Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

3 พ.ย. 2562 เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานประธานอาเซียน กล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ  โดยหยิบยกเนื้อร้องเพลง The ASEAN Way “We dare to dream, we care to share” เพื่อเป็นการทบทวนความกล้าฝันจากรุ่นสู่รุ่น และหารือแนวทางร่วมกันในการสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ด้วยความร่วมมือครั้งนั้นนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ อาทิ การรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน และเอกสารมุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก

นายกรัฐมนตรียังหยิบยกเนื้อร้องเพลงอีกท่อนที่ว่า “ASEAN we are bonded as one Look-in out-ward to the world อาเซียนเราผูกพันกันเป็นหนึ่ง มองออกไปสู่โลก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของอาเซียนที่ไม่เพียงความร่วมมือร่วมใจเฉพาะในภูมิภาค แต่ยังให้ความสำคัญกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ซึ่งถือเป็น “กัลยาณมิตร” ที่ช่วยสนับสนุนให้อาเซียนบรรลุเป้าหมายที่วาดฝันไว้ และขยายผลสู่นอกภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากในปีนี้มีแนวโน้มจะขยายตัวต่ำที่สุดในรอบสิบปีจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การแข่งขันทางภูมิยุทธศาสตร์ทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค ซึ่งสะท้อนออกมาในรูปของความขัดแย้งทางการค้าและปัญหาอื่น ๆ ระหว่างบางประเทศ ความท้าทายต่อระบบพหุภาคีนิยม ปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาสิ่งแวดล้อม และขยะทะเล ดังนั้นความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพ อันแน่นแฟ้นจึงมีความสำคัญที่จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนครอบคลุมพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียพร้อมรับมือ และก้าวผ่านความท้าท้ายเหล่านี้ไปได้

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในช่วงการประชุมฯ ระหว่างวันที่ 3-4 พ.ย. 2562 ถือว่าเป็นวาระสำคัญที่จะสะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับประชาคมโลก เพื่อร่วมมือร่วมใจสานต่อผลลัพธ์จากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 และวางแนวทางร่วมกันในการใช้ประโยชน์จากความเป็นแกนกลางและจุดเด่นของภูมิภาคอาเซียนที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ และไม่เป็นศัตรูกับใคร เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาระดับภูมิภาคและระดับโลก และสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยดำเนินการใน 2 แนวทาง คือ การสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับสันติภาพและเสถียรภาพในระยะยาว ไปพร้อมกับการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัตและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งทั้ง 2 มิตินี้ถือว่าเป็น “สองด้านของเหรียญเดียวกัน” ที่จะนำมาซึ่งภูมิภาคที่ยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ประการที่หนึ่ง การสร้างภูมิภาคที่มีเสถียรภาพ ต้องมุ่งสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์บนพื้นฐานของหลักการ 3M คือ การเคารพซึ่งกันและกัน การไว้เนื้อเชื่อใจ และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างกัน นอกจากนี้ต้องมุ่งวางรากฐานด้านกฎกติกา ด้วยการใช้ประโยชน์จากเครื่องมือสำคัญที่ภูมิภาคอาเซียนมี ทั้งการนำหลักการสำคัญของสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) นำมาใช้ในบริบทที่กว้างมากกว่าภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่เราได้ต้อนรับอัครภาคีของสนธิสัญญาฯ เพิ่มเติม สะท้อนให้เห็นถึงการที่ประเทศต่าง ๆ ยอมรับในหลักการพื้นฐานและกฎกติกาของการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค รวมถึงการมีกลไกระงับข้อพิพาทด้านเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียน การมีโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เข้มแข็ง และมีภูมิภาคอาเซียนเป็นแกนกลาง อาทิ การประชุมสุดยอดอาเซียนตะวันออก อาเซียนบวกสาม เออาร์เอฟ และความร่วมมืออาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่าง ๆ ตลอดจนความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการจัดทำประมวลการปฏิบัติ (COC) ในทะเลจีนใต้ระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจีน และการฝึกผสมทางทะเลระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับสหรัฐ เป็นต้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ประการที่สอง คือ การสร้างภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน ผ่านการผลักดันการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ดำเนินการให้เสร็จในปีนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน รวมทั้งส่งเสริมระบบการค้าพหุภาคีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลกไปพร้อมกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ทั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS และเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (GBA) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอาเซียนและภูมิภาคในอนาคต นอกจากนี้ ยังต้องมุ่งส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อในภูมิภาคอาเซียนด้วยการสร้างความเกื้อกูลระหว่างยุทธศาสตร์ ความเชื่อมโยงต่าง ๆ ทั้งภายในอาเซียนและนอกภูมิภาค ตั้งแต่การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างประชาชน ทางการเงิน และด้านดิจิทัล รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค 4IR เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ MSMEs เกษตรกร กลุ่มธุรกิจสตาร์ท-อัพ รวมถึงผู้ประกอบการท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุน และปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมของอาเซียนให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

“ภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องมีกระบวนทัศน์ใหม่สาหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีพลวัต มีความยั่งยืน และครอบคลุมทุกภาคส่วน ไม่ทิ้งใครข้างหลัง โดยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ และการรักษาสภาพแวดล้อมควบคู่ไปพร้อมกัน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทะเล ด้วยการดำเนินการตามกรอบการปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศ ด้วยการปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน และปัญหาประมง IUU ด้วยการพัฒนาเครือข่ายอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาการประมง IUU ซึ่งทั้งหมดต้องพึ่งพาความร่วมมือกับหุ้นส่วนอาเซียนและมิตรประเทศ” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ความมั่นคงที่ยั่งยืนและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภายในและภายนอกภูมิภาค ดังนั้น การสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างประชาชน ผ่านการส่งเสริมอัตลักษณ์ของภูมิภาคอาเซียนและสายใยทางวัฒนธรรมระหว่างกัน จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอกตลอดปี 2562 ที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือร่วมใจของประเทศสมาชิกอาเซียนและประชาชนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราบรรลุเป้าหมายและร่วมสร้างผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมหลายประการ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ ศูนย์อาเซียนทั้ง 7 แห่งในประเทศไทย และยินดีที่จะได้ร่วมเปิดตัว 3 ศูนย์สุดท้าย จากทั้งหมด 7 ศูนย์ให้เป็นมรดกของการลงทุนจากความร่วมมือร่วมใจเพื่อประโยชน์ต่อทุกคนในภูมิภาคอาเซียน เพื่อลูกหลานของพวกเราและเพื่ออนาคตของภูมิภาค

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ขอเชิญชวนทุกคน ร่วมมือ ร่วมใจ และจับมือกับหุ้นส่วนให้แน่นขึ้นเพื่อร่วมกันสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งอาเซียนที่จะสร้างภูมิภาคที่มีสันติภาพ มีเสถียรภาพ และมีความไพบูลย์ เพื่อวางรากฐานประชาคมอาเซียนที่มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นนี้และคนรุ่นหน้า โดยให้ประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต สามารถเป็นพลังสำคัญในการบรรลุความฝันนี้ โดยร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับภูมิภาคและประชาคมโลก เพื่อประโยชน์ต่อไป

'ประยุทธ์' เปิดงาน ASEAN Business 2019 เตรียมรับมือความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล
เผยอาเซียนเดินหน้า 'แผนประชาคมการเมือง-ความมั่นคง' ไปกว่า 94% แล้ว
'มหาเธร์' แนะอาเซียนจับมือเพิ่มอำนาจต่อรอง-อาเซียนลงนามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034

'อาเซียน-จีน' กระชับความร่วมมือความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

ภายหลังเสร็จสิ้นพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 อย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 ร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีประเทศสมาชิก 9 ประเทศอาเซียนเข้าร่วม เพื่อร่วมกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับจีน พร้อมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "ไทยและอาเซียนซาบซึ้งกับบทบาททของจีนที่ช่วยส่งเสริมความความเข้มแข็งของสถาปัตยกรรมภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง และเดินหน้าเรื่องความมั่นคง ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือระหว่างภาคประชาชน ที่แล้วมาเราได้ฉลองความสัมพันธ์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์จีน-อาเซียน ครบรอบ 15 ปี และรับรองวิสัยทัศน์หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ปี ค.ศ.2030 ปีนี้เราก็ได้ดำเนินการความร่วมมือจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของอาเซียน และอาเซียนกับจีนก็ตั้งเป้าการค้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลงทุนระหว่างกันเป็น 150,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปีหน้า” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนความเชื่อมโยงข้อริเริ่ม หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative) ของจีน ส่งเสริมความมั่นคงและความมั่งคั่งผ่านการร่วมมือแบบพหุภาคี และผลักดันให้มีความคืบหน้าเกี่ยวกับข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค หรือ RCEP และการเจรจาการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้

ขณะที่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า จีนมุ่งมั่นเดินหน้าสนับสนุนอาเซียนเป็นแกนกลางในการร่วมมือในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันมีความซับซ้อนและการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของโลกและของภูมิภาค ความร่วมมือของเรามั่นคงและก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์ และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และในกรอบความร่วมมือของหุ้นส่วนจีนอาเซียนก็มีความคืบหน้า เราสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจทางการเมือง สนับสนุนความมั่นคงในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความไม่มั่นคงในส่วนอื่น ๆ ของโลก ทั้งนี้ก้าวสำคัญของความสำเร็จ คือ การบรรลุการพิจารณาวาระที่ 1 ของร่างเนื้อหาการเจรจาเพื่อจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ และเราจะเดินหน้าให้มีความคืบหน้าต่อไปภายในกรอบเวลา 3 ปีเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในระยะยาวในทะเลจีนใต้ต่อไป

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 22 นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมว่าการประชุมในวันนี้ถือเป็นโอกาสดีที่อาเซียนและจีนจะได้เสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ให้สูงขึ้นอีกระดับ เพื่อประโยชน์ร่วมกันและของภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับจีนถือว่ามีพลวัตมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากพัฒนาการความสัมพันธ์ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยถือเป็นเสาหลักสำคัญที่ค้ำจุนสันติภาพ เสถียรภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความยั่งยืนของภูมิภาค

“นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ไทยในฐานะประธานอาเซียน หวังที่จะเห็นความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไป เพื่อความผาสุกและผลประโยชน์ของประชาชนทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ อาเซียนชื่นชมจีนสำหรับบทบาทในการส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคและในการช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจความเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างประชาชนอย่างแข็งขันในปี 2561ที่ผ่านมา ครบรอบ 15 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์อาเซียนและจีน โดยได้รับรอง “วิสัยทัศน์ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-จีน ค.ศ. 2030” ที่ถือเป็นแนวทางความสัมพันธ์อย่างรอบด้านระหว่างกัน  โดยที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายได้กระชับความร่วมมือตามวิสัยทัศน์ เช่น การที่จีนยังคงตำแหน่งคู่ค้าอันดับหนึ่งของอาเซียน และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกัน การที่อาเซียนและจีนจะส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกัน โดยมีแผนสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแผนแม่บทของอาเซียนกับจีน รวมถึงการสนับสนุนระบบพหุภาคีนิยมและภูมิภาคนิยม เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาพลวัตด้านความมั่นคงที่ยั่งยืนระหว่างกัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจในระดับยุทธศาสตร์ และร่วมมือกันเสริมสร้างโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นแกนกลาง ผ่านกลไกต่าง ๆ ในด้านเศรษฐกิจ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล การสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับ Greater Bay Area (GBA) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพลวัตทางเศรษฐกิจที่สูง รวมทั้งจะเชิญชวนให้อาเซียน จีน รวมถึงประเทศที่สาม มาลงทุนใน EEC ในภาคตะวันออกของไทย โดยไทยยินดีที่จะประกาศว่าอาเซียนและจีนกำหนดให้ปี พ.ศ.2563 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน-จีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าจะช่วยขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า เพื่อความมั่งคั่งของภูมิภาค


ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net