Skip to main content
sharethis

'สามเกลอก้าวไกล' แนะเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-กลับไปใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทน เหตุเคอร์ฟิวกระทบคนหาเช้ากินค่ำหนัก - ย้อนถามใคร “ฉุกเฉิน” กันแน่ รัฐหรือประชาชน? เลขาธิการพรรคขีดเส้นยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนเปิดสมัยประชุมสภา

15 พ.ค.2563 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯพรรคก้าวไกล, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯพรรคก้าวไกล, และจิรวัฒน์ อรัญกานนท์ ส.ส.กรุงเทพฯพรรคก้าวไกล ร่วมจัดรายการเฟซบุคไลฟ์ทางเพจพรรคก้าวไกลในชื่อ “3 เกลอก้าวไกล” ชวนคุยกันเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน

อัดรัฐไม่ให้ความสำคัญแต่แรก เหตุต้องออก “พ.ร.ก.” ทำประชาชนร่วมแบกรับกรรม

โดยในช่วงหนึ่งของรายการนั้น จิรวัฒน์ระบุว่า ถ้าเราย้อนไทม์ไลน์ไปดูให้ดี เราจะเห็นได้ว่าเหตุที่มาของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐ ที่ไม่ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก ถ้าเราย้อนไปดูจะเห็นว่าโรคเริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีนตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 แล้วจีนประกาศปิดเมืองล่าช้าจนกระทั่งคนออกนอกประเทศไปก่อนหลายล้านคน ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ชาวจีนมากันเป็นจำนวนมาก แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ได้เตรียมมาตรการทางสาธารณสุขรองรับตั้งแต่เกิดเรื่องนี้ขึ้น

ต่อมาจึงมีการมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้โควิดเป็นโรคติดต่ออันตรายเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ต้องใช้เวลาสามเดือน กว่าที่จะมีการประกาศให้เป็นโรคอันตราย แล้วต่อมาจึงมาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในวันที่ 26 มีนาคม

จิรวัฒน์รัะบุว่าถ้ามีการมอนิเตอร์ตั้งแต่เดือนมกราคม ถ้ามีการเตรียมมาตรการ เราคนไทยจะไม่ต้องแบกต้นทุนทางเศรษฐกิจร่วมกันแบบนี้ อาจจะไม่ต้องปิดเมืองและเคอร์ฟิวขนาดนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ต้นเหตุก็มาจากการบริหารงานของภาครัฐที่ล้มเหลวและไม่ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก

เป็นงง รัฐออกแอพฯ 5 หน่วยงาน 5 แอพฯ ซ้ำกันทุกตัว แนะปรับเหลือตัวเดียวให้ทุกคนใช้แบบไม่งง

ในส่วนของณัฐพงษ์นั้น ระบุว่าถ้าเราดูจากสิ่งที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-2019) หรือ ศบค. ที่แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมาออกมาค่อนข้างต่ำ เราจะเห็นได้ว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเอาไว้อยู่

การเปิดเมืองมีความน่ากลัวในเรื่องการแพร่ระบาดระลอกที่สองก็จริง อย่างเช่นในไต้หวันที่เริ่มมีตัวเลขระลอกที่สองเกิดขึ้นมาแล้ว แต่การป้องกันก็ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ เช่นเทคโนโลยี contact tracing ที่ติดตามประวัติบุคคลที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ ซึ่งต่างประเทศใช้กันไปนานพอสมควรแล้ว

แต่เท่าที่ตัวเองเห็นวันนี้ ทางการไทยปล่อยแอพพลิเคชั่นออกมาหลายตัว แต่ทำเหมือนๆกันซ้ำๆกัน เช่นไทยแคร์, หมอชนะ, แอร์แทร็ก, และล่าสุดไทยชนะ ซึ่งออกมาโดย 5 หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในแบบเดียวกันทำซ้ำกันหมด 

ณัฐพงษ์กล่าวว่าพูดให้ถึงที่สุด เราสามารถใช้แอพพลิเคชั่นมาแทนมาตรการที่เข้มงวดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้ เช่นก่อนเข้าออกอาคารสถานที่ให้แสกน qr code เพื่อบันทึกประวัติในการเดินทางเข้าออกสถานที่ต่างๆว่าไปที่ไหนมาบ้าง เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อขึ้นมาก็จะสามารถติดตามความเสี่ยงได้ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมาใช้แอพพลิเคชั่นเดียวกัน ไม่ใช่ใช้กันคนละแอพพลิเคชั่นแบบนี้

ย้อนถามวันนี้ยัง “ฉุกเฉิน” จริงหรือไม่? หรือฉุกเฉินของใครกันแน่?

ณัฐชา ระบุในตอนหนึ่งว่าถ้าถามถึงเหตุผลที่ยังคงต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในวันนี้ แม้ตัวเลขจะต่ำลงแล้วก็ตาม ตนคิดว่าน่าจะเป็นเพราะความคุ้นเคยในการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า เพราะในอดีตเคยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจสามฝ่ายในสมัยเป็นหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจได้ตามใจชอบจนคุ้นชิน

ณัฐชาระบุต่อว่าทุกวันนี้ตนลงพื้นที่มา พบประชาชนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเอาไว้อยู่เป็นเพราะความกลัวส่วนบุคคล เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์กลัวการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องได้รับสถานะและอำนาจที่มากเกินไปขนาดนี้แล้ว จึงทำให้ตนเชื่อว่านี่เป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจากความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่าการควบคุมโรคติดต่อ

จึงต้องถามว่าคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินวันนี้เป็นความฉุกเฉินของใคร ขอให้บอกกับประชาชนตรงๆไปว่าวันนี้สถานการร์ดีขึ้นอย่างไร แล้วทำไมยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ แต่ถ้ายังยืนกรานว่าต้องใช้ต่อไปนั่นแสดงว่ากลัวเหตุการณ์ทางการเมืองหรือไม่

แนะใช้กฎหมายปกติควบคุมโรคได้ - วอนหยุดฝืนใช้ พ.ร.ก.ทำลายชีวิตคนจน

ในส่วนของ จิรวัฒน์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระบุว่าถ้าตัวเลขเป็นไปตามที่ ศบค.ระบุ ก็ต้องชื่นชมรัฐบาลที่ทำสำเร็จในการควบคุมโรค แต่คำถามก็คือวันนี้เรายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้หรือไม่ คำตอบคือได้ เรามี พ.ร.บ.โรคติดต่อฯและกลไกลทางกฎหมายปกติได้ ให้คนที่มีอำนาจมากที่สุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นพระเอกของการบริหารสถานการณ์นี้ ภายใต้นโยบายและคำสั่งการโดยนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งนี่เป็นจุดที่ไม่แตกต่างกัน

แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯวันนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการออกมาใช้ในมาตรการควบคุมโรคติดต่อ มีข้อแตกต่างจากกฎหมายปกติ เช่นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างการห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน ต่อมาคือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่

ซึ่งต้องถามว่าสถานการณ์วันนี้เราอยู่ในกรอบที่ต้องห้ามบุคคลใดออกนอกเคหะสถานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือไม่ ตนต้องเรียนตามตรงว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนี้ เป็น พ.ร.ก.ที่ทำลายคนจน การกำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิวก็ไม่สอดคล้องกับคนจนที่หาเช้ากินค่ำ ที่ต้องเตรียมของทำมาค้าขายในช่วงดึกหรือช่วงเช้ามืด

ดังนั้นตนจึงขอแนะนำ ว่าสถานการณ์วันนี้ต่อให้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็สามารถบริหารจัดการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเพียงพอแล้ว ถ้าวันนี้ไม่มีการผ่อนคลายสถานการณ์ตรงนี้แล้วคนจนที่ได้รับผลกระทบจะทำมาหากินตามปกติได้อย่างไร

เลขาธิการพรรคขีดเส้นยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนเปิดสมัยประชุมสภา

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แสดงความคิดเห็นหลังจาก ศบค แถลงผ่อนปรน พรก ฉุกเฉินว่า ในวันนี้คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก กับการที่ยังคงใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อไป โดยอ้างการระบาดซ้ำและฉากทัศน์การระบาดที่จะเพิ่มขึ้นหากมีการผ่อนปรนมาเป็นเหตุให้ประชาชนหวั่นวิตกและยอมอยู่ภายใต้อำนาจเข้มข้นของรัฐบาลต่อไป

เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า ทุกวันนี้ไม่เหลือเหตุอันควรใดๆ ที่จะต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกแล้ว และการแก้ไขปัญหาต่อจากนี้ไปจะต้องหันไปสู่ทิศทางของการเยียวยาและพื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 และมาตรการของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์ฉุกเฉินยืดยาวออกไปเท่าใด การฟื้นตัวกลับมาก็จะยากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

แม้จะมีการลดเวลาเคอร์ฟิวไป 1 ชั่วโมง และเปิดให้ห้างร้านบางประเภทกลับมาค้าขายได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีกิจการอีกเป็นจำนวนมาก เช่น สถานบันเทิง สถานที่ออกกำลังกายบางประเภท สถานเสริมความงามบางประเภท ร้านนวดแผนไทย โรงภาพยนตร์ สถาบันกวดวิชา ฯลฯ ยังมีคนทำงานอีกนับล้านคนที่จะยังต้องขาดรายได้ต่อไป รวมถึงอีกนับล้านคนที่ยังต้องตามเรียกร้องสิทธิได้รับการเยียวยาอย่างไม่รู้จุดจบ

และหากว่าสถานที่อย่างห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีกค้าส่ง และตลาดต่างๆ สามารถผ่อนปรนให้เปิดบริการได้ ก็น่าจะเป็นตัวบ่งชี้แล้วว่าความฉุกเฉินของสถานการณ์ไม่ได้เทียบเท่ากับที่เป็นตอนเริ่มประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสมควรพิจารณาใช้เครื่องมือทางกฎหมายอื่นๆ มาใช้ในการควบคุมโรคทดแทนได้แล้ว

การยุติสถานการณ์ฉุกเฉินจึงต้องเกิดโดยเร็วที่สุด เพื่อนำบรรยากาศของการกลับสู่สภาวะปรกติและการฟื้นฟูสิ่งที่เสียหายมาสู่สังคมไทยอีกครั้ง แม้การระบาดระลอกใหม่อาจเกิดขึ้น แต่ด้วยศักยภาพของระบบสาธารณสุขไทยและการเตรียมความพร้อมมาเกือบ 2 เดือน ก็ย่อมสามารถรับมือต่อสถานการณ์ที่จะเข้ามาในอนาคตได้เช่นกัน

"ผมขอให้รัฐบาลทบทวนอีกครั้งถึงการยกเลิกการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยต้องยกเลิกให้ได้ก่อนการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ เพราะจะต้องมีการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ และร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายฯ ที่จะเป็นกฎหมายสำคัญในการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งสมควรที่จะต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดโดยไม่ถูกขัดขวางจากการเคอร์ฟิวหรือมาตรการตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใดๆ ทั้งสิ้น ผมขอย้ำอีกครั้งว่าเราต้องการ New Normal ที่ประชาชนสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้โดยที่ยังมีกลไกป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการระบาด ไม่ใช่ New Abnormal ที่ใช้ชีวิตอย่างติดขัดภายใต้สภาวะไม่ปรกติแบบไม่เห็นจุดหมายปลายทางอย่างที่เป็นอยู่นี้" เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าว

เปิด 4 ข้อที่ทำให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่าง

สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน iLaw เคยทำข้อมูลเปรียบเทียบไว้ปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กับ พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ซึ่งพบว่า มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่แตกต่างคือ การสั่งห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ การควบคุมการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร การสั่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่กำหนดและมีข้อยกเว้นความรับผิดให้เจ้าหน้าที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net