Skip to main content
sharethis

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำห้วยพระบาง ยื่น 600 รายชื่อค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของบริษัทโรงไฟฟ้าชุมชน ยโสธร จำกัด ชี้ไม่เคยรับรู้ข้อมูลมาก่อน พื้นที่ตั้งโครงการไม่เหมาะสม กังวัลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว ย้ำขัดแย้งต่อทิศทางและนโยบายของการพัฒนาจังหวัดยโสธร 

19 พ.ค. 2563 เวลาประมาณ 14.00 น. ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ลำห้วยพระบาง ตำบลฟ้าห่วน อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร ประมาณ 7 คน เดินทางยืนหนังสือคัดค้านแผนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของบริษัทโรงไฟฟ้าชุมชน ยโสธร จำกัด ต่อนายอำเภอค้อวัง เนื่องจากประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับรู้ข้อมูลของโครงการมาก่อน อีกทั้งยังเห็นว่าเป็นโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ซึ่งไม่เหมาะสม และกังวลปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว

เทพประชา ชามัท อายุ 53 ปี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ลำห้วยพระบาง เปิดเผยว่า วันนี้ได้เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านแผนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีแผนจะดำเนินการก่อสร้างในบริเวณพื้นที่ตำบลฟ้าห่วน อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร พร้อมกับรายชื่อที่คัดค้านกว่า 600 คนและจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เทพประชา กล่าวต่อว่า ตามที่บริษัทโรงไฟฟ้าชุมชน ยโสธร จำกัด ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีแผนงานในการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ณ พื้นที่ตำบลฟ้าห่วน อ.ค้อวัง จ.ยโสธร ทางโครงการได้ให้สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดยโสธร ดำเนินการตรวจสอบที่ดิน ส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสียได้ประกาศหอกระจายข่าวหมู่บ้านแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ขึ้นทะเบียนปลูกหญ้าเนเปีย เพื่อส่งโรงงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล เนื่องจากทางโครงการไม่มีการให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ข้อดี ข้อเสีย รวมทั้งข้อมูลไม่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงของพื้นที่ที่จะจัดตั้งโครงการ 

เขากล่าวต่อว่า กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำห้วยพระบาง เป็นการรวมตัวของชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งได้ติดตามกระบวนการต่างๆ ของโครงการมาโดยตลอด ทางกลุ่มเห็นว่าปัจจุบันสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโควิค-19 ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถรวมกลุ่มกันได้ แต่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของบริษัทโรงไฟฟ้าชุมชน ยโสธร จำกัด ก็ไม่ควรที่จะดำเนินการใดๆ ภายใต้สถานการณ์ที่ชาวบ้านในพื้นที่กำลังให้ความร่วมมือเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโควิค-19 และปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับข้อมูลที่ชัดเจนของโครงการที่จะดำเนินการในพื้นที่ รวมถึงกระบวนการขั้นตอนทั้งหมดของโครงการที่จะมาดำเนินการในพื้นที่และสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการขั้นตอนต่างๆ ก็ไม่ถูกต้อง โดยทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำห้วยพระบาง ตั้งข้อสังเกตซึ่งนำไปสู่การคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชน ดังนี้

1.พื้นที่ตั้งไม่เหมาะสม ใกล้ชุมชน เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทับลำห้วยสาธารณะ ที่ตั้งโครงการใกล้ถนนที่ชุมชนใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ที่ตั้งโครงการต้องไม่ขัดกับผังเมือง

2.พื้นที่ตั้งโครงการอาจทับลำห้วยสาธารณะ

3.ขัดแย้งต่อทิศทางและนโยบายของการพัฒนาจังหวัดยโสธร 

4.การใช้น้ำจากลำห้วยพระบาง มีการใช้น้ำแหล่งเดียวกับชาวบ้าน ซึ่งปริมาณน้ำลำห้วยพระบาง ไม่เพียงพอต่อกิจกรรมของชาวบ้าน และสถานการณ์น้ำไม่แน่นอนในแต่ละปี ขาดรายละเอียดการใช้น้ำของชุมชนโดยรอบ

ดังนั้นทางกลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำห้วยพระบาง บ.โพนเมือง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในรัศมี 3 กิโลเมตร จึงคัดค้าน โรงไฟฟ้าชุมชน ยโสธร จึงคัดค้านแผนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของบริษัทโรงไฟฟ้าชุมชน ยโสธร จำกัด ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ด้านสิริศักดิ์ สะดวก อายุ 40 ปี ผู้ประสานงานคณะกรรมการประชาชนคัดค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล(คปน.)ภาคอีสาน กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากที่จะเกิดขึ้นอีกมากในภาคอีสานนั้น ถึงจะเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA นั้น ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งมีแผนในการดำเนินโครงการจะต้องมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากแผนที่จะมีการดำเนินโครงการก่อนเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจ โดยตามระเบียบคณะกรรมการกากับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากผผู้ลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก พ.ศ. 2563 “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” หมายความว่า โครงการจัดตั้งโรงไฟฟ้าที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ รับรู้และเห็นชอบในการก่อสร้าง มีส่วนแบ่งรายได้ ของโรงไฟฟ้าคืนกลับสู่ชุมชน โดยชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ร่วมกับภาคเอกชน และ/หรือ องค์กรของรัฐผ่านทางวิสาหกิจชุมชน ดังนั้นผมขอตั้งประเด็นว่าในเมื่อตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานระบุชัดถึง

1.จะต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ นั้นย่อมหมายถึงโครงการดังกล่าวหน่วยงานภาครัฐหรือบริษัทจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนทั้งทางด้านนโยบาย และโครงสร้างการทำงาน โดยการจัดให้มีการเปิดเวทีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียก่อนดำเนินการใดๆ ไม่ใช่ประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวชุมชนแล้วล่ารายชื่อชาวบ้าน

2.การมีส่วนร่วมทั้งในเรื่องการให้ข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วนของโรงไฟฟ้าชีวมวลต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนจะมีโครงการ ซึ่งการให้ข้อมูลจะต้องมีทั้งด้านผลกระทบและด้านบวก เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่และนักวิชาการได้ร่วมกันพิจารณาตัดสินใจ ดังนั้นถ้าไม่มีกระบวนการเหล่านี้ตามระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ได้ระบุไว้ก็ถือว่าไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมจริง เพราะชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรับรู้ข้อมูลข่าวสารมาก่อน และ “บริษัทไม่ควรฉกฉวยห่วงเวลาสถานการณ์เช่นนี้ในการดำเนินแผนโครงการ เพราะสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิค-19 ที่ชาวบ้านต้องป้องกันตนเองตามนโยบายของภาครัฐ และควรหยุดแผนไว้ก่อนเนื่องจากชาวบ้านไม่สามารถรวมตัวกันได้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net