Skip to main content
sharethis

อนุกรรมการค่าจ้างฯ เตรียมเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-10 บาท/'โพสต์ทูเดย์-M2F' ปิดตัว เลิกจ้าง 200 พนักงาน/'มติชน' กัดฟันลดคน ท่ามกลางภาวะสื่อมวลชนฟองสบู่แตก/‘งานระยะสั้นต่างๆ’ ติด 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปี 2562/ครูสาวร้องสื่อฯ ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเหตุโพสต์ภาพ สตง.ตรวจสอบโครงการอาหารกลางวัน/มติ อกนร. ไฟเขียว ให้แรงงาน กัมพูชา ลาว เมียนมา กลับประเทศต้นทางช่วงสงกรานต์ 5-30 เม.ย. นี้

มติ อกนร. ไฟเขียว ให้แรงงาน กัมพูชา ลาว เมียนมา กลับประเทศต้นทางช่วงสงกรานต์ 5-30 เม.ย. นี้

คณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) เห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานตำแหน่งกรรมกร รับใช้ในบ้าน ผู้ประสานงานด้านภาษา กัมพูชา ลาว เมียนมา และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล

ซึ่งถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 30 เม.ย. 2562 รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี สามารถเดินทางกลับประเทศ

ต้นทางเพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ได้ตั้งแต่วันที่ 5 – 30 เม.ย. 2562 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมในการเข้า-ออก ขณะที่แรงงานประมงทะเลที่ถือหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 และวันที่ 29 ม.ค. 2562 จะต้องขอรับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) ที่ระยะเวลาการอนุญาตไม่น้อยกว่าวันที่ 30 เม.ย. 2562 ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อนจึงจะกลับประเทศได้ โดยจะนำเสนอ กนร. ก่อนเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 ที่ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร อาคารกระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (อกนร.) ครั้งที่1/2562 โดยมี นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมประชุม

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมงานประเพณีสงกรานต์ประจำปี 2562 โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา ที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยในตำแหน่งกรรมกร รับใช้ในบ้าน ผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา – ลาว – เมียนมา และช่างเครื่องยนต์ในเรือประมงทะเล

ซึ่งถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) และระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 30 เม.ย. 2562 รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวดังกล่าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี ที่ถือหนังสือเดินทาง เอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ได้รับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทผู้ติดตามและระยะเวลาการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรมีอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่าวันที่ 30 เมษายน 2562 สามารถกลับประเทศต้นทางเพื่อร่วมประเพณีสงกรานต์ โดยเดินทางเข้า – ออกได้ตั้งแต่วันที่ 5 – 30 เม.ย. 2562

ส่วนแรงงานประมงทะเลที่ถือหนังสือคนประจำเรือ (Seabook) ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 และวันที่ 29 ม.ค. 2562 ที่ประสงค์จะได้รับการผ่อนผันตามมาตรการนี้ จะต้องขอรับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) ที่ระยะเวลาการอนุญาตไม่น้อยกว่าวันที่ 30 เมษายน 2562 ให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยก่อน

โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองในกระบวนการที่เกิดขึ้นจากการเดินทางออกจากราชอาณาจักร เพื่อไปร่วมประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2562 และได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ จะได้นำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ตาม หากแรงงานต่างด้าวกลุ่มดังกล่าวเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทยภายหลังวันที่ 30 เม.ย. 2562 ให้ขอรับการตรวจลงตรา (VISA) ประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non-Immigrant L-A) ณ ด่านตรวจคนเข้าเมืองที่จะเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมีระยะเวลาอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเท่ากับระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเดิม และชำระค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา (VISA) ตามที่กฎหมายกำหนด จำนวน 2,000 บาท

พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวต่อว่า ได้ย้ำเตือนให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ตามอำนาจหน้าที่ให้กับแรงงานต่างด้าวที่เดินทางกลับช่วงสงกรานต์ และห้ามมิให้ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และขอให้ทุกหน่วยให้ความร่วมมือในการดำเนินการและเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดน

เพื่อลดการกล่าวหา การเรียกรับหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ทั้งนี้ ในปี 2561ที่ผ่านมา มีแรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา กลับประเทศต้นทางในช่วงสงกรานต์ จำนวน 240,251 คน และคาดว่าในปี 2562 นี้ จะมีแรงงานต่างด้าวฯ เดินทางกลับประมาณ 200,000 – 300,000 คน

ที่มา: ข่าวสด, 25/2/2562

กรมบัญชีกลางเผยตัวเลขเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2562 ใช้สิทธิ 2,311,163 ราย มูลค่า 13,741 ล้านบาท

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า โครงการบัตรสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2561 จนถึง 30 ก.ย. 2561 มีผู้ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยนอกด้วยบัตรประจำตัวประชาชนจำนวน 2,639,563 ราย มีจำนวนธุรกรรมรวม 13,568,269 รายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิเป็นจำนวนเงิน 21,892 ล้านบาท และในสิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีผู้ใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงฯ จำนวน 2,311,163 ราย มีจำนวนธุรกรรมรวม 8,566,872 รายการ คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิเป็นจำนวนเงิน 13,741 ล้านบาท โดยช่วงอายุที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงสุดอยู่ระหว่าง 61-70 ปี มีจำนวน 564,820 ราย คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิเป็นจำนวนเงิน 4,080 ล้านบาท

สำหรับโครงการดังกล่าวมีระบบการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลที่ไม่เหมาะสม (Fraud Detection) ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน กรมบัญชีกลางได้ตรวจสอบพบผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัวมีพฤติกรรมการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงเข้าข่าย Shopping ยา จำนวน 7 ราย คิดเป็นมูลค่าการใช้สิทธิเป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท และได้ดำเนินการระงับการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงแล้ว พร้อมส่งข้อมูลให้ส่วนราชการต้นสังกัดดำเนินการสอบข้อเท็จจริง และหากพบว่ามีการกระทำผิดให้ดำเนินการลงโทษทางวินัยขั้นสูงสุดต่อไป นอกจากนี้ ยังพบกลุ่มผู้มีสิทธิที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยอีกจำนวน 65 ราย โดยมีพฤตกรรมการเข้ารับการรักษาต่างสถานพยาบาลและต่างจังหวัดภายในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบและยืนยันการเข้ารับการรักษาพยาบาลของผู้ใช้สิทธิที่มีพฤติกรรมน่าสงสัยดังกล่าว

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2561 สั่งการให้ส่วนราชการให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลที่กรมบัญชีกลางจัดส่งให้เป็นประจำทุกเดือน จากการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มีส่วนราชการหลายแห่งได้ดำเนินการตรวจสอบพฤติกรรมการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลและแจ้งข้อมูลการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงที่ไม่ถูกต้องเพื่อให้กรมบัญชีกลางตรวจสอบและเรียกเงินคืนต่อไป

ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ โดยใช้สมาร์ทโฟนเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของกรมบัญชีกลาง ทั้งระบบ IOS และ Android โดยผู้มีสิทธิ (ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ) สามารถการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น “CGD iHealthcare” เพื่อใช้ตรวจสอบสิทธิของตนเองและบุคคลในครอบครัว ข้อมูลการใช้สิทธิเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยนอก รวมไปถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/2/2562

ครูสาวร้องสื่อฯ ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเหตุโพสต์ภาพ สตง.ตรวจสอบโครงการอาหารกลางวัน

23 ก.พ. 2562 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจาก น.ส.พลอยนภัส ดัดงาม อายุ 35 ปี อยู่บ้านเลขที่ 127/795 หมู่ 3 ต.เสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี อดีตครูอัตราจ้างชั่วคราวโรงเรียนแห่งหนึ่งใน ต.ห้วยกะปิ อ.เมือง จ.ชลบุรี ว่าได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม พร้อมนำหลักฐานภาพเด็กนักเรียนที่กำลังรับประทานอาหารกลางวันมาให้ดู หลังได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องทุกข์และขอฟ้องผู้อำนวยการโรงเรียนดังกล่าวต่อตัวแทนศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี ณ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี

น.ส.พลอยนภัส บอกว่า ตนเองถูกให้ออกจากการเป็นครูอัตราจ้างของโรงเรียนดังกล่าว หลังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าไม่ได้มาตรฐาน พร้อมแจ้งผลการตรวจสอบว่าโครงการอาหารกลางวันไม่มีคุณภาพ และได้มีการตรวจสอบผู้อำนวยการโรงเรียนด้วย ซึ่งตนเองได้นำเรื่องราวการเข้าตรวจสอบโครงการของ สตง.โพสต์ลงในเฟซบุ๊กโดยมิได้เป็นผู้ร้องเรียน แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกลับทำให้ถูกมองว่าเป็นผู้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน

และในวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการโรงเรียนได้เรียกตนเองเข้าพบและให้ออกจากงานทันทีโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า พร้อมอ้างว่าตนเองไม่อยู่ในสัญญาจ้าง ทั้งที่ได้ทำการส่งสัญญาจ้างและผู้ค้ำประกันให้แก่โรงเรียนทุกปี เช่นเดียวกับการจ่ายเงินประกันสังคม ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ตนเองไม่มีสิทธิสอบครูผู้ช่วยกรณีพิเศษ จนครอบครัวได้รับความเดือดร้อนเพราะต้องเลี้ยงดูแม่อายุ 79 ปี และลูกชายอายุ 5 ขวบ ที่กำลังเรียนอยู่ชั้นอนุบาลปีที่ 3

“ที่ผ่านมา ได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี พร้อมยื่นหนังสือร้องทุกข์ขอฟ้องผู้อำนวยการโรงเรียน แล้ว” น.ส.พลอยนภัส กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 23/2/2562

'มติชน' กัดฟันลดคน ท่ามกลางภาวะสื่อมวลชนฟองสบู่แตก

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2562 ที่ประชุมบอร์ดของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และในเครือ มีมติเห็นชอบเรื่องการปรับโครงสร้างธุรกิจและองค์กร ซึ่งจะทำให้พนักงานบางส่วนได้รับผลกระทบและเข้าร่วมโครงการในการปรับครั้งนี้ โดยบริษัทฯ มีมาตรการและแผนช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 3 แนวทาง ดังนี้

1.การจ่ายเงินชดเชย ช่วยเหลือเมื่อบริษัทเลิกจ้างด้วยเหตุจำเป็นทางธุรกิจ โดยมีการจ่ายเงินชดเชยให้ตามอายุงาน เริ่มต้นที่พนักงานที่มีอายุงานน้อยสุด ตั้งแต่ 120 วันแต่ไม่ครบ 1 ปีจ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย 1 เดือน และเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก 1 เดือน ไปจนถึงอายุงานตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป จ่ายเงินชดเชยตามกฎหมาย 10 เดือน และเงินชดเชยพิเศษเพิ่มอีก 10 เดือน 2.การช่วยเหลือเรื่องประกันชีวิตและสุขภาพ จะให้สิทธิพนักงานใช้ประกันชีวิตและสุขภาพถึงวันที่ 30 มิ.ย. 2562 และ 3.การช่วยเหลือเรื่องการศึกษาบุตรของพนักงานที่ได้รับทุนการศึกษาจากบริษัท โดยให้สิทธิพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลือกจ้างครั้งนี้ต่อไปอีก 3 ปี (ถึงปี 2564) โดยรายละเอียดของเงินทุนจะเป็นไปตามนโยบายที่แจ้งพนักงานก่อนหน้านี้

ที่มา: Sanook! Money, 22/2/2562

รมว.แรงงาน ไทย-ลาว ถกร่วมมือพัฒนา-ยกระดับชีวิตแรงงาน

21 ก.พ. 2562 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน และการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานไทย-ลาว ตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากที่ไทยและลาว ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างกัน เมื่อวันที่ 6 ก.ค.2559 ณ กรุงเทพมหานคร โดยมี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และนายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายไทย และ ดร.คำแพง ไซสมแพง รมว.แรงงานและสวัสดิการสังคมแห่ง สปป. ลาว และนายลีปาว หยาง ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมแห่ง สปป.ลาว เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนและประธานร่วมฝ่ายลาว ในการประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ตามลำดับ

ที่ประชุมได้ทบทวนผลการดำเนินงานร่วมกันในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา โดยมีกิจกรรมในด้านต่างๆ ดังนี้ 1.ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน รัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุนกิจกรรมการฝึกอบรมให้กับบุคลากรภาครัฐของ สปป.ลาว ในสาขาการบริหารจัดการ งานช่างอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการ รวมถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน 662 คน ในปีงบประมาณ 2561 และในปี 2562 มีแผนฝึกอบรมให้บุคลากรภาครัฐของ สปป.ลาว อีกจำนวน 700 คน 2.ด้านการจ้างงาน รัฐบาลไทยได้ดำเนินการจัดระบบแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (เมียนมา กัมพูชา ลาว) สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และได้จัดตั้งศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างจังหวัดหนองคาย และมุกดาหาร เพื่อเป็นสถานที่อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการทำงานและการใช้ชีวิตในเมืองไทยแก่แรงงานต่างด้าว และทำหน้าที่ตรวจสอบ คัดกรองแรงงานต่างด้าวก่อนอนุญาตให้เดินทางเข้ามาทำงานในไทย รวมถึงเป็นจุดพักรอแรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศ และเป็นจุดดำเนินการประสานงานระหว่างนายจ้างและแรงงานต่างด้าวด้วย ซึ่งจากข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2561 – มกราคม 2562 มีแรงงานสัญชาติลาวเข้ารับการอบรมที่ศูนย์แรกรับฯ ทั้ง 2 แห่ง รวม 23,273 คน 3.ด้านการคุ้มครองแรงงาน ในช่วงปี 2560 – 2561 รัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือติดตามสิทธิประโยชน์กับแรงงานสัญชาติลาวที่ทำงานในประเทศไทยกรณีค่าจ้าง ค่าชดเชย และค่าล่วงเวลา จำนวน 154 คน คิดเป็นเงินที่ได้รับจำนวน 504,588.25 บาท และ 4.ด้านการประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมของไทย และองค์การประกันสังคมแห่งชาติลาว มีการเจรจาหารือร่วมกันในเรื่องการจัดทำข้อตกลงการจ่ายบำเหน็จชราภาพ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ร่วมกันจัดทำแผนดำเนินงานระยะ 3 ปีข้างหน้า (ปี 2562 – 2565) ซึ่งประกอบด้วยการจัดประชุมเชิงวิชาการ การฝึกอบรม การคุ้มครองและติดตามสิทธิประโยชน์ให้กับแรงงานที่ทำงานในประเทศไทย และงานประกันสังคม รวมถึงฝ่ายไทยได้เสนอให้ฝ่ายลาวปรับเพิ่มข้อความในบันทึกความเข้าใจฯ เกี่ยวกับการจ้างงานระยะสั้นในภาคเกษตร ให้มีเงื่อนไขการจ้างงานน้อยกว่า 2 ปี นอกจากนี้ให้มีการตรวจสุขภาพและประวัติอาชญากรรมของแรงงานสัญชาติลาว ณ สปป. ลาว ก่อนเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยรวมถึงให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาการเดินทางเข้ามาของแรงงานที่มีบัตรผ่านแดน หรือบัตรอื่นใดในทำนองเดียวกัน เพื่อทำงานเป็นการชั่วคราว ในช่วงระยะเวลาหรือตามฤดูกาลและในท้องที่ที่กำหนด

การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านแรงงาน และการประชุมระดับรัฐมนตรีแรงงานไทย-ลาว ในครั้งนี้จัดขึ้นตามข้อกำหนดในเรื่องการดำเนินงานตามบันทึกความเข้าใจฯ ที่กำหนดให้ “คู่ภาคีดำเนินการจัดประชุมเพื่อติดตามการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฯเป็นระยะตามความเหมาะสม โดยหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ” ซึ่งการประชุมครั้งต่อไปฝ่ายลาวจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมที่ สปป. ลาว ปัจจุบันมีแรงงานสัญชาติลาวทำงานอยู่ในประเทศไทย (ข้อมูล ม.ค. 2562) จำนวนทั้งสิ้น 286,461 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภททั่วไป จำนวน 285,975 คน แรงงานประเภทฝีมือ 290 คน และชนกลุ่มน้อย 196 คน ซึ่งการประชุมด้านแรงงานไทย-ลาว ในครั้งนี้จะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเพื่อต่อยอดไปสู่การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 21/2/2562

สธ.เพิ่มการผลิตแพทย์ประจำบ้าน ‘อายุรกรรม-ศัลยกรรม’ รอบพิเศษ สาขาละเกือบ 500 คน

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2562 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การให้ทุนแพทย์ประจำบ้านในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์และกระบวนการรับสมัคร ให้แพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) และแพทย์ใช้ทุนจากโรงพยาบาลชุมชน 77 จังหวัด รวม 154 คน พร้อมมอบนโยบายว่า ปัจจุบันประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคอุบัติใหม่ จึงมีความต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับราชวิทยาลัยผลิตแพทย์ประจำบ้านให้เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรองรับการเจ็บป่วยของประชาชน

นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ในแต่ละปีกระทรวงสาธารณสุขจะจัดสรรแพทย์ประจำบ้านตามความต้องการของโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะสาขาอายุรกรรม และศัลยกรรม ซึ่งเป็นสาขาที่มีความต้องการเป็นอย่างมากในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป รวมถึงโรงพยาบาลชุมชน จึงได้จัดสรรทุนรอบพิเศษแก่แพทย์ประจำบ้านในสาขาที่มีความต้องการ เพื่อพัฒนาบุคลากรในสายงานแพทย์ให้มีความก้าวหน้ารวมถึงให้เพียงพอต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนทั่วประเทศโดยเฉพาะในชนบท

จากข้อมูลจัดสรรทุนแพทย์ประจำบ้านประจำปี 2562 ว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีแพทย์สาขาอายุรกรรม อยู่จำนวน 1,003 คน ต้องการผลิตเพิ่ม จำนวน 483 คน สาขาศัลยกรรมมีจำนวน 753 คน ต้องการเพิ่มอีก 425 คน คาดว่าภายใน 3 ปี จำนวนแพทย์ 2 สาขานี้จะเพียงพอต่อการให้บริการประชาชน

“การจัดสรรทุนในรอบนี้เป็นรอบพิเศษ จะคัดเลือกแพทย์ในแต่ละเขตสุขภาพเข้าเรียนในศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษาในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละเขตสุขภาพ เมื่อเรียนจบก็เข้าทำงานในโรงพยาบาลในเขตสุขภาพนั้นๆ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนและกระจายแพทย์” นพ.สุขุม กล่าว

ที่มา: Hfocus.org, 22/2/2562

‘งานระยะสั้นต่างๆ’ ติด 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปี 2562

นางสาวสุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ 1.งาน ขายและการตลาด 22.65% 2.งาน บัญชีและการเงิน 12.16% 3.งาน วิศวกร และการผลิต 8.62% 4.งานไอที 8.11% 5.งานธุรการ 7.15% 6.งานบริการลูกค้า 6.39% 7.งานระยะสั้นต่างๆ 6.28% 8.งาน ระดับผู้บริหาร 5.63% 9.งาน ทรัพยากรบุคคล 5.02% 10.งาน โลจิสติกส์ 3.04%

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ธุรกิจการบริการ ได้แก่ ขนส่งและโลจิสติกส์, ค้าปลีกค้า ส่ง, บริการเฉพาะกิจ และที่ปรึกษา ด้านต่างๆ รองลงมาคือ ธุรกิจสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์, วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่อง จักร, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อันดับ 3 คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ชิ้นส่วนอิเล็ก ทรอนิกส์

"อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมของสถานการณ์ตลาดแรงงานแม้จะอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่อัตราการว่างงานลดลงเมื่อเทียบระหว่างปี 2561 กับ 2562 อยู่ที่ 0.04% โดยมีปัจจัยบวกจากการที่ประเทศไทยได้เข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายการปฏิรูปประ เทศไทย และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลาดแรงงาน และภาคการศึกษา ทุกฝ่ายตื่นตัว มีการตั้งรับและวาง แผน" นางสาวสุธิดากล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, 21/2/2562

'โพสต์ทูเดย์-M2F' ปิดตัว เลิกจ้าง 200 พนักงาน

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารและมีมติว่าจะปิดหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์เอ็มทูเอฟ (ฟรีเปเปอร์) ภายในเดือนมีนาคมนี้ โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีปัญหาขาดทุนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนจะปรับให้โพสต์ทูเดย์ไปทำสื่อดิจิทัลเต็มตัว และหลังจากมีมติดังกล่าวแล้ว ได้มีการแจ้งเวียนเพื่อทำความเข้าใจกับพนักงานทั้งหมด ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์เป็นหนังสือพิมพ์แนวธุรกิจมานาน 17 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งมีประมาณ 200 กว่าคน บริษัทแจ้งว่าจะได้รับการจ่ายชดเชยตามกฎหมายแรงงานต่อไป

ทั้งนี้ ภายหลังแจ้งต่อพนักงานแล้ว วันเดียวกัน ทางบริษัท โพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ยังได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า “ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจสื่อสารมวลชน กลุ่มบริษัทบางกอกโพสต์ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจและรูปแบบการนำเสนอสื่อเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้อ่านที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ บริษัทได้ปรับการผลิตสื่อให้มีความกระชับและมุ่งเน้นสื่อดิจิทัลมากขึ้น ภายใต้การปรับเปลี่ยนดังกล่าว บริษัทจะหยุดการพิมพ์ หนังสือพิมพ์ M2F ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แจกฟรี และ หยุดพิมพ์หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจภาษาไทย ภายในเดือนมีนาคม โดยโพสต์ทูเดย์จะปรับเปลี่ยนเป็นสื่อดิจิทัลอย่างเต็มตัว

ที่มา: ข่าวสด, 20/2/2562

ก.แรงงาน-กรมศิลป์-ยูเนสโก ร่วมยกร่างหลักสูตรช่างอนุรักษ์ไทย

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวว่า ปัจจุบันช่างที่มีความชำนาญงานบูรณะโบราณสถาน มีจำนวนน้อยมากและขาดโอกาสในการสืบทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องฟื้นฟูความรู้ทักษะช่าง เพื่อใช้ในการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประกอบการเรียนรู้และการทำงาน เพื่อสนับสนุนการผลิตและเสริมสร้าง โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปลูกฝังจริยธรรมทางวิชาชีพให้แก่แรงงานรุ่นใหม่ สอดคล้องกับกรมศิลปากรได้จัดโครงการฟื้นฟูภูมิปัญญาช่างสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม เพื่อการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก มุ่งพัฒนาปรับปรุงหลักสูตร สำหรับช่างอนุรักษ์ ให้ครอบคลุมเนื้อหาองค์ความรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สถาบัตยกรรมไม้ สร้างผู้สอนช่างอนุรักษ์ โดยกำหนดให้พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสถานที่สำหรับศึกษาฝึกอบรมและปฏิบัติงาน

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า การหารือครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อร่วมกันกำหนดเนื้อหา ระยะเวลาในการฝึกอบรม และกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มหาวิทยาลัยศิลปากร กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา องค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร และบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมือในเดือนมิถุนายนนี้ โดยโบราณสถานในเมืองไทยหลายพื้นที่ ซึ่งมีโครงสร้างทั้งปูนและไม้ อยู่ในสภาพทรุดโทรม จำเป็นต้องได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยเร่งด่วน แต่ยังขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน เนื่องจากเป็นงานที่ต้องมีความละเอียดประณีต ช่างที่จะมาทำหน้าที่ต้องได้รับการฝึกฝน ผ่านเกณฑ์วัดระดับความสามารถที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จึงจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้

“ความร่วมมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นการเริ่มต้น เพื่อคัดสรรบุคคลเข้าสู่การปฏิบัติหน้าที่ด้านอนุรักษ์โบราณสถานที่มีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาขาดแคลนช่างอนุรักษ์โบราณสถานได้ส่วนหนึ่ง และยังสามารถเพิ่มทักษะให้แก่ช่างที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ช่างปูน และช่างไม้ ให้มีความรู้ด้านนี้ด้วย ทั้งนี้ผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม จะได้รับวุฒิบัตรการันตีความรู้ความสามารถ” นายสุทธิ กล่าว

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 20/2/2562

อนุกรรมการค่าจ้างฯ เตรียมเสนอขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2-10 บาท

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 คณะอนุกรรมการค่าจ้างฝ่ายวิชาการ ที่มี นพ.สุรเดช วลีอิทธกุล รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ได้มีการประชุมหารือตัวเลขอัตราค่าจ้างตามที่คณะกรรมการค่าจ้างจังหวัดทั้ง 77 จังหวัดเสนอ ซึ่งก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่ามีเพียง 28 จังหวัด ที่ขอปรับขึ้นค่าจ้าง ส่วนอีก 49 จังหวัด ไม่เสนอตัวเลขเนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันเศรษฐกิจยังไม่ดี

แหล่งข่าวเปิดเผยว่าในการหารือดังกล่าวที่ประชุมคณะอนุกรรมการค่าจ้างฯ ได้พิจาณาจากเอกสารที่แต่ละจังหวัดเสนอ และมีมติว่าให้ปรับขึ้นค่าจ้างทั่วประเทศในอัตราที่แตกต่างกัน ตั้งแต่ 2-10 บาท โดย 49 จังหวัดที่ไม่เสนอตัวเลข จะปรับขึ้นให้ 2 บาท ส่วนอีก 28 จังหวัด ที่เสนอตัวเลข แบ่งเป็นขึ้น 10 บาท 3 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และภูเก็ต ขึ้น 7 บาท มีเพียง 1 จังหวัด คือ สิงห์บุรี ขึ้น 5 บาท อาทิ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา ระยอง นครราชสีมา ฯลฯ ขึ้น 4 บาท อาทิ นราธิวาส ชัยภูมิ ฯลฯ และขึ้น 3 บาท อาทิ ราชบุรี สุราษฎร์ธานี เพชรบูรณ์ เป็นต้น

“ในที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่าจะเสนอตัวเลขดังกล่าวให้บอร์ดค่าจ้างชุดที่ 20 พิจารณา คาดว่าหลังจากเตรียมเอกสารแล้วเสร็จ จะยื่นให้บอร์ดค่าจ้างภายในสัปดาห์นี้ เพื่อนำเข้าที่ประชุมในวันที่ 13 มีนาคมนี้ ส่วนบอร์ดค่าจ้างจะพิจารณาอย่างไรต้องติดตาม” แหล่งข่าวกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 19/2/2562

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net