Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

น่าเสียดายที่ข้อถกเถียงเรื่องจะใช้ “สิทธิ” ตามแนวคิดของฝ่ายเสรีนิยมเพื่อสนับสนุนเผด็จการได้หรือไม่ ดูเหมือนจะจบลงในเฟสบุ๊คเสียแล้ว คนที่รอบรู้และหลักแหลมกว่าผมส่วนใหญ่ดูจะมีความเห็นไปในทำนองเดียวกันว่า ใช้ไม่ได้ แม้ผมออกจะเห็นคล้อยตามท่านเหล่านั้นเสมอ แต่ครั้งนี้ผมกลับรู้สึกว่า เราไม่สามารถทุ่มไปสุดตัวกับคำตอบที่เด็ดขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ขนาดนั้น

แน่นอนว่า “สิทธิ” เป็นแนวคิดที่ฝ่ายเสรีนิยมริเริ่มเอาไว้ ฝ่ายเผด็จการไม่สามารถอ้างแนวคิดนี้เพื่อสนับสนุนการละเมิดสิทธิของคนอื่นได้ หรืออย่างน้อยก็ไม่อาจอ้างอย่างน่าเชื่อถือได้ เพราะมันขัดแย้งในตัวมันเอง

แต่ในฝ่ายเสรีนิยมเอง แนวคิดเรื่อง “สิทธิ” ไม่ได้จำกัดให้ใช้ได้เฉพาะในกลุ่มเสรีนิยมด้วยกันเท่านั้น แม้ฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ก็ควรได้รับความคุ้มครองจากหลักการด้านสิทธิเช่นกัน ตราบเท่าที่ไม่ใช้ “สิทธิ” นี้ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

ควบคู่กันไปกับแนวคิดเรื่อง “สิทธิ” เสรีนิยมยังต้องยอมรับแนวคิดอีกอย่างหนึ่งซึ่งอาจไม่ได้คิดขึ้นเอง เพราะแฝงอยู่ในคริสต์ศาสนาอยู่แล้ว นั่นคือ เพราะมนุษย์ถูกสร้างขึ้นในรูปของพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์ทุกคนจึงมีปัญญารู้คิด (rational) มองเห็นประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านได้ในบั้นปลาย “สิทธิ” จึงเป็นสมบัติของผู้สนับสนุนเผด็จการด้วยอย่างปฏิเสธไม่ได้

แน่นอนว่าตัวเผด็จการได้ใช้ “สิทธิ” ของตัวไปอย่างเกินเลยมามาก คือ ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ถึงขนาดจับกุมคุมขังหรือตั้งข้อหาร้ายแรงแก่ผู้มีความเห็นต่างซึ่งแสดงออกอย่างสงบปราศจากการคุกคามคนอื่น การสนับสนุนเผด็จการจึงดูจะดูดายต่อความทุกข์ยากของคนอื่นที่ร่วมสังคม และคนที่มีสำนึกต่อสังคมก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยากด้วยว่า เผด็จการอาศัยการสนับสนุนและความดูดายของผู้คนส่วนใหญ่นั่นแหละเถลิงอำนาจต่อไป

ฉะนั้น การสนับสนุนเผด็จการจึงบ่งบอกว่าผู้สนับสนุนไม่มีพื้นที่ให้แก่คนอื่นในหัวใจของตัวเลย แม้กระนั้นก็ยังเป็น “สิทธิ” ของเขาไม่ใช่หรือ

นักกฎหมายบางท่านเสนอว่า ประชาธิปไตยซึ่งเคารพสิทธิเสรีภาพของทุกคน ต้องมีสิทธิป้องกันตนเองจากปฏิปักษ์ที่ใช้หลักการสิทธิเสรีภาพเพื่อล้มทำลายประชาธิปไตยเสีย รัฐบาลประชาธิปไตยจึงอาจระงับการกระทำใดๆ ที่ทำให้ประชาธิปไตยไม่อาจดำรงอยู่ต่อไปได้ แม้ว่าการป้องกันตนเองเช่นนั้นจะหมายถึงการระงับสิทธิเสรีภาพของคนอื่น เช่น จับกุมและดำเนินคดีกับแกนนำที่ขัดขวางการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด

ข้อนี้ใครๆ ก็คงเห็นด้วย แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ง่ายเลยที่จะกำหนดว่าแค่ไหนจึงเป็นการกระทำที่อาจล้มทำลายประชาธิปไตยได้ นักกฎหมายท่านเสนอให้แยกระหว่างคำพูด (ซึ่งก็คือความคิด) และการกระทำ เผยแพร่ความคิดของตนว่า ควรระงับระบอบประชาธิปไตยไว้ก่อนจนกว่าจะปฏิรูปแล้ว หากเผยแพร่ในรูปสิ่งพิมพ์หรือผ่านทีวีคงยังไม่เป็นไร แต่ถึงขั้นชุมนุมใหญ่และเดินขบวนย่อมได้รับการรายงานจากสื่อ ซึ่งเท่ากับเผยแพร่ความคิดได้กว้างขวางขึ้น โดยยังไม่ชัตดาวน์อะไรทั้งสิ้น แต่ผู้คนจำนวนมากพากันหยุดงานทั้งเพื่อประท้วงและเข้าร่วมกับการเคลื่อนไหว เกิด “มวลมหาประชาชน” ขึ้น จนกิจการสาธารณะและธุรกิจเป็นอัมพาตหมด

แค่นี้ควรที่รัฐบาลประชาธิปไตยจะระงับสิทธิเสรีภาพของผู้เห็นต่างหรือยัง เส้นแบ่งระหว่างคำพูด (หรือความคิด) กับการกระทำบางจนมองไม่เห็น

ฉะนั้น การที่ศาลเยอรมันห้ามการพิมพ์ Mein Kampf และห้ามมิให้จัดตั้งองค์กรนาซีใหม่ จึงไม่ใช่มาตรฐานที่จะปรับใช้ได้เป็นสากล สมควรแก่เหตุหรือไม่ในบริบทของประเทศเยอรมนีหลังสงคราม ยกไว้ก่อน แต่หากใช้เป็นมาตรฐานทั่วไปในทุกประเทศ รัฐบาลประชาธิปไตยอาจวินิจฉัยให้คำพูดและการกระทำที่ยังไม่มี “ศักยภาพ” (คำที่คลุมเครือพอๆ กัน) จะคุกคามสาธารณชน ว่าเป็นปฏิปักษ์ที่กำลังล้มทำลายประชาธิปไตย และพึงถูกระงับสิทธิเสรีภาพเสียก็ได้

ประเทศประชาธิปไตย 100% แต่ห้ามชูสามนิ้ว, กินแซนด์วิช, อ่านหนังสือ 1984 ฯลฯ จะต่างอะไรกับประเทศประชาธิปไตย 99.99% ล่ะครับ

ดังนั้น ตราบเท่าที่เป็นการต่อสู้กันทางความคิด (ซึ่งต้องรวมการแสดงออกด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ก็น่าจะเป็นสิทธิของทุกฝ่ายเสมอกัน แต่ตรงแสดงออกนี่แหละที่เป็นปัญหา เพราะกำหนดขอบเขตได้ยาก ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม หรืออาจมีมาตรฐานกลางที่เป็นสากลได้ ผมก็ไม่ทราบ ดังนั้น ผมคงไม่หาญกล้าจะขีดเส้นแบ่งว่าแค่ไหนจึงยังเป็นสิทธิของทุกคนในการแสดงออก แต่ผมคิดว่าตราบเท่าที่การแสดงออกนั้นไม่ไปเป็นภัยคุกคามความปลอดภัยของสาธารณะ ก็ยังน่าจะเป็นสิทธิอยู่ (ไม่ได้ชัดเจนขึ้นกี่มากน้อยนะครับ)

แท้จริงแล้วประชาธิปไตยของสาธารณรัฐไวมาร์ไม่ได้ถูกทำลายด้วยฮิตเลอร์ แต่มีเงื่อนไขอื่นๆ อีกมากทั้งในทางเศรษฐกิจ, สังคมและการเมือง ที่ทำให้พรรคนาซีสามารถล้มล้างประชาธิปไตยได้ ปราศจากเงื่อนไขเหล่านั้น ฮิตเลอร์ก็คงได้แต่พยายามจะเป็นศิลปินตกยากต่อไปเท่านั้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าฮิตเลอร์ไม่มีส่วนรับผิดชอบเลย เช่นเดียวกับประชาธิปไตยไทย คสช.เพียงอย่างเดียวไม่อาจล้มล้างได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า คสช.ไม่ต้องรับผิดชอบเลย

เมื่อคิดถึงเรื่องการใช้ “สิทธิ” ตามแนวคิดเสรีนิยมภายในบริบทหรือเงื่อนไขของสังคมแล้ว ผมคิดว่าต้องระวังที่จะไม่สร้างมาตรฐานขึ้นจากสิ่งที่เป็นปลายเหตุ เพราะจะเอื้อให้เผด็จการระงับสิทธิเสรีภาพของคนอื่นด้วยสิ่งที่เป็นปลายเหตุเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ผมควรเตือนไว้ก่อนว่า การสร้างมาตรฐานจากต้นเหตุก็ยิ่งยาก และยิ่งทำให้การกินแซนด์วิชกลายเป็นการกบฏง่ายขึ้น

ผมขอยกตัวอย่าง hate speech หรือโทสวาทเป็นตัวอย่างของสิ่งที่เป็นปลายเหตุ จริงทั้งนั้นนะครับที่ว่าโทสวาทช่วยปลุกเร้าให้ผู้คน (กลุ่มชาติพันธุ์, กลุ่มศาสนา, ชนชั้น) ออกมาเข่นฆ่าทำลายล้างกันและกัน โทสวาททำให้ความปลอดภัยสาธารณะสูญสิ้นไป

แต่โทสวาทเป็นเหตุหรือเป็นผลหรือเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” กันแน่

ความเกลียดชังและหมิ่นหยามระหว่างชนเผ่าฮูตูและตุ๊ตซี่ดำเนินมาตั้งแต่เมื่อตกเป็นอาณานิคมของเยอรมนีและเบลเยียม อันที่จริงจะพูดว่าชาติพันธุ์ทั้งสองนี้ถูก “ประดิษฐ์” ขึ้นก็ได้ แต่ถูกทำให้แยกกันอย่างชัดเจนชนิดที่ผสมปนเปกันได้ยากเพราะนโยบายของจักรวรรดินิยมยุโรป ความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ, การศึกษา และอำนาจทางการเมืองของตุ๊ตซี่ ทำให้ชาวฮูตูจำนวนมากรู้สึก (อย่างผิดหรือถูกก็ตาม) ว่าตุ๊ตซี่เป็น “แอก” ของตนไม่น้อยไปกว่าเจ้าอาณานิคม และแท้จริงภาวะสงครามกลางเมืองระหว่างสองกลุ่มชาติพันธุ์นี้ก็ได้เกิดขึ้นมาก่อนการสังหารล้างเผ่าพันธุ์แล้ว วาทะแห่งความเกลียดชังหมิ่นหยามทำให้การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม แต่ไม่ใช่สาเหตุเดียวของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา

ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง คนจีนในเมืองไทยถูกห้ามอยู่อาศัยในพื้นที่หวงห้าม ซึ่งทั้งหมดคือเขตเมืองอันเป็นถิ่นฐานทางธุรกิจของคนจีน ถึงไม่ใช่ค่ายกักกันอย่างที่คนเชื้อสายญี่ปุ่นต้องประสบในสหรัฐ แต่คนจีนที่ต้องอพยพโยกย้ายก็ประสบความทุกข์ยากไม่น้อยเลยทีเดียว

นายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมครั้งนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีทัศนคติเกลียดชังและหมิ่นหยามคนจีนในสังคมไทยมาก่อน จอมพล ป.ก็คงไม่คิดจะออกคำสั่งประเภทนี้ ถ้าเช่นนั้นควรยก hate speech หรือโทสวาทให้แก่บทพระราชนิพนธ์ “ยิวแห่งบุรพทิศ” หรือไม่ แน่นอนก็เป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสมทัศนคติเช่นนี้สืบมาในสังคมไทย แต่ “ยิวแห่งบุรพทิศ” ไม่ใช่จุดเริ่มต้นทัศนคติเช่นนี้อย่างแน่นอน สุนทรภู่กล่าวในนิราศเรื่องหนึ่งของท่าน เสียดสีหญิงไทยที่กลายเป็นเถ้าแก่เนี้ย ผัดแป้งขาวผ่องเป็นยองใยพร้อมสร้อยคอทองคำบนแพเจ๊กขายหมู

จีนอพยพได้สิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจและสังคมเหนือไพร่ไทย จึงไม่แปลกที่จำนวนมากของจีนอพยพอาจสะสมทุนได้รวดเร็ว และประกอบการซึ่งไพร่ไทยไม่มีโอกาส ถ้าจะมีครั้งไหนที่ไพร่ไทยรู้สึกตัวว่ายากจนและต่ำต้อย ก็คือครั้งที่ต้องเผชิญหน้าเถ้าแก่จีน ซึ่งแสดงฐานะที่เหนือกว่าของตนด้วยสร้อยคอทองคำบนคอเมีย

โทสวาทเกี่ยวกับเจ๊กจีนในเมืองไทยนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ได้ ก่อนที่ความเกลียดชังและโทสาคติจะถูกฉวยใช้ประโยชน์จนกลายเป็นโทสวาท ไม่ดีกว่าหรือที่จะใช้ข้อมูลและเหตุผลในการล้มล้าง หรืออย่างน้อยก็ถ่วงดุลความเกลียดชังและโทสาคติดังกล่าวเสียแต่เนิ่นๆ ผมเชื่อว่าทุกคนคงเห็นด้วยว่าควรทำเสียก่อนจะปล่อยให้กลายเป็นโทสวาทและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แต่เรื่องนี้พูดตามหลักการได้ง่าย หากไม่ง่ายเลยเมื่อต้องทำในทางปฏิบัติ ถึงมีคนเห็นในสมัยสุนทรภู่ว่า ความยากจนต่ำต้อยของไพร่ไทยนั้นไม่ได้เกิดจากเจ๊ก แต่มีสาเหตุมาจากอย่างอื่นซึ่งเราสามารถแก้ไขปรับปรุงได้ เขาจะเขียนนิราศให้น่าอ่านเท่าสุนทรภู่ เพื่อล้มล้างทัศนคติเชิงเหยียดชาติพันธุ์นั้นได้อย่างไร ถึงเขียนไปก็ไม่เกิดผลมากไปกว่าเพิ่มอาหารให้แก่ปลวกอีกหนึ่งเล่มสมุดไทยเท่านั้น

พวกเสรีนิยมอังกฤษผลักดันอย่างแข็งขันให้รัฐบาลอาณานิคมออกกฎหมายห้ามทำสตี ทั้งนี้ ย่อมสมควรด้วยเหตุผลและหลักการอย่างแน่นอน เพราะมีตัวอย่างให้เห็นจำนวนมากว่า แม่ม่ายถูกบังคับโดยตรงและอย่างออกหน้าให้กระโดดเข้ากองฟอนของสามี การระงับสิทธิในการประกอบพิธีสตีจึงสมเหตุสมผล เพราะไม่ง่ายที่จะพิสูจน์ความยินยอมอย่างเต็มใจของเหยื่อ และยิ่งเปิดทางให้เกิดการบังคับโดยทางอ้อมให้เกิดการ “ยินยอม” ตามระเบียบของทางราชการ

แต่งัวนับล้านตัวที่เดินเพ่นพ่านอยู่ทั่วอินเดีย อันเป็นดินแดนที่ผู้คนเป็นล้านเหมือนกันขาดอาหาร โดยเฉพาะโปรตีน นักเสรีนิยมบางคนเห็นว่า สิทธิการนับถืองัว ทำให้เด็กเป็นล้านในอินเดียอดอยากแสนสาหัส และจำนวนมากพิการหรือตายก่อนวัยอันควรเพราะขาดอาหาร หากสามารถทำให้สิทธิการนับถืองัวถูกยกเลิกไป (โดยวิธีนุ่มนวลหรือรุนแรงก็ตาม) ย่อมช่วยให้เกิดทาง “เลือก” ด้านอาหารมากขึ้น สิทธิการเข้าถึงอาหารซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานย่อมควรได้รับการปกป้องก่อนงัว หรือก่อนการนับถืองัว

แต่ในเวลาต่อมา นักมานุษยวิทยาคนหนึ่ง (ซึ่งเป็นเสรีนิยมหรือไม่ก็ไม่ทราบ) ไปศึกษาการใช้ประโยชน์งัวในหมู่ประชากรอินเดียแล้วพบว่า งัวในอินเดียเป็นสาธารณสมบัติ ทำให้คนทุกชั้นวรรณะสามารถเข้าถึงผลผลิตจากงัวได้เท่าที่จำเป็น ทุกอย่างของงัว ยกเว้นเลือดเนื้อ ล้วนผลิตสิ่งจำเป็นให้คนอินเดียจำนวนมาก นับตั้งแต่นม, หนัง, ขน, เขา และมูล (เพราะมีเยื่อของพืชผสมอยู่ จึงเคล้าดินแล้วนำไปฉาบพื้นหรือฝาผนังได้คงทนมาก หรือง่ายที่สุดคือใช้เป็นเชื้อเพลิง) หากอินเดียไม่มีงัวเดินเพ่นพ่านอย่างทุกวันนี้ จะเกิดความขาดแคลนแก่คนชั้นต่ำที่ยากจนอย่างมาก

จริงอยู่ งัวที่เดินเพ่นพ่านอาจถูกแทนที่ด้วยธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ได้ แต่ฟาร์มปศุสัตว์เป็นสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งในที่ไหนๆ ก็ไม่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้าถึงได้เหมือนกันและเท่ากัน คนชั้นล่างและยากจนเข้าไม่ถึงในสหรัฐ เนื้องัวเป็นสเต๊กของคนชั้นกลางผิวขาวขึ้นไป คนชั้นล่างผิวดำและสุนัขเข้าถึงแต่เครื่องในเท่านั้น

สรุปก็คือ สิทธิเป็นเรื่องพึงใช้ได้ในโอกาสและเงื่อนไขอะไรบ้างเป็นเรื่องที่ตัดสินได้ยากมาก เมื่อไรก็ตามที่อาศัยมาตรฐานดี-ชั่วเป็นเกณฑ์ (ไม่ว่าจะดี-ชั่วทางศีลธรรม, เศรษฐกิจ, การเมือง, หรือสังคม และวัฒนธรรม) เมื่อนั้นพึงระวังให้จงหนัก เพราะมาตรฐานดี-ชั่วมักถูกใช้เพื่อรอนสิทธิของคนอื่นได้ง่ายมาก เนื่องจากดี-ชั่วเป็นเรื่องสมมติ ซ้ำไม่มีมาตรฐานชัดเจนเสียด้วย มีคนรักชาติอีกมากที่ไม่ประดับกายด้วยธงชาติและไม่เป่านกหวีด เขาจึงสูญเสียสิทธิการเลือกตั้งไปเป็นเวลาเกือบ 5 ปีแล้ว

ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับการที่ผมเชียร์พรรคอนาคตใหม่ เพราะนอกจากพรรคอนาคตใหม่แล้ว ผมยังเชียร์พรรคเก(รี)ยน, พรรคเพื่อไทย, พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ ด้วย จะเป็นพรรคอะไรก็ได้ ที่จะช่วยกันทำให้ประเทศไทยเดินหน้าออกจากหลุมดำได้ก็พอ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 23 - 29 พฤศจิกายน 2561

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_151413

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net