Skip to main content
sharethis

เปิดคำแถลงจำนวน 25 หน้า ของ คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ก่อนก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองหลังพิพากษาคดี จนบาดเจ็บสาหัส 1. ขอสภาฯออกกฎหมายห้ามตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง 2. ขอความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ

4 ต.ค.2562 จากกรณี คณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นศาลจังหวัดยะลา ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตัวเองภายในห้องพิจารณาคดีชั้น 3 อาคารสำนักงานศาลจังหวัดยะลาได้รับบาดเจ็บสาหัส ภายหลังขึ้นบัลลังก์พิพากษายกฟ้อง 5 คน 

ก่อนหน้าที่ ผู้พิพากษา คนดังกล่าวจะปฏิบัติการยิงตัวเอง เขาได้โพสต์คำแถลงจำนวน 25 หน้า ก่อนโพสต์นั้นจะถูกลบไป แต่ต่อมามีผู้บันทึกและเผยแพร่ต่อ เนื้อหาเป็นการเล่าถึงคดีและความอัดอั้นตันใจที่ถูกแทรกแซง โดยบันทึกไว้ว่า

"การตรวจร่างคำพิพากษา เริ่มกระทำโดยนายวิสูตร มานะพิทักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำภาค ทำบันทึกว่า "ไม่เห็นด้วยกับผลคำพิพากษา" ส่งต่อให้นายวรวิทย์ จิรายุกุล รองอธิบดีผู้พิพากษา ทำบันทึกว่า ไม่เห็นด้วยกับผลคำพิพากษา และส่งต่อให้นายเพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาคา 9 ทำคำสั่งที่หน้าบันทึกดังกล่าวโดยประทับคำว่า "ลับ" สั่งให้ผม (คณากร) เขียนคำพิพากษาใหม่ ตามความเห็นของหัวหน้ารองหัวหน้าภาคกับรองอธิบดี"

"หากผมยอมกระทำตามคำสั่งอธิบดี จะมีผลให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ต้องโทษประหารชีวิตสถานเดียว...ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 5 จะต้องจำคุกสองในสามส่วน...คือต้องจำคุกตลอดชีวิต... ทั้งนี้คดีนี้ ผมกับองค์คณะคือนายขันติ ชัยสุวรรณ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะลงโทษจำเลยทั้งห้าได้ จึงพิพากษายกฟ้อง ต้องปล่อยตัวจำเลยทั้งห้าไป นอกจากนี้รองอธิบดียังกำชับไว้ในหนังสือลับด้วยว่า หากผมยืนยันยกฟ้องก็ให้ขังจำเลยทั้งห้าไว้ในระหว่างอุทธรณ์"

นอกจากนี้คำแถลงยังตั้งข้อสังเกตว่า

"...คดีนี้ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ใช่คดีก่อการร้าย โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยทั้งห้าว่ากระทำความผิดฐานก่อการร้ายหรือความผิดต่อความมั่นคง แต่พยานหลักฐานทั้งหมดกลับเกิดจากหรือเกิดมีขึ้นในขณะที่จำเลยทั้งห้าถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์ซักถามเป็นเวลานานในฐานะผู้ต้องสงสัย ตามกฎหมายพิเศษคือกฎอัยการศึก..." 

คำแถลงยังเห็นว่าการกระทำของอธิบดี เป็นการแทรกแซงอำนาจตุลาการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 188 ที่บัญญัติว่าผู้พิพากษามีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ซึ่งไม่รู้ว่าอธิบดี ทำเช่นนี้มากี่ครั้งกี่หนและกี่คดีแล้ว การตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง การแก้ไขถ้อยคำในคำพิพากษาของผู้พิพากษาจนแทบไม่เหลือสำนวนเดิม การมีหนังสือลับให้ผู้พิพากษาเขียนคำพิพากษาใหม่ให้ผลเป็นไปตามที่อธิบดีต้องการ ย่อมทำให้ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นทั่วประเทศไม่มีอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิพากษา เป็นการทำให้ผู้พิพากษามีศักดิ์ลดลง ให้มีฐานะและสภาพเป็นเพียง "นิติกรบริการ" คอยรับใช้ทำตามคำสั่งอธิบดี

นอกจากนี้คำแถลงยังระบุว่า "เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับผมนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ขณะนี้เพื่อนๆ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศ ก็ถูกกระทำไม่ต่างจากผม เจ็บช้ำระกำใจไม่ต่างกัน เพียงแต่พวกเขามีความอดทนสูงและเหตุการณ์อาจไม่รุนแรงเท่าที่ผมพบเจอ สิ่งที่ผมทำในวันนี้ ผมอาจถูกตั้งกรรมการสอบ และถูกวินิจฉัยว่า กระทำผิดวินัยอันเป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ผมคงถูกไล่ออกโดยไม่ได้รับเงินบำเหน็จ เพราะผมเป็นเพียงไม้ซีกแต่บังอาจไปงัดไม้ซุง ไม้ซีกย่อมแตกหัก"

และในคำแถลงได้ทิ้งข้อความที่คล้ายเป็นคำลาไว้ว่า

"หากการกระทำของผมทำให้เพื่อนๆผู้พิพากษารุ่น 46 และอาจารย์ประจำรุ่น ต้องเสื่อมเสีย ผมต้องกราบขออภัย ซึ่งผู้พิพากษารุ่น 46 ที่ผมอยู่ในรุ่นนี้ เป็นรุ่นที่มีชื่อเสียงที่ดีมาโดยตลอด ทั้งความรู้ ความสามารถ ความซื่อสัตย์สุจริต เห็นได้จากไม่เคยมีผู้พิพากษาในรุ่นถูกร้องเรียนว่ากระทำผิด ไม่เคยถูกลงโทษทางวินัย ทั้งไม่เคยมีใครตายมาก่อน กล่าวถึงโดยย่อได้ว่า "ไม่จบ ไม่เจ็บ ไม่ตาย" เป็นผู้พิพากษารุ่นที่เหนียวมากๆ แต่ทุกอย่างต้องมีครั้งแรก ผมเป็นคนแรก ต้องขอโทษด้วยครับ"

ในตอนท้ายยังได้ระบุถึงข้อเรียกร้อง 2 ข้อต่อ สภานิติบัญญัติ นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี คือ

1. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง ทั้งห้ามกระทำใดๆ อันมีผลเป็นการแทกแซงผลคำพิพากษา
2. เรียกร้องให้สภานิติบัญญัติและนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรีให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ ซึ่งทราบมีผู้พิพากษาบางกลุ่มจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว แต่มีข้อขัดข้องไม่สามารถส่งออกจากศาลยุติธรรมเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติและคณะรัฐมนตรีได้

และหน้าสุดท้ายของแถลงการณ์ได้กล่าวว่า

"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"

"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"

"คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา" "คืนความยุติธรรมให้ประชาชน"

"คำแถลงของผม อาจมีน้ำหนักเบาบางเหมือนขนนก แต่หัวใจผู้พิพากษาหนักแน่นปานขุนเขา จึงมอบหัวใจชั่งบนตราชู ยืนยันคำแถลง ขอความสุขสวัสดีจงมีแด่ทุกท่าน"

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

นายคณากร เพียรชนะ

ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา

 

รายละเอียดทั้งหมดมีดังนี้

หมายเหตุ : 23.35 น วันที่ 4 ต.ค.62 ประชาไทมีการดำเนินการอัพเดทเนื้อหาข่าวบางส่วน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net