Skip to main content
sharethis
58 องค์กร เครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายเยาวชน ออกจดหมายเปิดผนึก ชี้ KFC เลิกจ้าง ประธานสหภาพแรงงานฯ ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้สนใจต่อกฎหมาย เหตุเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้อง
 
 
19 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายเยาวชน 58 องค์กร พร้อมด้วยนักวิชาการและบุคคล ออกจดหมายเปิดผนึกกรณี บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือเคเอฟซี เลิกจ้าง อภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ และมีตำแหน่งเป็น รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฝ่ายสตรีและเยาวชน 
 
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ระบุว่าการเลิกจ้างนี้เป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็คือการละเมิดต่อปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อเจตจำนงและหลักการอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่าง (ILO) 
 
กลุ่มที่ออกจดหมายดังกล่าวระบุด้วยว่า การเลิกจ้างอภันตรีเป็นการเลิกจ้างที่จงใจและไม่ได้สนใจต่อกฎหมายกล่าวคือ การเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 31 ซึ่งในประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่ของรัฐคือกระทรวงแรงงานที่จะต้องเข้าไปดำเนินการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายหากไม่ดำเนินการใดๆ หรือเพิกเฉยก็ถือเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา รวมทั้งบริษัทควรคำนึงถึงหลักจริยธรรมองค์กรในการทำธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงาน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่กีดกันการรวมตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต้องปฏิบัติต่อพนักงานโดยยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกันและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก : 

จากเครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน และเครือข่ายเยาวชน กรณี...เลิกจ้างผู้นำแรงงานหญิงซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ

 
ตามที่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอร์เนชั่นเนล (ประเทศไทย) ได้เลิกจ้างนางอภันตรี  เจริญศักดิ์  ตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ และมีตำแหน่งเป็น รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฝ่ายสตรีและเยาวชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ซึ่งก่อนหน้านี้นางอภันตรีฯ ได้เคยถูกบริษัทฯเลิกจ้างมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 นางอภันตรีฯได้ต่อสู้ในชั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส) และรวมทั้งในชั้นศาลจนชนะคดีมีคำสั่งให้บริษัทฯรับกลับเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งเดิม หน้าที่เดิม แต่ถูกกดดันหลากหลายวิธีมาตลอด 5 ปี
 
ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง และการถูกเลิกจ้างครั้งนี้ในฐานะที่ นางอภันตรี เจริญศักดิ์ อยู่ในระหว่างรอคำพิพากษาชั้นฎีกา กรณีถูกเลิกจ้างในการจัดตั้งสหภาพแรงงานตั้งแต่ปี 2554 และขณะนี้อยู่ในช่วงของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้อเรียกร้องเจรจาต่อรอง ที่ทางสหภาพฯยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560  แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ จนเกิดข้อพิพาทแรงงานซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นัดเจรจาอีกครั้งที่ 4  ในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 
 
เครือข่ายแรงงานสตรี ขบวนการแรงงาน นักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน เห็นร่วมกันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานของนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างของ นางอภันตรีฯ และเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานดังนี้
 
1) การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เมื่อพิจารณาจากกระบวนการแล้วชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่ต้องการให้นางอภันตรีฯทำงานอยู่ต่อไปซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับบทบาทของนางอภันตรีฯซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานฯ ที่ได้เรียกร้องสิทธิ สวัสดิการให้แก่พนักงานและสมาชิกตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ได้ส่งผลให้คณะกรรมการและสมาชิกสหภาพ เกิดข้อวิตกกังวลและหวั่นไหวในเหตุการณ์ครั้งนี้ และนางอภันตรีฯ เป็นผู้นำแรงงานสตรี ที่ดูแลในเรื่องสิทธิและความเสมอภาคให้กับสตรีและเยาวชน ได้มีบทบาทในสังคมให้ยุติความรุนแรงและสร้างเสริมความเสมอภาค ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้พยายามสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีให้องค์กร ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็คือการละเมิดต่อปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อเจตจำนงและหลักการอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่าง(ILO) 
 
2) การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เป็นการเลิกจ้างที่จงใจและไม่ได้สนใจต่อกฎหมายกล่าวคือ การเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือ สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องฯ”ซึ่งในประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับภารกิจ หน้าที่ ของรัฐคือกระทรวงแรงงานที่จะต้องเข้าไปดำเนินการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายหากไม่ดำเนินการใดๆหรือเพิกเฉยก็ “ถือเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ”มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
 
3. บริษัทควรคำนึงถึงหลักจริยธรรมองค์กรในการทำธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงาน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่กีดกันการรวมตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต้องปฏิบัติต่อพนักงานโดยยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกันและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
เครือข่ายแรงงานสตรีและเยาวชนทุกภาคส่วน จะพยายามแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันบนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และจะประสานความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศและจะสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อมวลชนและสื่อสาธารณะทุกรูปแบบเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและร่วมกันแก้ไขประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ตามกติกาสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งคาดหวังว่าเจตนารมณ์ของการปกป้องสิทธิของ นางอภันตรี เจริญศักดิ์ และกรณีอื่นๆจะได้รับการตอบรับที่ดีในการแก้ไขปัญหาจากนายจ้าง จากกระทรวงแรงงานและรัฐบาลดัง“คำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560
 
ด้วยความสมานฉันท์
เครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน นักวิชาการ สื่อมวลชน และเครือข่ายเยาวชน
19  ธันวาคม 2560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net