Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงาน 10 แห่งในอินเดียนัดหยุดงานประท้วงพร้อมกัน เพื่อประท้วงนโยบายของรัฐบาลนเรนทรา โมดี ที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวและการว่างงาน รวมถึงประท้วงในเรื่องที่ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 12 ข้อของสหภาพฯ ที่ต้องการให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปรับสวัสดิการหลังเกษียณอายุ และกระบวนการปฏิรูปแรงงาน

ภาพการชุมนุมประท้วงส่วนหนึ่ง (ที่มา: Centre of India Trade Union)

9 ม.ค. 2563 เมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) แรงงานในอินเดียทำการนัดหยุดงานประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดในโลก โดยที่มีสหภาพแรงงาน 10 สหภาพประกาศประท้วงทั้วประเทศในแบบที่เรียกว่า "ภารัต บันด์" มีแรงงานราว 250 ล้านคนเข้าร่วม พวกเขาประท้วงแสดงความไม่พอใจต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและในเรื่องสวัสดิการสังคม โดยกล่าวหาว่าโมดีเน้นเรื่องการแปรรูปเป็นเอกชนมากเกินไป แต่ไม่ได้ใส่ใจในเรื่องการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แรงงานที่ร่วมกันนัดหยุดงานในครั้งนี้มีทั้งแรงงานจากภาคส่วนการคมนาคมขนส่ง ภาคการธนาคาร แรงงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งสหภาพระบุว่ามีคนทำงานภาคส่วนธนาคารอย่างน้อย 500,000 คน ร่วมมือกับแรงงานราว 600,000 คนจากภาคส่วนเหมืองถ่านหิน

กลุ่มสหภาพแรงงานกล่าวหาว่ารัฐบาลกลางของอินเดียเพิกเฉยต่อ "ข้อเรียกร้อง 12 ข้อ" ของสหภาพแรงงาน ในข้อเรียกร้องเหล่านี้ประกอบด้วยการขอให้มีการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายเดือนเป็นเดือนละอย่างน้อย 21,000 รูปี (ราวเกือบ 9,000 บาท) เพิ่มการจ้างงาน ยกเลิกนโยบายการใช้วิธีจ้างแบบเหมาช่วงกับลูกจ้างถาวร รวมถึงให้เงินเดือนกับสวัสดิการแก่ลูกจ้างแบบเหมาช่วงเทียบเท่ากับลูกจ้างทั่วไปกับงานที่มีลักษณะเดียวกัน ให้มีการหารือกันในหลายระดับในเรื่องปฏิรูปแรงงาน ห้ามไม่ให้มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นของเอกชน และเรียกร้องระบบบำนาญแบบถ้วนหน้า

อินเดียกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจ จากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว มีความชะงักงันในภาคส่วนการจ้างงาน และมีปัญหาว่างงานเกิดขึ้นมาก มีคนว่างงานคิดเป็นร้อยละ 7.7 ของประเทศจากการประเมินในเดือน ธ.ค. 2562 ในประเทศที่มีประชากรราว 1,300 ล้านคน ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจมีโอกาสจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ในปีงบประมาณนี้ ซึ่งจะถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 11 ปี

ศูนย์เพื่อสหภาพแรงงานอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เข้าร่วมประท้วงระบุว่า "รัฐบาลอินเดียล้มเหลวในการจัดการกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็มุ่งแต่จะแปรรูปภาคส่วนรัฐวิสาหกิจและขายทรัพยากรธรรมชาติกับทรัพย์สินของสาธารณะให้กับเอกชน สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการลดทอนผลประโยชน์ของประเทศและการพัฒนาประเทศ"

ซี.เอช. เวนกาตาชาลัม เลขาธิการใหญ่ของสมาคมลูกจ้างธนาคารทั้งหมดของอินเดีย กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลโมดีทำให้เกิดการหดตัวของเศรษฐกิจและสร้างหนี้สินให้กับธนาคาร รัฐบาลจึงควรมีการดำเนินการเพื่อกระตุ้นอุปสงค์การบริโภคโดยการให้ผลประโยชน์กับผู้ใช้แรงงาน

เรียบเรียงจาก

World’s largest strike stops India: 250 million workers out against Modi, AsiaNews, Jan. 8, 2020  

12 point charter of demands of joint trade union movement, Centre of India Trade Union

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net