Skip to main content
sharethis

ย่างเข้าปีที่ 6 แล้ว ผ่านการเลือกตั้งแล้ว แต่เรายังอยู่กับนายกรัฐมนตรีและองคาพยพเดิมเกือบทั้งหมด เหมือนเดินย่ำซ้ำวนอยู่กับที่ คำถามสำคัญคือเราจะเรียกประเทศนี้ว่ามีการปกครองด้วยระบอบอะไร จะเรียกเผด็จการเหมือนก่อนเลือกตั้งก็ลำบาก จะเรียกประชาธิปไตยก็กระดากปาก เราคุยกับ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ ผู้ตั้งชื่อให้กับระบอบนี้ว่า “ระบอบประยุทธ์” หรือ เผด็จการครึ่งใบ มันก่อร่างสร้างตัวมาอย่างไร ดำรงอยู่แบบไหน จะหาทางพ้นหลุดจากเขาวงกตที่ออกแบบอย่างแยบยลนี้อย่างไร

การรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ 2 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ถูกกล่าวขานโดยชนชั้นนำว่าเป็น “การรัฐประหารที่เสียของ” เพราะคาดหวังเพียงว่า เปลี่ยนแปลงกติกาประเทศแล้วผลลัพธ์จะเปลี่ยน ยึดอำนาจแล้วรีบร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จากนั้นจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 ผลลัพธ์คือ ‘ทักษิณ’ ฆ่าไม่ตาย พรรคพลังประชาชน ยังชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาลเช่นเดิม

แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กับรัฐธรรมนูญ 2560 แตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง มันถูกออกแบบมาอย่างดี เป็นภาคต่อของความผิดพลาดเมื่อปี 2549 และยังส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ย่างเข้าปีที่ 6 แล้ว ผ่านการเลือกตั้งแล้ว แต่เรายังอยู่กับนายกรัฐมนตรีและองคาพยพเดิมเกือบทั้งหมด มีเพิ่มมาก็แต่บรรดานักการเมืองที่หาเสียงประกาศกร้าวว่า “ไม่เอาการสืบทอดอำนาจ”

“เราจะเรียกระบอบนี้ว่าอะไร”

เป็นคำถามที่น่าสนใจ จะเรียกเผด็จการเหมือนก่อนเลือกตั้งก็ลำบาก จะเรียกประชาธิปไตยก็ไม่ใช่

ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกขานมันว่า “ระบอบประยุทธ์”

“การเปลี่ยนระบอบ ต้องดูที่ความพยายามในการรื้อโครงสร้างอำนาจ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม และดูว่ามีการจัดระเบียบสถาบันของรัฐใหม่อย่างไร สิ่งที่คณะรัฐประหารทำตั้งแต่มีการยึดอำนาจในปี 2557 ภารกิจสำคัญของพวกเขาคือการทำสิ่งเหล่านี้ ระบอบจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยระยะเวลา จนก่อรูปเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่มีความมั่นคงในระดับหนึ่ง” ประจักษ์กล่าว 

เขายืนยันว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเกิดสิ่งที่เรียกว่าระบอบประยุทธ์ขึ้นแล้ว และคำว่า ระบอบประยุทธ์ ไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพียงแค่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดียว แต่หมายรวมถึงองคาพยพในส่วนอื่นๆ ที่มีการร่วมมือกัน ทั้งการอยู่ในอำนาจยาวนาน 5 ปี เป็นระยะเวลาที่นานพอจะเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองไทยไปอย่างสิ้นเชิง (ส่วนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ กลุ่มทุนในระบอบประยุทธ์จะนำเสนอในตอนหน้า)

อย่างไรก็ตาม เราอาจแยกระบอบประยุทธ์ได้เป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ช่วงที่อยู่ภายในอำนาจเผด็จการทหาร ช่วงที่สองคือ ช่วงหลังการเลือกตั้ง พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนเสื้อคลุมใหม่และสืบทอดอำนาจผ่านการเลือกตั้ง

“เมื่อบริบทโลกมันเปลี่ยนไปก็ส่งผลต่อการดำรงอยู่ของกองทัพในทางการเมืองแบบที่มีอำนาจควบคุมระบบการเมืองและสังคมโดยตรง เราจะไม่ค่อยเห็นเผด็จการทหารที่มีอำนาจเต็มดำรงอยู่อย่างยาวนาน กรณีของ คสช.อยู่มาได้ 5 ปีถือว่ามหัศจรรย์แล้ว เพราะในโลกนี้แทบไม่เหลือการปกครองโดยทหารเต็มรูปแบบแล้ว แต่เขารู้ว่าจะอยู่แบบนี้ต่อไปไม่ได้ เพราะมันฝืนกระแสโลก ถึงจุดหนึ่งต้องผ่อนคลายและเปิดให้มีกระบวนการแบบประชาธิปไตยกลับขึ้นมาบ้าง นำมาสู่การเลือกตั้งที่พิสดาร มีการใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซงและควบคุมบิดผันผลการเลือกตั้งเพื่อทำให้ทหารอยู่ในอำนาจต่อไปได้” ประจักษ์ กล่าว

ประจักษ์ เห็นว่า สภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้หลังการเลือกตั้งอาจเรียกได้ว่าเป็น ระบอบเผด็จการครึ่งใบ หรือระบบเผด็จการจากการเลือกตั้ง ซึ่งแตกต่างจากยุคของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ถูกขนานนามว่าเป็น ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ 

ในยุคพล.อ.เปรม หลังจากมีการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 เมื่อถึงจุดหนึ่งชนชั้นนำและกองทัพก็ปรับตัว ยอมให้มีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง ในยุคนั้นกองทัพยินยอมที่จะแบ่งอำนาจกับพรรคการเมือง ยอมรับระบบรัฐสภา กองทัพไม่ตั้งพรรคการเมืองของตัวเองขึ้นมา พล.อ.เปรมไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพียงรอให้พรรคการเมืองแข่งขันกันไปโดยที่ทหารไม่เข้าไปแทรกแซงการเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีบางกระทรวงยังเป็นของกองทัพ พวกเขายอมที่จะประนีประนอมและปล่อยอำนาจที่ตัวเองเคยถือไว้จำนวนหนึ่งออกไป ซึ่งแตกต่างจากเวลานี้

“เวลาคนเปรียบ พล.อ.ประยุทธ์ ตอนนี้ กับยุคของพล.อ.เปรม ผมคิดว่าผิดฝาผิดตัว เพราะยุคนั้นกองทัพยอมปรับตัว แต่ยุคนี้กองทัพและคณะรัฐประหารยังไม่ได้อยู่ในโหมดที่อยากจะปรับตัวหรือประนีประนอม ผมจึงเรียกว่ามันเป็น เผด็จการครึ่งใบ ด้านที่เป็นเผด็จการมันเยอะกว่าด้านที่เป็นประชาธิปไตย” ประจักษ์ กล่าว

ระหว่างทางของการถกเถียงและตั้งชื่อให้ระบอบที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ เบื้องต้นเราจะลองชำแหละและแจกแจงสิ่งที่ผ่านมาตลอดหลายปีนี้อีกครั้ง เพื่อดูว่ามันสถาปนาตัวเองขึ้นมาอย่างไร

กระดุมเม็ดแรก - สร้างภาวะตีบตันทางการเมือง

ระบอบประยุทธ์ ไม่ได้เกิดขึ้นจากสุญญากาศ เมื่องมองย้อนกลับไปหลายคนอาจเห็นว่ามันมีแบบแผนและถูกจัดวางมาอย่างเป็นระบบ นับจากการผลักให้ประเทศเข้าสู่ภาวะตีบตันทางการเมืองโดยการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ประกอบกับการรับลูกขององค์กรอิสระอย่าง กกต. และศาสรัฐธรรมนูญที่ทำให้ทางออกจากสภาวะวิกฤติซึ่งเหลืออยู่เพียงวิธีเดียวพังทลายลง นั่นคือ การทำให้การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เหตุผลว่า เพราะไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้เกิดขึ้นภายในวันเดียวกันได้ เนื่องจาก กกปส.นั่นเองปิดคูหาและสกัดกั้นการออกไปใช้สิทธิของประชาชน มิพักต้องเอ่ยถึงพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

มติศาล รธน. 6 ต่อ 3 ชี้เลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ

อภิสิทธิ์นำประชาธิปัตย์คว่ำบาตรเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เผยทำมาแล้วตั้งแต่ 2495

ทางเดินที่เหลือในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยคือ จัดเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ทว่ามันก็มาไม่ถึง

กระดุมเม็ดที่สอง – ทุกฝ่ายอ่อนแอ มีแต่กองทัพที่จัดการได้

ประจักษ์ อธิบายว่า การรัฐประหารและการสถาปนาระบอบประยุทธ์เกิดจากความต้องการของชนชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจที่เริ่มมองเห็นคลื่นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง พวกเขาต้องการควบคุมความเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทิศทางที่ตนเองยังได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

“เงื่อนไขพื้นฐานคือ เราอยู่ในสังคมที่แตกขั้วบาดลึกมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ และความแตกแยกร้าวลึกนี้ยังไม่มีทางออกที่เป็นกฎกติกา ระเบียบ หรือสถาบันทางการเมืองใหม่ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ในภาวะนี้ทหารจึงเป็นผู้ที่ได้ประโยนช์มากที่สุด โดยใช้กำลังมายุติแล้วบอกว่า ทุกคนมาอยู่ภายใต้อำนาจข้าพเจ้า คนที่รู้สึกหวาดหวั่นโดยเฉพาะชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ และชนชั้นกลางที่อยากได้ความสงบจึงสนับสนุนระบอบนี้” ประจักษ์กล่าว

ประจักษ์ชี้ให้เห็นว่า อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่งคือ สิ่งที่ศาสตราจารย์เกษียร เตชะพีระ เรียกว่า Bhumibol Consensus กำลังเปลี่ยนรูปไป ไม่มีระเบียบการเมืองเดิมอยู่ และไม่มีตัวยึดหรือศูนย์กลางที่สังคมจะยึดเอาไว้ เพื่อยอมรับได้ว่าเมื่อมีวิกฤตจะมีวิธีแก้หรือหาทางออกย่างไร

“พอไม่มีระเบียบการเมืองเดิมอยู่ ในช่วงวิกฤติที่ไม่มีความแน่นอน กลุ่มทหารจึงเข้ามารับภารกิจนี้ ขณะที่ชนชั้นนำก็อ่อนแอในช่วงเปลี่ยนผ่าน อำนาจเดิมกำลังเปลี่ยนรูป ต้องอาศัยระยะเวลายาวนานเป็นทศวรรษกว่าจะสร้างขึ้นมาใหม่ได้ ทหารจึงเป็นองค์กรเดียวท่ามกลางความอ่อนแอของทุกองค์กร ทุกภาคส่วน และเข้มแข็งเพียงพอที่จะประคับประคองการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ให้บอบช้ำเกินไปสำหรับชนชั้นนำ” ประจักษ์กล่าว

บทสรุปของเขาก็คือ ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ กองทัพจึงได้สถาปนาตัวเองเป็นชนชั้นนำทางการเมืองที่มีอำนาจต่อรองสูง ไม่ได้เป็นเพียงแค่เครื่องมือของใครที่ถูกนำออกมาใช้ชั่วคราวแล้วเขี่ยทิ้ง

กระดุมเม็ดที่สาม - การกดปราบ ทำให้ปลอดการเมือง

หลังการขึ้นครองอำนาจของ คสช. มีการปรามปรามการต่อต้านอย่างหนัก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวบรวมข้อมูลซึ่งยังไม่ใช่จำนวนทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามี

  • 929 คน ถูกเรียกไป ‘ปรับทัศนคติ’ อย่างน้อย 14 คนที่ถูกข้อหาขัดขืนไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่ง คสช.
  • 572 คน ถูกติดตามถึงที่บ้าน และเฝ้าจับตาอย่างต่อเนื่อง
  • 353 กิจกรรมสาธารณะถูกปิดกั้น อาทิ การชุมนุมทางการเมือง การเสวนาทางวิชาการ
  • 428 คน ถูกดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หลายคนถูกตั้งข้อหาในช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 และในช่วงเรียกร้องการเลือกตั้งในปี 2561
  • 245 คน ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ
  • 121 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และบางส่วนพ่วงกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เนื่องจากวิพากษ์วิจารณ์ คสช.
  • 106 คน ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา

“ระบอบประยุทธ์ เป็นระบอบที่ชัดเจนว่า ต้องการทำให้สังคมปลอดจากการเมือง (depoliticization) ไม่ให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มไหนทั้งสิ้น ไม่ใช่แค่เฉพาะเสื้อแดง แต่ปราบการเคลื่อนไหวของมวลชนทุกกลุ่ม คุณจะเป็นเสื้อเหลือง หรือชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อยที่เคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากร เหมือง ป่าไม้ ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการเคลื่อนไหวแบบมวลชนเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นภัยคุกคามต่อชนชั้นนำ แล้วเขาควบคุมไม่ได้ มันจะทำให้โครงสร้างปิรามิดทางการเมืองไม่นิ่ง เขาต้องการสร้างระเบียบทางการเมืองที่ทำให้สังคมสยบยอมภายใต้อำนาจของกองทัพ ฉะนั้นการเมืองมวลชนต้องไม่มีการเคลื่อนไหว การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ว่าจะกลุ่มไหน 5 คน 10 คนก็ถือว่าเป็นภัยคุกคาม” ประจักษ์ให้ความเห็น

นอกจากนี้ระหว่างยึดอำนาจ คสช.ยังมีการออกประกาศ คำสั่งจำนวนมาก จนภายหลังการเลือกตั้ง ในเดือนกรกฏาคม 2562 มีการยกเลิกบรรดาประกาศและคำสั่งคสช. และคำสั่งหัวหน้าคสช. อย่างน้อย 70 ฉบับ กระนั้น ก็ยังเหลืออีก 20 ฉบับที่ยังคงสภาพอยู่และภาคประชาชนรณรงค์ให้ยกเลิก

บรรดาประกาศ-คำสั่งคสช.และคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ยังไม่ถูกยกเลิกจะมีสถานะเป็น ‘กฎหมาย’ ใช้บังคับต่อไป ตามที่รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองไว้

ที่สำคัญคือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารค้น จับกุม กักตัวบุคคลได้ไม่เกิน 7 วัน และมีอำนาจในการร่วมสอบสวนพร้อมกับตำรวจ อย่างไรก็ตามกรณีนี้ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันว่า เมื่อองค์กร คสช. ไม่อยู่แล้วในทางกฎหมาย เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกนิยามไว้ในคำสั่งที่นี้จะยังปฎิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ และหากทำไม่ได้เพราะเหตุใด คสช. จึงไม่ประกาศยกเลิกคำสั่งนี้เสีย ส่วนคำสั่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2559 และ 4/2559 ที่ให้ยกเว้นกฎหมายผังเมืองและผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

กระดุมเม็ดที่สี่ - สร้างแนวร่วม  

นอกจากการกดปราบด้วยกฎหมาย หรือความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ แล้ว ประจักษ์ เห็นว่า คสช. มีการใช้เทคนิคอย่างเช่น การดึงคนหัวอ่อน และอาจจะเป็นหอกข้างแคร่ในอนาคตอย่าง เอ็นจีโอ สื่อมวลชน นักวิชาการ ให้เข้ามาสนับสนุนตนเองโดยการซื้อด้วยตำแหน่ง พร้อมผนวกคนเหล่านั้นเข้าไปในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภาขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศ (สปท.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปจนถึงการให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งในปัจจุบัน  

สนช. –ผ่านร่างกฎหมายในช่วงทหารยึดอำนาจ ทำหน้าที่เสมือนรัฐสภา

ข้อมูลจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ ไอลอว์ ระบุ่วา สนช. มีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 250 คน แบ่งเป็น

  • ทหารทุกเหล่าทัพรวมกัน 145 คน (58%)
  • จากจำนวนทหารทั้งหมด 145 คน สามารถแบ่งเป็น ทหารประจำการ 90 คน เกษียณอายุแล้ว 55 คน
  • หากแบ่งตามเหล่าทัพ แบ่งเป็น ทหารบก 93 คน ทหารเรือ 28 คน ทหารอากาศ 24 คน  
  • ตำรวจ 12 คน (5%)  
  • ข้าราชการ 66 คน (26%)
  • ภาคธุรกิจ 19 คน (8%)
  • อื่น ๆ 8 คน (3%)
  • หากรวมสมาชิกที่เคยเป็นข้าราชการ หรือทำงานในหน่วยงานราชการ หรือรัฐวิสาหกิจทุกประเภทจะมีจำนวนถึง 223 คน (89%) 

สปช. – ร่างแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน

ข้อมูลจากเว็บไซต์ประชาไท พบว่า สปช.จำนวน 250 คน สามารถแบ่งได้หลายอาชีพ ซึ่งบางคนมีมากกว่า 1 สถานะ จำนวนร้อยละจึงเกิน  100

  • ข้าราชการ อดีตและปัจจุบัน เช่น ปลัด อธิบดี ผู้ว่าราชการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ อย่างน้อย 52%
  • นักวิชาการประจำมหาวิทยาลัยและอิสระ อย่างน้อย 19%
  • นายทุน นักธุรกิจ หอการค้าจังหวัด ฯลฯ อย่างน้อย 16 %
  • แกนนำ แนวร่วม กปปส. กลุ่ม 40 ส.ว. อย่างน้อยประมาณ 13%
  • นักการเมืองชาติ-ท้องถิ่น (อบต. อบจ. เทศบาล ส.ส. ส.ว.) อย่างน้อย 13% 
  • เกี่ยวข้องการรัฐประหาร 49 เช่น เป็น สนช. หรือ สสร.50 อย่างน้อยประมาณ 7%
  • องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO อย่างน้อยประมาณ 5%
  • ตัวแทนแรงงานจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 1 คน

ส.ว.แต่งตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ 2560

ภายหลังมีรัฐธรรมนูญ 2560 และมีการเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย กติกาของประเทศกำหนดให้มี ส.ว.มาจาการแต่งตั้งของ คสช.จำนวน 250 คน สำนักข่าวอิศราจำแนกที่มาดังนี้

  • นายทหาร-นายพลตำรวจ 101 ราย
  • แบ่งเป็น พลเอก 65 ราย พลโท 2 ราย พลตรี 2 ราย พลเรือเอก 11 ราย พลเรือโท 1 ราย พลอากาศเอก 8 ราย พลตำรวจเอก 4 ราย พลตำรวจโท 7 ราย พลตำรวจตรี 1 ราย 
  • อดีต ส.ว.-สนช.-สปช.-สปท. 72 ราย
  • อดีตนักการเมือง-รัฐมนตรี-ผู้ช่วย-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-รองเลขาธิการนายกฯฝ่ายการเมือง 30 ราย
  • อดีตผู้พิพากษา-องค์กรอิสระ 8 ราย
  • กลุ่มทุน นักธุรกิจ 14 ราย
  • อดีตข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ 35 ราย
  • อื่น ๆ 26 ราย

ในด้านกลับของการสร้างแนวร่วมด้วยการ “ให้ตำแหน่ง” คสช.ยังใช้วิธี ปลด ลด โยกย้าย ระงับ การปฏิบัติหน้าที่ของเหล่าข้าราชการทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ท้องถิ่น รวมถึงองค์อิสระ

ประจักษ์ และวีรยุทธ กาญจนชูฉัตร เขียนไว้ในบทความ “ระบอบประยุทธ์” วิเคราะห์ว่า การใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.มาตรา 44 ในการโยกย้ายข้าราชการนั้น เป้าหมายหลักคือ ข้าราชการที่ คสช.เห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดหรือยังคงภักดีกับทีมบริหารของทักษิณและยิ่งลักษณ์ บางรายถูกกล่าวหาว่าทุจริตหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็ไม่มีการสืบสวนต่อเนื่องหรือประกาศต่อสาธารณะว่าบุคคลเหล่านี้ผิดจริงหรือไม่ นอกจากนั้น ยังสั่งย้ายข้าราชการพลเรือนระดับสูงหลายราย ทั้งปลัดกระทรวง อธิบดี ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรัฐบาลรัฐประหารหรือรัฐบาลพลเรือนชุดก่อนๆ

หากดูสถิติจะพบว่า ตั้งแต่ปี 2557-2562 มีการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.มาตรา 44 รวม 212 ฉบับ ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 34 ฉบับที่เป็นคำสั่ง ปลด โยกย้าย ระงับการปฏิบัติหน้าที่ ตำแหน่งข้าราชการต่างๆ รวมแล้วเกือบ 500 ตำแหน่ง โดยในจำนวนนี้เป็นการโยกย้ายเจ้าหน้าที่องค์กรอิสระ 3 ตำแหน่ง สั่งปลด ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง 1 ตำแหน่ง โยกย้ายผู้ว่าราชการจังหวัด 11 ตำแหน่ง สั่งปลด โยกย้าย ระงับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน รวม 24 ตำแหน่ง ส่วนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นโดนไป 300 กว่าตำแหน่ง ฯลฯ

กระดุมเม็ดที่ห้า – เปลี่ยนโครงสร้างรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนระบบเลือกตั้ง

ประจักษ์มองว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ คสช. ได้พยายามจัดการโครงสร้างการเมืองใหม่ โครงสร้างรัฐจากเดิมที่เคยมีการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ถูกดึงกลับมารวมศูนย์ภายใต้รัฐราชการ หากเทียบเป็นปิรามิดจะพบว่า บนยอดปิรามิดมีทหารและระบบราชการ ส่วนพรรคการเมือง นักการเมือง จากเดิมที่เคยอยู่บนสุดถูกปรับให้ลงมาอยู่ด้านล่าง ชั้นล่างสุดของปิรามิดนี้คือ ภาคประชาชน และขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งหลาย

“ถ้าโครงสร้างอำนาจนี้ทำสำเร็จ ในส่วนการเมือง มันก็จะทำให้ประชาชนซึ่งแทนที่จะเป็นพลเมืองเต็มขั้นถูกแปลงสถานะเป็นเพียงราษฎรที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพอะไร อยู่ภายใต้การปกครองของทหารและระบบราชการ เป็นสังคมที่ไม่มีการเมือง ในความหมายที่ว่า ไม่มีการต่อรอง ไม่มีการเรียกร้องสิทธิ ไม่มีการขัดแย้ง ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น ราษฎรจะได้อะไร ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองมีความเมตตาอยากจะให้ก็ให้ เห็นได้ชัดจากรัฐธรรมนูญ 2560 หลายเรื่องที่เคยเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานเช่น การศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ ถูกเปลี่ยนจากสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนมีสิทธิได้รับ เป็นให้เฉพาะผู้ยากไร้แทน” ประจักษ์กล่าว

3 ปัญหาใหญ่ในรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อเสียงข้างน้อยต้องการอยู่เหนือเสียงข้างมาก

  • กำหนดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ที่ร่างขึ้นโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช.  ยุทธศาสตร์นี้แตกต่างจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่มีมาตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ โดยมีสภาพบังคับให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตาม และจะต้องรายงานให้ ส.ว. ทราบว่ามีการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อย่างไรบ้าง ทั้งยังให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้มีอำนาจตักเตือนให้หน่วยงานรัฐปฎิบัติตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ หากหน่วยงานรัฐยังไม่ทำตาม คกก.ชุดนี้ สามารถยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพ้นจากตำแหน่งได้ ที่สำคัญยังให้อำนาจกับ ส.ว. มีอำนาจยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง เมื่อเห็นว่า การทำงานของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และถ้าศาล รธน. เห็นว่า รัฐบาลทำงานไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ก็จะส่งเรื่องไปที่ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการสั่งพ้นจากตำแหน่ง
  • กำหนดในช่วง 5 ปีแรก ให้การเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจากการโหวตร่วมกันระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่ง ส.ว. ในชุดแรกมาจากการแต่งตั้งจาก คสช. 244 คน และเป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง (ผู้บัญชาการเหล่าทัพ-ตำรวจ-ปลัดกลาโหม) 6 คน
  • ออกแบบการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เสียงข้างมากจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ โดยการใช้ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม (ปัจจุบันมีไทยที่เดียวในโลกที่ใช้ระบบนี้ก่อนนี้มี อัลบาเนีย (1992), เกาหลีใต้ (1996-2000), เยอรมัน (1949), เม็กซิโก, และเลโซโท ที่เคยใช้แต่ก็ยกเลิกไปเพราะเป็นระบบที่สร้างปัญหา) ระบบการเลือกตั้งนี้ออกแบบโดยมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นระบบที่สร้างความสับสนและทำให้คะแนนไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะบัตรใบเดียวแต่คะแนนกลับถูกนับสองครั้งทั้งในระบบเขตและระบบปาร์ตี้ลิสต์ จึงเป็นสร้างระบบที่ไม่ยุติธรรมคือ ยิ่งพรรคได้ที่นั่งในระบบเขตมากขึ้นเท่าใดกลับยิ่งได้ผู้แทนในระบบปาร์ตี้ลิสต์น้อยลงตามนั้น

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (1): ‘อภิรัฐบาล’ ม.44 แปลงร่าง

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (2): หลังรัฐประหารเขียนเสรีภาพสวยเสมอ

วรเจตน์ ภาคีรัตน์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ (3): บังคับสายน้ำไหลทวนขึ้นฟ้า

กระดุมเม็ดที่หก – สงครามจิตวิทยาหลังเลือกตั้ง

บทบาทของกองทัพหลังการเลือกตั้ง นอกจากจะมีการขยายอำนาจของ กอ.รมน. และมีการเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวของแกนนำกลุ่มต่างๆ ประจักษ์ ยังชี้เห็นให้ว่า หน้าที่หนึ่งที่สำคัญของกองทัพในเวลานี้คือการทำสงครามจิตวิทยา (psychological warfare) เดิมทีกองทัพเคยทำอยู่ในช่วงสงครามคอมมิวนิสต์ ซึ่งวางอยู่บนฐานที่มองคนในชาติจำนวนหนึ่งเป็นศัตรู และภัยคุกคาม ในยุคนั้นมีการวาดภาพให้ฝ่ายซ้ายทั้งขบวนการนักศึกษา ชาวนา กรรมกร เป็นปีศาจ โดยกองทัพเข้ามาเป็นผู้เล่นโดยตรง

ส่วนในปัจจุบัน พล.อ.อภิรักษ์ คงสมพงษ์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์ในมุมมองของกองทัพ โดยมองว่าตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับสงครามลูกผสม (Hybrid war) ที่ฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ “ข่าวปลอม” หลอกล่อให้คนรุ่นใหม่หันหลังให้ทหารและสถาบันหลัก

“กองทัพมองว่ามีศัตรูอยู่ในชาติ เป็นคนไทยด้วยกัน แต่เป็นภัยคุกคามความเป็นชาติที่กองทัพนิยามไว้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากลัว และกองทัพให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก เพราะเขาคิดว่านี่คือสมรภูมิที่เขากำลังเพลี่ยงพล้ำในโซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์ ฉะนั้นกองทัพจะเข้ามาแทรกแซงอยู่ในสื่อและปฎิบัติการด้านข้อมูลข่าวสารอย่างเข้มข้นขึ้น” ประจักษ์

ประจักษ์ชี้ว่า กองทัพได้เข้าไปบรรยาย อบรม หลักสูตรต่างๆ ทั้งในโรงเรียน มหาวิทยาลัย มีการอบรมข้าราชการในหลายระดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากำลังเอาจริงเอาจังในเรื่องนี้ ในอดีตกองทัพก็เคยสร้างกองกำลังลูกเสือชาวบ้าน นวพล กระทิงแดง ผ่านการอบรมและการจัดตั้งซึ่งมีความคล้ายกันกับสิ่งที่ทำในเวลานี้ และเราไม่ควรประเมินสิ่งเหล่านี้ต่ำเกินไป

“ชนชั้นนำไทยรู้ดีว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในการควบคุมสังคมไทยคือการควบคุมทางความคิด ผ่านอุดมการณ์ชาตินิยมแบบคับแคบที่เขานิยามไว้ และตอนนี้เขารู้สึกว่าอุดมการณ์ชาตินิยมในแบบเดิมที่ใช้ครอบงำได้มาอย่างยาวนานมันถูกสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนรุ่นของคน และตัวชนชั้นนำเองก็เปลี่ยน ความศักดิ์สิทธิ์ทางอุดมการณ์ที่เคยครอบงำได้ก็ลดน้อยถอยลง เทคโนโลยีใหม่ๆ ก็เอื้อให้เกิดการต่อต้านอุดมการณ์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น คนกำลังตั้งคำถามกับอุดมการณ์ครอบงำเหล่านี้ซึ่งทหารเขาเห็นมาตลอด และคงตกใจกับกระแสที่เกิดขึ้นกับคนรุ่นใหม่” ประจักษ์กล่าว

สำหรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประจักษ์มองว่าการที่พรรคพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด สามารถมองได้ 2 ทาง คือ จะว่าประสบความสำเร็จก็ได้ จะว่าล้มเหลวก็ได้

ในมุมหนึ่งอาจจะมองได้ว่าพลังประชารัฐประสบความสำเร็จที่ได้รับความสำเร็จในการเลือกตั้ง แต่ต้องไม่ลืมว่าตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พวกเขาเป็นเผด็จการทหารที่มีเวลาในการปกครองประเทศอย่างยาวนาน แต่กลับทำได้เพียงแค่นี้ ทั้งที่เป็นออกแบบกลไกต่างๆ ควบคุมกติกาทั้งหมด ใช้สูตรพิสดารในการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ทั้งตอนจัดตั้งรัฐบาลก็ทุลักทุเล ถ้ามองในแง่นี้ก็ถือว่าพวกเขาพ่ายแพ้

“ผมคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เห็นจากการเลือกตั้งคือ ระบอบเผด็จการของไทยที่หวังว่าจะอยู่ในอำนาจนานๆ และพยายามทำทุกอย่าง สุดท้ายก็ไม่สามารถควบคุมสังคมได้จริงๆ เพราะความคิดคนได้เปลี่ยนไปแล้ว อุดมการณ์ครอบงำของชนชั้นนำเดิมได้เสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงไปมาก ฉะนั้นเรายังอยู่ในยุคของต่อสู้กันต่อไป แม้เขาจะสามารถสืบทอดอำนาจได้ แต่เขาไม่สามารถควบคุมสังคมได้อย่างที่เขาต้องการ” ประจักษ์กล่าว 

ประจักษ์ ก้องกีรติ: ระบบเลือกตั้ง “จัดสรรปันส่วนผสม”: ปัญหาและทางออก

คณิตศาสตร์ของระบบเลือกตั้งและข้อเท็จจริงในการเมืองไทย

ปลดทุกกระดุม เปลื้องระบอบประยุทธ์

แล้วจะออกจากระบอบประยุทธ์หลังการเลือกตั้งนี้อย่างไร ประจักษ์มองว่ามีความเป็นไปได้ทั้งหมด 3 ทางคือ

ทางแรก คือ ล้มระบอบนี้ผ่านการเลือกตั้งในครั้งหน้าซึ่งมาเลเซียทำสำเร็จมาแล้ว แต่การจะทำอย่างนั้นได้พรรคฝ่ายค้านจะต้องผนึกกำลังกันอย่างเข้มแข็ง และต้องจับมือกับภาคประชาชนนอกสภาด้วย

ทางที่สอง คือโมเดลแบบ 14 ตุลาคม 2516 หรือโมเดลแบบอาหรับสปริง เกิดการประท้วงบนท้องถนน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อระบอบนี้ทำให้ตัวเองเสื่อมลงเรื่อยๆ ทั้งการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉล การทุจริต ความขัดแย้งกันภายใน เมื่อถึงจุดหนึ่งคนทั้งสังคมจะมีฉันทามติร่วมกันว่า หมดความอดทนต่อระบอบนี้แล้ว

ทางที่สาม คือ ประเทศประสบปัญหาวิกฤติบางอย่าง เช่น วิกฤติเศรษฐกิจที่นำไปสู่ความเดือดร้อนของคนจำนวนมาก และสิ่งนี้เคยเกิดขึ้นตอนซูฮาโต้ของอินโดนีเซียล้มลง เพราะคนรู้สึกว่ารัฐบาลบริหารประเทศล้มเหลว

อย่างไรก็ตาม อีกแนวทางหนึ่งในการออกจากระบอบประยุทธ์คือ การปรับตัวของชนชั้นนำให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ ซึ่งแนวทางนี้ประจักษ์เชื่อว่าแทบไม่มีความเป็นไปได้ เพราะสิ่งที่พวกเขาพยายามทำมาทั้งหมดไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ต้องการจะปล่อยมือจากอำนาจ แต่เป็นการดัดแปลงระเบียบอำนาจใหม่ทั้งหมด

“ปัจจัยสำคัญสำหรับยุคนี้คือ ชนชั้นนำไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าสุดท้ายอาจเกิดความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเอง ตอนนี้ต้องแยกระหว่างรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ กับกองทัพ มันไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันร้อยเปอร์เซ็นต์แบบที่เป็นมาในยุค คสช. ตอนนั้นกองทัพเป็นส่วนหนึ่งของ คสช. แต่ตอนนี้กลุ่ม พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร พล.อ.อนุพงษ์ ได้หลุดลอยออกมาจากกองทัพหมดแล้ว ต่อให้ยังสนับสนุนกันในการต่อสู้แต่เขาไม่ใช่เนื้อเดียวกัน คำถามสำคัญคือ คนที่สั่งกองทัพได้โดยตรงคือใคร และกองทัพที่ความจงรักภักดีต่อใคร เราจะรู้คำตอบนี้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดวิกฤติ คุณคิดว่าเขาจะภักดีกับพล.อ.ประยุทธ์หรือ ถ้าถึงวันหนึ่งระบอบนี้มันเสื่อมลงไปเรื่อยๆ กองทัพอาจจะสลัด พล.อ.ประยุทธ์ ทิ้งก็ได้” ประจักษ์กล่าว

ขณะที่รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชี้ให้เห็นถึงก้าวแรกของการออกจากระบอบประยุทธ์ว่าคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เสียก่อน

สมชายชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นดั่งภาพสะท้อนของสังคมไทยภายใต้ความปรารถนาของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง ซึ่งหากต้องการจะออกจากภาวะการเมืองนี้ ปฎิเสธไม่ได้ว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยกระแสเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญช่วงที่ผ่านมามีคนเสนอให้มีการแก้ไขใน 3 ระดับด้วยกัน

ระดับแรกคือ การแก้ไขในประเด็นที่นักการเมืองเห็นว่าเป็นปัญหาร่วมกันคือ ระบบการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามนี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาทั้งหมด

ระดับที่สอง เรียกร้องให้มีการแก้ไขประเด็นที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีการล็อคให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก

ระดับที่สาม เรียกร้องให้มีการแก้ไขให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญแบบรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 

สมชายเห็นว่า ความยากในแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยด้าน ส.ว. ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากจะแก้ไขจะต้องมี ส.ว. เห็นด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของส.ว.ทั้งหมด (หรือต้องมี ส.ว. อย่างน้อย 84 คนเห็นชอบในวาระแรก) แต่การทำให้เกิดความเห็นพ้องร่วมกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ฝ่ายต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นมากเท่าไรนัก ยังคงต้องอาศัยการรณรงค์ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“ยากกว่าปี 2540 แม้มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่า เสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่ในสังคมปัจจุบันมันมีฝ่ายที่สนับสนุนคุณประยุทธ์ ฝ่ายที่ไม่เอาคุณประยุทธ์ ฝ่ายที่เอารัฐประหาร ไม่เอารัฐประหาร และมันยังดำรงอยู่ ถ้าเรามองผ่านผลการเลือกตั้งก็เห็นว่ายังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังรู้สึกว่าคุณประยุทธ์ยังโอเคอยู่ มันสะท้อนให้เห็นว่ามีคนคิดเห็นที่เป็นกลุ่มใหญ่ๆ ในทางสาธารณะ ที่แตกต่างกันดำรงอยู่ เพราะฉะนั้นทำให้ความพยายามที่จะผลักดันแบบการคิดถึงรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นโมเดลนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรทำ”สมชายกล่าว

ระบอบที่ใหญ่กว่าประยุทธ์?

หากจะตอบคำถามสำคัญที่ประจักษ์ตั้งเอาไว้ว่ากองทัพไทยในเวลานี้ภักดีต่อใคร เห็นจะมีแต่งานเขียนเรื่อง ระบอบ (ที่ใหญ่กว่า) ประยุทธ์ ข้อพิจารณาสถาบันกษัตริย์และกองทัพในการเมือง ของสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น เท่านั้นที่แตะประเด็นนี้ บทความนี้ตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเดียวกัน (ม.ค.-มิ.ย.2562) ตั้งข้อสังเกตคร่าวๆ ไว้ถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์และความสัมพันธ์กับกองทัพที่ได้เปลี่ยนรูปไปจากรัชกาลก่อน เรื่องนี้เป็นหัวข้ออภิปรายใหญ่และต้องการการศึกษาวิจัยมากพอสมควรในการตอบคำถาม โปรดติดตามในรายงานชิ้นหน้า หากมีโอกาสนำเสนอ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net