Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เทศกาลเลือกตั้งได้หมุนผ่านเข้ามาอีกครั้ง หลังจากเดินทางหลุดวงโคจรห่างหายไปเนิ่นนาน ประเดิมด้วยการเลือกตั้งล่วงหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้เกิดกระแสมากมายบนโลกจริงและโลกเสมือนจริง (โซเชียลมีเดีย) โดยเฉพาะการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหน้าที่โดยตรง ได้เกิดปัญหาหลายประการด้วยกัน เช่น การจัดสรรพื้นที่อันสุดแสนคับแคบและทับซ้อนกับงานอื่น, การให้บัตรเลือกตั้งผิดเขตแก่ผู้ใช้สิทธิ์ฯ พร้อมแถลงตอนท้ายว่าอาจเป็น ‘บัตรเสีย’, กรณีของการขโมยฉกเอาบัตรไปกายกเล่มเอาเสียดื้อๆ เป็นต้น จนบางคนถึงขั้นกล่าวว่าเป็นความ ‘ตั้งใจ’ ที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดความสับสนอลม่านแก่ผู้ใช้สิทธิ์ (Voter Suppression) (อ่านเพิ่มเติมได้ที่: https://prachatai.com/english/node/7974)

ในบทความชิ้นนี้ผู้เขียนมีความพยายามที่จะนำเอา บริบทและปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทย ในห้วงเวลาของการเลือกตั้งครั้งนี้ มาประสานเข้ากับข้อเขียนของ Larry Jay. Diamond ในบทความ “Elections Without Democracy: Thinking About Hybrid Regimes” ในวารสาร “Journal of Democracy”[1] เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย Johns Hopkins ในปี 2002 ซึ่งผู้เขียนมีเล็งเห็นว่ามีข้อเขียนหลายประการที่สามารถนำมาเทียบเคียงและอธิบายการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นได้ไม่มากก็น้อย เพื่ออธิบายการเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรม (Free and Fair Elections) ว่ามีองค์ประกอบใดบ้าง อันเป็นจุดเริ่มที่จะนำไปสู่ลักษณะหน้าตาของประชาธิปไตยในสภาวะใกล้คลอดเต็มแก่

อะไรคือการเลือกตั้งที่ อิสระและยุติธรรม?

ต้องกล่าวก่อนว่า การเลือกตั้งที่จะมาถึงในครั้งนี้เป็นในลักษณะของการ เปลี่ยนผ่านระบอบจากระบอบอำนาจนิยมของรัฐบาลที่ครองอำนาจยาวนานมาตั้งแต่ ปี 2557 ไปสู่ระบอบการปกครองที่ ‘ดูเหมือนจะเป็นประชาธิปไตย’ มันจึงเป็นการเลือกตั้งที่อยู่ในภาวะความไม่ปกติ เป็นการเลือกตั้งที่รัฐบาลยังคงมีอำนาจเต็มในการออกกฎหมาย อนุมัติงบประมาณในเชิงนโยบาย มีอำนาจเต็มอยู่ในมือประมุขฝ่ายบริหาร ฯลฯ จึงสามารถกล่าวได้ว่าเสมือนเป็น ‘ผู้วิเศษที่ถือไม้กายสิทธิ์และสามารถร่ายเวทย์มนต์ได้อย่างอิสระท่ามกลางมวลหมู่มักเกิล (มนุษย์ธรรมดา)’ ในบริบทที่ผู้วิเศษเป็นทั้งกรรมการ ผู้ตั้งกฎกติกา และเป็นผู้ลงแข่งขันประลองเวทย์เอง! การต่อสู้ระหว่างผู้วิเศษและมักเกิลจะยุติธรรมหรือไม่ และจะมีอิสระให้มักเกิลพอได้ขยับตัวแย็บหมัดออกฟุตเวิร์คได้มากเพียงใดกันในการประลองครั้งนี้?

ตามความคิดและมาตรฐานความเป็น ‘อิสระ (Free)’ ของสนามการเลือกตั้งที่เป็นอิสระ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากต่อการทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้ โดยข้อเสนอคือ การเลือกตั้งจะมีความเป็นอิสระเมื่อ ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเข้ามามีบทบาทน้อยที่สุดในสนามการเมือง คือการที่กฎหมายและกระบวนการทางกฎหมายต่างๆ จะต้องไม่มีความซับซ้อนและสามารถตีความได้กว้างจนเกินไป จนกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการดำเนินการของพรรคการเมืองและผู้สมัครในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง/หาเสียง, ผู้สมัครจากพรรคต่างๆ มีอิสระมากพอในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและหาเสียง จะต้องให้เสรีภาพในการพูด การแสดงออก เคลื่อนไหว หรือรวมกลุ่มกันในทางการเมืองได้อย่างเพียงพอ, ไม่มีการข่มขู่บังคับให้เลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง จะต้องปราศจากการใช้อำนาจ ความรุนแรง เพื่อใช้ขจัดคู่แข่งทางการเมือง การลงโทษที่เกินกว่าเหตุ การข่มขู่ และการสาดโคลน

นอกจากนี้แล้วในการแข่งขันเลือกตั้งต้องมีความ ‘เป็นธรรม (Fair)’ Steven Levitsky และ Lucan A. Way ให้ทรรศนะว่าบางครั้งการเลือกตั้งก็ทำให้ระบบการเมืองมีแนวโน้มเป็น “สนามแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมระหว่างรัฐบาลกับคู่ตรงข้าม” ในขณะที่พรรครัฐบาลได้รับประโยชน์จากการอยู่ในอำนาจ การเข้าถึงพื้นที่สื่อ และความสามารถที่จะใช้ช่องทางของรัฐและเจ้าพนักงานทั้งหลายระหว่างการหาเสียง ซึ่งลักษณะดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก

ดังนั้นการแข่งขันทางการเมืองที่มีความเป็นธรรมจึงต้องประกอบด้วย การจัดการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา ทั้งในการลงคะแนนเสียง และการนับคะแนน กระบวนการจัดการเลือกตั้งอันเป็นจุดเริ่มต้นของความน่าเชื่อถือ และแสดงให้เห็นว่าทุกเสียงที่ได้ทำการลงไปแล้วนั้นมีความหมาย (Meaningful)

เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร องค์กรภาครัฐและศาล จะต้องปฏิบัติต่อผู้สมัครแข่งขันอย่างเที่ยงธรรม รวมไปถึงการร้องเรียนและข้อพิพาท หมายรวมไปถึงองค์กรรัฐนั้นจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่ผู้แข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ก่อให้เกิดความแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณะชน อันจะส่งผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นขององค์กรภาครัฐอย่างมาก และทำให้สาธารณะชนเสื่อมความศรัทธาต่อการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น

การแบ่งเขตและตั้งกฎต่างๆ ไม่ให้โทษและลิดรอนผลประโยชน์ของฝ่ายตรงข้าม ในกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือการแบ่งเขตเลือกตั้งในปี 1812 ในการเลือกตั้งวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกา ได้มีการแบ่งเขตอย่างพิลึกกึกกือ ซึ่งต้นคิดคือนาย Elbridge Gerry จนเขตเลือกตั้งประหลาดเหมือนสัตว์เลื้อยคลาน จนเกิดฉายานามว่าเป็น Gerry-mander/Gerrymandering (คือการรวมชื่อของนาย Gerry เข้ากับสัตว์ตัวหงิกงออย่าง Salamander) (ดูเพิ่มเติม: https://www.matichon.co.th/politics/news_1258083/)  

และเมื่อหีบเลือกตั้งได้รับการปกป้องและเป็นความลับ กระบวนการนับคะแนนและการจัดการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและแสดงให้สาธารณะชนรับรู้ บัตรเลือกตั้งมีความจำเป็นอย่างมากที่จะได้รับการปกป้อง และเพื่อป้องกันการทุจริตเช่น การสลับบัตร การแก้ไขเพิ่มเติม หรือการกำจัดบัตรเลือกตั้งบางส่วนออกไป อีกทั้งในกระบวนการนับคะแนนจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าบัตรเลือกตั้งได้กาหมายเลขนั้นจริง ให้เห็นโดยทั่วกันในขณะการนับคะแนน

กล่าวอย่างสั้นที่สุด การเลือกตั้งที่อิสระและเป็นธรรมนั้น คือการเลือกตั้งที่พรรครัฐบาลหรือพรรคที่ครองอำนาจอยู่นั้น ต้องเปิดพื้นที่ให้กับพรรคอื่นรวมไปถึงพรรคคู่ตรงข้ามได้มีโอกาสแข่งขันขึ้นมาเป็นรัฐบาลได้ และมีการแข่งขันอย่างยุติธรรมโดยปราศจากกลไกอำนาจรัฐเข้ามาเอื้อประโยชน์แก่พรรครัฐบาล ในขณะเดียวกันต้องไม่สร้างเงื่อนไขที่ให้โทษแก่พรรคอื่น

คำถามต่อมาคือ แล้วหากการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมันผิดไปจากสิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นล่ะ?

ข้อถกเถียงนี้นำพาเรามาสู่การนิยามระบอบหลังการเลือกตั้ง ว่ามันเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ถ้าไม่ใช่มันจะเป็นระบอบการปกครองแบบใด ซึ่งคำตอบในบทความชิ้นนี้คือการนิยามว่าเป็น ระบอบลูกผสม (Hybrid Regimes)  คือการสมรสกันระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับเผด็จการ กล่าวได้ว่ามันเป็นระบอบที่ผิดเพี้ยน (Ambiguous Regimes) เป็นประชาธิปไตยแบบพันทาง ซึ่งมีองค์ประกอบบางอย่างของระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญคือ การเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะทางกฎหมาย การออกแบบระบบการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง บทบาทหน้าที่ขององค์กรภาครัฐ รวมไปจนถึงรัฐธรรมนูญ ที่ส่อไปทางอำนาจนิยม

ซึ่งหากจะกล่าวอย่างตรงไปตรงมา การเลือกตั้งจะเป็นการเลือกตั้งที่ฝ่ายซึ่งไม่ใช่ฝ่ายฝั่งเดียวกับรัฐบาล ถูกทำให้โอกาสที่จะชนะลดน้อยลง ในขณะเดียวกันฝ่ายรัฐก็ได้รับประโยชน์จากการวางกติกาต่างๆ ล่วงหน้า ทั้งนโยบายเชิงประชานิยม การมีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเข้ามามีส่วนร่วมแข่งขัน การวางที่นั่งผู้ดำรงตำแหน่งแบบแต่งตั้ง เช่น กรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งล้วนถูกแต่งตั้งโดยผู้ที่จะลงแข่งขันชิงตำแหน่งรัฐบาลสมัยหน้า ส่งผลให้ภายหลังการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ไม่มีทางเลยที่จะสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นประชาธิปไตย

มันจึงดูมีแนวโน้มไปสู่การเป็น ระบอบเผด็จการที่ทำให้ดูว่ามีการแข่งขัน (competitive authoritarianism)หรือกล่าวได้ว่าเป็นประชาธิปไตยปลอม (Pseudo-democracy) คือลักษณะที่ฝ่ายรัฐกุมอำนาจทรัพยากรและกฎเกณฑ์ที่จะใช้ทำลายและเอาเปรียบฝ่ายตรงข้าม เกิดการแทรกแซงการเลือกตั้ง และไม่มีทางที่ฝ่ายตรงข้ามจะเอาชนะได้

แต่ในขณะเดียวกันแม้ว่าฝ่ายตรงข้ามจะสามารถกระทำการเอาชนะในระบบการเลือกตั้งได้แล้ว ก็ใช่ว่าจะสามารถเข้ามามีอำนาจทางการเมืองได้เต็มที่นัก ด้วยกลไกและการวางตำแหน่งทางการเมืองไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่อำนาจนิยมจะหยุดการทำงานของมันลง เท่ากับว่าการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นมีมันถูกลดทอนให้ไร้ความหมาย

การเลือกตั้งถูกทำให้กลายเป็นปาหี่พิธีกรรม ให้การเข้ายึดครองอำนาจของชนชั้นนำครองอำนาจนั้นมีความชอบธรรมแบบใหม่ ภายใต้บริบทที่ความชอบธรรมเดิมไม่สามารถตอบสนองสังคมได้อีกต่อไป การเลือกตั้งจึงเป็นคำตอบสุดท้ายในการต่อท่ออำนาจ และทำให้มั่นใจว่าเป็นการแข่งขันที่แพ้ไม่ได้และต้องไม่แพ้ หรือถึงแพ้ก็ยังชนะอยู่ดี! – มันจึงเป็นการต่อสู้ที่เอาชนะยาก มวลมหาประชามักเกิลจำต้องร่วมกันต่อสู้ ในทุกวิถีทางเท่าที่จะทำได้ เพื่อทำให้เหล่าผู้วิเศษได้รับรู้ว่า “ผู้ไร้ซึ่งเวทย์มนต์ไม่ใช่ผู้ไร้ซึ่งทางสู้”

 

 

หมายเหตุ: ภาพประกอบจากเพจ นารูตู่

ข้อมูลอ้างอิง/ข้อมูลประกอบ

Diamond, Larry Jay. (2002). Thinking About Hybrid Regimes. Journal of Democracy, Volume 13, Number 2, April 2002, pp.21-35 (Article).

ประจักษ์ ก้องกีรติ. (2553). ประชาธิปไตยของฉัน ของท่าน และของเธอ. OCTOBER 09 ฉบับ ประชาธิปไตย, 8-53.

มติชนออนไลน์. (5 ธันวาคม 2561). Brain Talk : Gerrymandering. https://www.matichon.co.th/politics/news_1258083

เว็บไซต์ประชาไท. (15 มีนาคม 2561). Voter suppression or mismanagement? Thais face obstacles as overseas voting begins. https://prachatai.com/english/node/7974

 

[1] Larry J. Diamond, Thinking About Hybrid Regimes (Journal of Democracy, Volume 13, Number 2, April 2002, pp. 21-35 (Article))

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net