Skip to main content
sharethis
ส.ป.ก.แจงปมทหารเข้าทำถนนในชุมชน จ.สุราษฎร์ธานี ด้านสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้โต้ พร้อมเผยเตรียมฟ้องศาลปกครอง ค้านคำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 
หนังสือชี้แจงจาก ส.ป.ก.
 
25 ธ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา กองบรรณาธิการข่าวประชาไทได้รับจดหมายจาก สุรจิตต์ อินทรชิต เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ส่งหนังสือ ลงวันที่ 15 ธ.ค.2560 เรื่อง ชี้แจงกรณีข่าว "ส.ป.ก.ทำถนนในชุมชนไม่สนข้อเสนอประชาชน ผลอาสินถูกทำลาย หวั่นบ้านเรือนถูกรื้อ" ซึ่งเป็นข่าวที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา (ดู https://prachatai.com/journal/2017/08/72686
 
หนังสือชี้แจงจาก ส.ป.ก. อ้างอิงถึงข่าวดังกล่าวว่านำเสนอประเด็นที่ระบุปัญหาผลกระทบจากการดำเนินงานของ ส.ป.ก. สุราษฎร์ธานี ในแปลงที่ดิน ต.ไทรทอง อ.ชับบุรี จ.สุราษฎร์ธานี โดย สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ระบุทหารเข้ามาในชุมชนก้าวใหม่ เพื่อทำถนนใหม่ตามแนวทางคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งผลให้ผลอาสินของประชาชนในชุมชนถูกทำลาย หวั่นบ้านเรือนถูกรื้อ หากรัฐยังทำตามผังถนนที่วางไว้ นั้น 
 
ส.ป.ก. ขอชี้แจงว่า ที่ดินที่ สกต. โดยชุมชนก้าวใหม่ได้กล่าวอ้าง คือ ที่ดินในเขตปฎิรูปที่ดิน แปลง บริษัท รวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.ไทรบุรีทองฯ ซึ่งอยู่ในเขตปฎิรูปที่ดินโครงการป่าใสท้อนและป่าคลองโซง มีผลให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพื่อใช้ในการปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การถือครองที่ดินของบริษัทรวมชัยฯ เข้าทำประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้และไม่มีหลักฐานแสดงสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นการครอบครองก่อนที่ ส.ป.ก. รับมอบพื้นที่จากกรมป่าไม้ จึงเป็นการเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งบริษัทดักล่าวยังเพิกเฉยไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปที่ดิน ได้มีการฟ้องคดีต่อบริษัทดังกล่าว ข้อหาบุกรุก ฟ้องคดีแพ่งขับไล่และเรียกค่าเสียหาย ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้บริษัทพร้อมบริวารออกจากที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน 1,749-1-24 ไร่ และหลังจากมีการฟ้องคดีได้มีกลุ่มมวลชนต่างๆ รวมทั้ง สกต. พยายามบุกรุกเข้าถือครองที่ดินดังล่าวและมีการชุมนุมประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาล จนกระทั่งคณะรรมการอำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.52 มีมติเห็นชอบให้ผอนผันให้ราษฎรที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยอาศัยและทำกินในที่ดินดังกล่าวตามวิถีชีวิตปกติสุขไปพลางก่อนจนกว่ากระบวนการฟ้องขับไล่บริษัทและนายทุนจะแล้วเสร็จ ส.ป.ก.จึงไม่สามารถแจ้งความคดีข้อหาบุกรุกที่ดนของรัฐต่อราษฎรผู้ที่ได้รับการผ่อนผันได้
 
หนังสือชี้แจงระบุต่อว่า เมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาตามชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ ส.ป.ก. ชนะคดีการผ่อนผันจึงสิ้นสุดลง การที่ สกต.กับพวกเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินดังกล่าว จึงเป็นการเข้าทำโดยมิชอบดวยกฎหมายและไม่มีสิทธิเข้าอยู่อาศัยและทำประโยชน์ใดๆ ตั้งแต่ต้นแล้ว ถือเป็นการบุกรุกโดยใช้กำลังมวลชนกดดันภาครัฐหวังเรียกร้องให้จัดที่ดินให้แก่ตนเองกับพวกพ้อง ต่อมาได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ที่ 36/2559 ให้นำที่ดินแปลงดังกล่าวมาจัดที่ดินตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งแปลงบริษัทรวมชัยบุรีฯ เป็นพื้นที่เป้าหมายในการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลปีงบประมาณ 2559 ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งเป็นการจัดที่ดินให้แก่ชุมชนโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่เป็นการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เป็นกลุ่มหรืชุมชนในรูปแบบสหกรณ์หรือรูปแบบอื่นที่เหมาะสม 
 
ในการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปี่ดินเพื่อเกษตรกร (คปก.) ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2559 มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกงทุนปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อเป้นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแปลที่ดินที่ยึดคืนตามคำสั่ง คสช. ที่ 36/2559 เพื่อรองรับการดำเนินการในงานสำรวจออกแบบรังวัด ปรับพื้นที่แะการพัฒนาโตรงสร้างพื้นฐาน เช่น งานก่อสร้างถนนสายหลัก สายซอย ฯลฯ ในการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินฯ ครั้งที่ 6/2560 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติให้ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแปลงที่ดินยึดคืนตามคำสั่ง คสช. ที่ 36/2559 แปลงที่ดินในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี รายแปลงบริษัทรวมชัยบุรีฯ โดยให้กองทัพบกเป็นผู้ดำเนินการเบิกจ่ายเงินแทน ส.ป.ก. 
 
หนังสือชี้แจงจาก ส.ป.ก. ระบุว่า การออกแบบผังแปลงที่ดินและถนนได้มีารออกแบบร่วมกันระหว่าง ส.ป.ก.และสมาชิกกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ รวมทั้งสมาชิกกลุ่ม สกต. ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นของสมาชิกส่วนใหญ่ที่อาศัยในแปลงที่ดินและระหว่างการวางผังแปลงที่ดินกลุ่ม สกต. ก็มิได้มีการคัดค้านแต่อย่างใด ปัจจุบันสมาชิก สกต.ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดที่ดินที่ภาครัฐกำหนด ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองนครีธรรมราชจำนวนหลายรายและศาลปกครองนครศรีธรรมราชได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา จำนวน 1 รายแล้ว   
 

สกต. โต้ เผยเตรียมฟ้องศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าว สอบถาม ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ตัวแทนสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เพิ่มเติม โดย ธีรเนตร กล่าวถึงกรณีที่ ส.ป.ก. ระบุถึงการใช้กฎหมายในการจัดสรรที่ดิน รวมทั้งรัฐบาล คสช. จะใช้ คำสั่ง คสช. ที่ 36/2559 ที่จะนำที่ดินแปลงนี้จัดสรรให้ประชาชนนั้นว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่นายทุนได้ทำสวนปาล์มน้ำมันมาอย่างยาวนาน และมีกลุ่มชาวบ้านที่ ส.ป.ก.อ้างว่าบุกรุกนั้น เข้าไปยึดพื้นที่จากนายทุน เพื่อจัดสรรเป็นที่ดินทำกินกันในรูปแบบของฉโนดชุมชนหรือกรรมสิทธิรวม ต่อมาเมื่อปี 2556 โดยคำสั่งของ ส.ป.ก. ส่วนกลาง ให้รังวัดพื้นที่ให้กับชาวบ้าน หากชาวบ้านอยู่กันไม่ถึง 5 ไร่ ส.ป.ก.ก็รังวัดให้ตามพื้นที่จริง จึงทราบกันว่าส่วนไหนเป็นของตนเอง แต่เมื่อนโยบาย คสช. โดย  คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจะจัดตรงนี้ใหม่ โดยแต่แรกตั้งธงมาว่าจะเซตซีโร่ให้คนออกให้หมด กวาดพื้นที่และจัดผังใหม่หมด โดยแนวผังใหม่คล้ายๆ ว่าจะทำเป็นหมู่บ้านจัดสรร ที่ติดถนนก็จะให้คนมาอยู่ และจะจัดแปลที่ดินคนละ 5+1 โดยให้ที่ดินทำกิน 5 ไร่ ที่บ้าน 1 ไร่ ขณะที่แต่เดิมที่ชาวบ้านอยู่กันแล้วคนละ ไร่ครึ่ง 2 ไร่ครึ่ง ที่ ส.ป.ก.ไปรังวัดให้นั้น มันจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีผลกระทบต่อชาวบ้าน
 
ธีรเนตร อธิบายผลกระทบเพิ่มเติมว่า สมาชิก สกต. มีอยู่ 200 ครอบครัว ขณะที่ในพื้นที่ดังกล่าวมีกว่า 1,000 ครอบครัว เราถือพื้นที่เฉลี่ยนคนละ 2 ไร่ครึ่ง แต่ คสช. จะนำมาจัดคนละ 5 ไร่ แม้จะได้มากกว่า แต่เนื่องจากพื้นที่มีจำกัด ซึ่งใน 2 ไร่ครึ่งนั้นต้องให้เพิ่มคนหนึ่งถึงจะได้ 5 ไร่ แต่คนหนึ่งก็ต้องออกมา จึงทำให้คนที่เหลือได้ 1 สิทธิ ดังนั้นชาวบ้านจึงมาตกลงกัน และขอใช้ผังถนนเดิม แค่ปรับปรุงถนนที่มีอยู่เดิมให้ใช้งานได้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้ตัดถนนใหม่และต้องทำลายสวนที่ชาวบ้านปลุกไว้ นอกจาก สกต. มีกลุ่มอื่น ก็ให้ ส.ป.ก.ช่วยดูแลคนกลุ่มนี้นำที่ดินที่เหลืออยู่ด้านบนเป็นหมื่นไร่ของ ส.ป.ก. นำมาจัดสรรให้คนที่เหลือ แทนที่จะให้นายทุนใช้
ภาพเมื่อ ส.ค.60
 
ตัวแทน สกต. กล่าวต่อว่า ชาวบ้านที่อยู่ตรงนั้นดังเดิม เป็นชาวบ้านที่เข้าไปต่อสู้เรียกร้องสิทธิมา แต่การต่อสู้ยืดเยื้อมาเป็น 10 ปีนั้น ก็มีการล้า รวมทั้งทรัพย์สินที่สะสมมาก็เริ่มหมดทุน ขณะนี้กลายเป็นชาวบ้านส่วนน้อยในพื้นที่ ส่วนชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่และไม่ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่เป็นประจำนั้น เมื่อมีการประชุมครั้งหนึ่งก็จะมาเป็นครั้งเป็นคราว แต่เนื่องจากพื้นที่นั้นมีจำนวน 1,700 ไร่ จึงมีหลายกลุ่ม ชาวบ้านก็แบ่งกันคนละ 1 ไร่บ้าง ไร่ครึ่งบ้าง โดยแวดล้อมของ 1,700 ไร่ มันก็มีแวดล้อมของสวนปาล์มน้ำมันทั้งหมดตรงนั้น 13,000 กว่าไร่ ที่นายทุนใช้ ตอนนี้ก็ยังใช้ผิดกฎหมายอยู่ ซึ่งมีบริษัทย่อยหลายบริษัท  
 
ส่วนที่ ส.ป.ก. ระบุว่า มีสมาชิก สกต.ที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดที่ดินที่ภาครัฐกำหนด ได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองและศาลได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องแล้วนั้น  ตัวแทน สกต. กล่าว่า เป็นแนวร่วมของเรา แต่ไม่ใช่สมาชิกเรา ของเราก็จะฟ้องศาล ปกครอง เพื่อปฎิเสธ คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 โดยกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาร่างคำฟ้องอยู่ 
 
ธีรเนตร กล่าว กล่าวว่า สกต. ไม่เห็นด้วยกับนโยบายจัดที่ดินทำกิน ของ คสช. เพราะนโยบาย คสช. ให้ที่ดินทำกินกับชาวบ้านเพียง 5 ไร่ แต่ในความเป็นจริงของเกษตรกรในชนบทที่ประกอบอาชีพทำสวนปาล์มสวนยาง ฯลฯ 5 ไร่นั้น ต่อปีก็ได้ไม่มาก แต่สำหรับการทำเษตรแบบปราณีตมันต้องใช้ต้นทุนมากและมีแหล่งน้ำ การพัฒนาสาธารณูปโภคอะไรมากมาย ซึ่งเราไม่มีต้นทุนตรงนั้น
 
ตัวแทน สกต. กล่าวว่า เอาเข้าจริงเราเข้าไปก็ไม่ได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ว่าเมื่อเราเข้าไปแล้วก็เดินเรื่องทางนโยบายตั้งแต่ปี 52 ตอนนั้นมีนโยบาย รัฐบาล อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผ่อนผันในที่ดินจนกว่าจะแก้ปัญหา จนลากมาถึงปัจจุบันรัฐบาล คสช. 
 
เรื่องข้ออ้างที่ระบุว่า ศาลฎีกา ให้ ส.ป.ก.ชนะคดีนั้น ธีรเนตร กล่าวว่า เป็นคำพิพากษากับบริษัท และต่อมาบริษัทพยายามยื้อ และต่อมามีนโยบายตั้งแต่ปี 56  ที่ไม่ให้ต่อสัญญา
 
ธีรเนตร  กล่าวว่า คำสั่งศาลนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชุมชนหรือชาวบ้าน เพราะเป็นคดีระหว่างบริษัทกับ ส.ป.ก. และเราไม่ใช่บริวารหรือพวกของกลุ่มบริษัทดังกล่าว และเจตนาที่กลุ่มตนเข้าไปก็คนละเจตนาที่บริษัททำ เราเข้าไปเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินตามนโยบายของ ส.ป.ก. แต่ด้วยความที่เราไม่มีที่อยู่เราจึงเข้าไปก่อนที่ สปก. จะประกาศ แต่ความเป็นจริงแล้ว สปก.ก็ยังไม่ประกาศ จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ประกาศ 

คำสั่ง หัวหน้า คสช.ที่ 36/2559 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net