Skip to main content
sharethis

รัฐบาลลาวกำลังจะดำเนินการตามแผนเดินสายตรวจตราเขื่อน 55 แห่ง หลังจากเหตุการณ์สันเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกเมื่อปี 2561 จนเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่นับเป็นอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในลาวในรอบหลายสิบปีนี้

ภาพจากสำนักข่าวสารประเทศลาว

3 ก.ค. 2562 ในลาวเคยเกิดภัยพิบัติอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 หลังจากที่เขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำเซเปียน เซน้ำน้อยพังทลายจากฝนตกหนัก อุทกภัยในครั้งนั้นส่งผลกระทบต่อหมู่บ้าน 12 หมู่บ้านและคร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 40 ราย ในแขวงจำปาสัก อัตตะปือ มวลน้ำยังไหลไปกระทบพื้นที่ในประเทศกัมพูชาที่อยู่ติดกัน อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลลาวให้จัดให้มีการเข้าไปตรวจสอบเขื่อนหลายแห่งหลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วเกือบ 1 ปี

ห่วงโซ่ความรับความรับผิดชอบ เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

ไปให้ไกลกว่าเขื่อนแตก: เสวนาสะท้อนทุน การเมือง ความจำเป็นกรณีเซเปียน-เซน้ำน้อย

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบจากรัฐบาลลาวจะเน้นเข้าไปตรวจสอบโครงสร้าง การออกแบบและคุณลักษณะทางเทคนิคของเขื่อน นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิจารณาว่าการพัฒนาเขื่อนของพวกเขาเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีผู้ให้คำปรึกษาที่มีความรู้คอยชี้แนะ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อเรดิโอฟรีเอเชียเมื่อ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาว่าทางกระทรวงกำลังตรวจสอบเขื่อนทั้งหมดในประเทศเพื่อความปลอดภัย และเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์เกิดขึ้นซ้ำรอย เจ้าหน้าที่เปิดเผยอีกว่าหลังจากเหตุสันเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกพวกเขาก็ทำการตรวจเขื่อนใหม่อีกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามแผนการก่อสร้างและเป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทั้งเรื่องการต้านแรง และการป้องกันแรงกระทบจากน้ำ

ถึงแม้ว่าแผนการตรวจสอบเหล่านี้เพิ่งจะดำเนินการไปในขั้นต้น แต่ทางรัฐบาลก็ค้นพบว่ามีหลายเขื่อนที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เจ้าหน้าที่กล่าวว่าพวกเขาค้นพบในเรื่องที่เขื่อนบางแห่งไม่เป็นไปตามมาตรฐานและไม่มีกระบวนการรับคำปรึกษาที่จำเป็นและไม่มีการรับประกัน

กัมมานี อินทิราธ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อท้องถิ่นเมื่อ 26 มิ.ย. ว่ามีเจ้าหน้าที่ๆ เกี่ยวข้องกำลังจะดำเนินการตรวจสอบเขื่อนที่มีอยู่รวมถึงเขื่อนที่กำลังสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบในปีที่แล้วและเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน อินทิราธบอกอีกว่าถ้าหากเขาพบตำหนิใดๆ ก็ตามจะให้มีการหยุดสร้างเขื่อนโดยทันที จนถึงตอนนี้มีหลายเขื่อนแล้วที่ถูกยกเลิกเนื่องจากสภาพการก่อสร้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอินเตอร์เนชันแนลริเวอร์เปิดเผยว่าในปัจจุบัน แผนการพัฒนาเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำของลาวประกอบด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ 72 แห่ง มี 12 แห่งที่กำลังก่อสร้าง และอีกราว 25 แห่งที่อยู่ในขั้นตอนการวางแผนในระยะคืบหน้า

รัฐบาลลาวอ้างว่าเขื่อนจะกลายเป็นงบประมาณช่วยเหลือโครงการต่อต้านความยากจนและโครงการสวัสดิการสังคม แต่ทางอินเตอร์เนชันแนลริเวอร์ก็กล่าวว่าลาวสร้างโครงการไฟฟ้าไปก็เพื่อขายไฟฟ้าให้ประเทศใกล้เคียงแล้วไฟฟ้าเหล่านี้จะถูกขายกลับมาที่ลาวด้วยราคาแพง

เรียบเรียงจาก

Lao Government Begins Plan to Inspect 55 Dams One Year After PNPC Disaster, Radio Free Asia, Jul. 2, 2019

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net