Skip to main content
sharethis

อังเดร มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ หรือ 'อัมโล' จากพรรคโมเรนา พรรคฝ่ายซ้ายของเม็กซิโกประกาศชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาด้วยคะแนนท่วมท้นเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ

เขาประกาศจะส่งเสริมระบบภายในประเทศเพื่อทำให้คนกินดีอยู่ดีและเกิดความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งเขามองว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและผู้อพยพได้ ถึงแม้อัมโลจะบอกว่าต้องการเจรจาหาข้อตกลงกับโดนัลด์ ทรัมป์ ในประเด็นผู้อพยพซึ่งเป็นข้อพิพาทในสหรัฐฯ ตอนนี้ แต่ก็มีการประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าเม็กซิโกจะแข็งข้อต่อสหรัฐฯ กับบรรษัทข้ามชาติมากขึ้น

แฟ้มภาพ Andrés Manuel López Obrador เมื่อ 27 มิถุนายน 2012 ล่าสุดเขาชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเม็กซิโกเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาอย่างถล่มทลาย
ที่มา: Eneas De Troya/Cierre de Campaña/Wikipedia

ผู้แทนฝ่ายซ้ายของเม็กซิโก อังเดร มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุดอย่างถล่มทลาย จากผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2561 โดยแสดงให้เห็นว่าโอบราดอร์ที่ผู้สนับสนุนเขาตั้งชื่อเล่นให้ว่า อัมโล (AMLO) มีคะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ทำให้ตัวแทนจากพรรคอื่นๆ ประกาศยอมแพ้

"วันนี้ พวกเขายอมรับชัยชนะของพวกเราแล้ว" อัมโลประกาศต่อหน้าฝูงชนผู้สนับสนุนเขาในเม็กซิโกซิตี โดยที่คู่แข่งหลักของเขาทั้ง 3 คน ต่างก็ประกาศยอมรับความพ่ายแพ้หลังจากที่มีการนับคะแนนหลังปิดคูหาไปได้เพียง 2 ชั่วโมง

โดยขณะที่รายงานอยู่นี้ (03.27 น.) ผลการเลือกตั้งนับไปแล้ว 72% อัมโลได้ 21.641 ล้านคะแนน คิดเป็นร้อยละ 53.2% ส่วนคู่แข่ง อานาญา ได้ 9.158 ล้านคะแนน หรือ 22.5% แมเด ได้ 6.563 ล้านคะแนน หรือ 16.1%

จอห์น เฟฟเฟอร์ นักวิเคราะห์จากสหรัฐฯ ระบุว่าอัมโลเกรียบเสมือนเป็น "เบอร์นี แซนเดอร์ส แห่งเม็กซิโก" ที่เน้นเรื่องสวัสดิการความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ขณะที่ เกลซี ฮอฟฟ์แมนน์ ประธานพรรคแรงงานของบราซิลมองว่าถ้าหากอัมโลชนะในครั้งนี้อาจจะกลายเป็นการจุดกระแสให้ฝ่ายก้าวหน้ากลับมารุ่งเรืองในลาตินอเมริกาอีกครั้งในแบบที่เรียกว่า "กระแสสีชมพู" (Pink Tide)

อัมโลเป็นตัวแทนจากพรรคฝ่ายซ้ายของเม็กซิโกที่ชื่อโมเรนา (Morena) เขามีภาพลักษณ์เป็นฝ่ายซ้ายประชานิยมผู้ที่เน้นพูดถึงการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศด้วยการสร้างความเท่าเทียมกันในสังคมมากขึ้น เน้นชาตินิยมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มความเข้มแข็งของระบบตลาดภายในประเทศและส่งเสริมการบริโภคสินค้าในประเทศ โดยมองว่ามันจะทำให้ "ชาวเม็กซิกันสามารถทำงานและมีความสุขกับถื่นกำเนิดของตัวเองได้ ที่ๆ ครอบครัวของพวกเขาอยู่ ที่ๆ มีวัฒนธรรมประเพณีของพวกเขาอยู่"

ในประเด็นผู้อพยพนั้น อัมโลบอกว่าการอพยพย้ายถิ่นฐานควรจะเป็นการกระทำที่คนๆ นั้นเลือกเอง แทนที่จะต้องอพยพหรือลี้ภัยจากประเทศตัวเองด้วยความจำเป็น ทั้งนี้อัมโลยังมีภาพลักษณ์เป็นผู้วิพากษ์โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในประเด็นของการกีดกันผู้อพยพและการขู่สร้างกำแพงกั้นสหรัฐฯ กับเม็กซิโก โดยที่อัมโลบอกว่าเขาต้องการเจรจาข้อตกลงกับทรัมป์ในประเด็นผู้อพยพว่าควรแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างงานและการพัฒนามากกว่าจะสร้างกำแพงกั้นพรมแดน

อัมโลกล่าวปราศรัยหลังคำประกาศชัยชนะว่าเขาจะสานสัมพันธ์ใหม่กับสหรัฐฯ โดยเน้นเรื่องความเคารพร่วมกันทั้งสองฝ่ายและการคุ้มครองผู้อพยพชาวเม็กซืโกผู้ที่ทำงานและอาศัยอยู่อย่างสุจริตในประเทศสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังกล่าวว่าเขาจะทำตามแผนการสันติภาพร่วมกับผู้แทนของอยู่สหประชาชาติ กลุ่มสิทธิมนุษยชน และองค์กรศาสนา เพื่อช่วยแก้ปัญหาอัตราอาชญากรรมที่สูงในเม็กซิโก โดยที่อัมโลเคยวิจารณ์ผู้นำคนก่อนหน้านี้ของเม็กซิโกว่าไม่สามารถจัดการปัญหาอาชญากรรมและการทุจริตได้เพราะปล่อยให้มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ทวีตแสดงความยินดีกับอัมโลและระบุว่ามีความมุ่งหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกับเขา

ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ จะดีขึ้นจริงหรือ?

สื่อสายก้าวหน้าจากสหรัฐฯ Toward Freedom เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับอัมโลตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมาโดยระบุว่ามีการประเมินเอาไว้ในสื่อหลายสำนักว่าอัมโลมีโอกาสชนะเลือกตั้งสูงมาก ขณะที่กลุ่มธุรกิจพยายามกดดันคนงานให้เกลียดอัมโลและขบวนการโมเรนาโดยขู่ว่า "ประชานิยม" ของเขาจะทำให้ประเทศกลายเป็นแบบคิวบาและเวเนซุเอลา แต่ในความเป็นจริงแล้วอัมโลตามจากผู้นำสังคมนิยมของสองประเทศนี้มาก และขณะเดียวกันก็อาจจะส่งอิทธิพลต่อสหรัฐฯ มากกว่าที่ฮิวโก ชาเวซ เคยส่งอิทธิพลไว้เสียอีก

อย่างไรก็ตาม Toward Freedom ประเมินไปในทางตรงกันข้ามกับที่อัมโลแสดงออกไว้ โดยระบุว่าองค์การนานารัฐอเมริกัน (OAS) มักจะปล่อยให้สหรัฐฯ โดดเดี่ยวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทูตสหรัฐฯ มักจะใช้วิธีให้เม็กซิโกเป็นตัวกลางในการส่งอิทธิพลทางนโยบายต่างประเทศในภูมิภาคนี้ แต่การที่อัมโลขึ้นดำรงตำแหน่งก็อาจจะทำให้เขาไม่เล่นตามบทเดิมที่เม็กซิโกเคยเป็นตัวกลางให้สหรัฐฯ กับ OAS อีกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีการประเมินว่าอัมโลจะดำเนินนโยบายปรับปรุงการค้าเสรีกับต่างประเทศในทางที่ให้ประโยชน์กับเม็กซิโกมากขึ้น ขณะเดียวกันการพยายามเสนอนโยบายให้ประชาชนกินดีอยู่ดีขึ้น เช่นการให้สวัสดิการนักศึกษา ทุนการศึกษา ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการพัฒนาชนบท และการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ก็อาจจะทำให้ชาวเม็กซิกันมีแรงจูงใจในการอพยพออกนอกประเทศน้อยลง

ทว่า Toward Freedom ก็ยังประเมินว่าถ้าหากผู้นำฝ่ายซ้ายคนใหม่ดำเนินนโยบายสำเร็จก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะมีท่าทีเชิงรุกและอยากแทรกแซงพวกเขามากขึ้นจากข้อสังเกตที่ว่าสหรัฐฯ เคยแทรกแซงประเทศลาตินอเมริกาที่เป็นสังคมนิยม หรือสังคมนิยมประชาธิปไตยมาก่อนแทบทั้งสิ้น

เรียบเรียงจาก

Lopez Obrador scores landslide victory as Mexico votes for change, CNN, 02-07-2018

Leftist Candidate López Obrador Will Likely be Mexico’s Next President: What Will It Mean for the US?, Toward Freedom, 12-06-2018

Mexico's 'Bernie Sanders' Wins in a Huge Historic Landslide With Mandate to Reshape the Nation, Common Dreams, 01-07-2018

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Andrés Manuel López Obrador, Wikipeida

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net