Skip to main content
sharethis

วงเสวนาหัวข้อ "LGBTQI ในสื่อ:สื่อสารด้วยความเข้าใจและเท่าเทียม" โดยมีตัวแทนจากภาคประชาสังคม ตัวแทนภาคสื่อมวลชน และตัวแทนจากภาครัฐ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนโดยมีการหยิบยกที่มาของปัญหาการตีตรากลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศผ่านสื่อ โดยมีรากฐานมาจากความเข้าใจและวิธีคิดที่ส่งผลต่ออคติทางเพศ รวมไปถึงปัญหาของการตีความกฎหมายเกี่ยวกับความเท่าเทียม ซึ่งมีความจำเป็นที่มุกฝ่ายต้องทำให้เกิดการร่วมมือกันอย่างสร้างสรรค์

ช่วงบ่ายของกิจกรรมของงาน “คนต้องมาก่อนผลกำไร”: สู่แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่มั่นคงเพื่อควบคุมการปฏิบัติการขององค์กร ในประเทศไทย ซึ่งจัดในโอกาสวันธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2562 ได้มีวงเสวนาในเรื่อง การแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับ LGBTQI ในภาคสื่อ "LGBTQI ในสื่อ:สื่อสารด้วยความเข้าใจและเท่าเทียม" โดยมีการหยิบยกประเด็นเรื่องบทบาทของสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้รับสื่อ ในเรื่องของผู้ที่มีเพศสภาพและเพศวิถีที่หลากหลาย ซึ่งก็ยังคงมีบางสื่อที่ยังคงนำเสนอและผลิตซ้ำภาพของ LGBTQI ออกมาทางลบ แต่ขณะเดียวกัน สังคมไทยในปัจจุบันก็มีพื้นที่เปิดกว้างให้ LGBTQI ได้มีพื้นที่มากขึ้นจากอดีตที่ผ่านมา

เวทีเสวนา "LGBTQI ในสื่อ:สื่อสารด้วยความเข้าใจและเท่าเทียม" มีจำนวนผู้บรรยายทั้งหมด 4 ท่าน ได้แก่ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศและพนักงานบริการ ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการส่วนสำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. นัยนา สุภาพึ่ง อนุกรรมการ ชุดที่ 1 คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ วรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยบรรณาธิการข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ThaiPBS และรณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของตนเองเป็นส่วนหนึ่งในการเคลียนไหวด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสื่อ โดยเมื่อปีก่อนตนได้อ่านข่าวที่มีการพาดหัวความรุนแรงโดยมีผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ลงมือกระทำความรุนแรงซึ่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เนื่องจากผู้กระทำคืออีกคนหนึ่งเพียงแต่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้บันทึกวีดีโอเท่านั้น

ศิริศักดิ์ ได้ชี้แจงและเน้นย้ำประเด็นของการพาดหัวข่าวความรุนแรงโดยการใช้คำว่า ‘กระเทย’ ซึ่งศิริศักดิ์มีความกังวลว่าการใช้คำดังกล่าวจะเป็นการผลิตซ้ำความหมายในเชิงลบและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์แก่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคม เช่น กระเทย = ความรุนแรง โรคจิต เป็นเอดส์ตาย ฯลฯ ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

ศิริศักดิ์ จึงได้ดำเนินเรื่องชี้แจ้งต่อหน่วยงานสื่อดังกล่าวที่นำเสนอข้อมูลไม่ตรงกับความจริงและขอให้มีการแก้ไขและรับผิดชอบ ผลลัพธ์คือสำนักสื่อดังกล่าวได้มีการออกมารับผิดชอบและแก้ไขโดยการออกนโยบายขององค์กรว่าให้สมาชิกในองค์กรสื่อทุกคนจะต้องคำนึงถึงความละเอียดอ่อนในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับมิติทางเพศ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาอีก

นัยนา สุภาพึ่ง กล่าวถึงปัญหาของการตีความการใช้กฎหมายในเรี่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยหยิบยกกรณีข่าวเท็จที่ศิริศักดิ์ได้เสนอมาข้างต้น โดยศิริศักดิ์เป็นผู้เสียหายซึ่งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ไม่ได้เป็นผู้เสียหายที่อยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เหตุกาณณ์นี้จึงเป็นปรากฎการณ์ใหม่และความท้าทายของการตีความในการใช้กฎหมาย ซึ่งองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมต้องหารูปแบบวิธีที่จะปรับใช้กับปรากฎการณ์เช่นนี้

นัยนา ได้กล่าวถึงความท้าทายและความยากลำบากขององค์กรด้านความหลากหลายทางเพศที่กว่าจะสำเร็จในการจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อนกระเทยเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ต้องใช้เวลา 3 ปีเพื่อให้กระทรวงมหาดไทยอนุมัติการใช้คำว่ากระเทยมาเป็นชื่อของมูลนิธิ ซึ่งอาจะเป็นสิ่งสะท้อนว่าโครงสร้างทางสังคมยังคงไม่เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริง

นัยนา กล่าวว่าหลายครั้งที่องค์กรสื่อก็มีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการบิดเบือนข้อมูลความจริงที่ทำผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องเป็นเครื่องมือในการขายข่าวต่อสังคม

ตรี บุญเจือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรของภาครัฐที่ดูแลสื่อหลากหลายประเภทอย่าง กสทช. ก็ยังไม่ได้เห็นถึงรายละเอียดของปัญหาที่ส่งผลต่อสาธารณะอย่างเพียงพอ ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ในสังคมไทยก็ไม่ได้ถูกเซ็นเซอร์เหมือนกับในอดีตที่ผ่านมา ยกเว้นสื่อประเภทภาพยนตร์ อย่างไรก็ตาม กสทช. ก็ยังคงทำงานร่วมกับเครือข่ายทางสังคมอย่างกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเพื่อเสริมความเข้มแข็งและเพื่อสื่อสารออกไปในสู่สังคมอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเนื้อหาและวิธีคิดต่างๆที่อยู่ในสื่อก็เกิดขึ้นจากกลุ่มทางสังคมต่างเช่นกัน

รณภูมิ สามัคคีคารมย์ กล่าวว่า การใช้กลไกทางกฎหมายอาจไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งเสมอไป แต่นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันมาเป็นช่องตัวอย่างในการพัฒนามากขึ้น ซึ่งก็จะมีคู่มือที่เป็นตัวชี้วัดสื่อที่เกิดขึ้นมาจากการที่เครือข่ายต่างๆทางสังคมได้ทำงานใกล้ชิดร่วมกับ กสทช. เพื่อเป็นแนวมาตรฐานในการปฏิบัติให้มีความเป็นกลางมากที่สุดกับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะเรื่องของการใช้คำและการสร้างองค์ความรู้ของสื่อในการนำเสนอประเด็นต่างในสังคม

วรลักษณ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า ในฐานะของคนทำงานสื่อมองว่าหัวใจสำคัญที่สุดคือ หลักคิด ทัศนะคิดเรื่องการเคารพสิทธิ การมองผู้อื่นแบบให้เกียรติ มองว่าทุกๆคนมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของคำตอบทุกๆอย่าง กล่าวคือมุมมองของนักข่าวก่อนเขียนข่าวมีความเคารพสิทธิต่อผู้อื่นอย่างไร

วรลักษณ์ กล่าวว่า หลายกรณีที่เกิดขึ้นก็มีจากการมีอคติทางเพศที่เกิดจากความเข้าใจของสื่อต่อเรื่องทางเพศสภาพและเพศวิถีที่ยังมีไม่มากพอ ซึ่งอย่างไรก็ตามบางคนต่อให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการให้เกียรติต่อความหลากหลาย แต่สุดท้ายก็เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจที่ทำให้ต้องนำเสนอภาพลบของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศซึ่งสื่อแบบนี้ก็ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net