Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา หารือกรณี 'ซีพี' ฟ้องศาลปกครอง หลังเสี่ยงไม่ผ่านซอง 1 เกณฑ์คุณสมบัติโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ผบ.ทร. สั่งทีมกฎหมายเทียบกฎระเบียบ-RFP ยืนยันที่ผ่านมารอบคอบ ยืนยันมีเอกชนส่งซอง 3 เกินกำหนด 15.00 น.


ท่าอากาศยานนานาชาติ อู่ตะเภา ที่มาภาพ: Google Maps/boyjdpar

4 พ.ค. 2562 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก โดยประเด็นการหารือส่วนใหญ่ คือ กรณีที่กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) ได้ยื่นศาลปกครองกรณีไม่เห็นพ้องด้วยกับมติและคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ

รวมทั้งติดตามความคืบหน้าการพิจารณาซองเอกสาร 1 (คุณสมบัติทั่วไป) ของเอกชนทั้ง 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส 2.กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม 3.กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) โดยเป็นการพิจารณา ข้อมูลทั่วไปและสถานะทางกฎหมาย เอกสารข้อเสนอด้านคุณสมบัติทางการเงิน เอกสารแสดงคุณสมบัติทางเทคนิค ประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ และคุณสมบัติของเอกชนที่เข้ามาเป็นซับคอนแทรค (ผู้รับจ้างงาน) โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้เริ่มเปิดซอง 1 เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา

(สำนักข่าวอิศรา) กลุ่มบ.ธนโฮลดิ้ง-พันธมิตร ยื่น ศาลปค. ค้านมติ คกก. คัดเลือกเอกชนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ 2 แสนล.

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้กำชับเกณฑ์ในการทำงาน 3 ส่วน 1.ขอให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ตรวจสอบความถูกต้องของการพิจารณาเอกสารข้อเสนอของเอกชน ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งเอกชนได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายเช่นเดียวกันหรือไม่

2.ขอให้ตรวจสอบการทำงานที่ผ่านมาทั้งในส่วนของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ และเอกชน ว่าผิดไปจากระเบียบข้อกำหนดใน RFP หรือไม่ และ 3.ให้ยึดหลักการทำงานและการพิจารณาสอดคล้องไปกับนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ทั้งนี้ การพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ มีทีมงานด้านกฎหมายทั้งของกระทรวงกลาโหม กองทัพเรือ และสำนักงานอัยการสูงสุดที่จะมาร่วมตรวจสอบการพิจารณาทุกขั้นตอนให้เป็นไปตามกฎหมายและ RFP ซึ่งมั่นใจว่าการตัดสินใจของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ในช่วงที่ผ่านมารอบคอบและไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย

ส่วนการพิจารณาในขณะนี้ยังไม่สรุปผลซอง 1 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์นับจากนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดซอง 1 และที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ส่งหนังสือแจ้งความคืบหน้าถึงผู้ยื่นซองประมูลทั้ง 3 ราย ซึ่งมีบางรายยื่นซองเอกสารไม่กำหนด 15.00 น.จึงต้องชี้แจงว่าส่งหนังสือไม่ทันกำหนด แต่การทำงานของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ก็ต้องดำเนินการต่อ โดยเริ่มขั้นตอนพิจารณาเอกสารที่ได้รับมาและตัดสินตาม RFP

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ประชุมพิจารณาซอง 1 ถึง 4 ครั้ง เพราะมีข้อมูลค่อนข้างมาก อีกทั้งต้องตรวจสอบคุณสมบัติทั้งผู้นำกลุ่ม (ลีดเฟิร์ม) และเอกชนผู้รับจ้างงาน (ซับคอนแทรค) เมื่อรวมพันธมิตรของทั้ง 3 กลุ่ม พบว่า มีนิติบุคคลที่เป็นสมาชิก 11 บริษัท และยังมีซับคอนแทรค 6 บริษัท รวมมีเอกชนที่ต้องพิจารณาคุณสมบัติถึง 17 บริษัท

สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ช่วงที่ผ่านมา มีเอกชนบางกลุ่มยื่นซอง 3 (ข้อเสนอผลตอบแทนรัฐ) ไม่ทันเวลากำหนด 15.00 น. โดยคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้ตรวจสอบหลักฐานอย่างถี่ถ้วน ผ่านการเปิดกล้องวงจรปิด เพื่อย้อนดูเวลาในการยื่นข้อเสนอแล้ว ดังนั้นมั่นใจว่าผลการพิจารณาจะมีความเป็นธรรมและเป็นไปตามข้อกำหนดใน RFP

นอกจากนี้ พบว่ามีพันธมิตรของเอกชนบางกลุ่มที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม RFP กำหนด โดยเฉพาะการให้บริการและบำรุงรักษาสนามบิน ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ให้บริการและบำรุงรักษาสนามบินนานาชาติติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 ปี ภายในระยะเวลา 10 ปี นับถึงวันยื่นข้อเสนอ และในช่วงเวลา 3 ปีดังกล่าว อย่างน้อยจะต้องมีปีใดปีหนึ่งที่มีจำนวนผู้โดยสารไม่น้อยกว่า 10 ล้านคนต่อปีต่อสนามบิน

ส่วนประสบการณ์พัฒนาและการก่อสร้าง กำหนดผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ด้านการพัฒนาสนามบิน โดยเป็นผู้พัฒนา จัดหาเงินทุน หรือเป็นเจ้าของ หรือผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์เป็นผู้รับจ้างในการก่อสร้างสนามบินแบบครบวงจร โดยต้องดำเนินการออกแบบและการก่อสร้าง และจัดหาและติดตั้งเครื่องจักร ทั้งนี้โครงการดังกล่าว ต้องมีมูลค่าก่อสร้างไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และต้องเปิดให้บริการมาแล้วไม่น้อยกว่า 15 ปี นับจนถึงวันที่ยื่นข้อเสนอ และยังคงเปิดให้บริการอยู่

ขณะที่ประสบการณ์ด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ ต้องเป็นผู้พัฒนา จัดหาเงินทุนหรือเป็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์หรือนิคมอุตสาหกรรม หรือมีประสบการณ์ออกแบบและก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ หรือนิคมอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ที่มีมูลค่างานออกแบบและก่อสร้างไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท อย่างน้อย 1 โครงการ

รายงานข่าวเผยด้วยว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ยืนยันว่าการทำงานที่ผ่านมาเป็นไปตาม RFP และกฎหมาย ส่วนกรณีที่มีเอกชนบางรายอาจไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ก็เป็นสิทธิ์ที่จะใช้กระบวนการตามที่กฎหมาย ในขณะที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้มีการตรวจสอบข้อกฎหมายในกรณีที่ตัดสินใจไม่รับรองเอกสารที่ส่งล่าช้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net