Skip to main content
sharethis

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลให้โรงงานประกอบรถยนต์หลายแห่งหยุดการผลิตชั่วคราว ส่งผลต่อโรงงานอื่น ๆ ในห่วงโซ่อุปทาน และ โรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กส่วนมากมีมาตรการเลิกจ้าง งดจ่ายหรือลดค่าจ้างลูกจ้าง ดังนั้นเมื่อลูกจ้างมีคำถามถึงสิทธิ์ต่าง ๆ พวกเขาจึงมาหา นักสหภาพแรงงาน อย่าง มงคล ยางงาม ผู้ซี่งมีคำตอบให้อย่างรวดเร็ว และด้วยวิธีการที่สร้างสรรค์

แรงงานในไซต์ก่อสร้าง (แฟ้มภาพ)

มงคล นักสหภาพแรงงานซึ่งทำหน้าที่จัดตั้งและให้ความช่วยเหลือทางแรงงานภายใต้สังกัด สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM), ได้ใช้เพจ”คลินิกแรงงาน”ในเฟซบุ๊ค เพื่อตอบคำถามต่าง ๆ ที่ส่งมา รวมทั้งการใช้เฟซบุ๊คไลฟ์เพื่อเข้าถึงผู้ถามให้มากที่สุด รวมทั้งการให้ข้อมูลความรู้กับลูกจ้าง ผ่านทางคลิปวีดีโอสนุก ๆ และเพลงต่าง ๆเกี่ยวกับประเด็นแรงงาน ที่เขาแต่งขึ้นเอง วิธีการเหล่านี้สามารถเข้าถึงคนทำงานได้อย่างมาก โดยคลิปที่โพสตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมจนถึงปัจจุบัน (16 เมษายน 2560) มียอดเข้าชมกว่า 22,000 ยอด

มงคลในวัย 47 ปี (หรือชื่อเล่นว่าปู หรือ พี่มง ตามที่คนงานที่มาขอคำปรึกษาเรียก) เป็นกำลังสำคัญในการจัดตั้งสหภาพแรงงานร่วมกับนักจัดตั้งสหภาพแรงงานคนอื่น ๆ ในหลาย ๆ สถานประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น โรงงานประกอบรถบัสของวอลโว่ โรงงานสามเคแบตเตอรี และโรงงานชิ้นส่วนยานยนต์หลาย ๆ ที่ ๆ ผลิตให้กับค่ายใหญ่อย่าง โตโยต้า หรือ ฮอนด้า มงคลยังเป็น ”ผู้ช่วยทนายแรงงาน” ให้กับฝ่ายกฎหมายของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) องค์กรแรงงานระดับชาติซึ่งมีสมาชิกร่วม 270,000 คน โดยเขามีหน้าที่ช่วยลูกจ้างที่ถูกละเมิดสิทธิ์เขียนคำฟ้องและยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานและศาลและช่วยงานส่วนอื่น ๆ ของฝ่ายกฎหมายของ คสรท. ซึ่งไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ กับลูกจ้างที่มาขอคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ

มงคล ยางงาม (Credit: Karaked Yang-ngam)

ในโอกาสนี้จึงขอชวนสนทนากับ มงคล ถึงการทำงานจัดตั้งสหภาพแรงงาน ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 การทำเพจ "คลินิกแรงงาน" และความคาดหวังต่อขบวนการแรงงานไทย

ปีย์ : ช่วยเล่าถึงประวัติคร่าว ๆ ว่ามาเป็นนักสหภาพแรงงานให้กับ TEAM ได้อย่างไร?

มงคล : ผมโตที่สมุทรสาคร ตอนเด็ก ๆ บ้านมีกิจการขายของ แต่ตอนหลังมาทำงานที่โรงงานไทยสินซึ่งมีสหภาพ ฯอยู่ ต่อมาผมสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหภาพ ฯ พร้อมกับที่มีตำแหน่งกรรมการสหภาพ ฯว่าง ก็เลยเสนอตัวเองจนได้เป็นกรรมการและได้ทำงานสหภาพแรงงานตั้งแต่นั้นมา

ผมทำงานโรงงานประมาณ 8 ปี และทำงานเสริมด้วย งานเสริมก็คือต้องยกก้อนยางวันนึงเป็นร้อย ๆ รอบ จนร่างกายเริ่มไม่ไหว ก็เลยออกจากโรงงาน มาทำงานร้านอาหารกลางคืน พอมาทำตรงนี้ยิ่งเห็นว่าเด็กเสิร์ฟอาหารโดนเอาเปรียบ โดนลูกค้าดูถูกยังไง ผมเลยยิ่งอยากทำงานที่จะช่วยเหลือคนถูกเอาเปรียบ

จากที่เข้าใจ งานของคุณมีทั้งส่วนการจัดตั้งสหภาพ ฯ และการช่วยเหลือทางกฎหมายกับคนทำงานที่ถูกละเมิดสิทธิ์ อยากให้ช่วยอธิบายตรงนี้หน่อย?

การจัดตั้งสหภาพแรงงานและการให้การช่วยเหลือทางกฎหมายมันต้องทำควบคู่กัน ในประเทศไทยนายจ้างยังชอบมองสหภาพ ฯ เป็นศัตรู เราต้องให้คนงานเชื่อมั่นว่าสหภาพ ฯสามารถช่วยให้เขาปกป้องสิทธิ์ของตัวเองและอยู่ร่วมกับนายจ้าง เราต้องเตรียมคนงานด้วยการให้ความรู้ทั้งเรื่องสิทธิ์และเรื่องกฎหมาย การให้ความช่วยเหลือกฎหมาย

วิกฤติ โควิด-19 ส่งผลกระทบต่องานของคุณทั้งในส่วนการจัดตั้งและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนทำงานที่ถูกละเมิดสิทธิ์อย่างไรบ้าง?

กระทบเยอะเลย โดยเฉพาะการจัดตั้ง เพราะเราไม่สามารถไปพบปะพูดคุยกับคนงานที่อยากมีสหภาพ ฯ ได้ ก็พยายามคุยกันผ่านทางสื่อโซเชียลต่าง ๆ ทั้งเฟสบุ๊ค ไลน์ อยู่ รวมทังการพูดคุยทางโทรศัพท์ด้วย

ด้านการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายนี่ก็กระทบ เพราะเคสละเมิดสิทธิ์เยอะมาก ทั้งเลิกจ้าง โดยเฉพาะเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย นัดหมายต่าง ๆที่ศาลแรงงานก็ถูกเลื่อนเพราะโควิด อันนี้เป็นประเด็นเพราะลูกจ้างสายป่านสั้น ยิ่งคดีการละเมิดสิทธิ์ต่าง ๆ ถูกเลื่อนยิ่งทำให้ลูกจ้างต้องยอมรับข้อเสนอของนายจ้างซึ่งให้น้อยกว่ากฎหมายเยอะ นายจ้างหลายที่ก็ใช้วิกฤติโควิดให้เป็นโอกาสในการปฏิเสธข้อเรียกร้องจากสหภาพ ฯในช่วงการเจรจาต่อรองร่วม ทั้ง ๆ ที่การเจรจา ฯ พูดถึงผลประกอบการจากปีก่อน ๆ ซี่งยังไม่ถูกกระทบโดยโควิด

คุณเริ่มทำเพจ "คลินิกแรงงาน" ตอนไหน และ ทำไม?

อันนี้ต้องให้เครดิตคุณชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย (อดีตนักจัดตั้งสหภาพแรงงานของ อินดัสทรีออลล์) ในช่วงกลางปี 2562 เราเห็นว่าคนงานไม่ค่อยชอบฟังเรื่องกฎหมาย แต่ชอบฟังอะไรสนุก ๆ เราเลยพยายามทำคลิปสั้น ๆ สนุก ๆ ให้คนสนใจ พร้อมกับให้ความรู้ไปด้วย

ในเพจคลินิกแรงงานนี่ใช้รูปแบบอะไรบ้าง?

เราก็พยายามใช้รูปแบบต่าง ๆ เท่าที่ทำได้ ทั้งเฟสบุ๊คไลฟ์ ประมาณวันละ 1 ชั่วโมง เพื่ออัพเดตสถานการณ์จากบริษัทต่าง ๆ และก็พยายามอธิบายว่า สหภาพแรงงานช่วยแก้ปัญหาให้กับคนทำงานได้อย่างไร ก็พยายามไปว่า โรงงานที่มีสหภาพ ฯ ช่วยเจรจาต่อรองคุ้มครองสิทธิ์ให้ เช่น ออโต้ อัลลายแอนส์ หรือ ฟอร์ด มอเตอร์ นี่ ลูกจ้างมักจะได้รับสิทธิ์ต่าง ๆ มากกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะเรื่องการปิดกิจการชั่วคราวตามมาตรา 75 ของ พรบ.คุ้มครองแรงงานที่ใช้กันมากในช่วงโควิดนี้

ตัวอย่างที่ มงคล ไลฟ์ตอบคำถามในเพจ

การละเมิดสิทธิ์แรงงานรูปแบบไหนที่พบมากในช่วงการระบาดของโควิด-19?

ที่พบเยอะ ๆ เลยนี่ก็ การไม่ปฏิบัติตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานมาตรา 75 ซึ่งนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินคิดเป็นร้อยละ 75 ของค่าจ้างให้กับลูกจ้างช่วงที่มีการหยุดการทำงานชั่วคราว นายจ้างชอบสั่งให้หยุด แต่บอกให้ลูกจ้างไปขอรับสิทธิ์ว่างงานจากประกันสังคมเอง ซึ่งเกิดขึ้นเยอะมากกับคนที่ทำงานโรงแรม

บริษัทหลายแห่งก็ขอให้ลูกจ้างยอมเซ็นใบลาออกโดยไม่รับค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย หรือสัญญากับลูกจ้างว่าจะจ้างใหม่เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ผมก็บอกให้ลูกจ้างลองมองโลกตามความเป็นจริง ข้อแรกคือใครจะไปรู้ว่าอะไรมันจะดีขึ้นเมื่อไร สองคือคุณจะไว้ใจนายจ้างได้แค่ไหน หรือคุณลองใส่หมวกของนายจ้าแล้วคิดดูดี ๆ ว่าเป็นโอกาสของเขาที่จะเลิกจ้างคุณโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและจะได้จ้างคนใหม่ที่อายุน้อยกว่า ค่าจ้างถูกกว่าไปในคราวเดียวกัน เพราะฉะนั้นส่วนมากผมจะบอกให้ลูกจ้างเอาให้ได้ตามสิทธิ์ตอนนี้ไปก่อน อย่าไปหวังน้ำบ่อหน้า

คนทำงานที่ดูเฟสบุ๊คไลฟ์ของคุณนี่เอาความรู้ที่ได้ไปใช้อย่างไรบ้าง?

ก็หลังจากดูแล้ว เขาก็รับรู้เรื่องสิทธิ์ตัวเองมากขึ้น เริ่มสงสัยและมีคำถามแล้ว เพราะปกติคนงานจะเชื่อนายจ้าง แต่พอเริ่มรู้ตัวว่าที่ผ่านมาโดนหลอก โดนเอาเปรียบมาตลอด คราวนี้หลอกยากแล้ว เจออะไรก็จะสงสัย ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ

คิดว่าสหภาพ ฯ และขบวนการแรงงานไทยควรจะมีบทบาทอย่างไรในช่วงวิกฤติ โควิด-19

ก่อนอื่นสหภาพ ฯ ก็ต้องอัพเดตตัวเองให้ทันกับสถานการณ์และนโยบายต่าง ๆ นโยบายรัฐนี่ก็เปลี่ยนตลอดไม่มีความชัดเจนส่วนนายจ้างนี่ก็มองแต่จะผลักภาระให้ลูกจ้าง นักสหภาพ ฯต้องทำงานเชิงรุก จะมัวรอแต่ให้ลูกจ้างเดินมาถามเดินมาบอกนี่ไม่ได้ เราต้องยื่นมือออกไปให้ความช่วยเหลือ พยายามสืบหาว่ามันมีการละเมิดสิทธิ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง

องค์กรผมอย่าง TEAM นี่ก็กำลังรวบรวมนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลมาสื่อสารให้คนทำงาน และ คสรท.นี่ก็ได้ตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิ์แรงงานขึ้นในตอนนี้

เราต้องพยายามหาว่า อะไรเป็นประเด็นร่วมกันของคนงานทั้งหมดที่ถูกละเมิดสิทธิ์ในตอนนี้ และก็พยายามให้ความรู้ในส่วนนั้น รวมทั้งผมเป็นนักสหภาพ ฯ ผมก็พยายามยกตัวอย่างให้เห็นว่าสหภาพ ฯ ช่วยแก้ปัญหายังไงได้บ้าง

อยากจะพูดอะไรเพื่อแสดงความสมานฉันท์ กับคนทำงานทั่วโลกที่ล้วนแต่เผชิญวิกฤติเดียวกันอยู่?

ก็อยากจะบอกว่า วิกฤติครั้งนี้ มันเป็นประเด็นระดับโลก ซึ่งเวลาเกิดวิกฤติที่ไรคนที่ได้ผลกระทบมากที่สุดก็คือคนทำงานแบบพวกเรา ผมอยากจะเห็นขบวนการแรงงานทั่วโลกออกมาแสดงความสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราต้องสร้างการรับรู้กับคนทำงานทั่วโลกว่า พวกเราคือกลุ่มคนที่สำคัญที่ช่วยให้ทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในช่วงวิกฤตินี้ เมื่อเรารู้ตัวว่าเราสำคัญ และเราเชื่อมั่นในตัวเอง เราก็จะสามารถออกไปเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นสำหรับชนชั้นคนทำงานแบบพวกเราได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net