Skip to main content
sharethis

ประธานาธิบดีศรีลังกา 'ไมตรีพละ ศิริเสนา' สั่งปลดนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห เมื่อคืนวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา และแต่งตั้งหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน 'มหินทรา ราชปักษา' ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน รวมถึงมีการถอนตัวพรรคของศิริเสนาออกจากพรรคแนวร่วมรัฐบาล เรื่องนี้ทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญและทำให้พรรคร่วมรัฐบาลศรีลังกาแตกหักครั้งใหญ่

ไมตรีพละ ศิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกา ที่มาภาพ: United Nations Photo (CC BY-NC-ND 2.0)

28 ต.ค. 2561 สื่ออัลจาซีราระบุว่าศรีลังกาเข้าสู่ภาวะวิกฤตรัฐธรรมนูญหลังจากที่ประธานาธิบดี ไมตรีพละ ศิริเสนา สั่งปลดนายกรัฐมนตรี รานิล วิกรมสิงเห จากนั้นจึงแต่งตั้ง มหินทรา ราชปักษา ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และหลังจากนั้นก็สั่งระงับการเปิดประชุมรัฐสภาศรีลังกาชั่วคราวนับตั้งแต่ตอนเที่ยงวันของวันที่ 27 ต.ค. ไปจนถึงวันที่ 16 พ.ย. 2561

ทางด้านวิกรมสิงเหไม่ยอมรับคำสั่งนี้แล้วประกาศว่าตนยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่และเรียกร้องให้โฆษกเปิดการประชุมสภาในวันอาทิตย์ (28 ต.ค.) นี้เพื่อพิสูจน์ว่าเขายังคงได้รับเสียงข้างมากในสภา

นอกจากนี้รายงานข่าวยังระบุว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนราชปักษาพากันบุกเข้าไปข่มขู่คุกคามคนทำงานสื่อในสื่อหลายสำนักหลังจากที่ราชปักษาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งแทนวิกรมสิงเห

การสั่งปลดวิกรมสิงเหในช่วงที่เขากำลังเดินทางเยี่ยมเยียนพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศเป็นสิ่งที่สร้างความประหลาดใจและจุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในศรีลังกา โดยที่ศิริเสนากล่าวหาว่าวิกรมสิงเหและพรรคของเขาแปรรูปทุนของรัฐให้กับต่างชาติและกล่าวหาเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันขนานใหญ่ จากข้อสังเกตนี้อัลจาซีราก็ระบุว่าท่าเรือส่วนมากในภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่พัฒนาในยุคสมัยของรัฐบาลราชปักษาถูกปล่อยให้บริษัทจีนเช่าในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมา

ภายใต้รัฐธรรมนูญศรีลังกา ประธานาธิบดีมีอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ อย่างไรก็ตามวิกรมสิงเหก็อ้างถึงรัฐธรรมนูญของศรีลังกาเช่นกัน โดยกล่าวว่าถ้าเขายังได้รับความเชื่อมั่นจากเสียงส่วนใหญ่ในสภาเขาก็จะยังถือเป็นนายกรัฐมนตรีและการสั่งปลดเขาถือเป็นสิ่งที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย

ศิริเสนาเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรัฐบาลราชปักษาปี 2553-2557 ศิริเสนาร่วมมือกับกับวิกรมสิงเหโค่นล้มราชปักษาในการเลือกตั้งปี 2558 ศิริเสนาได้รับแต่งตั้งเป็นประธานาธิบดีจากการหนุนหลังโดยพรรคยูเอ็นพีของวิกรมสังเห ซึ่งมีที่นั่งในสภา 106 จาก 225 ที่นั่ง แต่เมื่อวันที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมาศิริเสนาก็บอกว่าจะถอนพรรคยูพีเอฟเอของเขาซึ่งมีที่นั่งในสภา 96 ที่นั่งออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

การถอนตัวพรรคของศิริเสนาในครั้งนี้จะกลายเป็นจุดจบของพรรคร่วมรัฐบาลที่เคยรวมตัวกันด้วยสัญญาว่าจะปฏิรูปเศรษฐกิจและนำตัวผู้กระทำความผิดในช่วงปลายสงครามกลางเมืองศรีลังกาในยุคของราชปักษามาลงดำเนินคดี ซึ่งสงครามกลางเมืองดังกล่าวราชปักษาเป็นหัวหอกในการโค่นล้มกลุ่มกบฏพยักษ์ทมิฬอีแลมลงได้เมื่อ 9 ปีก่อน ทำให้สงครามที่ดำเนินมาเป็นเวลา 26 ปี สิ้นสุดลง


เรียบเรียงจาก
Sri Lanka president suspends parliament amid political crisis, Aljazeera, 27-10-2018
https://www.aljazeera.com/news/2018/10/sri-lanka-president-suspends-parliament-political-crisis-181027072445604.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net