Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 
ในการแข่งขันทางการเมืองเพื่อชิงตำแห่งประธานาธิบดีของคนอเมริกันทุกครั้ง “ศีลธรรม” ได้ถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นหาเสียงและโจมตีกันและกันทุกครั้ง ทั้ง 2 พรรค คือ เดโมแครตและรีพับลิกันมักอ้างเสมอว่าพรรคและผู้สมัครของพรรคตนใส่ใจกับศีลธรรมอันดีของตนเองและต้องการผลักดันนโยบายเชิงศีลธรรม แม้ว่าระบบกฎหมายรัฐธรรมนูญของอเมริกันกำหนดให้ศีลธรรมหรืออาจเป็นศาสนา แยกออกไปคนละส่วนจากการเมืองการปกครองของรัฐก็ตาม

ข้อเท็จจริงก็คือ ทั้ง 2 พรรคการเมืองใหญ่ของอเมริกัน ต่างผูกติดกับระบบคำสอนของศาสนาคริสต์ไม่มากก็น้อย ต่างฝ่ายต่างมีเป้าหมายทางศีลธรรมที่แตกต่างกัน  จนเกิดมีการแยกฝ่ายในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ได้แก่ ฝ่ายที่เรียกว่า pro-life กับอีกฝ่ายหนึ่งที่เรียกว่า pro-choice

ฝ่ายแรก หมายถึง พรรครีพับลิกัน ส่วนฝ่ายที่สองหมายถึงพรรคเดโมแครต

คำว่า “บาป” ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องในการประกาศตน (จุดยืน) ทางการเมืองของแคนดิเดทแต่ละคน ในแต่ละพรรค พรรคอนุรักษ์นิยมอย่างรีพับลิกัน ปฏิเสธไม่เห็นด้วยกับนโยบายการทำแท้ง รักร่วมเพศ (ของเพศที่สาม) และความสำส่อนทางเพศเชิงการมีมากกว่าผัวเดียวเมียเดียว รวมถึงการปฏิเสธเรื่องประโลมโลกของชุมชนฮอลลีวูด

จึงไม่น่าแปลกที่ไม่ว่าในยุคสมัยใดโดยส่วนมากแล้ว พรรครีพับลิกัน จะไม่ได้เสียงสนับสนุนจากชาวฮอลลีวูด ยกเว้นแต่เพียงดาราบางคน อย่างอดีตผู้ว่ารัฐ แคลิฟอร์เนีย อาร์โนลด์ ซวากสเนกเกอร์ คือมีดาราเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่สนับสนุนรีพับลิกัน

พรรครีพับลิกัน จึงถูกกล่าวหาว่า เป็นพรรคฝ่ายเสรีนิยมขวา ไม่เป็นที่ประทับใจคอการเมืองชนกลุ่มน้อย(minority group) เว้นเสียแต่ การกล่าวเลยไปจากการได้รับการเลือกตั้งของสส.ผิวขาวบางคนอย่าง Dana Rohrabacher  แห่งออร์เร้นจ์ เค้าน์ตี้ ที่ครั้งหนึ่งเขา (Rohrabacher)  เคยบอกผมทำนองว่า เขาเข้าถึง Sense of Asian คือเข้าถึงความรู้สึกของคนเอเชียในเขตเลือกตั้งของเขา Huntington beach area เขตออเรนจ์เค้าน์ตี้ แคลิฟอร์เนีย

มีแต่คนไทย โดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในเขตแคลิฟอร์เนีย ยิ่งในชุมชนแอล.เอ.ด้วยแล้ว อาจไม่มีทางเข้าใจ Conservative  morality senses หรือความรู้สึกด้านศีลธรรมแนวอนุรักษ์นิยมได้ง่ายๆ เท่านั้นเอง

หากเพราะคนไทยส่วนใหญ่หรือแม้แต่สื่อไทยจำนวนไม่น้อย ถูกกล่อมเกลาโดย “สำนึกความเป็นชนกลุ่มน้อย” จากวาทกรรมเชิงตรรกะ “รีพับลิกันไม่มีทางเข้าใจคนจน เอาใจแต่คนรวย เพราะผู้บริหารพรรคส่วนใหญ่ เป็นคนรวย ดังนั้นพรรคนี้จึงจะไม่ช่วยเหลือคนจน หรือไม่มีวันเข้าใจหัวอกคนจน” การพิสูจน์ดังกล่าว ดำเนินต่อมาตราบเท่าการเทคโอเวอร์ของนักการเมืองแดโมแครตเกิดขึ้น  ดังเช่น ผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียคนก่อน Gray Davis เป็นอาทิ กระทั่งรัฐเดียวกันนี้ถึงกับล้มละลายบนกองสวัสดิการอันไพบูลย์, เอเชียนอเมริกันเพื่อนผมที่เมืองเฟรสโนบางคน หากิน (เงินสวัสดิการของรัฐ)กับบรรดาลูกๆ นับโหลหรือมากกว่านั้นของพวกเขา โดยไม่ต้องทำงานเป็นเวลานับสิบๆ ปี นี่คือความฝันง่ายๆ แบบเดโมแครตใช่หรือไม่?

ถ้าประเมินจากการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ  การอ้างระบบศีลธรรมของฝ่ายรีพับลิกัน อย่างเช่น ส่วนตัวของมิทท์ รอมนีย์ แคนดิเดทประธานาธิบดีของพรรครีพับลิกัน ที่มีเงื่อนเงาทะมึนของนิกายคริสตศาสนามอร์มอนทอดทับอยู่นั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ต่อมความรู้สึกของเอเชียนอเมริกันหรือกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในอเมริกานึกถึงเมือง Salt Lake City มลรัฐ Utah ศูนย์กลางของนิกายดังกล่าวแล้ว แม้แต่ชาวรีพับลิกันด้วยกันเอง ก็อดประหวั่นเรื่อง “ความเคี่ยว เชิงจารีต” ของรอมนีย์ไปด้วยไม่ได้ ดีหน่อยที่แบคกราวด์ของรอมนีย์ ไม่ได้“เคี่ยวเชิงจารีต” เท่าคนในนิกายมอร์มอนเป็นกัน แต่ Image ของอดีตผู้ว่าการรัฐแมสสาซูเซสส์ “ขวากลาง” ก็ชัดว่า เขา pro-life อย่างไม่สามารถเลี่ยงได้, เพื่อนผมที่ลาสเวกัส แซวว่า หากรอมนีย์ไปลาสเวกัส เขาคงไม่เอาด้วยกับอบายมุข เกมพนันและเซ็กส์โชว์ที่มีอยู่เกลื่อนเมืองเป็นแน่ หากแต่เขาจะเลือกเพียงไวน์ชั้นดีในห้องส่วนตัวที่ Bellagio ไม่ก็ในบ่อนอื่นในเครือเอ็มจีเอ็ม แกรนด์

ขณะที่ อีกฝ่าย “กลยุทธ์หาเสียงกับคนจนยังใช้ได้ผล” บารัก โอบามา ขวัญใจโรบินฮู้ด ก็มุ่งทำงานหาเสียงของเขาอย่างขะมักขะเม้น

ใช่แน่นอนถ้าจะบอกว่า โอบามา คือ ผู้ลบภาพเชิงลบของ “คนผิวสี”ในอเมริกาออกได้บางส่วน อย่างน้อยก็ต่อคนส่งทูโกคนไทยในเขตแอล.เอ. ที่ชีวิตของเขาเคยผ่านประสบการณ์เลวร้ายจากคนผิวสีอเมริกัน-แอฟริกัน มาอย่างใจหายใจคว่ำ เมื่อชายผิวดำร่างยักษ์จับข้อเท้าของเขายกขึ้น เอาหัวห้อยลง  เขย่าตัวเขากรุ๊งกริ๊งให้เศษเหรียญจากกระเป๋าของเขาหล่นลงบนพื้น ปล้นเอาแม้กระทั่งเหรียญเพนนีเล็กๆ ขณะเขากำลังส่งทูโกในวันหนึ่ง

อิมเมจเชิงศีลธรรมของโอบามา แตกต่างจากอิมเมจเชิงศีลธรรมของรอมนีย์หรือกระทั่งทรัมป์ อย่างแทบสิ้นเชิง เพราะแท้จริงแล้ว คนนิกายเดโมแครตส่วนหนึ่งที่กำลังโตขึ้นอย่างมากนั้น พวกเขาประกาศตนเองด้วยซ้ำว่า “ไม่มีศาสนา”   โอบามาเองก็ถูกเคลือบแคลงจากมหาชนอเมริกันเช่นกันว่า “เป็นไปได้อย่างไรกันที่โซเชียลลิสต์ (โอบามา) จะนับถือพระเจ้า”

กระนั้น ก็ยังเป็นที่ถูกใจของเสรีชน สุขนิยม โดยเฉพาะสุขนิยมทางเพศชาวฮอลลีวูด พวกเขาส่งสัญญาณที่ดีในตอนนั้นว่า จะเลือกยืนข้างโอบามาก ไม่ต่างจากเลือกเพศที่สาม, การณ์เป็นไปถึงขนาดว่า ศิลปินนักร้องจำนวนหนึ่งตั้งท่ายื่นฟ้องต่อรอมนีย์ ฐานนำเพลงของเขาไปเปิดนำ (introduce) ขณะหาเสียงบนเวที, แสดงให้เห็นว่า รอมนีย์เอง ยังลำบากคับแค้น ถึงขนาดต้องวิ่งขอลิขสิทธิ์เพลงเพื่อเปิดนำบนเวทีหาเสียงด้วยความลำบากยากเข็ญ

ก่อนหน้านั้นฐานแห่งการเป็น pro-choice ของเดโมแครตและโอบามา ถูกนักวิจัยความสุขที่นิวยอร์คกระตุกมาแล้ว เมื่อดัชนีความสุขที่เป็นผลของการวิจัยชิ้นเดียวกัน บ่งว่า พวกpro-life มีความสุขมากกว่าพวก pro-choice จากเหตุผล เงื่อนไขทางศีลธรรมและความตั้งมั่นในสถานภาพ และเพศสภาพ อีกเหตุผลหนึ่งคือ ชาวprolife ไม่มีการตั้งคำถามกับชีวิตและสังคม มากมายเหมือนชาว pro-choice มีข้อสรุปส่วนหนึ่งที่อาจเป็นไปได้ว่า “ของความทุกข์ของคนเราเกิดจากวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)” ของพวกเขาเองนั่นแหละ (พวกมีปัญหาและตั้งคำถามเยอะ)

ชาว pro-life จึงพอใจในสภาพที่ตนเองเป็นอยู่มากกว่าชาว pro-choice รวมถึงความพอใจในระบบการใช้ชีวิตแบบครอบครัวผาสุก ผัวเดียวเมียเดียว จึงแทบไม่ต้องสงสัยว่า เรื่องราวของ บิล คลินตันกับโมนิกา เลวินสกี้ กลายเป็นโจ๊กโอเปร่าของชาวเดโมแครตในเวลาไม่ช้า แต่ฝังหัวรีพับลิกันอยู่นาน

อีกแง่หนึ่ง ประเด็นทางด้านศีลธรรมทำให้นักการเมืองอเมริกันที่คาดกันว่า จะมีอนาคตรุ่งโรจน์ต้องเสียคนมานักต่อนักแล้ว

แต่รอมนีย์เองก็คงจะนึกไม่ออกว่า โอบาม่า มีอะไรเสื่อมเสียทางศีลธรรมบ้าง คนรวยอย่างเขาผิดตรงไหน ทั้งๆที่เขาเองก็มีที่มาไม่ต่างจาก Harry Reid  อดีตประธานสภาสูง (Senate) สว. เสียงข้างมากของแดโมแครต Reid นั้น เป็นถึงลูกชายของเจ้าของเหมืองแร่ใหญ่ แห่งเมือง Searchlight รัฐทะเลทราย อย่างเนวาดา

ศีลธรรมเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล ตราบเท่าไม่นำระบบศีลธรรมไปบีฑา หรือบังคับให้คนอื่นเชื่อในระบบศีลธรรมแบบเดียวกับตน เหมือนที่ รอมนีย์กำลังเชื่อศีลธรรมกระแสหลัก(คริสตธรรม) และโอบามากำลังเชื่อศีลธรรมกระแสรอง(อัตตธรรม/ไร้ศาสนา)

เพราะการไปวัด ไปโบสถ์ ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ,หรือการไปโบสถ์ของบุคคลสำคัญทางการเมืองหรือนักการเมือง ไม่ได้บ่งเสมอไปว่า เขาผู้นั้นเป็นคนดีมีศีลธรรม !

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net