Skip to main content
sharethis

CIVICUS องค์กรพิทักษ์สิทธิสากลออกแถลงการณ์ ระบุการยืดเวลาฝากขังผู้ถูกฟ้องข้อหา 112 ไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการไต่สวน เป็นการขัดต่อสนธิสัญญาที่ไทยเป็นผู้ลงนามเอง ได้แก่ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกกุมขังเพียงเพราะมีความเห็นต่างได้รับการปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

 

แถลงการณ์ฉบับนี้ถูกเผยแพร่เป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน บนเว็บไซต์ของ CIVICUS เมื่อ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ฉบับภาษาไทยสามารถอ่านได้ที่ด้านล่าง CIVICUS เป็นองค์กรสิทธิที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2536 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 9,000 คนใน 175 ประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ฐานข้อมูลในเว็บไซต์ของ CIVICUS ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ "กดปราบผู้เห็นต่าง (repressed)"

ผู้สื่อข่าวตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า 'นิวส์ ปฏิมา' ซึ่งถูกพูดถึงในแถลงการณ์นี้ได้รับการปล่อยตัวแล้ว เมื่อ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 47 วัน ขณะที่ 'คทาธร' 'คงเพชร' และ 'พรพจน์' ซึ่งถูกกล่าวหาในคดีปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าหน้าบ้านประยุทธ์เช่นเดียวกับปฏิมา และถูกพูดถึงในแถลงการณ์นี้เช่นกัน ยังไม่พบรายงานว่าได้รับการปล่อยตัวแล้วเช่นกันหรือไม่

ประเทศไทย: รัฐบาลต้องถอนฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับนักกิจกรรมในทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

CIVICUS: พันธมิตรสากลเพื่อการไม่มีส่วนร่วมของพลเมือง (World Alliance for Citizen Participation) และเครือข่ายประชาธิปไตยเอเชีย (Asia Democracy Network) รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการคุกคามด้วยกระบวนการตุลาการที่เกิดขึ้นกับนักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่พวกเขาเพียงแค่ใช้สิทธิของตนเองในการแสดงออกและชุมนุมอย่างสันติ

ในฐานะรัฐผู้ลงนามในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ประเทศไทยควรรับรองให้มีสภาพแวดล้อมที่เปิดให้ประชาชน รวมถึง ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมสิทธิมนุษยชนสามารถส่งสารการวิพากษ์วิจารณ์อันชอบธรรมได้ แทนที่จะดำเนินคดีอาญากับพวกเขา

นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย 2 คน ได้แก่ 'บุ้ง' เนติพร เสนห์สังคม และ 'ใบปอ' ใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ ถูกนำไปกักขังในวันที่ 3 พ.ค. 2565 หลังศาลสั่งเพิกถอนประกันตัว เนื่องจากพวกเขามีส่วนร่วมในการจัดทำโพลเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ 2 ครั้งเมื่อ ก.พ. และ มี.ค. 2565 การร้องขอประกันตัวของพวกเขาถูกปฏิเสธ

ไม่นานมานี้ ศาลอนุมัติประกันตัวให้กับนักกิจกรรมอีก 2 คน ที่ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112) 'ตะวัน' ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้รับอนุญาติให้ประกันตัวเมื่อ 26 พ.ค. 2565 แต่ถูกสั่งให้ใส่อุปกรณ์ติดตามตัว และห้ามออกจากบ้าน หากไม่ได้รับคำสั่งอนุมัติจากศาล ตะวันเป็นที่รู้จักจากการที่เธอเป็นสมาชิกของกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยมังกรปฏิวัติ ซึ่งรณรงค์ให้มีการยกเลิกมาตรา 112 (กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) เธอถูกกักขังเมื่อ มี.ค. 2565 จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ผ่านการถ่ายทอดสตรีมสดบนโซเชียลมีเดีย และถูกฟ้อง 5 ข้อหา ได้แก่ การขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ละเมิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แม้เธอจะได้รับอนุมัติให้ประกันตัวในตอนแรก แต่ก็ถูกถอนประกันตัวเมื่อ 20 เม.ย. 65 หลังจากตำรวจอ้างว่าเธอพยายามทำผิดซ้ำในลักษณะเดิมจากการโพสต์บนเฟสบุ๊คเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ และการเดินทางเข้าไปใกล้ขบวนเสด็จ หลังจากถูกฝากขังโดยศาลอย่างยืดเยื้อ เธอจึงอดอาหารเป็นเวลา 30 วัน เมื่อ 20 พ.ค. ศาลอาญารัชดาภิเษกปฏิเสธการขอประกันตัวของเธออีกครั้ง หลังอัยการระบุว่าพวกเขาเพิ่งได้รับเอกสารเกี่ยวกับคดี

นักกิจกรรมอีกคนหนึ่ง คือ 'เก็ท' โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ถูกจับเมื่อ 1 พ.ค. 2565 จากการพูดวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างการเดินขบวนประท้วงในเขตราชดำเนินเมื่อ 10 วันก่อนหน้า เขาถูกปฏิเสธประกันตัวโดยศาลอาญากรุงเทพใต้ และอดอาหารประท้วงเป็นเวลา 22 วันก่อนจะได้รับอนุมัติประกันตัวเมื่อ 31 พ.ค. เขาถูกฟ้องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีก 2 ข้อหาจากการพูดปราศรัยของเขาในการประท้วงเมื่อวันจักรีในเดือน เม.ย. และการเดินขบวนวันแรงงานในวันที่ 1 พ.ค. แม้จะได้รับการประกันตัวแล้ว แต่การฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อตะวันและเก็ตยังคงอยู่

กรณีเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 จำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีของไทยฟื้นฟูกลับมาใช้อีกครั้งใน พ.ศ. 2563 หลังไม่ถูกใช้เป็นเวลา 3 ปี สถิติจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยว่าบุคคลอย่างน้อย 190 รายถูกฟ้องด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพระหว่างวันที่ 18 ก.ค. 63 ถึง 30 เม.ย. 65 ณ เวลานี้ นอกเหนือจากนักกิจกรรมที่ระบุชื่อแล้ว ยังมีอีก 5 คนที่ถูกฝากขังระหว่างรอการไต่สวน ได้แก่  เวหา แสนชนชนะศึก (ตั้งแต่ 10 มี.ค.) คทาธร (ตั้งแต่ 10 เม.ย.) คงเพชร (ตั้งแต่ 10 เม.ย.) ปฏิมา (ตั้งแต่ 11 เม.ย.) และพรพจน์ แจ้งกระจ่าง (ตั้งแต่ 11 เม.ย.) นอกจากนี้นักกิจกรรมอีก 2 คน ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน และสมบัติ ทองย้อย ที่ถูกพิพากษาจำคุก ยังอยู่ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์อีกด้วย

การฟ้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่ใช่กฎหมายฉบับเดียวที่รัฐบาลของประเทศไทยใช้เพื่อโจมตีเสรีภาพขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสันติ บทบัญญัติที่ลิดรอนสิทธิอื่นๆ ที่มีการนำมาใช้ ได้แก่ ข้อหายุยงปลุกปั่นในมาตรา 116 ข้อหาใน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ข้อหาใน พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ข้อหาดูหมิ่นหรือละเมิดอำนาจศาล และอื่นๆ อีกมาก

การฝากขังก่อนการไต่สวนที่ถูกทำให้ยืดเยื้อภายใต้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยภายใต้ ICCPR มาตรา 9 ของกติกากำหนดให้รัฐผู้ลงนามมีหน้าที่ในการจัดการไต่สวนความผิดอาญาภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล การฝากขังผู้รอการไต่สวนไม่ควรบังคับกับจำเลยทั้งหมดที่ถูกฟ้องในข้อหาใดข้อหาหนึ่งโดยเฉพาะ ยิ่งกว่านั้น รัฐผู้ลงนามยังมีพันธกรณีในการทบทวนด้วยว่าการฝากขังก่อนการไต่สวนจำเป็นต้องดำเนินต่อไปหรือไม่ สมเหตุสมผลและจำเป็นหรือไม่ต่อวัตถุประสงค์ทางกฎหมาย โดยเทียบกับทางเลือกอื่นๆ การจับกุมหรือกักกันกิจกรรมอันชอบธรรมในการใช้สิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง เช่น เสรีภาพในการแสดงออก ถือเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ

องค์กรของเราเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมเหล่านี้ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้แสดงออกความเห็น โดยไม่ต้องหวาดหลัวจากการถูกเอาคืน นี่รวมถึงการยกเลิกบทบัญญัติและกฎหมายต่างๆ รวมถึงข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และข้อหายุยงปลุกปั่นซึ่งมักถูกใช้เพื่อโจมตีผู้เห็นต่างด้วย

อ้างอิงจาก : 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net