Skip to main content
sharethis
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต วิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในอนาคตเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปี การลอยตัวค่าเงินบาทหรือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 มองประเทศไทยมีความเสี่ยงตํ่าในการเกิดวิกฤตแบบปี 2540 แต่ให้ระวังความเสี่ยงเรื่องฐานะการคลัง ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และตุรกี มีโอกาสเกิดวิกฤตแบบปี 2540 ได้
 
1 ก.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้ความเห็นและวิเคราะห์ถึงวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในอนาคตเนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปีการลอยตัวค่าเงินบาทหรือวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินปี 2540 หรือ 'วิกฤตต้มยำกุ้ง' ว่าประเทศไทยจะยังไม่เผชิญวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 จนกระทั่งต้องเข้ารับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจการเงินค่อนข้างดี อย่างน้อยเราจะไม่เจอกับภาวะวิกฤตแบบปี 2540 ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ขณะนี้ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับ 45-47 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีทุนสำรองระหว่างประเทศ 2.09 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นไม่มาก อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังค่อนข้างตํ่า สัดส่วนหนี้สินต่อทุนของภาคธุรกิจแม้นเพิ่มขึ้นแต่ยังคงเป็นการกู้เงินในประเทศ เมื่อเราเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่มีการจัดการ การกู้จากต่างประเทศและหนี้สินจะมีการทำประกันความเสี่ยง
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่าวิกฤตซํ้ารอยปี 2540 จะไม่เกิดในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าหากเราควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ดี ได้แก่ การก่อหนี้และการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนโดยเฉพาะหนี้สินต่างประเทศ ต้องติดตามการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ในเขต EEC มีความเสี่ยงที่จะเกิดฟองสบู่หรือไม่ ส่วนการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงินเอกชนและตลาดการเงินอยู่ในเกณฑ์ดีไม่น่ามีปัญหาอะไร ที่น่าเป็นห่วงจะเป็นพวกฟินเทค การเก็งกำไรใน Cryptocurrency สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ สหกรณ์ออมทรัพย์และพวก non-bank ทั้งหลาย
 
อย่างไรก็ตาม แม้นโอกาสในการเกิดวิกฤตแบบปี 2540 มีน้อยในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า แต่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเรื่องฐานะทางการคลังในระยะต่อไปหากไม่มีการปฏิรูปรายได้ภาครัฐทั้งระบบภาษีและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ปัญหาความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจและการไม่กระจายของรายได้ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูแลใกล้ชิด และยังมีปัญหาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีที่ยังค่อนข้างสูงอยู่ การเลือกตั้งในปีหน้าจะไม่ได้ทำให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยเต็มใบแต่เป็นระบอบกึ่งประชาธิปไตยหรือประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็ต้องรอดูว่าระบอบการเมืองลักษณะแบบนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมและภาคการลงทุนอย่างไรบ้าง การจะก้าวข้ามผ่านทศวรรษแห่งความถดถอยและกับดักรายได้ระดับปานกลางรวมทั้งวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง จำเป็นต้องอาศัยการปฏิรูปอย่างแท้จริงและการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตร่วมกันของทุกคน และควรดำเนินการภายใต้หลักการและกระบวนการประชาธิปไตยจะดีที่สุด ความขัดแย้งโดยรวมและในระยะยาวจะน้อยที่สุด จะสมานฉันท์ปรองดองมากที่สุด สภาวะความเหลื่อมลํ้าซึ่งมีอยู่หลายมิติ ทั้งมิติด้านเศรษฐกิจ (รายได้ การถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง ระบบสวัสดิการ) ด้านสิทธิและอำนาจ ด้านโอกาส ด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพ ความเหลื่อมลํ้าที่มากเกินไปได้บั่นทอนศักยภาพ โอกาสและความสามารถของประชาชนไม่ให้มีพลังในการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้
 
ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้กล่าวอีกว่าประเทศอาเซียนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตแบบปี 2540 คือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย นอกจากนี้ยังมี ตุรกี อาร์เจนตินา และอิตาลี ที่มีโอกาสเข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศเช่นเดียวกัน สำหรับบทเรียนและวิเคราะห์วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 เทียบกับปัจจุบัน ปี 2561 นั้น ผศ.ดร.อนุสรณ์ ได้วิเคราะห์ไว้ดังนี้ 
 
1. ช่วงวิกฤติปี 2540 ไทยมีช่องว่างระหว่างระดับการออมและระดับการลงทุนสูงและ การลงทุนเกินตัวทำให้ต้องอาศัยเงินออม (กู้เงิน) จากต่างประเทศ เอกชนลงทุนเกินตัวเพราะสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกที่เอื้ออำนวยการลงทุนในประเทศและการส่งออกของไทย ทำให้ภาคเอกชนไทยเร่งการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ราคาที่ดินและราคาหุ้นในประเทศสูงขึ้น ดึงดูดให้ภาคการเงินแข่งขันกันปล่อยกู้ในกิจกรรมดังกล่าว การเปิดเสรีภาคการเงินทำให้สถาบันการเงิน กู้เงินจากต่างประเทศ ที่มีต้นทุนตํ่ามาปล่อยกู้ในประเทศ ทำให้เกิดการลงทุนมากเกินไป ในขณะที่ภาคการเงินที่มีโครงสร้างแบบผูกขาดมาเป็นเวลานาน ขาดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ในขณะที่ปี 2561 สัญญาณการลงทุนเกินตัวของภาคเอกชนมีในบางภาคเศรษฐกิจและบางพื้นที่เท่านั้นและการลงทุนเอกชนไม่ได้ร้อนแรงมากเหมือนก่อนปี 2540 แต่การลงทุนภาครัฐมีเริ่มส่งสัญญาณลงทุนเกินตัวสะท้อนจากงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องและก่อหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาก ไม่เป็นปัญหาหากโครงการลงทุนต่างๆสามารถสร้างการเติบโตในระยะต่อไป
 
เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533-2538 มีอัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.6 ขณะที่อัตราการขยายตัวในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล คสช ตํ่ากว่าร้อยละ 3 ประเทศไทยจึงมีปัญหาการเติบโตตํ่ากว่าศักยภาพในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามากกว่าปัญหาเศรษฐกิจขยายอย่างร้อนแรง ช่วงก่อนวิกฤตการณ์ปี 2540 นั้นสัดส่วนของการลงทุนภายในประเทศต่อรายได้ประชาชาติพุ่งขึ้นไปแตะระดับ 41.4% จึงต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเพื่อตอบสนองการเติบโตของการลงทุน ส่วนปัจจุบันสัดส่วนของการลงทุนต่อจีดีพีอยู่ที่ตํ่ากว่า 25% สภาพคล่องภายในมีมากเพียงพอ ไม่มีความจำเป็นต้องกู้จากต่างประเทศ
 
2. การพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศในอัตราสูงไม่ใช่ปัญหา หากมีการบริหารจัดการที่ดีไม่ให้มีสัดส่วนของเงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นมากเกินไป เงินทุนที่ไหลเข้าก่อนช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สองสามปีมีสัดส่วนของการลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment) น้อย การลงทุนเข้ามาถือหุ้นร่วมกิจการก็น้อยเมื่อเทียบกับเงินไหลเข้าในรูปของเงินกู้และที่สำคัญเงินกู้เหล่านี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นทางด้านสถาบันการเงินก็ต้องมีระบบการปล่อยสินเชื่อที่มีมาตรฐานและโปร่งใส สถานการณ์ขณะนี้ เราเปิดกว้างในการดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะEEC จำเป็นต้องรักษาสมดุลให้ดีระหว่างทุนชาติและทุนข้ามชาติจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวเลข FDI ขณะนี้ก็ยังน้อยกว่าในช่วงปี 2544-2548
 
3. ช่วงก่อนปี 2540 มีการเปิดเสรีการเงินผ่านการเปิดเสรีวิเทศธนกิจ มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในระบบสถาบันการเงินไทยจำนวนมาก ทำให้สถาบันการเงินในประเทศมีการขยายสินเชื่อในอัตราเร่ง คุณภาพสินเชื่อเริ่มลดลง อัตราส่วนระหว่างการปล่อยสินเชื่อต่อปริมาณเงินฝากสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์เมื่อสิ้นไตรมาสสองของปี พ.ศ. 2538 นอกจากนี้เริ่มมีสัญญาณของหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนขณะนี้ สถานะทางการเงินของระบบสถาบันการเงินยังแข็งแกร่ง หนี้เสียตํ่า แต่จำเป็นต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อันเป็นผลกระทบจากนวัตกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน การแข่งขันในภาคการเงินรุนแรงขึ้นจากการแข่งให้บริการโดยกลุ่ม non-bank
 
4. ในช่วงก่อนปี 2540 การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด (ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย) ขณะที่ยังคงใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่พร้อมกับยังมีการเติบโตร้อนแรงอยู่ในภาคการลงทุนส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศยิ่งสร้างแรงผลักดันให้กู้ยืมเงินจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้นและดึงดูดเงินทุนไหลเข้ามากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2540 ผู้ให้กู้ให้สินเชื่อแบบผ่อนคลายมากขึ้น โครงการต่างๆ ขยายโดยใช้สัดส่วนของสินเชื่อค่อนข้างสูงและหลายโครงการกู้เงินตราต่างประเทศเพื่อประหยัดดอกเบี้ย โดยมีสมมติฐานว่าไม่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพราะมั่นใจว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ระบบตะกร้าเงิน ขณะนี้ นโยบายการเงินและระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบที่ยืดหยุ่นลอยตัวตามกลไกตลาดมากขึ้น ทำให้ลดความเสี่ยงในเชิงระบบลงได้ สถาบันคุ้มครองเงินฝากก็มาทำหน้าที่แทน กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน
 
5. ช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 สภาพคล่องที่ผ่อนคลายและปริมาณเงินขยายตัวในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาผสานเข้ากับความร้อนแรงของการลงทุนและการเก็งกำไรทำให้ราคาที่ดินและหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นกว่าปัจจัยพื้นฐานมากจนเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์ ส่วนในปัจจุบันราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมากในบางพื้นที่เท่านั้น เช่น เขตเศรษฐกิจ EEC หัวเมืองใหญ่ ยังไม่มีสัญญาณชัดนักในภาวะฟองสบู่ในระดับประเทศ อย่างไรก็ตามประเทศควรมีระบบข้อมูล Big Data ครอบคลุมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ผู้ซื้อหรืออุปสงค์ สินเชื่อสถาบันการเงิน เป็นต้น สาเหตุปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกช่วงปี 2540 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขาดข้อมูล ทำให้เกิดปัญหา oversupply การเก็งกำไร และสินเชื่อด้อยคุณภาพ ปัญหาฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ได้ก่อให้เกิดหนี้เสียจำนวนมากในระบบสถาบันการเงิน
 
6. ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ก่อนปี 2540 ทางการไทย (รัฐบาลไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงาน ทางเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ) ไม่สามารถใช้มาตรการหรือนโยบายต่างๆ หยุดยั้งภาวะฟองสบู่และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของอุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นโยบายการคลังที่เข้มงวดและเกินดุลมากพอที่จะลบล้างความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าไม่ได้เกิดขึ้น นโยบายการเงินเข้มงวดโดยปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยสูงไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก นโยบายเพิ่มทุนสำรองและกีดกันการนำเข้าของเงินกู้ระยะสั้นมีการดำเนินแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากพอ
 
7. มีการโจมตีและการเก็งกำไรค่าเงินโดยกองทุนเก็งกำไรและนักลงทุนช่วงก่อนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 มีการโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้น ได้มีพฤติกรรมการโจมตีค่าเงินในประเทศอ่อนแอ ทางเศรษฐกิจ ค่าเงินของหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานในหลายภูมิภาคทั่วโลก เช่น การโจมตีค่าเงินในสหภาพยุโรป ปี 2535 และเม็กซิโก 2537 ประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ค่อยยืดหยุ่นจะมีแนวโน้มที่ถูกโจมตีมากกว่าประเทศอื่นๆ (IMF Research Department Staff (1997)) นอกจากนี้วิกฤตการณ์ทางการเงินในเม็กซิโก ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลใจกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ที่มีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัด และมีแนวโน้มว่าจะมีการลดค่าเงิน นักลงทุน นักเก็งกำไรเริ่มเห็นโอกาสในการสร้างผลกำไรจากการเก็งกำไรค่าเงินบาทจากการที่ประเทศไทยมีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง อัตราเงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจร้อนแรงมีภาวะฟองสบู่ ค่าเงินถูกกำหนดให้แข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลพยายามลดความรุนแรงของปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะฟองสบู่ กิจกรรมเก็งกำไรแต่ไม่เป็นผลนัก เงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นของภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสียสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมเก็งกำไร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศลดลงอย่างมาก อันดับความน่าเชื่อถือของไทยถูกปรับลดลงโดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เงินทุนต่างประเทศเริ่มทยอยไหลออกเป็นจำนวนมากจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท
 
ช่วงเดือน ธ.ค. 2539 ใช้เงินตราต่างประเทศในการแทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 4.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมาเมื่อมีข่าวลือการลดค่าเงินในช่วงเดือน ม.ค. 2540 นักลงทุน ได้เข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท ธปท. แทรกแซงตลาดเป็นจำนวน 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2539 และมีฐานะเงินสำรองทางการหักยอดคงค้างสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือทุนสำรองทางการสุทธิ เมื่อสิ้นเดือน ก.พ. เป็นจำนวน 26 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือน พ.ค. 2540 การปกป้องค่าเงินบาททำให้ทุนสำรองสุทธิลดลงจากระดับ 24.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ช่วงเดือน มิ.ย. 2540 เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออก ส่งผลให้เงินทุนของนักลงทุนไทยไหลออกนอกประเทศ ส่งผลให้ทุนสำรองสุทธิลดลง จนกระทั่งในวันที่ 2 ก.ค. 2540 ในที่สุดภายใต้แรงกดดันของตลาดการเงินระหว่างประเทศและปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทหรือเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนระบบคงที่แบบตะกร้าเงิน (Pegged Exchange Rate System) เป็น ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Floated Exchange Rate System) โดยในวันดังกล่าวทุนสำรองสุทธิของไทยเหลืออยู่ในระดับ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สถานการณ์การโจมตีและเก็งกำไรค่าเงินจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากตลาดการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากเงินทุนไหลกลับจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และ QE exit ของธนาคารกลางยุโรป
 
8. ก่อนวิกฤตปี 2540 ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เมื่อใช้ในสภาวะที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรี ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจำกัดอุปสงค์รวมได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูง ผู้ลงทุนจะหันไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยตํ่ากว่าและในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยของประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นก็ตํ่ากว่าไทยมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้ต่อประเทศระยะสั้นจำนวนมาก
 
9. เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530 ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประเทศจะสามารถขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องได้จะต้องมีการเกินดุลบัญชีเงินทุน ในกรณีของประเทศไทย มีการเกินดุลบัญชีเงินทุนในส่วนของเงินกู้จากต่างประเทศและเป็นหนี้ระยะสั้น ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เชื่อว่าประเทศสามารถจ่ายหนี้ได้ในอนาคต และสามารถรักษาระดับเงินทุนไหลเข้า
 
10. การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยหลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัย การผลิตมากขึ้นมิใช่จากการยกระดับผลิตภาพและเทคนิคการผลิต การเพิ่มคุณภาพของปัจจัยการผลิตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอิสราเอล การเพิ่มผลิตภาพรวมของปัจจัยการผลิต (Total Factor Productivity, TFP) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคุณภาพของปัจจัยการผลิต และการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้นนั้นเป็นที่มา (Source) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net