Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศข้อกำหนดออกตาม ม.9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าฯ จนท.ควบคุมโรคฯ ผู้มีอํานาจตาม กม.เดินอากาศ-คนเข้าเมือง ทั้งการห้าม การให้กระทําการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ที่ออกก่อนวันที่ข้อกําหนดนี้ใช้บังคับถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตาม พ.ร.ก. นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา ยังประกาศให้ 'กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง' ซื้อหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแล้ว

29 เม.ย.2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9  แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 4) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ ว่า ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอํานาจตามกฎหมายว่าด้วย การเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกําหนดนี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทําการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่งตามข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกําหนด ประกาศ หรือ คําสั่งเป็นอย่างอื่น

สำหรับ ม.9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บัญญัติไว้ว่า 

"ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วหรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้

 (1)   ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

 (2)   ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

 (3)   ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

 (4)   ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

 (5)   ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

 (6)   ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่ง จะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้"

ขณะที่ก่อนหน้านั้นวันเดียวกัน ไทยพีบีเอส รายงานว่า  ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร แถลงผลประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. เรื่องผ่อนปรนให้เปิดกิจการ 8 ประเภท ระบุว่า ได้ต่ออายุปิดสถานที่ทำการที่มีความเสี่ยงสูงทั้งหมด ทั้งผับ บาร์ สถานบันเทิง เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยให้ปิดถึงวันที่ 31 พ.ค.นี้

สำหรับการเปิดกิจการ 8 ประเภทนั้น ยังรอข้อกำหนดการจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เพื่อให้เปิดพร้อมกันทั่วประเทศ ลดความแออัดและการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด เช่น กรณี กทม.ประกาศเปิดก่อน อาจทำให้มีคนจาก จ.นนทบุรี เข้ามาตัดผมใน กทม.ได้ ส่วนการจำหน่ายสุรา ต้องรอการพิจารณาในหลักการจากรัฐบาลก่อน และ กทม.จะประกาศมาตรการต่อไป

ประกาศให้ 'กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่อง' ซื้อหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแล้ว

ราชกิจจานุเบกษายังออกประกาศคณะกรรมการกำกับกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ที่ 1/2563 เรื่องนโยบายแนวทางการดำเนินงานกรอบการลงทุนและกรอบการบริหารความเสี่ยงของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ โดยมติชนออนไลน์สรุปใจความไว้ว่า ประกาศดังกล่าวออกมาเพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ ให้สามารถเข้าไปซื้อตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่อออกใหม่ของบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และรัฐวิสาหกิจได้ โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.2564 หรือจนกว่าจะมีมูลค่าการลงทุน ณ เวลาใดเวลาหนึ่งเป็นจำนวน 4 แสนล้านบาทแล้วแต่เวลาใดจะถึงก่อน ในกรณีที่มูลค่าการลงทุนยังไม่ครบจำนวน 4 แสนล้านบาท และคณะกรรมการกำกับกองทุนเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาการลงทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจคณะกรรมการกำกับกองทุนอาจพิจารณาขยายระยะเวลาลงทุน ทั้งนี้ เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยวิธีการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ออกใหม่ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.นี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net