Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ไฟป่ากินเวลาข้ามสัปดาห์ที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ รวมทั้งฝุ่นควัน PM 2.5 เผยให้เห็นด้านวิกฤตของรัฐรวมศูนย์และระบบราชการ นักวิชาการท้องถิ่นศึกษาเสนอว่าการกระจายอำนาจและทรัพยากรออกจากส่วนกลางเพื่อให้ท้องถิ่นแก้ปัญหาที่พวกเขาเห็นว่าสำคัญ เป็นกุญแจไขโจทย์นี้

 

 

เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมาหลายสำนักข่าวลงรายงานที่มีการตรวจพบจุดความร้อน (ฮอตสปอต) เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่มากถึง 518 จุด เกิดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติมากถึง 212 จุด และป่าอนุรักษ์ 294 จุด และพื้นที่อื่นๆ 11 จุด มีลมแรงทำให้สะเก็ดไฟถูกลมพัดปลิวข้ามแนวกันไฟที่ทำเพื่อสกัดไฟไว้ ลุกลามมายังพื้นที่ข้างเคียง เกิดไฟลุกลามอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งบางจุดเกิดการปะทุขึ้นใหม่ แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะร่วมกันดับไฟไปแล้ว

ทั้งนี้ พบว่าแนวเขตของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ถือว่าเป็นจุดวิกฤตหนักที่สุดที่ยังเกิดไฟป่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่า AQI และ PM2.5 ของเชียงใหม่พุ่งสูง โดยวันที่ 28 มี.ค. วัดค่า PM2.5 ในพื้นที่อำเภอแม่สะเมิงสูงถึง สูงถึง 767 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประตูท่าแพกลางเมืองเชียงใหม่วัดได้ 415 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แคมปัสแม่เหียะ วัดได้ 587 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และในตัวเมืองก็มีค่ามลพิษสูงอยู่ที่ 200-500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรทุกพื้นที่ เว็บไซต์ Air visual พบว่าค่ามลพิษของจังหวัดเชียงใหม่ขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลกในวันนั้น โดยมีค่า PM2.5 ที่ 261.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศวัดได้ 312 USAQI

สายธาร อินชินา เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกอบรมควบคุมไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่ามีการสะสมของเชื้อเพลิงใบไม้ใบหญ้าแห้งมากขึ้นๆ ทำให้ปีนี้ไหม้รุนแรง แถวที่ไม่เคยไหม้ก็ไหม้ โดยก่อนหน้านี้แม้จะมีไฟป่าเกิดทุกปี แต่จะไหม้ไม่นาน ควบคุมได้ เพียงแค่ทำแนวกันไฟ แต่ครั้งนี้สาเหตุน่าจะมาจากคนจุดชนวนให้เกิดการไหม้ขึ้นมา ซึ่งก็อาจจะมาจากการเผาไร่ หรือเผาหาของป่า ประกอบกับทิศทางลม ทำให้เพลิงลุกลามได้ 

สายธารกล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ยังมีไฟอยู่ประมาณ 3 จุด แต่สามารถควบคุมได้ มีกำลังสนับสนุนจากทหารพรานและเสือไฟ แต่หลังจากนี้ก็แล้วแต่สถานการณ์ แม้จะคุมสถานการณ์วันนี้ได้ แต่ก็อาจมีคนไปจุดไฟอีก ตอนนี้ได้กระจายกำลังคุมสถานการณ์ในพื้นที่ที่อาจมีการเผา

ประชาไทชวนคุยกับ ณัฐกร วิทิตานนท์ นักวิชาการด้านการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ถึงสาเหตุของไฟป่า และวิธีแก้ปัญหาในเชิงนโยบาย

 

สาเหตุของไฟป่า

ชุดปฏิบัติการดับไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ระดมกำลังควบคุมสถานการณ์ไฟป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ภาพถ่ายเมื่อ 26 มีนาคม 2563 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ณัฐกร กล่าวว่า ไฟป่านั้นเกิดเป็นธรรมชาติประจำทุกปี เพียงแต่ปีนี้ลุกลาม แม้คุมสถานการณ์ได้แล้วแต่เหมือนยังมีเชื้อไฟ ทำให้กลับมาลุกอีกและดูรุนแรงจากการเห็นภาพมุมสูง 

ณัฐกรชี้ว่า สาเหตุการเกิดไฟป่าอาจยังสรุปไม่ได้ แต่มีอยู่ 3 ชุดความคิดที่ตนเห็น ชุดความคิดที่หนึ่งแบบกลุ่มคนในเมือง จะบอกว่าคนดอยหรือคนชาติพันธุ์เป็นคนเผาเพื่อประโยชน์ตัวเอง โดยการปรับพื้นที่ให้เป็นป่าเสื่อมโทรม เพื่อจะเข้าไปทำกิน ปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด หรือหาของป่า หรือล่าสัตว์ 

ชุดความคิดที่สองคือเอ็นจีโอที่ทำงานกับชาวบ้าน กลุ่มชาติพันธ์ุ ซึ่งอันนี้ตนเห็นคล้อยตาม คือ การที่ไฟป่าเกิดขึ้นเป็นความผิดพลาดของนโยบายรัฐ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ไม่ยอมรับคนอยู่กับป่า แนวคิดว่าป่าเป็นสมบัติของชาติที่ไม่ให้ใครเข้าไป ดังนั้นจึงไม่ยอมรับวิถีของชาวบ้าน ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการเผา โดยการเผาถือเป็นภูมิปัญญาของเขาที่จะลดการสะสมของเชื้อเพลิง 

“แต่นโยบายเอาคนออกจากป่า มาตรการห้ามเผาเด็ดขาด ทำให้เกิดการสะสมของเชื้อเพลิง เมื่อเกิดไฟป่าจึงมีความรุนแรง และนอกจากนี้พื้นที่ที่เกิดไฟป่าส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ที่รัฐเป็นเจ้าของ มีหน่วยงานดูแล ได้แก่ ป่าอุทยาน ป่าสงวน ดังนั้นถ้าเกิดไฟป่าขึ้นจะโทษชาวบ้านอย่างเดียวหรือ” ณัฐกรตั้งคำถาม

และชุดความคิดที่สาม ณัฐกรระบุว่า คือของกลุ่มเจ้าหน้าที่ ข้าราชการที่รับผิดชอบเกี่ยวกับไฟป่า ซึ่งมีทั้งการที่วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่าชาวบ้านเผาเพื่อป่วน เนื่องจากชาวบ้านโดนจับจากการไปตัดไม้ หรือการเผา หรืออื่นๆ จึงเป็นการเผาทางการเมืองเพื่อตอบโต้ปฏิบัติการของภาครัฐ ขณะที่หัวหน้าอุทยานดอยสุเทพให้สัมภาษณ์ว่าเป็นการเผาเพื่อล่าสัตว์ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดชุดที่หนึ่ง หรือความคิดว่าเผาเพื่อกลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ จนไปถึงบอกว่าเจ้าหน้าที่หล่อเลี้ยงให้มีไฟป่าเพราะถ้าไฟป่าไม่เกิด งบก็ไม่มา ซึ่งทั้งหมดนี้ตนไม่เห็นด้วย 

“ถ้าเราดูจากจากฮอตสปอตก็จะพบว่าถึงมีนโยบายห้ามเผาก็ยังมีการเผา และจากข้อมูลของกรมป่าไม้ก็ชี้ว่าจุดฮอตสปอตเหล่านั้นโอกาสที่จะเป็นไฟป่าจริงมีไม่ถึง 10 % และจากการติดตามก็พบว่าส่วนใหญ่จุดที่เผาก็จะเป็นจุดเดิม แต่พอห้ามเผาจริงจัง ข้อมูลกลางเดือนมีนาคมบอกว่ามีประมาณ 400 กว่าคดีที่ตำรวจจับเรื่องเผา แต่มีเพียงไม่กี่คนที่เผาในพื้นที่ป่า” ณัฐกรกล่าว

ณัฐกรยังกล่าวว่า นอกจากนี้หากไปดูรายงานของกรมป่าไม้ทุกปีจะสรุปว่าไฟป่ามีสาเหตุมาจากการเผาเพื่อหาของป่าหรือล่าสัตว์ แต่ไม่สอดคล้องกับสถิติคดีที่จับคนเผาในพื้นที่ป่าซึ่งมีแค่ไม่กี่ราย ดังนั้นสาเหตุของการเกิดไฟป่ายังต้องพิสูจน์เพราะที่ผ่านมาคือการโทษชาวบ้านฝ่ายเดียว และอีกด้านก็สะท้อนความบกพร่องในการดูแลของเจ้าหน้าที่ 

 

ไฟป่าและการเผาไร่นาเป็นปัจจัยหลักของหมอกควันในเชียงใหม่

เจ้าหน้าที่ดับไฟป่าบนดอยสุเทพเมื่อ 29 มีนาคม 2563 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ณัฐกรระบุว่า มีงานวิจัยที่เก็บตัวอย่างหมอกควันของเชียงใหม่มาตรวจสอบและพบว่ามาจากใบไม้ต้นไม้ ซึ่งสรุปได้ว่ามาจากไฟป่ารวมไปถึงการเผาไร่นา ต่างจากกรุงเทพฯ ที่สาเหตุมาจากยานพาหนะ 

“การเผาในพื้นที่เพาะปลูกเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เขาจะเผาช่วงก่อนสงกรานต์ ซึ่งมันอาจจะลามไปที่ป่าจริง แต่พื้นที่ที่เผามันคือพื้นที่ของไร่ ดังนั้นปัญหาหมอกควันจะหนักในเดือนมีนาคม ส่วนหลังสงกรานต์ด้วยลมมรสุม พายุฤดูร้อนต่างๆ จะช่วยชะล้างไปโดยธรรมชาติ”

ณัฐกรกล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับการเผามีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ย้อนไป 4-5 ปีก่อน ก็มีนโยบายชิงเผา โดยทางการต้องการลดปัญหาหมอกควันให้เบาบางโดยการควบคุมการเผา คำนึงถึงลม และปัจจัยต่างๆ ประชุมวางแผนกันแล้วบอกว่ารอบปีนี้จะให้อำเภอทางทิศใต้เผาก่อนไล่มาทิศเหนือ แทนที่จะเผาพร้อมกันหมด ซึ่งแนวทางนี้หลายฝ่ายคิดว่าน่าจะมาถูกทาง แต่เมื่อมีกระแสของคนในเมืองที่ตระหนกเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 นโยบายการห้ามเผาเด็ดขาดจึงเกิดขึ้น 

ณัฐกรระบุว่า หากเป็นเมื่อก่อนอาจพูดได้ว่าสาเหตุการเผามาจากการปลูกข้าวโพด แต่เมื่อเกิดกระแสต่อต้านจากคนเมือง พาดพิงไปถึงทุนใหญ่ที่ให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพด จนทุนใหญ่ต้องปรับตัว ก็เห็นแนวโน้มชัดเจนว่าเกิดการเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศไทยไปสู่รัฐฉาน ทำให้ปัญหาเรื่องการเผาไร่ข้าวโพดเริ่มมีน้อย แต่ภาคเหนือก็ยังเผชิญวิกฤตฝุ่นควันเพราะการเผาในประเทศเพื่อนบ้านที่หลายพื้นที่เป็นพื้นที่ของชนกลุ่มน้อยซึ่งรัฐบาลไม่อาจเข้าไปควบคุมได้ 

 

นโยบายคนอยู่กับป่าต้องสอดรับกับพื้นที่

ณัฐกรยกตัวอย่างโมเดลที่น่าสนใจเรื่องของคนอยู่กับป่า เช่น ชุมชนกระเหรี่ยงที่บ้านห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีประเพณี วิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับป่า ทำให้เขารัก เขาหวนแหนป่า และทำให้มีพื้นที่ตรงนั้นมีป่าอุดมสมบูรณ์มาก

หรือในอินโดนีเซียซึ่งก็มีปัญหาไฟป่าและส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์ เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ โจโก วีโดโด นายกรัฐมนตรีอินโดนีเซียจึงคิดนโยบายใหม่ ยอมให้เอกชนเข้ามาตั้งรีสอร์ทในพื้นที่ป่าสงวน แต่การตั้งรีสอร์ทก็มีเงื่อนไข เช่น ต้องจ้างงานคนท้องถิ่น 80% หรือก็คือชุมชนได้ประโยชน์จากป่าที่อาศัย รัฐไม่ได้กีดกันพวกเขาออกจากป่า 

“รัฐต้องเข้าใจวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ และต้องปรับนโยบายให้สอดรับกับพื้นที่นั้นๆ” ณัฐกรระบุ 

 

กระจายอำนาจ เติมศักยภาพท้องถิ่น

เฮลิคอปเตอร์บินโปรยน้ำดับไฟป่าดอยสุเทพ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2563 (ที่มา: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

ข้อเสนอของณัฐกรคือการกระจายอำนาจ เนื่องจากวิธีคิดแบบป่าเป็นของชาติเป็นวิธีคิดจากส่วนกลาง ไม่มีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ท้องถิ่นไม่มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรในพื้นที่ เมื่อเกิดไฟป่าท้องถิ่นก็ไม่มีศักยภาพในการจัดการ ระดับจังหวัดเองก็ทำได้น้อยมากในการแก้ปัญหา 

“ไฟป่าดอยสุเทพเข้าสู่วันที่สาม เพิ่งได้เฮลิคอปเตอร์ของ ทส. (กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) มาช่วยดับ อีกสองวันต่อมาได้ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ภป.) กระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้งประเทศมีอยู่สองลำ และมีตารางเวลาที่จะวนไปทั้งประเทศเป็นรอบๆ ผู้ว่าทำได้แค่รายงานประชาชน เต็มที่เอารถมาพ่นละอองน้ำ แจกหน้ากาก ท้องถิ่นไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาที่ต้นตอ มีส่วนแค่บรรเทา เอาอาสาสมัครไปช่วยดับไฟป่า ในฝันเลยคือทรัพยากรควรอยู่ที่จังหวัดที่มีปัญหาเฉพาะของเขา เติมศักยภาพให้เขาเพื่อให้เขาแก้ปัญหาได้เอง หลายเรื่องควรแก้ได้ที่จังหวัด ไม่ต้องไปถึงประเทศ” ณัฐกรกล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net