Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ภายใต้บรรยากาศทางการเมืองที่ขัดแย้ง สถาบันศาลก็ยังคงต้องทำหน้าที่ตีความกฎหมาย พิจารณาและตัดสินคดีต่อไป แต่เมื่อผู้มีอำนาจทางการเมืองออกกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายในทางที่กดขี่ผู้ที่เห็นต่าง สถาบันศาลจึงถูกดึงให้เข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ปรับใช้กฎหมายเหล่านั้น จนสถาบันศาลต้องกลายมาเป็นผู้เล่นตัวหนึ่งในความขัดแย้งทางการเมือง และเมื่อเกิดความรู้สึกไม่พอใจ เกิดการตั้งคำถามขึ้นในสังคมต่อการทำหน้าที่บางครั้งของสถาบันศาล ความผิดฐาน "ละเมิดอำนาจศาล" จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญเพื่อปิดกั้นการเคลื่อนไหว การวิพากษ์วิจารณ์ และการว่าร้ายโจมตีการทำงานของศาล 
 
ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เขียนอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 มีโทษตั้งแต่ไล่ออกจากบริเวณศาล หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500 บาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดี ทำให้การพิจารณาคดีสามารถดำเนินไปได้โดยไม่มีใครพยายามใช้กำลัง ใช้อำนาจ หรือก่อความวุ่นวาย เพื่อมีอิทธิพลเหนือศาล หรือการเบิกความของพยาน หรือการตัดสินใจทางคดีของคู่ความ ความผิดฐานนี้มีลักษณะพิเศษ คือ เมื่อศาลเห็นการกระทำความผิดเองสามารถสั่งลงโทษได้เลย โดยไม่ต้องมีกระบวนการตั้งข้อกล่าวหา การสอบสวน หรือการทำสำนวนคดีส่งฟ้องใหม่

มาตรา 31(1) ระบุว่า ผู้ใด "ขัดขืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของศาลตามมาตราก่อนอันว่าด้วยการรักษาความเรียบร้อย หรือประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล" ให้เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลองค์ประกอบของมาตรา 31(1) เปิดช่องให้ตีความได้กว้างที่สุด และในทางปฏิบัติก็ถูกนำมาใช้อ้างอิงดำเนินคดีฐานละเมิดอำนาจศาลกับการกระทำที่หลากหลายอยู่บ่อยครั้ง เช่น การพกอาวุธเข้ามาในบริเวณศาล การแอบอ้างเรียกรับเงินว่าจะวิ่งเต้นคดีได้ รวมทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อ หรือทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของศาล ฯลฯ
 
สำหรับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน การรายงานการพิจารณาคดี หรือการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาหรือการทำงานของศาล โดยทั่วไปสามารถทำได้ ถือเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่กฎหมายเรื่องการละเมิดอำนาจศาล จำกัดขอบเขตการแสดงความคิดเห็นไว้ในมาตรา 32 ดังนี้
 
"มาตรา 32 ผู้ใดเป็นผู้ประพันธ์ บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์โฆษณาซึ่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อันออกโฆษณาต่อประชาชน ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความ หรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่ ให้ถือว่าได้กระทําผิดฐานละเมิดอํานาจศาลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างดังจะกล่าวต่อไปนี้
 
(1) ไม่ว่าเวลาใดๆ ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่ามานั้นได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ซึ่งข้อความหรือความเห็นอันเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์อื่นๆ แห่งคดีหรือกระบวนพิจารณาใดๆ แห่งคดี ซึ่งเพื่อความเหมาะสมหรือเพื่อคุ้มครองสาธารณประโยชน์ ศาลได้มีคําสั่งห้ามการออกโฆษณาสิ่งเหล่านั้น ไม่ว่าโดยวิธีเพียงแต่สั่งให้พิจารณาโดยไม่เปิดเผยหรือโดยวิธีห้ามการออกโฆษณาโดยชัดแจ้ง
 
(2) ถ้าหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ได้กล่าวหรือแสดงไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคําพิพากษาเป็นที่สุด ซึ่งข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานแห่งคดี ซึ่งพอเห็นได้ว่าจะทําให้การพิจารณาคดีเสียความยุติธรรมไป เช่น

ก. เป็นการแสดงผิดจากข้อเท็จจริงแห่งคดี หรือ

ข. เป็นรายงานหรือย่อเรื่องหรือวิภาค ซึ่งกระบวนพิจารณาแห่งคดีอย่างไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง หรือ

ค. เป็นการวิภาคโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งการดําเนินคดีของคู่ความ หรือคําพยานหลักฐาน หรือนิสัยความประพฤติของคู่ความหรือพยาน รวมทั้งการแถลงข้อความอันเป็น การเสื่อมเสียต่อชื่อเสียงของคู่ความหรือพยาน แม้ถึงว่าข้อความเหล่านั้นจะเป็นความจริง หรือ

ง. เป็นการชักจูงให้เกิดมีคําพยานเท็จ

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้นําวิเคราะห์ศัพท์ทั้งปวงในมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติการพิมพ์พุทธศักราช 2476 มาใช้บังคับ"
 
แม้ว่า มาตรา 32 วรรสุดท้ายจะกำหนดให้เอาคำนิยามศัพท์ ใน พ.ร.บ.การพิมพ์ 2476 มาใช้ด้วย แต่เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยกเลิกไปแล้ว จึงไม่อาจเอาคำนิยามจาก พ.ร.บ.การพิมพ์ 2476 มาใช้ได้อีก แต่ปัจจุบันมีกฎหมายใหม่ คือ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บังคับใช้อยู่ ใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ได้ให้นิยามของตำแหน่งงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในกิจการสื่อมวลชน ดังนี้
 
“ผู้โฆษณา” หมายความว่า บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดให้สิ่งพิมพ์แพร่หลายด้วยประการใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการขายหรือให้เปล่า

“บรรณาธิการ” หมายความว่า บุคคลผู้รับผิดชอบในการจัดทํา และควบคุมเนื้อหา ข้อความหรือภาพที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์รวมทั้งวัสดุหรือเอกสารที่แทรกในหนังสือพิมพ์โดยความเห็นชอบของบรรณาธิการด้วย
 
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 เขียนขึ้นมาตั้งแต่ปี 2477 และยังไม่ถูกแก้ไขเลย จึงกำหนดขอบเขตการนำเสนอข่าวสารโดยเน้นไปที่สื่อสิ่งพิมพ์หรือ "สิ่งพิมพ์" อันออกโฆษณาต่อประชาชน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันโลกของสื่อมวลชนได้พัฒนาตัวไปอย่างมาก แม้มาตรา 32 จะไม่ได้เขียนให้ครอบคลุมความรับผิดของสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อออนไลน์ไว้ด้วยอย่างชัดแจ้ง แต่ก็น่าจะตีความใช้กับการนำเสนอข่าวของสื่อชนิดอื่นๆ ได้ด้วย ในฐานะกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง


เอาผิดบรรณาธิการสื่อ ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ก็ตาม

มาตรา 32 กำหนดความผิดของผู้เขียน บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์ ในลักษณะเป็น "ความรับผิดเด็ดขาด" ซึ่งหมายถึงจะต้องรับผิด แม้จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม หากสื่อใดได้ตีพิมพ์ข้อความที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดแล้ว บรรณาธิการ หรือผู้พิมพ์ จะอ้างว่าไม่ได้ตรวจทานเนื้อหาให้ดี หรือไม่รู้ถึงข้อความเหล่านั้น จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดไม่ได้ ซึ่งหลักการนี้เขียนไว้ในวรรคแรกของมาตรา 32 ที่ว่า "ไม่ว่าบุคคลเหล่านั้นจะได้รู้ถึงซึ่งข้อความ หรือการออกโฆษณาแห่งหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์เช่นว่านั้นหรือไม่" 
 
หลักการความรับผิดเด็ดขาด โดยปกติแล้วเป็นหลักการความรับผิดในทางแพ่ง หมายถึง การรับผิดโดยการชดใช้ค่าเสียหาย เช่น กรณีลูกจ้างกระทำความผิดต่อบุคคลอื่นในระหว่างการทำงาน นายจ้างต้องชดใช้ค่าเสียหายให้ โดยยังไม่ต้องพิสูจน์ว่า นายจ้างมีเจตนารู้เห็นหรือได้ออกคำสั่งให้ลูกจ้างกระทำสิ่งนั้นๆ หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ที่ได้รับความเสียหายให้ได้รับการชดเชยเยียวยา 
 
แต่สำหรับความรับผิดทางอาญา ซึ่งมีโทษจำคุกหรือโทษปรับ โดยปกติแล้วจะไม่สามารถใช้หลักความรับผิดเด็ดขาดได้ แต่หลักพื้นฐานของความรับผิดทางอาญา คือ ผู้ที่กระทำความผิดและจะถูกลงโทษจะต้องกระทำโดยเจตนาเท่านั้น คือ รู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่ทำเป็นความผิดและมีเจตนากระทำสิ่งนั้นๆ การที่มาตรา 32 ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลซึ่งมีโทษจำคุกและโทษปรับกำหนดให้เป็นความรับผิดเด็ดขาดของบรรณาธิการและผู้พิมพ์จึงเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของกฎหมายมาตรานี้ และเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขที่ทำให้ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดพิเศษที่เสี่ยงจะละเมิดสิทธิของประชาชน และต้องนำมาใช้อย่างระมัดระวัง


สื่อรายงานการพิจารณาคดีได้ ถ้าศาลไม่ได้สั่งห้าม

การเปิดเผยรายละเอียดของคำพิพากษา การรายงานกระบวนการพิจารณาคดี คำเบิกความของพยาน หรือนำพยานหลักฐานที่สำคัญในคดีมาเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ประชาชนที่สนใจติดตามความคืบหน้าของคดีความสามารถค้นหาข้อเท็จจริง และทำความเข้าใจการต่อสู้คดีได้ด้วยตัวเอง เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนและให้ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนคิดวิเคราะห์ได้ด้วยตัวเอง แต่สื่อมวลชนในปัจจุบันระมัดระวังการรายงานลงรายละเอียดลักษณะนี้ เนื่องจากเกรงกลัวว่าจะเป็นการละเมิดอำนาจศาล
 
เมื่อพิจารณามาตรา 32 (1) ห้ามสื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดี เฉพาะกรณีที่ศาลมีคำสั่งห้ามเปิดเผยเท่านั้น หรือบางกรณีศาลอาจจะไม่ได้สั่งห้ามการเปิดเผยข้อเท็จจริงโดยตรง แต่สั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ในคดีที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อย ก็ถือว่า ศาลมีคำสั่งห้ามเปิดเผยข้อเท็จจริงในคดีไปด้วย แต่สำหรับคดีความส่วนใหญ่ที่ศาลพิจารณาคดีโดยเปิดเผย การนำเสนอข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีย่อมไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล


สื่อวิจารณ์ศาลได้ โดยข้อเท็จจริงถูกต้องและเป็นธรรม

การวิพาษ์วิจารณ์ศาลที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 32(2) จะต้องมีลักษณะเป็น "ข้อความหรือความเห็นโดยประสงค์จะให้มีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน หรือเหนือศาล หรือเหนือคู่ความ หรือเหนือพยานแห่งคดี" ถ้าหากเป็นการวิจารณ์โดยสุจริต ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจูงใจใครให้เปลี่ยนใจในกระบวนการพิจารณาคดี หรือเป็นข้อความที่ไม่มีลักษณะโน้มน้าว หรือไม่ได้น่าเชื่อถือจนถึงขนาดที่จะมีอิทธิพลเหนือความคิดและความรับรู้ของบุคคลอื่นได้ ก็ย่อมไม่เป็นความผิด
 
ซึ่งข้อความประเภทใดจะเข้าข่าวลักษณะ "ประสงค์จะให้มีอิทธิพล" ได้นั้น ยังเป็นเรื่องยากในการตีความ มาตรา 32(2) จึงให้ตัวอย่างไว้ 4 ประเภท และเมื่อพิจารณาตัวอย่างทั้ง 4 ประเภทก็จะพบว่า มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้ ก.เป็นการใช้ข้อเท็จจริงที่ไม่จริง ข.เป็นการวิจารณ์ที่ "ไม่เป็นกลางและไม่ถูกต้อง" ค.เป็นการวิจารณ์ "โดยไม่เป็นธรรม" ง.เป็นการชักจูงให้เกิดพยานเท็จ จากตัวอย่างตามมาตรา 32(2) ทั้งสี่ประการ ก็เห็นได้ชัดว่า มาตรา 32 (2) มุ่งเอาผิดการวิจารณ์โดยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม หรือมีเจตนาร้ายต่อกระบวนการพิจารณาคดี ดังนั้น การวิพากษ์วิจารณ์โดยเจตนาสุจริต ใช้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นธรรม ย่อมไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล


สื่อวิจารณ์ศาลได้เต็มที่ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว

การพิจารณาว่า การวิพากษ์วิจารณ์แบบใดจะผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือไม่ นอกจากจะต้องพิจารณาในแง่เนื้อหาแล้วยังต้องพิจารณาในแง่กรอบเวลาด้วย เพราะมาตรา 32(2) กำหนดเอาผิดการเผยแพร่เนื้อหาที่เกิดขึ้น "ในระหว่างการพิจารณาแห่งคดีไปจนมีคําพิพากษาเป็นที่สุด" ซึ่งสาเหตุที่ต้องจำกัดการนำเสนอเนื้อหาในช่วงเวลานี้ก็เพื่อไม่ให้กระทบกระบวนการพิจารณาคดี หรือพยายามชักจูงในผู้พิพากษาให้เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง แต่เมื่อคดีใดมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ทางสื่อมวลชนย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาที่เกิดขึ้นแล้วได้ มาตรา 32(2) จึงไม่ได้คุ้มครองหลังคดีถึงที่สุดไปแล้วด้วย
 
ดังนั้น หากคดีใดศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว แม้ว่า สื่อมวลชนจะวิพากษ์วิจารณ์โดยใช้ข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนไป หรือมีเนื้อหามุ่งโจมตี ชักจูงใจ ให้มีอิทธิพลเหนือผู้ใดโดยไม่สุจริต ก็ไม่อาจเอาความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามมาตรา 32 มาใช้ได้ ทั้งนี้เพราะความผิดฐานนี้ มีขึ้นเพื่อคุ้มครองความสงบเรียบร้อยในระหว่างการพิจารณาคดีเท่านั้น และเป็นความผิดพิเศษที่เมื่อศาลเห็นเองก็สามารถสั่งลงโทษเองได้โดยทันที
 
อย่างไรก็ดี หากภายหลังคดีถึงที่สุดแล้วมีผู้ใดกล่าวโจมตีศาลอย่างไม่เป็นธรรม มีเจตนาไม่สุจริต ก็ยังอาจเป็นความผิดได้ฐาน "ดูหมิ่นศาล" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 ซึ่งการดำเนินคดีฐานดูหมิ่นศาลจะไม่มีกระบวนการพิจารณาคดีที่พิเศษ แต่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเช่นเดียวกับคดีอาญาทั่วไป โดยต้องมีการตั้งข้อกล่าวหา การสอบสวน ในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ และส่งฟ้องคดี ซึ่งผู้ต้องหามีสิทธิปฏิเสธ มีสิทธิต่อสู้คดี และนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้เต็มที่

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ freedom.ilaw.or.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net