Skip to main content
sharethis

สมาคมสื่อมวลชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดประชุมภูมิภาคปมแก้ไขเรื่องข้อมูลปลอม ระบุหลายประเทศจัดตั้งกลุ่มปล่อยข่าวชัดเจน วันนี้เริ่มมีการตอบโต้ด้วยการเช็คข้อเท็จจริงหลายวิธี กรรมการบริหาร SEAPA เผย ชวนเฟสบุ๊ก กูเกิ้ล ไลน์แล้ว แต่ไม่มาแม้แต่เจ้าเดียว แนะถึงเวลาลงมือแก้ไขปัญหาร่วมกันแล้ว ขณะที่รายงานชี้เสรีภาพสื่อในภูมิภาคน้อย เป็นงานอันตราย ส่วนไทยติดท็อป 3 คุกคามสื่อ

ภาพบรรยากาศในงานขณะแยกกลุ่มแชร์ข้อมูล

27-29 ก.ย. ที่ผ่านมา สมาคมสื่อมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA จัดการประชุมระดับภูมิภาคในหัวข้อ “Combating Disinformation: Quo Vadis, Southeast Asia? - สู้กับข้อมูลเท็จ: เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไปทิศทางไหน” ขึ้นที่โรงแรมพูลแมน รางน้ำ กรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมประกอบด้วยแขกรับเชิญ วิทยากร และผู้เข้าร่วมประชุมทั้งที่เป็นสื่อมวลชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม คนทำงานด้านการตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูล ร่วมแชร์ความรู้ บริบทและข้อท้าทายในการทำงานต่อกรกับข้อมูลปลอมของแต่ละประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมงานและวิทยากรแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความท้าทายในประเทศตนเอง บนเงื่อนไขที่การปล่อยข้อมูลเท็จถูกใช้เป็นประโยชน์ในทางการเมือง และไทยอาจต้องคิดถึงปัญหาเหล่านี้มากขึ้นเมื่อประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปี

นานาทัศนะข้อมูลปลอม: ถกปัญหา-แก้ไขระดับภูมิภาค

สำหรับประสบการจากประเทศอินโดนีเซีย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วงประชุม ระบุว่ามีการตัดต่อภาพ ข้อความ เข้ากับตัวบุคคลเพื่อสร้างความเสียหายต่อภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์ องค์กรทางศาสนาอย่างเช่นกลุ่มมุสลิมสุดโต่งหรือมัสยิดเองต่างก็ร่วมวงแสดงจุดยืนทางการเมืองทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ กรณีที่เป็นที่รู้จักคือกระแสโจมตีบาซูกี จาฮานา ปูร์นามา หรือ “อาฮ็อก” ผู้ว่าฯ กรุงจาการ์ตา ที่เป็นชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน และนับถือศาสนาคริสต์ โดยช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จาการ์ตาปี 2559 อาฮ็อกลงแข่งขันชิงตำแหน่งกับอากุส ยุโดโยโน ลูกชายของซุซิโล บัมบัง ยุโดโยโน อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เวทีชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ ดำเนินไปท่ามกลางกระแสแบ่งฝักฝ่ายในเรื่องศาสนาและชาติพันธุ์ มีการเดินขบวนประท้วง และมีรณรงค์โจมตีอาฮ็อกภายใต้กลุ่มชื่อกองกำลังไซเบอร์มุสลิม (Muslim Cyber Army) ที่ใช้บัญชีผู้ใช้งานสื่อโซเชียลแบบนิรนามนับร้อยบัญชีเพื่อปล่อยเนื้อหารุนแรง โดยหวังว่าจะทำให้ฐานเสียงชาวมุสลิมไม่โหวตให้อาฮ็อก

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีความเชื่อมั่นในสื่อกระแสหลักน้อย การสำรวจจากสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเมื่อปี 2560 พบว่าชาวอินโดนีเซียเชื่อมั่นต่อสื่อกระแสหลักเพียงร้อยละ 67 ซึ่งน้อยกว่าการเชื่อถือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่คอรัปชัน (ร้อยละ 70) ซึ่งสื่อนิวมันดาลาวิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะอุตสาหกรรมสื่อมีการเลือกข้างที่ชัดเจนตามผลประโยชน์ของเจ้าของหรืออิทธิพลของคนไม่กี่คน เช่นสื่อเมโทรทีวีที่มีเจ้าของเป็นผู้บริหารพรรคการเมืองที่สนับสนุนประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ก็กลายเป็นกระบอกเสียงให้เขาไป ในขณะที่คืนการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2557 ช่องทีวีวันยังทำผลสำรวจปลอมออกมาเพื่อยืนยันว่าปราโบโว ซูเบียนโต ผู้ลงรับเลือกตั้งแข่งกับโจโค กำลังจะชนะเลือกตั้ง และแน่นอน เจ้าของทีวีวันสนับสนุนปราโบโว การนำเสนอข่าวแบบนี้ย่อมทำให้คนเชื่อว่าสื่อกระแสหลักนั้นเลือกข้าง เลือกค่ายชัดเจน

วิทยากรจากติมอร์-เลสเต ประเทศเกิดใหม่เมื่อปี 2545 ระบุในงานประชุมว่า การปล่อยข้อมูลเท็จถูกใช้อย่างแพร่หลาย ส่วนหนึ่งมาจากการที่ไม่มีการดูแลกำกับเนื้อหา ส่วนพรรคการเมืองนั้นได้รับอนุญาตให้เป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ได้

ส่วนที่กัมพูชา วิทยากรจากกัมพูชาให้ข้อมูลว่า ในช่วงเดือน ก.ค. 2560 รัฐบาลปิดสถานีวิทยุท้องถิ่นไป 32 สถานี จาก 175 สถานีทั่วประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นสถานีที่สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน สถานีที่ทำงานอิสระ หรือได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ในช่วงฤดูเลือกตั้งที่ผ่านมา รัฐบาลเข้าควบคุมการนำเสนอเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้ง ทั้งยังสั่งปิดสื่อ และยังมีการใช้ข้อมูลเท็จใส่ร้ายฝ่ายค้านเพื่อทำให้เกิดการแตกแยกภายใน

วิทยากรจากฟิลิปปินส์หลายคนได้พูดถึงกลุ่มทางไซเบอร์ที่สนับสนุนโรดริโก ดูเตอร์เต ที่คอยปล่อยข่าวโจมตีผู้ที่คัดค้านประธานาธิบดีบนโลกออนไลน์ โดยระบุว่ามีการจ่ายเงินค่าจ้างจากแหล่งที่ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นใคร

หนึ่งในผู้เข้าร่วมจากประเทศไทยแลกเปลี่ยนประเด็นข้อมูลปลอมในไทยว่าสามารถทำได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างหนึ่งคือการตัดเอาหน้าของบุคคลนั้นมาแปะกับข้อความที่เจ้าตัวไม่ได้พูด นอกจากนั้นก็มีเรื่องการแชร์ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศในภูมิภาคมีคล้ายๆ กัน

ในงานมีการนำเสนอความพยายามในการต่อสู้กับข้อมูลเท็จที่หลายคนมองว่าเป็น ‘ซอมบี้’ ในนัยว่ามันไม่มีวันตาย เมื่อขึ้นสู่โซเชียลมีเดียหรืออินเทอร์เน็ตแล้วก็จะอยู่อย่างนั้น สามารถโผล่มาได้เรื่อยๆ ซึ่งในภูมิภาคต่างก็มีแนวทางการตอบโต้ข่าวปลอมหลายแบบ

อินโดนีเซีย มีโครงการร่วมมือระหว่าง องค์กรพัฒนาสื่อระหว่างประเทศ Internews พันธมิตรสื่ออิสระอินโดนีเซีย (AJI) ร่วมกับกูเกิ้ล เสิร์ชเอนจิ้นชื่อดังในการอบรมทักษะและการใช้เครื่องมือตรวจสอบข้อเท็จจริงในข่าวให้กับสื่อมวลชน โดยตั้งเป้าว่าในปีหน้าจะมีนักข่าวในอินโดนีเซียได้รับการอบรมทั้งสิ้น 1,750 คน

ขณะที่ในไต้หวันมี Co-Fact ซึ่งเป็นโครงการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยให้คนจำนวนมากเข้ามาช่วยกันทำ หรือที่เรียกว่า Crowd Sourcing โดยมีระบบตอบรับและกระจายข้อมูลผ่านแอพพลิเคชัน LINE ด้วยแชทบอทหรือระบบตอบรับอัตโนมัติ ข้อมูลจากเดือน เม.ย. 2561 ระบุว่ามีอาสาสมัครช่วยงานทั้งสิ้น 400 คน และมีผู้ใช้งานโคแฟคท์มากกว่า 20,000 คน และกลายเป็นชุมชนตรวจสอบข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวันไปแล้ว

คุณสมบัติที่โคแฟคท์ยกขึ้นมาเป็นจุดเด่นคือการตอบโต้กับข้อมูลเท็จในแอพพลิเคชันปิดแบบไลน์ หรือที่ในวงประชุมมักเรียกกันว่าโซเชียลมืด (Dark Social) หมายถึงเป็นพื้นที่ที่แค่ผู้ใช้งานเห็นแค่คนเดียว ไม่เหมือนการโพสท์ในแพลตฟอร์มที่คนอื่นเห็นได้เช่นการโพสท์ในเฟสบุ๊ก โคแฟคท์ยังใช้ฐานข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ทำในช่วงเวลาที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ให้วิเคราะห์รูปแบบการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จด้วย

ฟิลิปปินส์มีโครงการที่ชื่อว่า VERA Files เป็นโครงการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลของทางภาครัฐ การแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่รัฐ เอกสารทางการและใบแถลงข่าว นำไปเผยแพร่และเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ออกมาที่เกี่ยวข้องกัน

ไทยมีการนำเสนอจากตัวแทนจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ศูนย์เฝ้าระวังและตรวจสอบข้อมูลบนโลกออนไลน์ที่เริ่มต้นจากรายการชัวร์ก่อนแชร์ที่เผยแพร่บนสถานีโทรทัศน์ MCOT ศูนย์ชัวก่อนแชร์ได้เข้าร่วมเป็นโครงการ First Draft Partner Network เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรสื่อสารมวลชนและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก 72 ราย อาทิ CNN , BBC , Google , อัลจาซีรา และเฟสบุ๊ก เป็นต้น เพื่อรับมือกับข่าวไม่ถูกต้องทั่วโลก

กก. SEAPA เผยชวน ‘เฟสบุ๊ก กูเกิ้ล ไลน์’ ร่วมประชุม แต่ไม่มีใครมา

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  การประชุมเรื่องข้อมูลปลอม ข่าวเท็จ และการกระจายตัวของมันบนโลกโซเชียลมีเดียนั้น ไม่มีการเข้าร่วมจากทางเจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ โดยทาง SEAPA ระบุว่าได้ชวนแล้วแต่ได้รับการตอบรับว่ามาไม่ได้เพราะติดงานอื่น

เทส บาคัลลา คณะกรรมการบริหารของ SEAPA กล่าวกับประชาไทว่าทาง SEAPA ได้ชวนตัวแทนจากเฟสบุ๊ก กูเกิ้ล และไลน์ให้มาร่วมประชุม แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครมา

เทส บาคัลลา

“มันคงจะดีกว่านี้ถ้าพวกเขา (ตัวแทนเฟสบุ๊ก กูเกิ้ล ไลน์) มาที่นี่ แต่เราไม่อยากให้การมาไม่ได้ซึ่งอาจเป็นเรื่องของความลังเล หรือการปฏิเสธมาเป็นอุปสรรค การอภิปรายคงจะรุ่มรวยกว่านี้หากพวกเขาเข้าร่วม ทั้งนี้ เราก็ต้องทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุดจากหมู่คนที่มีความตั้งใจที่จะมาร่วมประชุม เราใช้ความพยายามมากในการให้เขามาร่วมประชุมแต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ แต่เราก็พยายามแล้ว”

“แต่เรื่องดีอย่างหนึ่งจากการที่พวกเขาไม่ได้มาคือมันทำให้เราคิดมากขึ้นว่าจะเข้าหาพวกเขาอย่างไร เพราะพวกเขาไม่พร้อม ในขณะที่พวกเขาจำเป็นต้องเป็นส่วนหนึ่งของการพูดคยเพื่อสะสางปัญหา ฉันคิดว่ามันชัดเจนมากว่าพวกเขาไม่พร้อม แต่เราจำเป็นที่จะต้องเข้าหา” เทสกล่าว

คณะกรรมการบริหาร SEAPA กล่าวว่าเป็นเรื่องดีที่มีตัวแทนจากหลายประเทศมาพูดคุย แชร์ประสบการณ์ ข้อท้าทายเกี่ยวกับข้อมูลเท็จและการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทำให้เกิดความเข้าใจสภาพปัญหาในภูมิภาคมากขึ้น จากนี้ไป สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นคือการหาแนวทางดำเนินการร่วมกันที่มากไปกว่าการมาคุยกัน และการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ในภูมิภาคนี้มีหลายที่กำลังทำอยู่

“คิดถึงเรื่องการลงมือทำที่มากไปกว่าการพูด คิดถึงกลไกที่มากกว่าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพราะเราทำกันเยอะแล้ว...จากข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมได้ร่วมแชร์ เราจำเป็นที่จะต้องวางแผนข้างหน้าเพื่อจัดการกับปัญหา ตอนนี้คือเวลาลงมือทำ”

“มันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเรามาจากหลายประเทศ เราต้องการทรัพยากร แต่ฉันไม่เห็นว่ามันจะเป็นอุปสรรค มันเป็นความท้าทายและเราจำเป็นต้องมองมันบนฐานความเป็นจริงเพื่อหาทางจัดการกับความท้าทายนั้น” คณะกรรมการบริหาร SEAPA กล่าว

รายงานเผยเสรีภาพสื่อในภูมิภาคน้อย เป็นงานอันตราย ไทยติดท็อป 3 คุกคามสื่อ

รายงานสถานการณ์สื่อในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดทำโดย SEAPA ที่เผยแพร่ครั้งแรกในเดือน พ.ค. 2561 พบว่าเสรีภาพสื่อในภูมิภาคนี้ได้รับการจัดอันดับจากองค์กรสื่อนานาชาติอย่างองค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) ในกลุ่มอันดับล่างๆ การทำงานในฐานะสื่อเป็นเรื่องเปราะบางต่อคนทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2560 SEAPA ได้บันทึกเหตุการณ์การข่มขู่ ไปจนถึงการโจมตีสื่อรอบภูมิภาคได้ถึง 128 กรณีด้วยกัน

กรณีการละเมิด หรือคุกคามสื่อนั้นถูกแบ่งเป็นการกำกับควบคุมผ่านกฎหมาย การเซ็นเซอร์เนื้อหาทั้งจากทางการและการเซ็นเซอร์ตัวเอง การดำเนินคดีกับสื่อ การข่มขู่ การทำร้าย และการฆ่า ซึ่งห้าประเภทนี้เกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิ้น

ประเทศฟิลิปปินส์นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่ง หลังการขึ้นมาของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต กลุ่มฐานเสียงของเขา รวมถึงรัฐบาลเองต่างสร้างความเกลียดชังต่อสื่อมวลชนทั้งในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง ทั้งยังมีการฆ่านักข่าวด้วย ซึ่งถือเป็นกรณีที่ไม่ได้รับรายงานจากประเทศอื่นในภูมิภาค รองลงมาเป็นพม่าที่มีกรณีการดำเนินคดี จับกุมและกักขังนักข่าวรวม 11 กรณี อันดับสามเป็นประเทศไทย ที่มีกรณีการเซ็นเซอร์ ระงับใบอนุญาตประกอบการอาชีพสื่อ และแบนเนื้อหาบางประการรวม 7 กรณี

อย่างไรก็ตาม จาก 128 กรณีที่มีการบันทึก มีถึง 86 กรณีที่การคุกคามสื่อเกิดจากการกระทำของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นประมุขรัฐ เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นตำรวจ ทหาร หรือหน่วยงานด้านข้อมูลข่าวสาร การสื่อสาร การรายงานข่าวในเชิงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลหรือการบริหารรัฐ ถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐมองเป็นเรื่องการต่อต้านรัฐบาล นำเสนอข่าวมีอคติและไม่ยุติธรรม หรือไม่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นการแทรกแซงจากต่างชาติ

นอกจากนั้น วาทกรรมเรื่องข่าวปลอม (Fake News) ที่เกิดขึ้นจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีสื่อที่นำเสนอข่าวที่ไม่พึงประสงค์ ยิ่งโหมกระพือการโจมตีสื่อทั้งในทางวจีกรรมและทางกฎหมายที่มีมานานแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Disinformation and democracy in Indonesia, New Mandala, Jan. 12, 2018

CoFacts: the chatbot that combats misinformation, Tictec, Apr. 18, 2018

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net