Skip to main content
sharethis

เมื่อพูดถึงคนฆ่าตัวตาย สังคมจะนึกถึงอะไร? นี่เป็นความผิดในชีวิตส่วนตัว หรือความสัมพันธ์ในสังคมหรือที่เรียกว่า ‘โครงสร้างทางสังคม’ ชวนคุยถึงประเด็นนี้กับหนึ่งในนักวิจัยคนจนเมืองฯ ‘อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์’ พร้อมมองกรณีของ ‘ปลายฝน’ หญิงสาววัย 20 ปี ที่ทิ้งภาพวาดสุดท้ายเพื่อวิพากษ์รัฐ ก่อนตัดสินใจจบชีวิต ผ่านข้อมูลการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน

‘การฆ่าตัวตาย’ ปรากฏในหน้าสื่อมวลชนในหลายต่อหลายครั้ง แน่นอนว่าทุกการจากไป ล้วนมาจากการตัดสินใจหรือเรื่องราวที่แตกต่างกันของแต่ละคน บ้างกล่าวว่า “นั่นเป็นเพราะพวกเขาไม่สู้ และคิดสั้นเกินไป” บ้างว่า “ถ้าทนไม่ได้ก็ให้ตายไป” หลายคำตัดสินจากสังคมมุ่งเป้าไปที่ปัญหาที่ตัวบุคคลนั้น หรือปัญหา ‘เชิงปัจเจกบุคคล’ มากกว่าการตั้งคำถามไปที่ระบบความสัมพันธ์ของกลุ่มคนในสังคมหรือที่เรียกว่า “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” อย่างเช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเมือง อันเป็นเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ ผู้คนในสังคมมีโอกาสในชีวิตที่ไม่เท่ากัน ขณะที่สวัสดิการของรัฐที่เป็นอยู่ยังทำได้เพียงการสงเคราะห์ผู้ยากไร้ สร้างเงื่อนไขให้ผู้คนต้องลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยการพิสูจน์ความยากจน เพื่อให้ได้รับเงินเยียวยา

หนึ่งในกรณีที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากคือ กรณีของ ‘ปลายฝน’ หญิงสาววัย 20 ปี เธอมีพรสวรรค์ในการวาดภาพเหมือน ก่อนหน้าที่เธอจะตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลง เธอพยายามดิ้นรนหาทางออกจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ด้วยการโพสต์รับจ้าางวาดภาพเหมือนในราคาภาพละ 300 บาท แต่ช้าเกินไปเมื่อการมองเห็นและความต้องการช่วยเหลือเดินทางมาถึงเมื่อวันที่เธอจากไปแล้ว 

ในวัย 20 ปี สำหรับหลายๆ คน คงเป็นวัยหนุ่มสาวที่กำลังเริ่มตั้งต้นชีวิต บางคนมีความฝัน บางคนกำลังศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย บางคนกำลังเริ่มสร้างครอบครัว แต่สำหรับปลายฝนหญิงสาวคนหนึ่ง เธออยู่บทบาทของคนทำงาน และแม่ซึ่งมีลูกน้อยวัยไม่ถึงขวบปีที่ต้องดูแล ภายใต้สภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับการระบาดของไวรัส covid-19 ‘ปลายฝน’ คือตัวแทนของประชาชนที่ไร้โอกาสมากกว่าครึ่งหนึ่งในประเทศไทย ที่พยายามส่งเสียงให้โลกรับรู้ผ่านสเตตัสของเธอบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “พวกเราคือคนที่กำลังได้รับความเดือดร้อน” เธอวาดภาพเหมือนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มาจากการรัฐประหาร 2557 และสืบทอดอำนาจต่อหลังการเลือกตั้ง 2562

‘ปลายฝน’ ระบุข้อความวิพากษ์การทำงานของรัฐบาลพร้อมกับ ‘ภาพวาดสุดท้าย’ พร้อมระบายถึงความเดือดร้อนและปัญหาที่ต้องเผชิญ ในตอนหนึ่งของข้อความบนเฟซบุ๊ก เธอระบุว่า “วาดภาพนี้ทั้งน้ำตา” ก่อนตัดสินใจจบชีวิตลง

 

โพสต์ของปลายฝน

 

กระจกสะท้อนสังคม? ผลักความผิดให้ปัจเจก ลดทอนปัญหาเชิงโครงสร้าง

หากติดตามข่าวที่เกิดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา คงพอจะเห็นว่า ‘ทิศทาง’ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในกรณีของ ‘ปลายฝน’ ได้ให้น้ำหนักไปที่ปัญหาเชิงปัจเจกบุคคล ปัญหาครอบครัว และปัญหาส่วนตัว เสียส่วนใหญ่ มากกว่าปัญหาในมิติทางสังคม หรือวิพากษ์ไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง

การฆ่าตัวตายของประชาชนตัวเล็กๆ หนึ่งคน สะท้อนให้เห็นอะไร?...

จากรวบรวมการรายงานข่าวของสื่อมวลชนบนอินเตอร์เน็ตเท่าที่พบ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2563 ถึงวันที่ 4 พ.ค. 2563 จำนวน 53 ข่าว สามารถแบ่งกลุ่มเนื้อหาการนำเสนออย่างหลวมๆ ได้  4 ประเด็นใหญ่ คือ 1.เนื้อหาข่าวที่เผยให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาทางสังคม 9 ข่าว 2.เนื้อหาข่าวที่เผยให้เห็นว่าการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาในระดับปัจเจก 27 ข่าว 3.เนื้อข่าวที่ขยายประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง 12 ข่าว**(ดูหมายเหตุท้ายรายงาน) และ 4.เนื้อข่าวที่ระบุถึงการช่วยเหลือจากรัฐ และเอกชน 5 ข่าว หากหยิบยกเพียงตัวเลขของข่าวทั้งหมด พบว่า ทิศทางการรายงานถูกให้น้ำหนักไปที่ประเด็นเรื่องส่วนตัวของผู้เสียชีวิต ในมิติของปัญหาในเชิงปัจเจกบุคคล ขณะเดียวกันข่าวเกี่ยวกับมิติทางสังคม เป็นเพียงการรายงานจากสเตตัสของผู้เสียชีวิตที่วิพากษ์รัฐบาลโดยตรง

การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยจำแนกตามวันที่ ยังทำให้เห็นว่า ทิศทางการนำเสนอของสื่อมวลชน ในช่วงแรกประเด็นข่าวการฆ่าตัวตายของปลายฝนถูกนำเสนอไปในทิศทางเชิงสังคม โดยอ้างอิงจากสเตตัสและรูปวาด พล.อ.ประยุทธ์ ของปลายฝน และการให้สัมภาษณ์ของบุคคลใกล้ชิด เช่น ญาติ สามี รวมไปถึงมุมมองของนักการเมืองถึงเรื่องดังกล่าว จุดเปลี่ยนสำคัญหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาเปิดเผยว่าปลายฝนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลแล้ว ทิศทางการนำเสนอข่าวของสื่อจึงเน้นไปที่การสำรวจตรวจสอบว่าเงินเยียวยาที่ได้รับนั้่นหายไปที่ใด รวมถึงขยายผลไปถึงความมสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้เสียชีวิต กระทั่งปรากฏเป็นข่าว สามีของปลายฝนนำเงินเยียวยาไปผ่อนรถถึง 12 ข่าว จาก 53 ข่าว

ขณะเดียวกัน พบว่า มีการรายงานเนื้อหาข่าวที่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง หรือ การขยายประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าว ‘นักการเมือง’ หรือ ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ จากขั้วขัดแย้งทางการเมืองเท่านั้น ไม่ได้เป็นการนำเสนอข่าวการเมืองในมิติที่เป็นโครงสร้างอำนาจทางการเมือง ส่วนการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือของรัฐและเอกชนพบว่า มีจำนวนเพียง 5 ข่าว ที่น่าสนใจ คือ เมื่อวิเคราะห์ไปถึงการเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือของรัฐต่อกรณีนี้ เป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น (หรืออาจเรียกว่าเป็นการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์ เช่น การนำนมผง ผ้าอ้อมไปให้ลูกของผู้เสียชีวิต) ทว่ายังไม่พบเนื้อหาข่าวที่เป็นการตั้งคำถามหรือการนำเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาในระดับโครงสร้าง หรือนโยบายในระยะยาว 

และหากพิจารณาไปในระดับการนำเสนอข่าวในเชิงลึก สื่อส่วนใหญ่มีทิศทางไปในแง่มุมของปัจเจก ยกตัวอย่าง เช่น  การนำเสนอเกี่ยวกับนโยบายเงินเยียวยา 5,000 บาทจากรัฐบาล ซึ่งเป็นการรายงานเนื้อหาในระดับสังคม แต่กลับเป็นในแง่มุมปัญหาในครอบครัวที่เกิดจากสามีของผู้เสียชีวิต มากกว่าการรายงานข่าวที่จะเผยให้เห็นรากเหง้าของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่กดทับผู้คนมาอย่างยาวนาน ไม่ใช่เพียงสถานการณ์โควิด-19 อันเป็นปัญหาเฉพาะหน้า หรือในมิติเชิงโครงสร้างทางสังคมอื่นๆ เช่น สวัสดิการรัฐ การศึกษา ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

มากไปกว่านั้น สื่อบางแห่งมีวิธีการนำเสนอข่าวไปในทิศทางที่ว่า นี่ไม่ใช่ความผิดจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล ตัวอย่างของ ผู้ดำเนินรายการช่องหนึ่งแสดงอาการวางปากกา พร้อมอุทานว่า “นั่นไง” หลังจากสัมภาษณ์ญาติของผู้เสียชีวิต และได้คำตอบว่า สาเหตุที่ผู้เสียชีวิตไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็นเพราะสามีของผู้เสียชีวิตนำเงินที่ได้มาไปผ่อนรถ

หมายเหตุ : การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ที่ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นตัวอย่าง เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรายงานข่าวทั้งหมด ที่นำมาเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์ โดยคัดเลือกจากตัวอย่างที่มีความน่าสนใจ และสามารถนำมายกตัวอย่างในประเด็นที่ต้องการนำเสนอได้ (ตารางทั้งหมดสามารถดูได้ท้ายรายงาน)

หากการรายงานข่าวส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่ ‘ปัญหาเชิงปัจเจกบุคคล’ และเนื้อหาข่าวที่ขยายประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง

ก่อนหน้าการเสียชีวิตของปลายฝนไม่นาน ผลการสำรวจ ‘ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง และข้อเสนอแนะทางนโยบาย’ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย คณะนักวิจัย 7 คน จากโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง เผยว่า จากการเก็บข้อมูลปรากฏ ‘ข่าว’ การฆ่าตัวตายของประชาชน อย่างแพร่หลาย และมีข้อมูลที่แสดงอย่างชัดเจนว่าเป็นผลกระทบสืบเนื่องมาจากมาตรการต่างๆ ของรัฐที่ได้ประกาศบังคับใช้ตั้งแต่ 22 มี.ค. 2563 เป็นต้นมา  เนื่องจากมาตรการของรัฐมุ่งเน้นการจัดการด้านสาธารณสุข แต่ละเลยการจัดเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที 

คณะดังกล่าวมีสมมติฐานว่าผลกระทบต่อประชาชนจะเกิดติดตามมาอย่างชัดเจนและรุนแรงขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ จึงได้ทำการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 มาจนถึงวันที่ 21 เม.ย. 2563 เพื่อแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการของรัฐในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 พบว่า นับแต่วันที่ 1-21 เม.ย. 2563 มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นรวมทั้งสิ้น 38 ราย ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 28 คน อีก 10 คน ยังไม่เสียชีวิต หากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากผลกระทบจากนโยบายและมาตรการของรัฐในช่วงเวลาเดียวกัน (วันที่ 1 ถึง 21 เม.ย. 2563) พบว่า จำนวนของผู้เสียชีวิตและผู้ที่ฆ่าตัวตายอยู่ในจำนวนที่เท่ากัน คือ 38 ราย ภายหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสังคมไทย รัฐบาลได้เลือกใช้มาตรการอย่างเข้มงวดและรุนแรงในการควบคุมโรค เช่น นโยบายการปิดห้างสรรพสินค้า การรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” การปิดเมือง หรือ lockdown ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของประชาชนได้อย่างเสรี เป็นต้น

ข้อมูลจากข่าวเหล่านั้น แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้ที่ฆ่าตัวตายมีจำนวนไม่แตกต่างกัน แต่รัฐบาลกลับให้ความสำคัญเฉพาะการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 โดยตรง ผ่านการแถลงข่าวรายวัน การประกาศใช้มาตรการอย่างเข้มงวด การทุ่มเททรัพยากรอย่างมหาศาล แต่แทบไม่ให้ความสำคัญต่อผู้ที่ฆ่าตัวตายอันเนื่องมาจากนโยบายหรือมาตรการของรัฐ  การฆ่าตัวตายเป็นโศกนาฎกรรมที่สามารถป้องกันได้หากรัฐบาลมีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพ รายงานชิ้นดังกล่าวยังระบุว่า การฆ่าตัวตายที่เกิดขึ้นเป็นข้อบ่งชี้ถึงความล้มเหลวของการจัดการของรัฐอย่างรุนแรงจนกระทั่งมีคนกลุ่มหนึ่งต้องตัดสินใจฆ่าตนเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่เผชิญอยู่ หลายกรณีปรากฏอย่างชัดเจนว่าความล่าช้าและความไร้ประสิทธิภาพในกรณีเงินเยียวยา 5,000 บาท คือสาเหตุแห่งการฆ่าตัวตาย

จากโครงการวิจัยด้วยการรวบรวมข้อมูลของสื่อมวลชนที่รายงานข่าวการฆ่าตัวตาย หนึ่งในนักวิจัยมองเห็นสิ่งใดผ่านการรายงานข่าวการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกรณีของปลายฝน สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง

แฟ้มภาพ

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มุมมองถึงเหตุที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายโดยให้น้ำหนักเพียงแค่เรื่องปัจเจกบุคคล สิ่งนี้สามารถอธิบายได้ว่า นี่เป็นเรื่องปกติของสังคมไทย เมื่อใดสิ่งนั้นกระทบกระเทือนกับ ‘ความชอบธรรมของรัฐ’ เพื่อลดความแหลมคมของปัญหานั้นไป ตัวอย่างการนำเสนอข่าวของ ปลายฝน กลายเป็นปัญหาที่เกิดจากสามี ทั้งที่รากลึกของปัญหานี้คือความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง

“มันเป็นกระบวนการทำให้ปัญหาทั้งหมดกลายเป็นปัญหาของปัจเจกบุคคล (individualize) ลดความเข้มข้น และความแหลมคมของปัญหา… ปัญหาโควิด หรือปัญหาการรับเงินเยียวยาเป็นฟางเส้นสุดท้าย ถ้าฟางเส้นนี้ไม่กดทับเขา เขาก็อาจจะมีชีวิตต่อไปก็ได้ เพราะฉะนั้นภาวะกดทับมันมาจากโครงสร้าง เศรษฐกิจ การเมือง ความเหลื่อมล้ำ ถ้าสังคมไทยคิดเรื่องนี้ให้กว้าง มองให้พ้นปัญหาเชิงปัจเจก เราอาจจะมีทางผลักดัน นโยบายของรัฐที่สามารถลดทอนความเหลื่อมล้ำได้” อรรถจักร์ กล่าว

คนฆ่าตัวตาย การเมือง ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง

หากการฆ่าตัวตายของคนในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด หรือการที่คนจนหมดหนทาง ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาในระดับปัจเจกบุคคล และฟางเส้นสุดท้ายของปัญหา คือ การไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง สวัสดิการรัฐ อย่างที่ได้กล่าวไปในข้างต้นของรายงานแล้วนั้น เราอาจมองปรากฏการณ์นี้ผ่านแว่น ‘ทฤษฎีความรุนแรง’ ที่ชี้ให้เห็นว่า โครงสร้างทางสังคมต่างหากที่เป็นผู้กระทำ ส่วนคนที่อยู่ภายใต้โครงสร้างทางสังคมนั้นเป็น ‘เหยื่อ’

โยฮัน กัลตุง (Johan Gultung) ภาพจากวิกิพีเดีย

นักวิชาการสันติวิธีชาวนอร์เวย์นาม โยฮัน กัลตุง (Johan Gultung) ผู้มีชื่อเสียงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความรุนแรง เสนอว่า ความรุนแรงมีทั้งชนิดที่มองเห็นได้ชัด และทุกคนอาจมองเห็น และคุ้นเคยกันดี อย่างเช่น ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) ที่ปรากฏทางกายภาพ (physical violence) เช่น สามีทุบตีภรรยา การปล้นจี้เพื่อชิงทรัพย์ รวมไปถึงการฆ่าตัวตาย แต่หากเรามองให้ลึกไปกว่าความรุนแรงทางตรง สิ่งที่ซ่อนอยู่หลังการกระทำที่รุนแรงเหล่านี้ คือ ‘โครงสร้างทางสังคมที่ไม่เท่าเทียม’ ที่บีบบังคับ กดทับ จนทำให้คนไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก บางคนจึงเลือกใช้ความรุนแรงโดยแตกต่างกันไป กล่าวคือ คนที่กระทำความรุนแรงเองก็อาจเป็นเหยื่อจากความรุนแรงที่โครงสร้างทางสังคมอีกทีหนึ่ง

‘อรรถจักร์’ อธิบายว่า ปัญหาที่สำคัญและรุนแรงมากในสังคมไทย คือ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เขายกข้อมูลตัวเลขจากปี 2559 ที่คนยากจนในประเทศไทยมีประมาณ 5 ล้านคน จนถึงปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้าน 7 แสนคน ขณะเดียวกันยังมีกลุ่มคน ‘เกือบจน’ (near poor) อีกจำนวนกว่า 10 ล้านคน โดยที่ผ่านมาในยามปกติ คนเหล่านี้พอจะดิ้นรนได้ แต่ความเหลื่อมล้ำนี้ กลับถูกกระแทกอย่างรุนแรงโดยการระบาดของโควิด-19 ทันทีที่มีการปิดเมือง ทำให้ภาคการผลิตไม่เป็นทางการหยุดทันที นั่นหมายความว่า ความเหลื่อมล้ำที่อาจจะมองเห็นไม่ชัดในยามปกติ ได้ปรากฎขึ้นอย่างเด่นชัด

จากการสำรวจของทีมวิจัยคนจนเมืองฯ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นคนจนเมืองอาจจะใช้ชีวิตอยู่ได้แค่ 3-7 วัน เพราะเงินที่มีคือ เงินที่หมุนวันต่อวัน ที่สำคัญคือเขาไม่มีทางออกในชีวิต สิ่งที่เขาหวังคือ ‘เงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ’ เพื่อยังชีพในช่วงนี้ แต่ในเมื่อกลไกของรัฐไม่สามารถให้คำตอบเขาได้ รวมถึงวิธีการคัดกรองผู้ที่จะได้รับเงินก็กีดกันเขาออกไปจากความช่วยเหลือ ทำให้ความหวังอันเดียวของเขามันหายไป จากเงิน 5,000 บาทของรัฐบาล นี่คือสิ่งที่ทำให้ขีวิตของคนที่สูญสิ้นความหวัง กลไกอำนาจแทนที่จะบอกเขาว่า เขาจะได้รับการเยียวยาทุกคนแน่นอนกลับพลักให้เขาต้องให้ไปตะเกียดตะกายด้วยตัวเอง

“ลองนึกถึงเขามีลูก มีพ่อแม่ที่ต้องดูแล ความเหลื่อมล้ำอันนี้กระแทกคน คนฆ่าตัวตายมีหลายสาเหตุ เขาก็มีความกดดันมานานแล้ว แต่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทับจนอูฐหลังหัก คือการไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ เปรียบเสมือนยอดของภูเขาน้ำแข็ง โควิดทำให้ภูเขาน้ำแข็งทั้งก้อนโผล่มา” อรรถจักร์ กล่าว

รศ.สมชาย อีกหนึ่งในคณะวิจัยคนจนเมือง ให้สัมภาษณ์ผ่าน Way Magazine  ระบุถึงวิธีการที่กระทรวงการคลังกำลังดำเนินการในการคัดเลือกบุคคลที่จะได้รับการเยียวยาว่า สะท้อนหลักคิดที่ผิดพลาด ที่มุ่งคัดกรองเฉพาะคนผ่านตะแกรงร่อนมารับความช่วยเหลือโดยไม่ได้ตระหนักว่ามาตรการที่เข้มงวดของรัฐ ทำให้ผู้ประกอบอาชีพนอกระบบต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า อีกทั้งวิธีการดังกล่าวยังล่าช้าและเกิดข้อผิดพลาดในหลายกรณี เพราะเชื่อมั่นในระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) มากเกินไป โดยไม่ได้ตระหนักว่าระบบ AI หากไม่มีฐานข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดี อรรถจักร์ กล่าวว่า การที่คนจะตัดสินใจฆ่าตัวตายมาจากหลายปัจจัย แต่เราคงต้องมองการฆ่าตัวตายด้วยเหตุผลอื่นๆ ด้วย อย่ามองเป็นเพียงเรื่องความล้มเหลวส่วนบุคคลเพียงเท่านั้น มีการการศึกษาเรื่องจิตวิทยาสังคมมากมายที่พยายามจะอธิบายว่า ภาวะความกดดันในชีวิตคนทำให้คนสูญสิ้นความหวังได้อย่างไร ซึ่งมันอาจะสัมพันธ์กับเรื่อง ‘โอกาสในชีวิต’ ที่มีไม่เท่ากัน ทั้งหมดนี้คือเรื่องของโครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำ

รัฐรวมศูนย์อำนาจ ทำให้คนเข้าไม่ถึงโอกาสความช่วยเหลือ

จากภาพวาด พล.อ.ประยุทธ์ และข้อความที่พูดถึงการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นภาพและข้อความสุดท้ายก่อนตัดสินใจจบชีวิต ภาพดังกล่าว ส่งผลให้นักการเมืองทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล เข้ามามีบทบาทภายหลังการเสียชีวิตของปลายฝน ดังปรากฏให้เห็นผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ นักการเมืองบางคน หรือ เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงให้สัมภาษณ์ว่าอย่าเรื่องนี้โยงถึง ‘การเมือง’

ภาพวาดของปลายฝน พร้อมเนื้อเพลงไกล ของมาโนช

กรณีนี้ อรรถจักร์ มองว่า เป็นเรื่องทางการเมืองแน่นอน เพียงแต่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมือง ดังที่มีการรายงานข่าวนักการเมืองที่เข้าไปมีบทบาทภายหลังการเสียชีวิตของปลายฝน การเมืองสำหรับอรรถจักร์ คือการเมืองเชิงโครงสร้าง เขาชี้ว่า ระบบการเมืองของประเทศไทยที่ยังเป็น ‘รัฐรวมศูนย์’ ทำให้อำนาจการตัดสินใจต่างๆ อยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้คนในชนบท คนต่างจังหวัด ต้องไปพึ่งการตัดสินใจของข้าราชการกระทรวงคลัง ซึ่งข้าราชการในกระทรวงจะเข้าใจคนจนมากพอหรือไม่ ในเมื่อเขาทำงานกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในส่วนกลาง โจทย์ก็คือเราจะทำอย่างไรให้การกระจายความช่วยเหลือลงไปในท้องถิ่น เพื่อให้ผู้คนเขาอยู่รอดในช่วงนี้ไปได้ก่อน ภาพของประชาชนที่ไปดักรอเพื่อสอบถามว่าเหตุใดตนเองถึงไม่ได้รับสิทธิในการเยียวยา 5,000 บาท ที่กระทรวงการคลัง นี่คือตัวอย่างของกลไกอำนาจรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ นี่คือความเหลื่อมล้ำของอำนาจการเมือง พร้อมกันนั้น สิ่งที่ปรากฏชัดขึ้นมาจากสถานการณ์ในช่วงโควิด-19 ก็คือ ‘ความเหลื่อมล้ำทางวัฒนธรรม’ ที่คนชนชั้นกลางมองว่า “คนจนว่ารอแต่จะได้”

นอกจากนี้ จากนโยบายช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลที่ต้องให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านอินเตอร์เน็ต อรรถจักร์ ชวนให้มองถึงเรื่องโอกาสในชีวิตอีกครั้งว่า หากเราลองนึกถึงโอกาสในการเข้าถึงโทรศัพท์มือถือสักเครื่องหนึ่ง คนจำนวนหนึ่งยังใช้โทรศัพท์แบบปุ่มกด ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งใช้สามาร์ทโฟน รวมถึง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน โอกาสในชีวิต ฯลฯ ทำให้คนจำนวนหนึ่งยังหาทางไปไม่ได้

อรรถจักร์ ยกตัวอย่าง นโยบายการฝึกงานหรือการพัฒนางานฝีมือที่มาจากรัฐ โดยที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการพัฒนาฝีมือแรงงานของชาวบ้านเอง เช่น เขามีความถนัดอีกแบบหนึ่ง อาจจะอยากฝึกวิชาชีพอีกแบบหนึ่ง แต่รัฐจัดไม่สอดคล้องกับความต้องการของเขา ดังนั้น ความไม่เท่าเทียมมันกินไปทุกมิติของสังคม สถานการณ์โควิด ท้ายที่สุด ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำมันปะทุขึ้นมา

อรรถจักร์ ยังมองว่า นอกจากนี้ คนที่ทำงานในรัฐบาลกลับผลักการทำงานโดยไร้ประสิทธิภาพ ด้วยการบอกว่า “อย่าโยงเรื่องนี้เข้ากับการเมือง” ทำให้ความไร้ประสิทธิภาพของตัวเองไม่ถูกจับต้อง นี่คือกลวิธีทางการเมืองทั่วไปของนักการเมืองไทย สังคมต้องอย่าไปติดกับกลการเมืองอันนี้

ฆ่าตัวตายเพราะโควิด ไม่เท่าวิกฤติเศรษฐกิจ 40?

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19  พูดในแถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยตอบคำถามสื่อมวลชน เกี่ยวกับปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนที่มาจาก Covid-19 ว่า ไม่ได้สูงไปกว่าตอนวิกฤตเศรษฐกิจ หรือ ‘ต้มยำกุ้ง’ ปี 2540

ถ้าเราลองเทียบระหว่าง 2 วิกฤตินี้มันแตกต่างกันอย่างไร?

อรรถจักร์ กล่าวว่า การที่ ศบค. แถลงข่าวเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา นี่เป็นครั้งแรกที่พูดถึงผู้ที่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในช่วงสถาณการณ์โควิด-19 เกิดขึ้นหลังจากคณะวิจัยคนจนเมืองเผยแพร่รายงานการวิจัยไปแล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์ เขามองว่า ในแง่หนึ่งเป็นเรื่องดีที่รัฐตระหนักว่าการฆ่าตัวตายเป็นปัญหา แต่การที่พูดว่าจำนวนน้อยกว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ดูเป็นการเบาปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำไป ขณะเดียวกันการพูดแบบนี้ สะท้อนความเข้าใจผิดเรื่อง ‘การเปลี่ยนแปลงของชนบท’ วิกฤติเศรษฐกิจ หรือต้มยำกุ้ง ในปี 2540 ผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ ชนชั้นกลาง นักธุรกิจ ระบบการเมืองชั้นบน แต่วิกฤติวันนี้มันลามไปถึงชนชั้นล่าง คือคนระดับฐานราก ทีนี้เมื่อเขาหันกลับไปสู่เครือข่ายเดิม คือ ครอบครัวในต่างจังหวัดปรากฏว่าสังคมชนบทได้เปลี่ยนไปจากเดิม

“ชนบทที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การหันไปพึ่งครอบครัวลดน้อยลง สังคมชนบทกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น ถ้ารัฐไม่แก้ไขเรื่องนี้ในระยะยาว อย่างมีประสิทธิภาพ การฆ่าตัวตายจะสูงมากขึ้น” อรรถจักร์ กล่าว

อรรถจักร์ ให้แนวทางว่า รัฐจะต้องบรรเทารากเหง้าของปัญหา อย่างจริงจัง ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลพยายามจัดการปัญหาด้วยการกู้เงิน 4 แสนล้านบาท ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งสำคัญ คือ สังคมต้องบีบให้รัฐคิดว่านี่ไม่ใช่การซื้อเสียง หรือ ‘โครงการประชารัฐ’ โดยเป้าหมายคือการทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่รอดในสถาการณ์ช่วงนี้ พร้อมไปกับการลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาฝังลึกมานานด้วย รวมทั้ง นี่อาจถึงโอกาส ‘การปฏิรูปที่ดิน’ ที่ถูกครอบครองโดยคนเพียง 300 ตระกูล อย่างเช่น รัฐสามารถเช่าที่ดินส่วนนี้ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้หรือไม่ในช่วงนี้ แล้วค่อยคิดถึงเรื่องความเสมอภาคในการครอบครองปัจจัยการผลิตเป็นนโยบายในภายภาคหน้า

นอกจากนี้ ในเรื่องของคนฆ่าตัวตาย หน่วยราชการที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาพจิต จำเป็นต้องคิดใหม่ ปัญหาทางจิตใจไม่ได้เป็นเพียงเรื่องปัจเจกบุคคล แต่สัมพันธ์กับมิติทางเศรษฐกิจ การเมือง ต้องมีการทำงานลงพื้่นที่ จะมานั่งรอให้คนโทรศัพท์ไปหามันเป็นไปไม่ได้ ศบค. เองต้องลองคิดว่าควรจัดการให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างไร อรรถจักร์ เสนอ

สำรวจการรายงานข่าวของสื่อมวลชนกรณีการฆ่าตัวตายของ ‘ปลายฝน’

ตารางเก็บข้อมูลการรายงานข่าวของสื่อมวลชนกรณีการฆ่าตัวตายของ ‘ปลายฝน’ เท่าที่พบตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย.-4 พ.ค. 2563 อย่างน้อย 53 ข่าว จำแนกตามเนื้อหาที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net