Skip to main content
sharethis

สกว.ระดมสมองนักวิชาการทบทวนกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ “อนาคตศึกษา” เพื่อเป็นเป้าหมายในการสนับสนุนทุนวิจัยที่ตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ หวังเป็น “ดาวฤกษ์” ที่ก้าวทันหรือนำการเปลี่ยนแปลง และหลุดจากกับดักความไม่ยั่งยืนในบริบท “ซูเปอร์แมคโคร” ของโลก

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว.

10 พ.ค.2561 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. เป็นประธานการประชุมกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 3/2561 ณ โรงแรมบางแสน เฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี เพื่อทบทวนผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบจากงานวิจัย ตลอดจนแนวทางการดำเนินงาน และการทำงานต่อไปในอนาคต ตามยุทธศาสตร์ของ สกว. ที่มุ่งสร้างองค์ความรู้ใหม่และนวัตกรรมที่ก้าวทันหรือก้าวนำการเปลี่ยนแปลงของโลกและอนาคตศึกษาอย่างเป็นระบบ สร้างนโยบายและต้นแบบการพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น พื้นที่ และประเทศ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตอบสนองความต้องการในการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ และมอง “อนาคตศึกษา” ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่าในช่วงสามปีที่ผ่านมาภาพรวมของกรอบวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ประสบผลสำเร็จหลายเรื่อง เช่น การบริหารจัดการทุนวิจัยนวัตกรรม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยบางประเด็น ความรู้และมุมมองของแต่ละยุทธศาสตร์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเด็นความเหลื่อมล้ำได้ถูกยกระดับจากงานวิจัยท้องถิ่นขึ้นมาในระดับชาติ อย่างไรก็ตามยังมีงานที่จะต้องทำอีกจำนวนมาก ทั้งนี้ในยุทธศาสตร์ใหม่ของ สกว. กรอบประเด็นวิจัยเชิงยุทธศาสตร์จะต้องออกแบบให้บรรลุผลกระทบที่ต้องการ การชี้วัดผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเป้าหมายเชิงพัฒนา สถานภาพปัจจุบันที่ทำอยู่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการหรือไม่ ต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อประเทศ สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเพื่อให้ตอบสนองและเกิดการใช้ประโยชน์ได้จริง รวมทั้งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูป ดังนั้นในสามปีจากนี้ไปจึงฝากให้คณะทำงานดูเป้าหมายสุดท้าย ตัวชี้วัดเชิงการพัฒนา กรอบการทำงาน กรรมการที่ปรึกษาที่มีทั้งผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย รวมถึงการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายและการมองภาพอนาคต

ด้าน ผศ. ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สกว. มองว่า “อนาคตศึกษา” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทยแต่หลายภาคส่วนอาจจะยังไม่คุ้นเคยหรือเป็นบริบทปกติของประเทศ ชาติพันธุ์ใดที่มีความสามารถมองอนาคตได้ดีกว่า ก็มีโอกาสสูงที่จะอยู่รอดหรือแข่งขันได้ สามารถเห็นความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือมองเห็นโอกาสได้มากกว่า ดังนั้นงานอนาคตศึกษาจึงไม่ใช่เพียงแค่การทำนาย แต่ในทางปฏิบัติแล้วเรานำมาใช้ในการสร้างจุดร่วมและออกแบบยุทธศาสตร์ขององค์กรหรือชาติพันธุ์ เพื่อที่จะขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่สังคมต้องการในจุดร่วมเดียวกัน

ศ. ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากงานวิจัยขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนต้องการ กลุ่มเป้าหมายมีสองระดับ คือ ระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจ และระดับผู้ปฏิบัติ เช่น หน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน ซึ่งตนเชื่อว่าทั้งสองระดับมีความต้องการ แต่ปัญหาคือเมื่อจะตัดสินใจกลับไม่มีความรู้ให้เลือก บทบาทที่จะทำได้ต้องสมดุลกัน ตนยังยึดมั่นการทำงานวิจัยเพื่อหาความรู้และเป็นทางเลือกหนึ่งของการตัดสินใจในภาคนโยบาย

ศ.สุริชัย หวันแก้ว

ขณะที่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว กล่าวว่า ผู้ใช้ประโยชน์บางคนบางหน่วยงานยังเพิกเฉยต่อระบบวิจัย การเชื่อมโยงงานจึงต้องดูบริบทของจิตวิทยาสังคมการเมืองด้วย หน้าตาของประเทศไทยในอนาคตที่มีผลต่อบริบทของผู้ใช้ประโยชน์และระบบวิจัยจะเป็นอย่างไร เช่น สอดคล้องต่อความรับผิดชอบต่อภูมิภาคของไทยหรือไม่ รวมถึงมีแพลทฟอร์มความรู้ใดที่จะคุยและเรียนรู้ระบบกันได้ คุณภาพขององค์กรจะบรรลุตนเองและมีความเสถียรท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในบริบทความไม่ยั่งยืนของโลกซึ่งเป็น “ซูเปอร์แมคโคร” แต่ส่วนใหญ่เรายังสนใจประเด็นประโยชน์ชาติในระดับแมคโคร หรือสนใจเฉพาะเรื่อง จึงควรจะสร้างความสนใจอย่างกว้างขวางแก่ผู้ใช้ประโยชน์ สกว.ต้องแสดงบทบาทและใส่ใจในการวางโจทย์ยุทธศาสตร์การวิจัย มิฉะนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเสี่ยง ทำอย่างไรจะหลุดออกจากกับดักของความไม่ยั่งยืนและต้องมองในหลาย ๆ มิติเพื่อจะได้ไม่ทอดทิ้งใคร

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ระบุว่าส่วนตัวคิดว่าการเชื่อมโยงประเด็นทางการศึกษาและความมั่นคงทางทะเลไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงนโยบายเป็นเรื่องที่หินมาก และอยากให้ประเด็นวิจัยของ สกว. ที่ประสบความสำเร็จเป็นแนวทางต่อประเด็นอื่น ๆ ว่ามีการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและแก้ไขปัญหาได้อย่างไร รวมทั้งทำความเข้าใจกับผู้ใช้ประโยชน์ ทำอย่างไรให้มอง สกว. เป็นดาวฤกษ์ นำประเทศไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับความรู้จากงานวิจัยกรอบประเด็นการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ และงานวิจัยอื่นของ สกว. ที่สามารถสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ความมั่นคง (เช่น การรักษาความมั่นคงภายในโดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การสร้างความร่วมมือกับมิตรประเทศเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคม และป้องกันภัยคุกคามข้ามชาติ) ยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน (เช่น การลงทุนวิจัยและบ่มเพาะผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน) ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน (เช่น การสร้างความมั่นคงและความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทยในสังคมสูงวัย) ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม (เช่น การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับกลุ่มเป้าหมาย) ยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (เช่น การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการ ความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทะเล) และยุทธศาสตร์การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ (เช่น การบริหารจัดการการเงินการคลังของท้องถิ่น) ซึ่งสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในภาคปฏิบัติ เครือข่ายการทำงานภาควิชาการ ภาคนโยบายและภาคประชาชน ระบบหรือฐานข้อมูลเฉพาะด้าน รวมทั้งเกิดกระบวนการและรูปแบบการสื่อสารสู่ภาคนโยบายและสาธารณชน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net