Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค ตบเท้ายื่นหนังสือรัฐบาลจี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เชื่อรัฐฉวยโอกาสลากยาว ต่อพ.ร.ก.อีก 1 เดือนแอบแฝงการเมือง ชี้รูปแบบใช้อำนาจคลุมเครือขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ สุ่มเสี่ยงใช้ไปในทางไม่เกี่ยวข้องควบคุมโรคระบาด ขณะที่ประธานพีมูฟระบุไม่มีความจำเป็นต้องต่อ พ.ร.ก. เหตุที่ผ่านมาชี้แล้วว่า ทุกคนให้ความร่วมมือจนตัวเลขติดเชื้อเป็นศูนย์ เผยคนจนเมืองได้รับผลกระทบสาหัสและอยู่ได้ด้วยการแบ่งปันจากน้ำใจคนที่มีมาบริจาค ไม่ใช่มาตรการช่วยเหลือจากรัฐ ขณะที่นักกฎหมายกระตุกพฤติกรรมรัฐไม่ใช่แค่เรื่องควบคุมโรค แต่เป็นการควบคุมสิทธิเสรีภาพประชาชน หวั่นสถานการณ์ยิ่งแย่เพราะ พ.ร.ก. เปิดช่องให้ จนท.รัฐ จับกุมคุมขังประชาชนและไม่ต้องรับผิดหรือไม่สามารถฟ้องศาลปกครองตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ได้

26 พ.ค. 2563 กลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค เดินทางเข้ายื่นหนังสือ
ที่ทำเนียบรัฐบาลและสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้รัฐยกเลิกการเตรียมประกาศต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือนโดยอ้างว่าควบคุมโรคโควิด-19 โดยใจความจดหมายบางช่วงบางตอนระบุว่า ขณะนี้สถิติของผู้ติดเชื้อลดลงตามลำดับ จนแทบไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้ว แสดงให้เห็นว่าการรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของประเทศไทยนั้นไม่ได้อยู่ในสภาวะฉุกเฉินในระดับที่จะไม่สามารถควบคุมโรคได้อีก และที่สำคัญรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถบังคับใช้กฎหมายปกติที่มีอยู่ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจไว้อย่างครอบคลุมและเป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์โดยตรงในการควบคุมโรคติดต่อ ควบคู่กับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็งและการประสานความร่วมมือกับประชาชนก็เป็นแนวทางในการควบคุมสถานการณ์โรคติดต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่สามารถบังคับใช้ประกอบกันเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เช่น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พระราชบัญญัติการเดินอากาศ พระราชบัญญัติสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์ และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จึงไม่จำเป็นที่ต้องต่ออายุหรือมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก

ทางเครื่อข่าย เห็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรงเป็นรูปแบบการใช้อำนาจที่คลุมเครือขาดการถ่วงดุลตรวจสอบ ซึ่งรัฐต้องใช้อำนาจด้วยความระมัดระวังและจำกัดเท่าที่จำเป็น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า รัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานความมั่นคงกำลังอ้างอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อฉวยโอกาสในการจำกัดคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“นอกจากนี้การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจรายได้และโอกาสในการประกอบอาชีพโดยปกติของทุกคนในสังคม โดยเฉพาะคนจนผู้ใช้แรงงาน ในขณะที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่กลับยังสามารถดำเนินโครงการเพื่อใช้ทรัพยากรและแสวงหาผลประโยชน์ท่ามกลางความลำบากยากแค้นของคนส่วนใหญ่ในสังคมซึ่งปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำและจุดยืนของรัฐบาลในการบริหารประเทศอย่างชัดเจน ” จดหมายระบุ

ทั้งนี้ทำเนียบรัฐบาลได้ส่ง สมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรีเข้ารับหนังสือ และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่ง ปิยะ ลือเดชกุล ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบเข้ารับหนังสือจากกลุ่มประชาชนในนามเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค โดยปิยะกล่าวภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายว่า ตนในฐานะผู้ดำเนินการรับเรื่องร้องเรียน ขอรับเรื่องการร้องเรียนจากเครือข่ายในครั้งนี้และจะนำไปดำเนินการกับเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องต่อไป

เผยคนจนเมือง ได้รับผลกระทบสาหัสและอยู่ได้ด้วยการแบ่งปันจากน้ำใจคนที่มีมาบริจาค ไม่ใช่มาตรการช่วยเหลือจากรัฐ ท้าหยุดจ่ายเงินเดือน ขรก. 3 เดือนจะได้เข้าใจประชาชนที่ต้องไม่มีรายได้ตอนประกาศ พ.ร.ก.

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคที่เข้ายื่นหนังสือในครั้งนี้กล่าวว่า เหตุผลหลักขณะนี้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น่าจำเป็นต้องยืดระยะเวลาออกไปเพราะว่าความร่วมมือของพี่น้องประชาชนตอนนี้ในสถานการณ์โควิด-19 เขาให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่แล้ว เพื่อได้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ที่ผ่านมาเรียกได้ว่า ประชาชน ทุกกลุ่มทุกเพศทุกวัย มีความพยายามเต็มที่จนสองสามเดือนที่ผ่านมาตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์

ประธานเครือข่ายขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ระบุด้วยว่า คนจนเมือง คนในสลัมได้รับผลกระทบเศรษฐกิจมาก่อนหน้าเกิดสถานการณ์โควิด ก่อนมีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เคอร์ฟิว ก็ใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้ว ทุกวันนี้พี่น้องต้องอดทน ตอนนี้อยู่ได้ด้วยการที่พี่น้องแบ่งปันน้ำใจ ของบริจาค จากหลากหลายกลุ่ม ซึ่งคนไทยเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นเช่นในจังหวะแบบนี้คนไทยจะช่วยเหลือกัน ทำให้เราอยู่ได้

เขาระบุด้วยว่า ในส่วนมาตรการช่วยเหลือ 5 พัน คนจนเมือง สลัม เข้าไม่ถึงเป็นส่วนใหญ่ เพราะคนจน
ส่วนใหญ่ไม่มีโทรศัพท์ ใช้ชีวิตลำบาก พอรัฐบาลเปิดให้ยื่นเรื่องร้องทุกข์ เราไม่ทิ้งกัน ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.-29 พ.ค.นี้เท่านั้น พี่น้องก็เข้าไม่ถึงอีก โดยเฉพาะกลุ่มที่กลับบ้าน เช่น ที่ภูเก็ต สามจังหวัดภาคใต้ เขาต้องถูกกักตัว 14 วันอย่างแน่นอน ก็ต้องเลยวันที่ 29 พ.ค.อีกกว่าจะออกมาได้ ก็เสียโอกาสอีกแน่นอน ซึ่งก็ต้องดูว่าธนาคารที่จะให้ไปยื่นเรื่อง จะสามารถขยายเวลาช่วยพวกเขาได้อีกหรือไม่

จำนงค์ ระบุด้วยว่า การที่รัฐบาลอ้างขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุผลป้องกันควบคุมโรค นั้น
ไม่ใช่เหตุผลหลัก น่าจะมีเหตุผลการเมืองแอบแฝง และขณะนี้เรียกได้ว่าแต่ละคนรับผิดชอบส่วนตัวเพื่อส่วนรวม รัฐเองเสียอีกที่ไม่มีเครื่องมือให้เลย เพราะพวกเราทำกันเองหมด เช่น จุดคัดกรอง เราดูแลกันเอง โดยที่รัฐไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทั่วถึง เช่น กรณีหน้ากากอนามัยล็อตแรกส่งมาให้เพียง 1 ชิ้น ครอบครัวหนึ่งอยู่กัน 5 คน ถ้าใครออกข้างนอกต้องผลัดกันใส่หรือ พอมีเสียงสะท้อน ถึงทยอยมาให้เพิ่มแต่ละครอบครัว ล่าสุดให้มา 10 ชิ้น เอามาตรฐานไหนมาทำ มันจะเท่าทันกับแก้ปัญหาโรคระบาดหรือไม่

“ทุกคนกังวลการระบาดระลอก 2 แน่นอนว่าทุกคนรักตัวกลัวตายหมด ถึงได้ช่วยกันปฏิบัติตัวเองเพื่อดูแลป้องกันกัน ที่ผ่านมาถือว่าเราทำได้ ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของประเทศทุกคนช่วยกัน แล้วจะมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปทำไม ชาวบ้านเขาอดอยากกันแล้ว แน่จริงหยุดจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 3 เดือน จะอยู่ได้หรือไม่ มันมีการท้ากันแบบนี้ ในเมื่อยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไป 3 เดือน ก็หยุดจ่ายเงินเดือนข้าราชการด้วย 3 เดือน จะได้เข้าใจรู้อกเขาอกเราเป็นอย่างไร เรายืนยันว่าต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้กฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายควบคุมโรคติดต่อ ก็เพียงพอ แน่นอนว่านี้คือเรื่องความเป็นความตาย ทุกคนกลัวหมดแต่เขาก็กลัวเรื่องอดตายเหมือนกัน” จำนงค์ ระบุ

นักกฎหมายกระตุกพฤติกรรมรัฐไม่ใช่แค่เรื่องควบคุมโรคแต่เป็นการควบคุมสิทธิเสรีภาพประชาชน พร้อมชี้ช่องงัดกกฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ - พ.ร.บ.สาธารณสุข ก็เพียงพอต่อการจัดการโรคระบาด

ขณะที่ ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ซึ่งได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือในนามเครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค กล่าวว่า เนื่องจากตอนนี้สถานการณ์โรคโควิด-19 ดูจะคลี่คลายลง แต่ปัญหาคือสถานการณ์ของประชาชนไม่ได้คลี่คลายไปด้วย ในช่วงระหว่างสถานการณ์โควิด มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พวกกิจกรรมโครงการต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและประชาชน ก็ยังสามารถเดินต่อไปได้ เช่น กรณีที่ ศอ.บต. จะมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องกรณีจะนะ โดยจะจัดประชุมในเดือน พ.ค. ทั้งๆ ที่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อยู่ ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นหน่วยงานรัฐคิดจัดเองด้วยซ้ำ

“แต่ว่าในช่วงขณะเดียวกันชาวบ้านก็ไม่สามารถออกมาชุมนุมเรียกร้อง คัดค้านอะไรได้ ทำได้แค่เดินทางไป ยื่นหนังสือ ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่เห็นพลังของชาวบ้าน หรือพลังของประชาชนที่ต้องการเรียกร้องเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่กรณีนี้ก็มีการยกเลิกไปเพราะมีน้องผู้หญิงออกมาเรียกร้อง ทำให้ ศอ.บต. เลื่อนไปโดยอ้างว่ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นที่ประกาศจะทำก็ยังมีภาวะนั้นอยู่เหมือนกัน” ส.รัตนมณี ระบุ

เธอระบุด้วยว่า เมื่อมีกิจกรรมชาวบ้านก็จะถูกคุกคาม เช่น ที่บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ชาวบ้านออกมาเรียกร้องให้กระบวนการเหมืองแร่ยุติไปก่อนในระหว่างนี้ โดยการออกมาก็ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ทั้งยืนห่าง ใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็ถูกเรียกไปสอบสวนที่สถานีตำรวจ หรืออีกกรณีชาวบ้านหาดม่วงงามคัดค้านโครงการกัดเซาะชายฝั่ง โดยชาวบ้านไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีโครงการนี้ จู่ๆ ก็มีผู้รับเหมามาทำอยู่บนชายหาด เขาก็เรียกร้อง จัดกิจกรรม ทำหนังสือถึงตำรวจตามกระบวนการ มีการแจ้งมีคนประมาณยี่สิบระบุชัดเจน  โดยมีมาตรการระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากาก แต่ตำรวจไม่อนุญาตอ้างว่ามี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และสถานการณ์โควิด หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น ตำรวจเป็นร้อยนายก็มาที่ชายหาดตามหา ตามเช็คชาวบ้านว่าใครทำอะไร

“มันกลายเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องการควบคุมโรคแต่เป็นการควบคุมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเราไม่ได้บอกว่าสถานการณ์ประเทศไทยเรื่องโควิดมันปลอดภัยถึงขั้นที่สุดแล้วก็คงไม่ใช่ แต่เรามีกฎหมายอื่น ที่จะควบคุมได้ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.บ.ด้านสาธารณสุขต่างๆ มันให้อำนาจหน่วยงานในการจัดการเรื่องพวกนี้ และเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดูแลคุ้มครองประชาชนอยู่แล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่น่ามีความจำเป็นอีกแล้ว ไม่ควรที่จะต่อ ไปในเดือนมิถุนายน ไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะแย่ลง และการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันไม่ใช่เรื่องแค่ให้อำนาจในการประกาศเคอร์ฟิว แต่ พ.ร.ก. ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองเข้ามามีอำนาจลักษณะเดียวกันกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น เรื่องการจับกุมคุมขัง หรือเรื่องการไม่ต้องรับผิดหรือการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองได้ ในเรื่องเหล่านี้มันเป็นปัญหา ฉะนั้นมันจึงไม่มีความจำเป็นแล้ว แต่เรายังมองว่ามีความจำเป็นที่จะใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อควบคุมโรคต่อไป” ส.รัตนมณี กล่าว

เธอกล่าวต่อว่า มีกฎหมายอื่นช่วยจัดการดูแลความปลอดภัยของประชาชนได้โดยที่ไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพด้านอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรค และต้องดูว่ามันมีความจำเป็นประกาศเคอร์ฟิวหรือไม่ ภายใต้สถานการณ์ ควบคุมโรค หากระบุว่าประกาศเคอร์ฟิวเพื่อไม่ให้คนออกมาเที่ยว เราก็ควรไปควบคุมเรื่องพื้นที่ท่องเที่ยว ควบคุมกิจกรรมว่าจะทำอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าภาคธุรกิจเดือดร้อนหนักมากแต่กลายเป็นว่า พอเจอเคอร์ฟิว เขายิ่งทำอะไรไม่ได้เลย แทนที่จะควบคุมด้วยการสั่งให้เขาปิด ทำไมเราไม่ควบคุมด้วยการใช้กระบวนการอย่างไรให้มี ระยะห่างทางสังคม การป้องกันใส่หน้ากาก ใช้เจลล้างมือ แทน

“เช่นเดียวกับกรณีเปิดห้าง เราต้องระลึกว่าพอปิดสถานประกอบการ ผลกระทบไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ
แต่ผลกระทบ คือ ลูกจ้างที่เขาจะไม่มีงานทำ ลูกจ้างรายวันสำคัญมาก กระทบมากที่สุด ถ้าไม่ทำงานไม่ได้รับค่าแรงส่วนรายเดือนผู้ประกอบการจะจ่ายเงินเดือนได้อีกกี่มากน้อย นับตั้งแต่มีนาคมถึงพฤษภาคมแล้ว จ่ายโดยไม่มีรายได้เข้ามา มันไม่มีผู้ประกอบการคนไหนจะอยู่ได้ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็ตาม มันไม่ใช่กระทบแค่กับชุมชนที่เขาอยู่ในภาวะเผชิญหน้า แต่ในเรื่องแรงงานด้วยเช่นเดียวกัน” ส.รัตนมณี กล่าว

ขณะที่องค์กรโพรเท็คชั่นอินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่าในการรับมือกับการระบาดใหญ่ สิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ติดตัวมากับมนุษย์ ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ต้องได้รับการเคารพและปกป้อง อีกทั้งสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญที่ระบุไว้ในกติการะหว่างประเทศ ฯ ฉบับต่างๆ ต้องได้รับการเคารพเป็นอันดับแรก ยิ่งในบริบทที่เกิดวิกฤตและประชาชนมีความยากลำบากขนาดนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่มีความเปราะบางหรือกลุ่มชายขอบมากที่สุดของสังคม ต้องได้รับการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพทุกคน โดยไม่มีข้อยกเว้น รวมถึงการเข้าถึงความยุติธรรมและการเยียวยาทางกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการปกป้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของคนทุกคนในสังคมไทย

ทั้งนี้ในการเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้มีรายชื่อภาคประชาชนและเครือข่ายต่างๆ ที่ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวม 390 รายชื่อ เช่น โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนใประเทศไทย (The Community Women Human Rights Defender Collective in Thailand), เครือข่ายประชาชนรักหาดม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา, เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่, กลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC Watch), กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์), กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง, เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair), เครือข่ายสลัมสี่ภาค, เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง สังคม และ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net