิ่มขึ้น 12.86%) เพิ่มสัดส่วนงบประมาณการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จาก 175.00 บาทต่อประชากรในปีงบประมาณ 2546 เป็น 398.60 บาทต่อประชากรในปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเพิ่มถึง 2.28 เท่าในระยะเวลา 14 ปี

นอกจากบริหารกองทุนในความรับผิดชอบของตัวเองแล้ว สปสช.ยังเข้ามาช่วยบริหารสิทธิด้านการรักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น ผ่านการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ.2545 มีผลบังคับใช้ 1 ต.ค.2556

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งระบบการเบิกจ่ายกลางของประเทศ (National Clearing House) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารทั้ง 3 กองทุน โดย สปสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางจัดการธุรกรรมการเบิกจ่ายและระบบด้านบริการสาธารณสุข ตลอดจนมีการลงนามใน MOU “การพัฒนาหน่วยงานกลางในการจัดการธุรกรรมการเบิกจ่าย และระบบบริการสาธารณสุขผู้มีสิทธิข้าราชการ” ระหว่าง กรมบัญชีกลาง, ประกันสังคมและ สปสช.

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานในช่วงนี้ได้เกิดความผันผวนทางเมือง ทำให้มีการย้ายปลัด สธ. ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ สปสช. ไปประจำสำนักงานปลัด สธ. ทำให้องค์กรขาดผู้นำไป โชคดีที่ผู้นำระดับรองขึ้นมารับภาระดังกล่าวได้เป็นการชั่วคราว

ตอนต่อไป:  ประเด็นเชิงนโยบายที่ สปสช.ควรดำเนินการต่อไปในอนาคต

ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท