Skip to main content
sharethis

ศรีสุวรรณจ่อร้อง ป.ป.ช.สอบศูนย์เฟคนิวส์บิดเบือนข่าวปลอมเสียเอง กรณี อสม. พิษณุโลกไม่ได้รับค่าตอบแทน ขณะที่เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยลบหน้าข่าวที่ระบุว่า ข่าว อสม. พิษณุโลก เป็นข่าวปลอมออกไปแล้ว

7 พ.ค. 2563 ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏว่า พี่น้อง อสม.ใน จ.พิษณุโลก ไม่ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานเต็มจำนวน 240 บาท ตามที่กำหนดไว้ ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อควบคุมป้องกันโรค COVID-19 จนนำไปสู่การร้องเรียนตามข่าวที่ปรากฏในสื่อสาธารณะต่างๆ และขณะนี้ยังไม่ทราบความชัดเจนว่าจะได้รับ เงินค่าตอบแทนเต็มจำนวน 240 บาท หรือได้รับแค่ 120 บาทนั้น ปรากฏว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (ศูนย์ต่อต้านเฟคนิวส์) ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือ ดีอี ได้นำเสนอระบุว่า เรื่องดังกล่าวมีเนื้อหาไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นข่าวบิดเบือน ในขณะที่ อสม. ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนการปฏิบัติหน้าที่ในเวลานี้นั้นคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น จนมี อสม.จำนวนมากออกมาบุกศาลากลางเพื่อยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลกเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563

ศรีสุวรรณ ระบว่า การสื่อสารในลักษณะดังกล่าวได้ก่อให้เกิด ความสับสนและหลายฝ่ายโดยเฉพาะเครือข่าย อสม. ทราบแล้วไม่สบายใจ ซึ่งถือได้ว่าศูนย์ฯ ดังกล่าวมีเจตนาที่จะทำลายความเชื่อถือของ อสม. และสร้างข่าวบิดเบือนเพื่อเอาใจฝ่ายราชการหรือรัฐบาลด้วยกันเอง โดยไม่คำนึงถึงกฎหมายที่หน่วยงานของตนพึงปฏิบัติเสียเอง นั่นคือการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนด้วยข้อความอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ อสม. หรือประชาชน อันเป็นความผิดตาม ม.14 แห่ง พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดต่อคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2560 อันถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่โดยตรงด้วย

“กรณีที่เกิดขึ้น นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จะปฏิเสธความรับผิดชอบไปไม่ได้ เพราะได้ออกมาสร้างผลงานแถลงข่าวจับกุมผู้สร้างข่าวปลอมหลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อหน่วยงานของตนเองสร้างข่าวบิดเบือนเสียเอง กลับเงียบเฉยปล่อยผ่านไปเสียนั้น ย่อมไม่ใช่วิสัยของผู้บริหารที่มีหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ฯดังกล่าว ซึ่งควรต้องตั้งกรรมการมาสอบเอาผิดผู้ที่สร้างข่าวปลอมขึ้นมาในศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของดีอีหรือของรัฐบาลเสียเอง” ศรีสุวรรณ กล่าว

โดยสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะนำความดังกล่าวไปร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.เพื่อให้ดำเนินการไต่สวนและเอาผิด รมว.ดีอีและศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมดังกล่าวในวันที่ 8 พ.ค. 2563 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. นนทบุรี 

สำหรับการรวมตัวของ อสม. จังหวัดพิษณุโลกนั้น ไทยโพสต์ออนไลน์ ได้รายงานไว้เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2563 ระบุว่า คนาธิป นาทิพย์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เขตเทศบาลนครพิษณุโลก พร้อมกับกลุ่มเจ้าหน้าที่ อสม. จำนวนกว่า 100 คน ได้นัดรวมตัวกันบริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดพิษณุโลก เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีเงินเบี้ยเลี้ยงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีการเขียนป้ายเดินขบวนไปยังด้านหน้าศาลากลางจังหวัด ที่มีคำบรรยายเขียนว่า “เราไม่ต้องการเงิน แต่เราต้องการความชัดเจน” “240 ก็ไม่ได้ 120 ก็ไม่ได้ ได้เท่าไรแน่คะท่านผู้ว่าฯ” เป็นต้น ทั้งการออกมารวมตัวกันสืบเนื่องจาก ก่อนหน้านี้ อสม. ใน จ.พิษณุโลก ออกมาเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตรวจสอบ เรื่องเบี้ยเลี้ยงจำนวน 240 บาท ที่ได้รับคำสั่งให้ออกไปปฏิบัติตรวจคัดกรองไวรัสโควิด 19 ของคนในชุมชน ระหว่างวันที่ 12 เม.ย. ถึง 30 เม.ย. เป็นเงินจำนวน 5,040 บาท แต่สุดท้ายหน่วยงานราชการไม่สามารถเบิกเงินดังกล่าวมาให้ อสม. ได้ เนื่องจากผิดระเบียบของกรมบัญชีกลาง จึงต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนและกลุ่ม อสม. รับทราบ แต่ปรากฎว่า ศูนย์สุขภาพที่ 2 พิษณุโลก ให้ข่าวกับเพจเอนตีเฟคนิวส์ (กระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) แจ้งข่าวว่า อสม. ในจังหวัดพิษณุโลกไม่ได้รับค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ “เป็นข่าวบิดเบื่อน” จึงต้องออกมาเดินขบวนเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ตวรจสอบไปยังเว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย พบว่าไม่มีหน้าข่าวดังกล่าวอยู่แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net