Skip to main content
sharethis

หนึ่งในข้อกล่าวหาที่ทำให้เกิดการกีดกันผู้หญิงในการทำงานหลายวิชาชีพ คือข้ออ้างที่ว่าผู้หญิงมักลาคลอดหรือลาเลี้ยงดูบุตร แต่นายกฯ หญิงนิวซีแลนด์ เพิ่งกลับเข้าทำงานหลังลาคลอดไป 6 สัปดาห์ โดยให้คู่รักของเธอดูแลลูกแทนทำให้สื่อนำเสนอว่าการให้ผู้ชายมีโอกาสลางานเพื่อดูแลลูกได้นั้นส่งผลดีทั้งต่อตัวเด็ก ชีวิตคู่ และสังคม

ภาพคุณแม่ฝึกให้นมลูก (ที่มา: Flickr/ UNICEF Ukraine)

7 ส.ค. 2561 นิตยสารไทม์ระบุว่า จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีฝ่ายซ้ายของนิวซีแลนด์กลับมาทำงานเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ที่ผ่านมาหลังขอลาคลอด 6 สัปดาห์ นับเป็นผู้นำคนที่สองของโลกที่คลอดลูกในช่วงที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ (คนแรกคือเบนาซี บุตโต ของปากีสถาน) โดยในขณะที่อาร์เดิร์นมอบหมายงานให้รองนายกรัฐมนตรี วินสตัน ปีเตอร์สทำแทนชั่วคราว นอกจากนั้นเธอยังเผยแพร่วิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าเธออ่านเอกสารจากรัฐสภาอยู่ที่บ้านในช่วงที่ลาคลอด ทั้งนี้หลังจากที่เธอกลับเข้าทำงานแล้วก็มีการมอบหมายให้คู่รักของเธอที่เป็นชายชื่อ คลาร์ค เกย์ฟอร์ด เป็นผู้ดูแลบุตรแทน

เดอะการ์เดียนระบุว่ามีสื่อหลายสำนักที่นำเสนอเรื่องนี้ในฐานะเรื่องแปลก ทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้หญิงจะลาคลอดแล้วกลับไปทำงานต่อได้โดยไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร และมันควรถูกมองเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ  แต่บรรทัดฐานที่ให้พ่อหรือผู้ชายเป็นฝ่ายเลี้ยงดูเด็กแทนหรือการให้ทั้งพ่อแม่ดูแลลูกเท่าๆ กันนั้นยังไม่ถูกมองเป็นเรื่องปกติในสื่อและสังคมตะวันตก

ในบางประเทศมีการเปิดให้ผู้เป็นพ่อสามารถลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูลูกได้ แต่ก็มีคนเป็นพ่อจำนวนน้อยที่ใช้สิทธิลาหยุดนี้ ในออสเตรเลีย คู่ที่มีลูกสามารถลาหยุดได้ 2 สัปดาห์โดยยังคงได้รับค่าจ้าง แต่ก็มีเพียงร้อยละ 4-5 ที่ใช้สิทธิลาหยุดนี้ ในนิวซีแลนด์เองก็มีคุณพ่อแค่ราวร้อยละ 4 ที่ใช้สิทธิลาหยุด 2 สัปดาห์เพื่อเลี้ยงลูก ในสหราชอาณาจักรมีเพียงร้อยละ 2 เท่านั้นที่ใช้สิทธิลาเลี้ยงลูกเป็นคู่หลังจากที่ในปี 2558 มีการอนุญาตให้คู่รักที่มีลูกสามารถลาหยุดเพื่อเลี้ยงดูลูกได้ทั้งสองคนรวมกัน 50 สัปดาห์และจะได้รับค่าจ้าง 37 สัปดาห์

ในสหรัฐฯ เป็นประเทศโลกที่หนึ่งประเทศเดียวที่ไม่มีนโยบายระดับชาติที่การันตีการลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างของคนที่เพิ่งมีลูก อย่างไรก็ตามบางรัฐในสหรัฐฯ มีการนำเสนอนโยบายเช่นนี้แต่ก็มีคนใช้สิทธิลาหยุดตรงนี้น้อยอยู่

ถึงแม้จะเคยมีงานวิจัยระบุว่าคนที่เป็นพ่อชอบแนวความคิดเรื่องให้คนเป็นพ่อลาเลี้ยงลูกได้ แต่ทำไมในทางปฏิบัติถึงยังคงมีคนทำเช่นนี้อยู่น้อย เดอะการ์เดียนระบุว่าภาวะบีบคั้นทางการเงินอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะเดียวกันวัฒนธรรมก็เป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญเช่นกัน

เดอะการ์เดียนระบุว่ามีอยู่สองแห่งที่นโยบายให้พ่อหยุดงานช่วยเลี้ยงลูกได้ประสบผลสำเร็จคือประเทศเยอรมนี กับรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ในเยอรมนีมีข้อกำหนดให้คู่ที่มีลูกสามารถหยุดงานเพื่อเลี้ยงดูลูกได้มากที่สุด 14 เดือน และภายใน 2 เดือนนั้นกำหนดให้เป็นของฝ่ายพ่อ หลังใช้นโยบายนี้ทำให้มีผู้ชายที่หยุดงานเพื่อเลี้ยงลูกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3 เป็นมากกว่าร้อยละ 20 ภายใน 2 ปี ขณะที่ในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา มีข้อกำหนดคล้ายๆ แบบของเยอรมนีทำให้มีคนเป็นพ่อลางานเลี้ยงดูลูกเพิ่มมากกว่าร้อยละ 80

มีรายงานอีกชิ้นหนึ่งของเดอะการ์เดียนเมื่อไม่นานนี้ระบุว่าโครงการให้พ่อลาช่วยเลี้ยงลูกในควิเบกนั้นเนื่องจากมีโครงการที่ชื่อ 'แผนประกันผู้ปกครองควิเบก' (QPIP) ที่ได้อิทธิพลจากประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มุ่งแก้ปัญหาเด็กเกเร ปัญหาการหย่าร้าง และมุ่งสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ โครงการนี้มีการให้เงินเดือนชดเชยสูงร้อยละ 70-75 เป็นเวลามากที่สุด 52 สัปดาห์ จนมีคนตั้งชื่อเล่นให้โครงการว่า "แดดดีโควตา" หรือ "โควตาคุณพ่อ" โดยที่โครงการนี้เป็นสวัสดิการที่ให้กับทั้งพ่อและคู่รักเลสเบียนที่อุปการะบุตร ทำให้คนรู้สึกว่าถ้าไม่ใช้สวัสดิการนี้ก็จะเสียโอกาสไปเปล่าๆ

มีงานวิจัยจากปี 2557 ที่ระบุว่าการที่พ่อสามารถลางานเลี้ยงดูลูกได้ส่งผลดีต่อชีวิตครอบครัวและชีวิตคู่รวมถึงส่งผลดีต่อเด็กเองด้วย เช่น ทำให้มีการหย่าร้างน้อยลง ทำให้ความสัมพันธ์ทางเพศรสระหว่างคู่รักเป็นที่พึงพอใจมากขึ้น เด็กที่เติบโตมาในสภาพที่คู่รักมีความสัมพันธ์เท่าเทียมกันมีโอกาสสูงกว่าที่จะเป็นเด็กที่มีความสุข มีสุขภาพดีกว่า ผลการเรียนดีกว่า เห็นคุณค่าในตัวเองมากกว่าและมีพฤติกรรมสร้างปัญหาน้อยกว่า นอกจากนี้ยังทำให้แม่มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นในอนาคตร้อยละ 7 ด้วย

เรียบเรียงจาก

Clarke Gayford is staying at home with baby Neve. So what's the big deal?, The Guardian, Aug 5, 2018

'The Daddy quota': how Quebec got men to take parental leave, The Guardian, Jun 15, 2018

New Zealand's Prime Minister Jacinda Ardern Returns to Work After Maternity Leave, Time, Aug 2, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net