Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ประเมินการทำงานของรัฐบาลสืบทอดอำนาจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ชี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการเคอร์ฟิว ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาโรคระบาด รังแต่จะสร้างปัญหาเพิ่ม มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบมาช้า มีปัญหาหลายจุด แทนที่จะสร้างความพอใจให้ประชาชนกลับกลายเป็นการทำให้คนเจ็บใจ เชื่อรัฐบาลจะประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่ออีกหนึ่งเดือน หวังผ่อนปรนให้คนได้ทำมาหากิน ย้ำหลังหมดโควิด รัฐบาลหนีความรับผิดชอบไม่พ้น พร้อมสวนกลับมายาคติ ‘อำนาจนิยม’ เป็นที่สุดของการแก้ปัญหา

ชำนาญ จันทร์เรือง: แฟ้มภาพ

ผ่านมา 25 วันแล้ว สำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อจัดการสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ภายการนำของรัฐบาลสืบทอดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาตรการต่างๆ ที่มีการบังคับใช้ไม่ว่าจะเป็นการประกาศสั่งปิดกิจการต่างๆ ชั่วคราว ชะลอการเคลื่อนย้ายประชากร ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ฯลฯ เป็นไปอย่างเข้มข้น ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศในช่วงหลังได้ลดลงเหลือผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันเพียงหลักสิบ แต่ยังไม่สามารถอ้างได้ว่าเกิดจากมาตรการที่เข้มข้นนี้ทั้งหมด

ขณะที่ปัญหาทางเศรษฐกิจ ประชาชน คนเล็กคนน้อย คนหาเช้ากินค่ำกำลังเผชิญหน้าอยู่นี้ ส่วนหนึ่งที่สำคัญเกิดขึ้นจากมาตรการของรัฐบาลอย่างชัดเจน และหากเทียบระยะเวลาในการรับมือกับสถานการณ์นับตั้งแต่มีผู้ติดเชื้อรายแรกในประเทศไทย จนถึงวันที่มีการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากกรณีของสนามมวย และสถานบันเทิง ช่วงเวลาระหว่างนั้นกลับไม่มีการดำเนินมาตรการที่เข้มงวดตามที่ พ.ร.บ.โรคต่อติดให้อำนาจไว้ จนที่สุดนำมาซึ่งการใช้ยาแรงอย่าง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ควบอำนาจเบ็ดเสร็จให้อยู่ในมือของนายกรัฐมนตรี เข้ามาจัดการแก้ไขปัญหา ซึ่งในหลายแง่มุมได้สร้างผลกระทบและปัญหาอื่นๆ ตามมา

เราพูดคุยกับ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการและสมาชิกคณะก้าวหน้า อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และอดีตประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ถึงสถานการณ์วิกฤตอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และมาตรการอันเข้มข้นของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงมาตรการเยียวยาที่เหมือนเป็นการซ้ำเติมผู้คนให้เจ็บใจยิ่งกว่าเดิม

000000

ภาวะเสพติดวิธีแก้ปัญหาแบบอำนาจนิยม ของรัฐบาลสืบทอดอำนาจ

ชำนาญมองว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลประยุทธ์ และการใช้อำนาจบังคับออกมาตรการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา หลายกรณีดูเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล และไม่ได้สัดส่วนกับปัญหา อีกทั้งการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ จะต้องใช้อำนาจเท่าที่จำเป็น ใช้ในเวลาที่จำกัดและสอดคล้องกับความจำเป็นตามหลักความได้สัดส่วน ไม่ใช้ว่านึกจะห้ามคนทำอะไร ก็ห้ามไปทุกอย่าง

เขาชี้ว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ ที่ประเทศไทยมีอยู่นั้น มีหลายสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เหมือน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมีข้อยกเว้นการรับผิดให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การควบคุมดูแลสถานการณ์ อย่างไรก็ตามมีหลายประเทศทั่วโลกที่ปัจจุบันนี้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ก็ไม่ได้มีมาตรการที่รุนแรงเหมือนกับไทย เช่น ญี่ปุ่น ไม่ได้ห้ามคนออกจากบ้าน แต่ให้ระมัดระวังรักษาระยะห่างทางสังคม พร้อมทั้งดำเนินการมาตรการต่างๆ อย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล

การประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ครั้งนี้ สำหรับชำนาญ มองว่า มีลักษณะเป็นการยึดอำนาจรัฐมนตรีบางกระทรวง เข้ามารวมอยู่ที่นายกรัฐมนตรีทั้งหมด และแต่งตั้งปลัดกระทรวงขึ้นมาทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีที่เป็นนักการเมือง

“ทั้งหมดนี้มันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลสืบทอดอำนาจยังมีวิธีในการแก้ไขปัญหาแบบการบังคับ หรือใช้อำนาจนิยมเป็นตัวตั้ง อาจจะด้วยความที่เขามาจาการรัฐประหาร และสืบอำนาจ จึงถนัดที่จะใช้วิธีการแบบบังคับมากกว่า วิธีการอื่นๆ แต่ในวิกฤติครั้งยังถือว่ามีเรื่องดีอยู้อย่างหนึ่งคือ นายกรัฐมนตรีไม่มีความรู้ด้านการสาธารณสุขเลย จึงจำเป็นต้องฟังหมอ แต่ถ้าเป็นเรื่องอื่นๆ คงไม่ฟัง แต่ถึงอย่างนั้นเราต้องไม่ลืมว่า การแก้ไขสถานการณ์โควิ-19 เราใช้องค์ความรู้ทางการแพทย์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง และมีองค์ความรู้ที่ต้องเขามาบูรณาการแก้ไขปัญหา ทั้งเศษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ มนุยวิทยา สังคมวิทยา” ชำนาญ กล่าว

ชำนาญ กล่าวด้วยว่า แพทย์แม้จะสำคัญแต่ไม่ใช่ทั้งหมดของการแก้ไขปัญหา หลายประเทศมีการชั่งตวงวัดประเมินอย่างรอบด้านว่าจะจัดการปัญหาโรคระบาดอย่างไรเพื่อไม่สร้างปัญหาเรื่องอื่นๆ ให้เกิดขึ้นมาอีก สำหรับประเทศไทยเองก็มีการแถลงทุกวันว่า แม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงหลักแค่หลักสิบต่อวัน แต่ก็ขอให้ประชาชนอย่าประมาท ยังต้องดำเนินมาตรการที่เข้มข้นต่อไป คำถามคือ ถ้าความพังทลายของเศรษฐกิจ ความพังทลายของบ้านเมืองเกิดจะมีสุขภาพที่ดีไปทำไม?

ชำนาญกล่าวในฐานะสมาชิกกลุ่มรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน(ASEAN Parliamentarians for Human Rights – APHR)  เมื่อไม่กี่วันก่อน สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพิ่งมีการประชุมทางออนไลน์ สมาชิกหลายรายรับไม่ได้กับคำพูดของนายกรัฐมนตรีที่ว่าจะต้องเอา สุขภาพมาก่อนเสรีภาพ เพราะเขามองว่าทั้งสองเรื่องไปควบคู่กันได้ ไม่จำเป็นต้องจำกัดเสรีภาพมากขนาดนี้ แต่ไม่ได้บอกว่าห้ามจำกัดเสรีภาพประชาชนเลย แต่ควรทำเท่าที่จำเป็น และต้องมีเหตุผล และได้สัดส่วนกับปัญหา อย่างการประกาศเคอร์ฟิว ต้องใช้เจ้าหน้าที่เท่าไหร่ ในการควบคุมประชาชน หรือเรื่องของการจำกัดเสรีภาพในการสื่อสาร ทำไมผู้สื่อข่าวจึงไม่สามารถออกไปทำหน้าที่ช่วงเคอร์ฟิวได้ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียก็มีการดำเนินคดี เช่นการตั้งข้อหากับ ดนัย อุสมา  ศิลปินที่จังหวัดภูเก็ตที่แสดงความเห็นเรื่องการตรวจคัดกรองโรคที่สนามบิน หลังจากที่เขาเดินทางกลับจากประเทศสเปน ซึ่งเป็นประเทศหัวตารางของจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก โดยที่ไม่มีการตรวจคัดกรองเมื่อช่วงสิ้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา

เสถียรภาพของรัฐบาลสำคัญ แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ภาวะผู้นำ วิสัยทัยทัศน์ และความเข้าใจประชาชน

ขำนาญ ระบุด้วยว่า ความขาดเสถียรภาพของรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคการเมืองหลายพรรค เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่กระนั้นก็ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา สิ่งที่สำคัญกว่าอื่นใดคือ ภาวะความเป็นผู้นำที่ดี มีวิสัยทัศน์ เข้าใจประชาชน และกล้าตัดสินใจในเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น เยอรมนีเองรัฐบาลก็มีสภาพเสียงปริมน้ำไม่ต่างจากของประเทศไทย แต่ผู้นำมีวิสัยทัศน์ มีประสบการณ์ มีการจัดการกับปัญหาที่ดี และกล้าตัดสินใจ หรือกรณีของไต้หวัน เห็นได้ชัดว่าผู้นำมีความกล้าตัดสินใจ ประเมินสถานการ์ได้อย่างถูกต้อง มีความรู้เรื่อง IT และหยิบนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชน แต่สำหรับประเทศไทยในช่วงก่อนเกิดการระบาดที่มากขึ้น ผู้นำไม่กล้าตัดสินใจ ชักเข้าชักออก ทั้งเรื่องการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวจีน การตรวจคัดกรองที่สนามบินที่กลับไปกลับมา ขาดความชัดเจน

ขณะเดียวกัน ชำนาญเห็นว่า โครงสร้างของระบบราชการแบบเดิมของไทยมีปัญหาอยู่เยอะมาก ประกอบกับปัญหาการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่โชคดีของไทยคือ การมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เข้มแข็ง ส่วนกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อรับมือกับสถานการณ์นั้น แท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามมาด้วยอุทัยธานี ก่อนที่มหาดไทยจะแก้เกี้ยวด้วยการให้อำนาจจังหวัดดำเนินการเอง กระนั้นก็ตามการให้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ในครั้งแท้จริงแล้วไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นเรื่องของการปัดความรับผิดชอบ หรือพูดภาษาลุงทุ่งคือ ปัดสวะ

“อย่างการล็อคดาวน์กรุงเทพฯ โดยผู้ว่า กทม. สุดท้ายแล้วก็ทำให้คนฮือกันออกไปต่างจังหวัดจำนวนมาก ทีนี้กลายเป็นว่าทำให้เกิดแพร่กระจายเชื้อเพิ่มมากขึ้นไปอีก จากเดิมที่เคยอยู่ที่กรุงเทพ ก็กระจายออกไปตามต่างจัดหวัด เกิดผลกระทบที่ตามมาอีกมากมาย ขณะเดียวกันตอนประกาศล็อคดาวน์รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการช่วยเหลือคนที่ต้องหยุดงานหรือตกงาน” ชำนาญ กล่าว

อดีตรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชี้ว่า หลังจากวิกฤตครั้งนี้ ควรจะมีการสังคายนาระบบราชการ และการกระจายอำนาจกันใหม่ และที่สำคัญจากประวัติศาสตร์การเมืองที่ผ่านมาของโลก หลังวิกฤตทางเศรษฐกิจใหญ่จะตามมาด้วยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางการเมืองครั้งสำคัญเสมอ และครั้งนี้นอกจากเรากำลังเจอกับวิกฤตโรคระบาดแล้ว เรายังเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงยิ่งกว่าปี 2540 แต่รุนแรงพอๆ กับ The Great Depression ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อย่างไทยเราสิ่งที่ตามมาหลัง The Great Depression ก็คือการเปลี่ยนการปกครอง 2475 หลายประเทศก็เช่นกัน และครั้งนี้ก็เชื่อว่า หลังวิกฤติโควิด-19 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจกับการเมืองเป็นเรื่องที่หนีกันไม่พ้น และเชื่อว่ามากกว่าการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะประชาชนเห็นชัดแล้วว่าโครงสร้างการเมืองแบบนี้รองรับกับวิกฤตใหญ่แบบนี้ไม่ได้

ต่อคำถามว่า เวลานี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันอยู่แค่หลักสิบ กลุ่มที่ชื่นชอบอำนาจนิยมมักบอก ดีนะที่เป็นรัฐบาลลุงตู่ แก้ไขปัญหาได้ดีแล้ว ถ้าเป็นพวกฝ่ายค้านปัจจุบัน หรือถ้าธนาธรมาเป็นนายกอาจจะทำให้สถานการณ์แย่ลงกว่านี้ ชำนาญชี้ว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลง ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือการประกาศเคอร์ฟิว แต่เป็นฝีมือของแพทย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามเรื่องตัวเลขที่เราเห็นๆ กันอยู่ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ วันก่อนประเทศจีนมีการประกาศเปลี่ยนแปลงตัวเลขผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ในเมืองอู่ฮั่นเพิ่มขึ้นอีก 50 เปอร์เซ็นต์จากยอดเดิม เพราะเนื่องจากมีการรายงานที่ผิดพลาด โดยผู้เสียชีวิตที่ถูกปรับเพิ่มมีทั้งหมด 1,290 ราย ส่งผลให้ยอดตายสะสมของอู่ฮั่นเพิ่มขึ้นเป็น 3,869 ราย

“ถ้าบอกว่าอำนาจนิยมเป็นที่สุดของการแก้ปัญหา คำถามคือ ทำไมประเทศเผด็จการหลายประเทศทั่วโลกจึงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ อย่างจีนที่หลายคนชมว่าดี ดีที่ไหนละครับ ถ้าดีจริงคนจีนคงไม่มีหนีออกจากประเทศมาช่วงที่ระบาดหนัก และที่สถานการณ์บานปลาย เดือดร้อนวุ่นวายกันไปหมด ก็เพราะทางการไปจัดการกับหมอที่เจอโรคนี้ และหมอคนนั้นก็ตายไปแล้ว นี่แหละคือเผด็จการ ตัวเลขก็มีการปกปิดไว้ อย่างของไทยตัวเลขที่ประกาศอยู่ทุกวันมันอาจจะเพิ่มขึ้นอีกก็ได้ จำนวนคนที่ยังรอผลตรวจอยู่มีอีกเท่าไหร่ เรื่องนี้มันไม่เกี่ยวกับลูงตู่ ไม่ได้เกี่ยวกับธนาธร มันเป็นเรื่องการจัดการ และสติปัญญาในการจัดการสถานการณ์” ชำนาญ กว่า

รีดไถเศรษฐีกลางจอโทรทัศน์ในขณะที่เงินทุนสำรองยังมี อาการแบบนี้เรียกว่า 'ไร้กึ๋น'

ชำนาญ กล่าวต่อไปถึง มาตรการเยียวยาของรัฐบาลผ่านเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” ซึ่งแทนที่จะเป็นการช่วยเหลือคน กลับการเป็นการสร้างความเกลียดชังกันให้คนในชาติ คนที่ได้รับเงินตอนนี้ตัวเลขอยู่ที่ 2 ล้านคน แล้วคนที่ไม่ได้มีอีกเท่าไหร่ นอกจากนี้แทนที่จะสร้างความพอใจให้กับประชาชน กลับกลายเป็นทำให้คนไม่พอใจรัฐบาลเพิ่มมากขึ้นอีก

“ล่าสุดเมื่อวานนี้อยู่ดีๆ ก็ประกาศรีดไถ่เขาดื้อๆ กลางจอโทรทัศน์ โอ้...ใครเป็นกุนซือเรื่องนี้ทำไมอยู่ๆ ทำปืนลั่นใส่เท้าตัวเอง ก่อนหน้าที่ก็ไปประกาศว่าจะเอาเครื่องไม้เครื่องมือไปให้เพื่อนอาเซียน ไทยเรายังมีไม่พอเลย ส่วนที่จะขอความช่วยเหลือจากมหาเศรษฐีทั้งหลาย สุดท้ายก็จะสร้างให้เกิดฮีโร่ขึ้นมาอีก เรื่องแบบนี้ถ้าจะทำกัน จะช่วยเหลือกันไม่ต้องออกสื่อก็ได้ ยิ่งทำแบบนี้ก็จะยิ่งทำให้คนมองว่า มันมีอะไรแอบแฝงหรือเปล่า มีประโยชน์ต่างตอบแทนกันหรือไม่ มันมองได้หลายอย่าง ผมว่ากุนซือที่วางแผนครั้งนี้ สอบตก คะแนนติดลบ”

“เงินงบประมาณของไทยไม่ใช่ว่าจะไม่มี เรามีเงินเยอะ เงินทุนสำรองก็มี และ พ.ร.บ.งบประมาณ เงินก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ เงินทุนสำรองเราก็แข็งแกร่งกว่าหลายประเทศด้วย ของแบบนี้มันอยู่ที่กึ๋น”

“ส่วนประชาชนที่เขาออกมาโวยเรื่องไม่ได้เงินเยียวยา จริงๆ เขาไม่ได้ต้องการเงิน 5,000 บาทนี่หรอก ถ้าเปิดให้เขาได้ทำมาหากินได้ เขาไม่ต้องการหรอกเงิน 5,000 นี้ แต่นี่หากินก็ไม่ได้ ลงทะเบียนก็ไม่ได้ บางคนก็เข้าไม่ถึงการลงทะเบียน แถมมาตรการช่วยเหลือนี่ก็มาช้า และดำเนินการไม่ถูกต้อง ยิ่งทำให้ประชาชนเขาเจ็บใจ”

สุดท้ายชำนาญ วิเคราะห์ว่า รัฐบาลอาจจะประกาศต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอย่างน้อยอีก 1 เดือน แต่จำเป็นต้องประเมินและดูว่าอะไรควรผ่อนปรนลงบ้าง และควรพิจารณาอย่างเสมอภาคกัน ไม่เปิดช่องเอื้อต่อคนบางกลุ่มเท่านั้น

อย่างไรก็ตามต่อให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ สามารถแก้ไขปัญหาการระบาด และปัญหาเศรษฐกิจได้ดีหลังจากนี้เพียงใด ชำนาญเห็นว่า รัฐบาลไม่สามารถหนีพ้นความรับผิดชอบครั้งนี้ได้ เพราะหลังจากมีข่าวว่าเกิดโรคนี้ขึ้นที่อู่ฮั่น รัฐบาลยังเปิดต้อนรับคนจากอู่ฮั่น ระบบการตรวจคัดกรองโรคที่สนามบินเองก็ยังไม่ดีพอ อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการประกาศล็อคดาวน์ สั่งปิดกิจการต่างๆ ที่ไม่สมเหตุสมผล เรื่องเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่รอบคอบ รวมทั้งเรื่องการเคอร์ฟิว การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เองก็ไม่มีความจำเป็นที่จะประกาศ แต่เมื่อประกาศแล้วก็ควรใช้อำนาจเท่าที่จำเป็นไม่ใช่ว่าทำให้เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมาอีกไม่รู้จบ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net