วิจัย ม.เคมบริดจ์ชี้ ผู้ติดเชื้อไวรัสก่อโควิด-19 มาจากจีน ก่อนกลายพันธุ์ระบาดทั่วโลก

จากกรณีเพจของสถานทูตจีนนำเสนอลิงค์เนื้อหางานวิจัยโควิด-19 ของ ม.แคมบริดจ์ พร้อมแคปชั่นว่าไวรัสพบครั้งแรกในคนสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นการตีความเนื้อหาไม่ตรงกับต้นฉบับ เพราะในต้นฉบับระบุว่า พวกเขาศึกษาการกลายพันธุ์ของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ระบาดมาจากจีน แต่พบในคนจีนและคนสหรัฐฯ ที่เคยอาศัยในเมืองอู่ฮั่น

ภาพเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่ทำให้เกิดโรคระบาดโควิด-19 (ที่มา: วิกิพีเดีย)

17 เม.ย. 2563 ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์เผยแพร่งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชนิดต่างๆ ของไวรัส SARS-CoV-2 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก โดยงานวิจัยนี้มีการเผยแพร่ต่อในเว็บเพจเฟสบุ๊คของสถานทูตจีนประจำประเทศไทยเมื่อประมาณสัปดาห์ที่แล้ว อ้างว่าจริงๆ แล้วไวรัส "พบครั้งแรกในคนสหรัฐอเมริกา" ซึ่งชวนให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะในบทความระบุเนื้อหาว่ามีการค้นพบไวรัส SARS-CoV-2 กลุ่มชนิด A ทั้ง "ในชาวจีนและชาวสหรัฐฯ ที่อาศัยอยู่ในเมืองอู่ฮั่น"

นักวิจัยเหล่านี้อาศัยการวิเคราะห์จีโนมของไวรัส 160 ตัวอย่างที่สกัดมาจากคนไข้ พบว่ามีไวรัสแตกแขนงออกไปเป็นชนิดต่างๆ หลายชนิด แต่พวกเขาก็คิดแยกให้เหลือกลุ่มหลักๆ 3 ชนิด เรียกว่ากลุ่ม A B และ C ซึ่งไวรัสกลุ่มเหล่านี้มีการแพร่กระจายไปตามที่ต่างๆ ของโลกแล้ว

งานวิจัยจากปีเตอร์ ฟอร์สเตอร์ และคณะระบุว่าไวรัสกลุ่มจำพวก A เป็นตัวเดียวกับที่พบในค้างคาว และพบอยู่ในผู้ติดเชื้อชาวจีนและชาวอเมริกันที่อาศัยอยู่ในเมืองอู่ฮั่น ขณะที่กลุ่มจำพวก A ในชนิดที่กลายพันธุ์ออกไปนั้นพบในคนไข้ที่มาจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย แต่ตัวกลุ่มจำพวก A ก็ไม่ใช่กลุ่มที่พบมากนักในอู่ฮั่น กลุ่มที่พบมากกว่ากลับเป็นกลุ่มจำพวก B ที่พบมากทั้งในอู่ฮั่นและในเอเชียตะวันออก แต่กลุ่ม B ไม่ได้กระจายตัวออกไปไกลโดยไม่กลายพันธุ์

งานวิจัยจากแคมบริดจ์ระบุอีกว่าไวรัส SARS-CoV-2 กลุ่มจำพวก C  เป็นกลุ่มที่พบมากในยุโรป โดยเริ่มพบช่วงแรกๆ จากคนไข้ ฝรั่งเศส อิตาลี สวีเดนและอังกฤษ และถึงแม้ว่าจะไม่พบในจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็พบกลุ่มจำพวก C ในสิงคโปร์ ฮ่องกง และเกาหลีใต้

นักวิทยาศาสตร์ระบุอีกว่ากลุ่มจำพวก A นั้นมีลักษณะใกล้ชิดกับไวรัสตัวที่พบในทั้งค้างคาวและตัวนิ่ม ซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นตอของการระบาด ขณะที่กลุ่มจำพวก B กลายพันธุ์มาจากกลุ่มจำพวก A และหลังจากนั้นก็มีการแตกแขนงจากกลุ่มจำพวก B ไปอีกเป็นกลุ่มจำพวก C

เรียบเรียงจาก

COVID-19: genetic network analysis provides ‘snapshot’ of pandemic origins, University of Cambridge, Apr. 9, 2020

โพสต์ในเพจ "Chinese Embassy Bangkok สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท