Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายสิทธิฯ อัพเดทคดีสิทธิฯ เลื่อนนัด คดี 'อัญชัญ' ม.112 เหตุอัยการไม่ว่าง คดีแชท ‘จ้า’ แม่จ่านิว นัดสืบ 3 – 4 พ.ย.63 'ประชามติบางเสาธง' เกือบ 4 ปี อัยการยื่นฟ้องจำเลยเพิ่มอีก 1 ราย ขณะอัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องชุมนุมไม่ถอยไม่ทน 7 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานความคืบหน้าคดีสำคัญ 3 คดี ประกอบด้วย คดีของ “อัญชัญ” (สงวนนามสกุล) ในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14  คดีของ พัฒน์นรี ชาญกิจ หรือ “แม่จ่านิว” ซึ่งถูกดำเนินคดีจากการพิมพ์ตอบในช่องแชทส่วนตัวเฟสบุ๊คว่า ‘จ้า’  คดีประชามติบางเสาธง และคดีชุมนุมไม่ถอยไม่ทน

เลื่อนนัด 'อัญชัญ' คดี 112 เหตุอัยการไม่ว่าง

วันดังกล่าวมีการนัดพร้อมคู่ความในคดี อัญชัญ ข้าราชการและเจ้าของธุรกิจส่วนตัวที่ถูกดำเนินคดีในความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า ศาลได้แจ้งให้ทนายจำเลยทราบว่าทางอัยการโจทก์ไม่สะดวกที่จะมาในนัดวันดังกล่าว ศาลจึงได้เลื่อนนัดพร้อมออกไปเป็นวันที่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 13.00 น.

คดีนี้เกิดขึ้นจากการที่เธอถูกทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าจับกุมที่บ้านระหว่างที่มีการประกาศกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 โดยกล่าวหา อัญชัญ ว่า เป็นผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ 'บรรพต' ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เป็นจำนวน 29 ครั้ง คิดเป็นความผิด 29 กรรม อัญชัญให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีในชั้นศาล

อย่างไรก็ตาม ศาลทหารได้มีคำสั่งให้มีการพิจารณาคดีโดยลับ อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงและเป็นการกระทำผิดภายใต้กฎอัยการศึก ทำให้อัญชัญถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางอยู่เป็นเวลาสามปีกว่า ก่อนที่เธอจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เมื่อปลายปี 2561

คดีแชท ‘จ้า’ ม.112 แม่จ่านิว นัดสืบ 3 – 4 พ.ย. 63

ศาลอาญานัดพร้อมเพื่อกำหนดวันสืบพยาน ในคดีแชท ‘จ้า’ ของพัฒน์นรี มารดาของ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมทางการเมือง ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า ศาลให้คู่ความตกลงเรื่องการยอมรับหรือตัดพยานในสำนวนคดีที่เหลือ จากเดิมที่จะสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 10 ปาก ทำให้เหลือพยานโจทก์แค่ 1 ปาก ที่ต้องสืบ คือ พนักงานสอบสวน ส่วนพยานจำเลยจะสืบ 5 ปาก รวมจ่านิวซึ่งถูกคุกคามระหว่างทำกิจกรรมในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ โดยศาลอาญาได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างวันที่ 3 – 4 พ.ย. 2563 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป

จากนั้นในเวลา 14.00 น. ของวันเดียวกัน พัฒน์นรีได้ถูกควบคุมตัวในห้องใต้ถุนศาลอาญา เพื่อรอให้นายประกันทำเรื่องประกันตัวต่อจากศาลทหารโดยใช้หลักทรัพย์เดิมที่เคยวางไว้เป็นเงินสด 500,000 บาท หลังการทำเรื่องประกันตัวเสร็จสิ้น ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวพัฒน์นรีชั่วคราว แต่มีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาต

ศูนย์ทนายความฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกียวกับคดีนี้ว่า พัฒน์นรี ถูกฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 จากการถูกกล่าวหาว่า พูดคุยกับ บุรินทร์ อินติน เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วยการส่งข้อความแชทในเฟสบุ๊ค เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2559 โดยกระบวนการในคดีใช้เวลานานกว่า 3 ปี ก่อนที่จะมีการโอนย้ายคดีมายังศาลยุติธรรม

ในข้อความที่ฝ่ายโจทก์เห็นว่ามีเนื้อหาเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 มาจากบุรินทร์ฝ่ายเดียว แต่อัยการระบุในคำฟ้องว่าการกระทำของพัฒน์นรีและบุรินทร์เป็นไปโดยมีความมุ่งหมายที่น่าจะทำให้พระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทขณะนั้นเสื่อมเสียพระเกียรติ ชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง

ในส่วนคดีของ บุรินทร์ ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ร่วมกับพัฒน์นรี และเขาให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลทหารกรุงเทพได้พิพากษาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2560 โดยกรรมแรกกรณีแชทข้อความกับพัฒน์นรี ศาลลงโทษจำคุก 7 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน

กรรมที่สองจากการพิมพ์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 22 ปี 8 เดือน แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน โดยสาเหตุที่มีการเพิ่มโทษเนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกในคดีอื่นมาก่อน ปัจจุบันเขาถูกคุมขังในเรือนจำและเป็นหนึ่งในผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ยังอยู่ในเรือนจำ

'ประชามติบางเสาธง' เกือบ 4 ปี อัยการยื่นฟ้องจำเลยเพิ่มอีก 1 ราย

คดี “ประชามติบางเสาธง” ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ อัยการจังหวัดสมุทรปราการนัดฟังคำสั่งฟ้อง ในคดีของ วรวุฒิ บุตรมาตร ในคดีดังกล่าว จากกรณีแจกใบปลิวที่ตลาดการเคหะบางพลีเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2559

อัยการยื่นฟ้องวรวุฒิ ในฐานความผิดฐานร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป และร่วมกันก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงประชามติไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย  ตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559

ศาลได้รับฟ้องคดีไว้ ทางจำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์ขอประกันตัวเป็นสลากออมสินมูลค่าสองแสนบาท และศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว พร้อมกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิ ในวันที่ 6 ก.พ. 2563 เวลา 09.00 น  และนัดพร้อมเพื่อรวมการพิจารณากับคดีหลักในวันที่ 2 มี.ค 2563 เวลา 13.30 น.  

กรณีนี้มีผู้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีแล้ว 11 คน ได้แก่ เตือนใจ (สงวนนามสกุล), สุมนรัตน์ (นามสมมติ), กรชนก (สงวนนามสกุล), รักษ์ชาติ วงศ์อภิชาติ, รังสิมันต์ โรม, กรกช แสงเย็นพันธ์, อนันต์ โลเกตุ, ธีรยุทธ นาขนานรำ, ยุทธนา ดาศรี, สมสกุล ทองสุกใส, และนันทพงศ์ ปานมาศ   

คดีนี้เป็นคดีที่โอนย้ายคดีมาจากศาลทหาร หลังจากที่นัดฟังคำสั่งโอนย้ายคดี เมื่อวันที่ 9 ส.ค.2562 และกำหนดนัดพร้อม จำเลยทั้ง 11 คน ไปเมื่อวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา 

อัยการนัดฟังคำสั่งฟ้องชุมนุมไม่ถอยไม่ทน 7 ก.พ.นี้

วันเดียวกัน ศูนย์ทนายความฯ ยังรายงานความคืบหน้าคดีจากเหตุการณ์การชุมนุม #ไม่ถอยไม่ทน ซึ่งนำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคและอดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ส่งผลให้ตัวของธนาธรเอง และ ไพรัฎฐโชติก์ จันทรขจร อดีตผู้สมัครส.ส. เขต 5 จ.นครปฐม พรรคอนาคตใหม่ ถูกดำเนินคดีในฐานะผู้จัดการชุมนุม ในหลายข้อหา อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.บ ควบคุมการโฆษณาฯ อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ที่ตกเป็นเป้าในการดำเนินคดี ยังมีผู้มาร่วมชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีในความผิดในฐานเดียวกันด้วย แม้จะไม่ได้อยู่ในฐานะผู้จัดการชุมนุม ได้แก่ “โบว์” ณัฏฐา มหัทธนา, “เพนกวิน” พริษฐ์ ชีวารักษ์ และ “บอล” ธนวัฒน์ วงค์ไชย

วันดังกล่าว (3 ก.พ.63) ธนาธร, ไพรัฎฐโชติก์, ณัฏฐา, ธนวัฒน์ และพริษฐ์ ได้เดินทางไปยังสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ตามที่พนักงานสอบสวนนัดหมาย เพื่อส่งตัวพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 ปทุมวัน หลังพนักงานสอบสวน มีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้า โดยอัยการนัดหมายให้ทั้งหมดเดินทางมาฟังคำสั่งว่าจะฟ้องคดีนี้หรือไม่ในวันที่ 7 ก.พ.2563 เวลา 09.00 น.

ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net