มติศาล รธน. 6 ต่อ 3 ชี้เลือกตั้ง 2 ก.พ.เป็นโมฆะ

ศาล รธน. มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ชี้เลือกตั้ง 2 ก.พ.ขัดรัฐธรรมนูญ เหตุ 28 เขตภาคใต้ไร้ผู้สมัคร ไม่ได้จัดเลือกตั้งวันเดียว ระบุ รัฐบาลกับกกต. หารือออกพ.ร.ฎ.ใหม่ ปัดพิจารณาใครต้องรับผิดชอบ 

21 มี.ค. 2557 เมื่อเวลา 12.30 น. ว่าที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นโมฆะ เนื่องจากขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลการวินิจฉัยที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ว่า การจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นการทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ โดยศาลมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 สรุปว่า

เมื่อได้ดำเนินการเลือกตั้งเป็นการทั่วไป ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 ไปแล้ว ปรากฏยังไม่มีการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง ซึ่งยังไม่เคยมีการรับสมัครการเลือกตั้งมาก่อนเลย จึงถือได้ว่า ในวันที่ 2 ก.พ. 2557 มิได้มีการเลือกตั้ง วันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ส่วนการที่จะดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สำหรับ 28 เขตเลือกตั้ง หลังวันที่ 2 ก.พ.2557 ก็ไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน เป็นผลให้ พ.ร.ฎ. ยุบสภา พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่กำหนดให้มีการเลือกตั้งเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 108 วรรค 2

นายพิมล กล่าวต่อว่า หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะไปแล้ว ดังนั้น คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กกต. และคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการรับสมัครการรับเลือกตั้งใหม่ในการเลือกตั้ง ไม่เป็นประโยชน์แก่คดีที่ศาลจะพิจารณาประเด็นตามคำร้องนี้ จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายให้คำร้องออกไป

นายพิมล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้รัฐบาลกับ กกต.ก็ต้องไปคุยกันเรื่องการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ ส่วนที่ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้พิจารณาวินิจฉัยในประเด็นนี้ ทั้งนี้ ในส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 3 เสียง ประกอบด้วย นายชัช ชลวร นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายเฉลิมพล เอกอุรุ เนื่องจากเห็นว่า การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ไม่มีอะไรที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนเนื้อหารายละเอียด ยังไม่สามารเปิดเผยได้ ขอให้รอดูคำวินิจฉัยส่วนตนอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ระบุว่า หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะออกมาคัดค้านตามเดิมอีกนั้น ถือว่าเป็นเรื่องของอนาคต ตนไม่ขอแสดงความเห็น

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ร้อง) ได้เสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1) ว่า การจัดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 28/2557)

คำร้องนี้ ผู้ร้องได้รับหนังสือร้องเรียนจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

(1.) การเลือกตั้งเป็นการทั่วไปตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2556 มิได้กระทำขึ้นเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จากกรณีที่มีการกำหนดให้เลือกตั้งใหม่ภายหลังวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 สำหรับการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาจำนวน 28 เขต ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 โดยชัดแจ้ง

(2) คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการรับสมัครรับเลือกตั้งทั่วไป โดยมิได้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 ประกอบมาตรา 30 จากกรณีที่กำหนดให้พรรคการเมืองที่ประสงค์จะยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ไม่สามารถเข้าไปยังสถานที่รับสมัครได้ ให้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐานที่กองบังคับการปราบปราม หรือสถานีตำรวจนครบาลดินแดงในเวลาก่อน 8.30 นาฬิกา เพื่อให้ได้สิทธิในการจับสลากหมายเลขผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ รวมถึงในการรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในหลายจังหวัด มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่มีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าโดยเปิดเผย เป็นเหตุให้ผู้ประสงค์จะสมัครรับเลือกตั้งไม่ทราบและไม่สามารถเดินทางไปสมัครรับเลือกตั้งในสถานที่ที่สมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อหลักความเสมอภาค ไม่เป็นไปตามหลักการของรัฐธรรมนูญ มาตรา 235 และมาตรา 30 ทำให้กระบวนการเลือกตั้ง ครั้งนี้มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

(3) คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ และทำให้การเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นในภายหลังเป็นอันไร้ผล เพราะบัตรเลือกตั้งที่ได้จากการเลือกตั้งเป็นบัตรเสีย ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อหลักการลงคะแนนลับถือเป็นเรื่องร้ายแรง และกระทบต่อสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมาก จึงมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 236(1) มาตรา 93 และมาตรา 30 และ

(4) คณะกรรมการการเลือกตั้งปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดความไม่เที่ยงธรรม จากกรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ใกล้เคียง โดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า คณะกรรมการการเลือกตั้งละเลยต่อหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ปล่อยปละละเลยให้มีการใช้อำนาจรัฐในการออกประกาศและมีคำสั่งต่างๆ ที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่สามารถดำเนินไปได้โดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ผู้ร้องจึงเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 245 (1)ว่า การจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ตามพระราชกฤษฏีกายุบสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2556 เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญขอให้เพิกถอนการเลือกตั้งครั้งนี้ และให้มีการดำเนินการจัดการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเป็นการทั่วไปขึ้นใหม่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่อไป

 

ที่มา: ศาลรัฐธรรมนูญ, ไทยรัฐออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท