Skip to main content
sharethis

องค์กรภาคประชาชนนานาชาติเปิดตัวรายงานพื้นที่เสรีภาพประจำปี 2562 รอบโลก ระบุ ไทยอยู่ในระดับ "ถูกกดขี่" เพราะมีการเซ็นเซอร์สื่อไทย-เทศ คุกคามนักกิจกรรม โดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง มี.ค. 2562 นักวิจัยระบุ ประชาชนเอเชียร้อยละ 95 ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ปิดกั้นเสรีภาพมาก วิธีการกดปราบแบบจีนเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

ภาพคนในเมืองชิบูย่า ประเทศญี่ปุ่นชูป้ายประท้วงกรณีสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว ถูกทำร้าย

6 ธ.ค. 2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย (FCCT) เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (4 ธ.ค.) กลุ่ม CIVICUS เครือข่ายภาคประชาสังคมระดับนานาชาติ ได้ร่วมกับสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (FORUM ASIA) เปิดตัวรายงาน “พลังประชาชนใต้การถูกคุกคาม 2562 - The People Power Under Attack 2019” 

รายงานรวบรวมสถานการณ์เสรีภาพของประชาชน สื่อมวลชนและภาคประชาสังคมจาก 25 ประเทศในทวีปเอเชีย แล้วจำแนกประเภทตามเกณฑ์ 5 เกณฑ์ตามลำดับเสรีภาพมากไปน้อย (เปิด/ถูกจำกัด/ถูกปิดกั้น/ถูกกดขี่/ปิด)

รายงานของ CIVICUS จัดลำดับประเทศไทยอยู่ในระดับ “ถูกกดขี่” การเซ็นเซอร์ในไทยถูกใช้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งเมื่อ มี.ค. 2562 โดยมีการกีดกันเนื้อหาจากสื่อต่างชาติและคุกคามสื่อมวลชน รายงานยกตัวอย่างกรณีการสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ วอยซ์ ทีวีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีการทำร้ายนักกิจกรรมอีกด้วย

'ตีหัวจ่านิว' ตร.ควบคุมตัวผู้ต้องหาแล้ว แต่เป็นคดีโพสต์กล่าวหา รอง ผบ.ตร. อยู่เบื้องหลัง

กสทช. ปิด 'วอยซ์ ทีวี' 15 วัน เหตุเนื้อหาขัด ก.ม. ซีอีโอชี้ เลือกปฏิบัติ-ลุแก่อำนาจ

นักข่าวเบลเยี่ยมถูก ตร.คุมตัว-ข่มขู่ เพราะมาทำข่าว 'ฟอร์ด เส้นทางสีแดง'

โจเซฟ เบเนดิคต์ นักวิจัยด้านพื้นที่ของพลเมืองจาก CIVICUS กล่าวว่า ผลวิจัยพบว่าประชาชนจำนวนร้อยละ 95 ในเอเชียอยู่ในประเทศที่อยู่ในระดับถูกปิดกั้น ถูกกดปราบ และปิด และยังระบุด้วยว่า รัฐบาลในเอเชียกำลังค่อยๆ สมาทานวิถีเผด็จการจากจีนมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเซ็นเซอร์สื่อและโซเชียลมีเดีย ปิดอินเทอร์เน็ตและทำร้ายนักข่าวที่เปิดโปงการละเมิดสิทธิโดยรัฐ การกระทำเหล่านั้นถูกใช้ควบคู่กับการดำเนินคดีทางกฎหมายในข้อหาต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดปากสาธารณชนไม่ให้มีการถกเถียงความจริงที่รัฐไม่สะดวกใจให้พูดถึง

บรูไนถูกลดระดับลงไปอยู่ในขั้น “ถูกกดขี่” เนื่องจากมีการนำกฎหมายชารีอะห์มาบังคับใช้ในเดือน เม.ย. ปีนี้ ที่ไปเพิ่มโทษความผิดดูหมิ่นศาสดานบีมูฮัมหมัดและการเผยแพร่ตีพิมพ์เนื้อหาที่ต่อต้านความเชื่ออิสลามมากสุดถึงขั้นประหารชีวิต ในขณะที่มาเลเซียนั้น แม้มีการยกเลิกกฎหมายข่าวปลอมไปแล้ว แต่ก็ยังมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญากับเนื้อหาออนไลน์ที่วิพากษ์วิจารณ์ศาสนาและสถาบันกษัตริย์ ฟิลิปปินส์เองก็มีการใช้ข้อหายุยงปลุกปั่นและข้อหาอื่นๆ กับผู้ที่วิจารณ์ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ในขณะที่จีนและเวียดนามมีการกักตัวไว้ในบ้าน ติดตามและคุมขังนักกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่วนกัมพูชาก็มีการคุกคามและทำร้ายสมาชิกพรรคสงเคราะห์ชาติ พรรคฝ่ายค้านที่ถูกยุบไปเมื่อปี 2560 อย่างต่อเนื่อง

งานวิจัยระบุว่า ประเทศอินเดีย ที่เป็นประเทศประชาธิปไตยขนาดใหญ่ที่สุดในโลกนั้นมีพื้นที่เสรีภาพอยู่ในระดับ “ถูกกดขี่” เนื่องจากข้อกังวลในประเด็นการทำร้าย คุกคามผู้วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ นักกิจกรรมและสื่อมวลชนที่ถึงขั้นฆ่ากันให้ตาย นอกจากนั้น กฎหมายการควบคุมการช่วยเหลือจากต่างชาติ (FCRA) ที่รัฐบาลอินเดียผ่านออกมานั้นยังถูกใช้เพื่อหยุดองค์กรต่างชาติที่เข้าไปสนับสนุนการทำงานของเอ็นจีโอในประเทศด้วย

ในระดับทวีปเอเชียและแปซิฟิก เทรนด์การคุกคามเสรีภาพ 5 อันดับแรกได้แก่การเซ็นเซอร์ กฎหมายที่จำกัดเสรีภาพ ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา การคุกคาม และการคุมขังผู้ประท้วง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net