Skip to main content
sharethis

บริษัทในเครือ 'เจ้าสัวเจริญ' ชนะประมูลที่ดินเอคิว 4,300 ไร่ มูลค่า 8,900 ล้าน ย่านบางบ่อ สมุทรปราการ ทำเลทองใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ รายงานกรมที่ดินปี 57 ตระกูลดังตุนที่ดินทั่วไทย 'สิริวัฒนภักดี' 6.3 แสนไร่ ขณะที่ กม.ภาษีที่ดินส่อแท้ง ไม่ทันรัฐบาลนี้

19 ต.ค.2561 Workpoint News รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา กรมบังคับคดี ได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดินพร้อมกันทั้ง 3 คดี ของบริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ (เดิมคือ บมจ.กฤษดามหานคร) จำนวน 4,300 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่ถนนบางนา-ตราด กม.32.5 ทางหลวงหมายเลข 34 ถนนกรุงเทพฯ-ชลบุรีสายใหม่ (มอเตอร์เวย์) โดยที่ดินแปลงนี้มีธนาคารกรุงไทยเป็นเจ้าหนี้และยึดทรัพย์มาขายทอดตลาด

โดยเป็นการประมูลครั้งที่ 5 นี้ มี บริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ เจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของบริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 8,914.07 ล้านบาท จ่ายมัดจำแล้ว 448.50 ล้านบาท และตามสัญญาจะนำเงินที่เหลือ 8,465.57 ล้านบาท ชำระภายใน 15 วัน นับจากวันประมูล

สำหรับบริษัท ทีอาร์เอ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2560 เพื่อประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยโครงสร้างผู้ถือหุ้น ทีอาร์เอ ฯ ประกอบด้วย บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มของ เจริญ สิริวัฒนภักดี ถือหุ้น 50 %, บริษัท สวนอุตสหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA 25% และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ถือหุ้น 25%

Workpoint News ยังรายงานด้วยว่า ไทคอนได้รับความสนใจจากลูกค้าเข้าใช้บริการพื้นที่โรงงานและคลังสินค้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตบางพลี และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี

รายงานกรมที่ดินปี 57 ตระกูลดังตุนที่ดินทั่วไทย 'สิริวัฒนภักดี' 6.3 แสนไร่ 

ขณะที่เมื่อ มิ.ย.2557 ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงาน ผลการศึกษาการถือครองเอกสารสิทธิ จากสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมที่ดิน พบว่าตระกูลดัง เศรษฐี กลุ่มธุรกิจ กลุ่มทุน ถือครองที่ดินทั้งแปลงเล็กแปลงใหญ่จำนวนมาก กระจายอยู่หลายพื้นที่ทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด โดยเฉพาะหัวเมืองหลัก เมืองท่องเที่ยว ในผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ทั้งประเทศ ตระกูล "สิริวัฒนภักดี" ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลายเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น็อนแอลกอฮอล์ พัฒนาที่ดิน การเกษตร ฯลฯ น่าจะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศมากที่สุดกว่า 6.3 แสนไร่ ทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่าง ๆ โดยหนึ่งในที่ดินแปลงใหญ่ที่ตระกูลสิริวัฒนภักดีครอบครองกรรมสิทธิ์ อาทิ ที่ดินในอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรีรวม 1.2 หมื่นไร่, ที่ดินในอำเภอบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1.5 หมื่นไร่ ฯลฯ

ขณะที่ "ตระกูลเจียรวนนท์" ของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจการเกษตรครบวงจร ในนามกลุ่มซีพี ธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม บมจ.ซี.พี.แลนด์ และกลุ่มแมกโนเลียส์ธุรกิจโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ โดยแปลงใหญ่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1 หมื่นไร่ "บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม" ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ ถือครองที่ดิน 4.44 หมื่นไร่ รองลงไปคือ "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ปัจจุบันมีที่ดินรวมประมาณ 3 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ราว 7% ปล่อยเช่าสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ 

รายงาน ผลการศึกษาการถือครองเอกสารสิทธิฯ ดังกล่าว ระบุด้วยว่า วิธีการถือครองมีทั้งทยอยซื้อที่ดินเก็บไว้ในมือ โดยค่อย ๆ สะสมจากแปลงเล็กเป็นแปลงใหญ่ และการกว้านซื้อที่โดยอาศัยกลุ่มนายหน้าและเครือข่ายธุรกิจ ทั้งที่ดินว่างเปล่า ที่ทำการเกษตร ที่นา ฯลฯ ขณะเดียวกันจากเดิมที่มักปล่อยที่ดินที่ซื้อไว้ในพอร์ตเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา กลุ่มเศรษฐกิจ ตระกูลดังแห่ลงทุนด้วยการปรับเปลี่ยนหน้าดินทำการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ปาล์มน้ำมัน รวมทั้งพืชสวน พืชไร่หลากหลายชนิด ฯลฯ รับยุคบูมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และเร่งใช้ประโยชน์ที่ดินแทน หลังเริ่มมีกระแสผลักดันจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าสำหรับที่ดินที่ถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างว่างเปล่า สอดรับกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างกลุ่มธุรกิจตระกูลดังหลายกลุ่มในช่วงที่ผ่านมาที่มีการขยายฐานสู่ธุรกิจการเกษตร อสังหาริมทรัพย์ อาทิ กลุ่มตระกูลสิริวัฒนภักดี เจียรวนนท์ พูลวรลักษณ์ จุฬางกูร เตชะณรงค์ ภิรมย์ภักดี ฯลฯ ขณะที่ตระกูลนักการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ตลอดจนนักธุรกิจ นักลงทุนทั้งในส่วนกลาง ต่างจังหวัด ก็หันมารุกด้านการเกษตรรับกระแสบูมจำนวนมากเช่นเดียวกัน 

4 ปี เศรษฐกิจถดถอย แต่ ‘มหาเศรษฐีไทย’ ยังคงมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อ พ.ค.ที่ผ่านมา ในวาระครบรอบ 4 ปี การรัฐประหารของ คสช. ทีมข่าว TCIJ รายงานภาวะทางเศรษฐกิจ โดยตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยหลายตัวสะท้อนให้เห็นถึงความถดถอย หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าสภาพเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยจะดีนัก แต่ ‘มหาเศรษฐีไทย’ ยังคงมั่งคั่งขึ้นเรื่อยๆ จากการจัดอันดับความมั่งคั่งของนิตยสาร Forbes ระหว่างปี 2558-2561 พบ มหาเศรษฐี 10 อันดับแรกมั่งคั่งรวมกันเพิ่มขึ้นประมาณ 1.201 ล้านล้านบาท ‘ตระกูลเจียรวนนท์’ เป็นมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของไทย 4 ปีซ้อน รวยขึ้นประมาณ 4.88 แสนล้านบาท

ขณะที่ เจริญ สิริวัฒนภักดี ติดอันดับ 2 จากการจัดอันดับของ นิตยสาร Forbes ตั้งแต่ 2558-2560 แต่ปี 2561 ตกเป็นอันดับ 4 ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 17,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 543,000 ล้านบาท) ขณะที่อันดับ 1 ยังเป็นของ พี่น้องเจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP มูลค่าทรัพย์สิน 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 937,000 ล้านบาท) อันดับ 2 เป็นตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มูลค่าทรัพย์สิน 21,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 662,000 ล้านบาท) และอันดับ 3 เป็นเฉลิม อยู่วิทยา เจ้าของกลุ่มบริษัท เครื่องดื่มกระทิงแดง จำกัด มูลค่าทรัพย์สิน 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 656,000 ล้านบาท)

กม.ภาษีที่ดินส่อแท้ง ไม่ทันรัฐบาลนี้

ส่วน ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เป็นวาระที่รัฐบาลทหารนี้ประกาศมาตลอดว่าจะผลักดันหลังยึดอำนาจนั้นก็ยังไม่มีความคืบหน้า โดยเมื่อวันที่ 17 ต.ค.ที่ผ่านมา TNN Thailand 24 รายงานว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน ทำให้กฎหมายไม่สามารถออกได้ทันบังคับใช้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ยังคงค้างอยู่ในสภา เพื่อรอให้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตัดสินใจว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายต่อไป หรือจะไม่พิจารณาต่อโดยร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้รับการต่อต้านจากนายทุนที่มีที่ดินจำนวนมาก เพราะจะทำให้นายทุนที่ดินต้องมีภาระต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น

โดยโพสต์ทูเดย์รายงานด้วยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาของ สนช.ในวาระที่ 1 มากว่า 1 ปี และค้างอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งมีการประชุมเพียงเดือนละครั้ง และคาดว่าจะขยายเวลาการพิจารณาจากเดือนนี้ออกไปอีก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net