Skip to main content
sharethis

ประมวลความเคลื่อนไหวคัดค้านต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

  • คนส. โพลล์ เผย 87.6% ไม่เห็นด้วย
  • ภาค ปชช. จ่อร้อง รบ.-ผู้ตรวจฯ เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
  • 'ศรีสุวรรณ' ร้อง ศาล รธน. ผ่าน ผู้ตรวจฯ สอบ กม.กู้เงิน-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัด รธน.หรือไม่
  • ครป. ค้านต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิกทหารและนักการเมืองนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

ภาพจากเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

25 พ.ค.2563 ภายหลังจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีมติต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน หลังจากที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)เสนอมานั้น โดยจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใน 26 พ.ค.นี้เพื่อขอความเห็นชอบต่อไปนั้น ก่อนให้เกิดกระแสคัดค้านจำนวนมาก โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ขอให้ดูความเหมาะสม และไม่เกี่ยวกับฝ่ายการเมืองเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่แล้วว่าการขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  มีความจำเป็น  หากเกิดการระบาดของโควิด-19 อีกระลอกจะยุ่งกันใหญ่

วันนี้ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายด้าน(วิปฝ่ายค้าน) ขอให้ช่วยคัดค้านกรณีที่รัฐบาลกำลังจะประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ในเดือนมิฤนายนนี้ เป็นเดือนที่สาม เพราะเห็นว่าเป็นประกาศใช้ที่เกินความจำเป็นกว่าระบบกฎหมาย กลไกการเมืองและราชการปกติที่มีอยู่  เป็นการละเมิดและลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมากเกินควร โดยเฉพาะสิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและชุมนุมเรียกร้อง ประท้วง ขัดขืน คัดค้าน หรือการแสดงออกอื่นใด 

คนส. โพลล์ เผย 87.6% ไม่เห็นด้วย

เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง - คนส. จัดทำโพลล์ "สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อการขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" โดยพบว่า ประชาชน 87.6% ไม่เห็นด้วยกับการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปเป็นครั้งที่ 3  นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการเคอร์ฟิวไม่ได้มีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในทางตรงข้ามมาตรการที่ทำให้ลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดได้คือ การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และการรักษาระยะห่าง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เป็นสิ่งที่ประชาชนตระหนักและปฏิบัติด้วยตนเอง และประชาชนส่วนใหญ่ยังระบุว่าตนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฉุกเฉินในด้านเศรษฐกิจ/อาชีพ ด้านสิทธิเสรีภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการศึกษา ในแง่ที่มีการลดลงของคุณภาพการเรียนการสอนเป็นอย่างมากในทุกระดับชั้น

ข้อมูลที่สนใจมากคือ จากการสำรวจครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามอยู่ในสถานะตกงานถึง 8.7%

ภาค ปชช. จ่อร้อง รบ.-ผู้ตรวจฯ เลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โพสต์เชิญชวนผู้สนใจร่วมลงชื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมโรคระบาดโควิด-19 พร้อมทั้งระบุด้วยว่า เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาค เตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาลและผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยทันที ในวันที่ 26 พ.ค. 2563 ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร. ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะฯ อาคารบี

กลุ่มนี้ให้เหตุผลไว้ว่า 

สืบเนื่องจากรัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นมาเพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 จนถึงปัจจุบัน โดยมีมาตรการให้ปิดสถานที่ ประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกบ้านหรือเดินทางเวลากลางคืน ห้ามการชุมนุม มีข้อกำหนดเรื่องการเดินทางข้ามจังหวัดอย่างเข้มงวด และกำลังจะมีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563

แต่โดยที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวางและรุนแรง เป็นการใช้อำนาจที่คลุมเครือ ขาดการตรวจสอบ และมีการยกเว้นความรับผิดของเจ้าหน้าที่เอาไว้ รัฐจึงต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อย่างระมัดระวังและจำกัดเท่าที่จำเป็น ดังนั้นเมื่อขณะนี้สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภายในประเทศมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมากแล้ว และการบังคับใช้กฎหมายปกติ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ และกฎหมายคนเข้าเมือง ก็ให้อำนาจกำหนดมาตรการที่ครอบคลุมเพียงพอที่จะป้องกันและควบคุมโรคระบาดได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำรงชีวิตทำมาหากินและใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานได้ อันรวมถึงการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการทั้งของรัฐและเอกชนที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชน ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่กำหนดขึ้นโดยใช้กฎหมายปกติตามความจำเป็น

เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคเห็นว่า หากมีการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก จะเกิดผลกระทบกับการดำรงชีวิตของประชาชนและจะเกิดการละเมิดจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจำนวนมากที่เกินจำเป็นหรือไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมโรคระบาด ด้วยเหตุดังกล่าวนี้เครือข่ายประชาชน 5 ภูมิภาคจึงเตรียมเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐบาลและผู้ตรวจการแผ่นดินในวันอังคารที่ 26 พฤษภาคม 2563 เพื่อให้ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยทันที

'ศรีสุวรรณ' ร้อง ศาล รธน. ผ่าน ผู้ตรวจฯ สอบ กม.กู้เงิน-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขัด รธน.หรือไม่

ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้พิจารณาและเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 16 ของ พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่กำหนดว่าข้อกำหนด ประกาศ คำสั่งหรือการกระทำตามพ.ร.ก.นี้ไม่อยู่ในการบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา  197  หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า ตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจรัฐบาลออกข้อกำหนดจำนวนมาก ปัจจุบันมีมากกว่า 7 ฉบับ และถ้ารวมคำสั่งของศบค.ด้านความมั่นคงออกมาแล้วมากกว่า 15 ฉบับ ส่วนใหญ่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน กระทบต่อการประกอบอาชีพ แต่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบไม่สามารถใช้สิทธิต้แย้งศาลได้ เพราะบทบัญญัติตามมาตรา 16 จึงเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ศรีสวุรรณ เรียกร้องให้เสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การที่รัฐบาลอาศัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19  ออกพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 โดยให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยกู้เงินม่เกิน 4 แสนล้านบาท เพื่อซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชนขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 172  ประกอบมาตรา 140  หรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าการซื้อขายตราสารหนี้ ผู้ชื้อย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า จะต้องมีเรื่องของการขาดทุนหรือกำไร

“การลงทุนในตราสารหนี้มีทั้งคนไทยและคนต่างชาติ แต่รัฐบาลกลับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยกู้เงิน 4 แสนบ้านบาทไปซื้อตราสารหนี้ของภาคเอกชน ซึ่งล้วนเป็นบริษัทร่ำรวย และเป็นการเปิดช่องให้ธปท.เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางรายได้ ซ้ำยังระบุว่าถ้าขาดทุน อนุญาตให้กระทรวงการคลังเข้าไปอุดหนุนในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท   ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน จึงเห็นว่าเป็นการใช้เงินอย่างไม่ถูกต้อง ประกอบกับรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขการออกพ.ร.ก.ว่าต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่กรณีนี้เป็นการมาซื้อตราสารหนี้ของเอกชน ซึ่งเอกชนสามารถดำเนินการเองได้ รวมทั้งเห็นว่าถ้าออก พ.ร.ก.แม้จะต้องผ่านการพิจารณาของสภาทำได้แค่อภิปราย เห็นชอบหรือไม่ก็โหวตให้ตกไปทั้งฉบับหรือไม่เท่านั้น สภาไม่สามารถปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงพ.ร.ก.ได้” ศรีสุวรรณ กล่าว

ศรีสุวรรณ ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบกรณีกลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวในจังหวัดชลบุรีระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐ เรียกรับสินบจากกลุ่มผู้ประกอบการ เพื่อแลกกับการที่โรงแรมจะได้รับคัดเลือกเป็นสถานที่กักตัว โดยแลกหัวคิว 30-40 เปอร์เซ็นต์จากเงินที่รัฐบาลจ่ายให้ 1000 บาท ต่อรายต่อวัน โดยเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ และคนที่ออกมากล่าวเป็นผู้ประกอบการเอง จึงน่าเชื่อถือ ซึ่งไม่ควรฉกฉวยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาหาผลประโยชน์ และเรื่องแบบนี้คงไม่มีใครกล้าทำ นอกจากคนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 : ศบค.)

“ขณะนี้เริ่มมีกระแสข่าวว่าเป็นคนในราชการอักษรย่อ พ. พาน จึงอยากให้ผู้ตรวจไปตรวจสอบ และควรจะต้องสอบโฆษกศบค. ด้วยที่ออกมาปฎิเสธข่าวทันที ทั้งที่ยังไม่ได้สืบสวนสอบสวนเลย อาจจะมีการเกี่ยวพันหรือเกี่ยวโยงกันก็ได้ เรื่องนี้สร้างความอับอายไปทั่งโลก ยังไม่มีการสืบสวนสอบสวน ออกมาแก้ข่าวได้อย่างไร” ศรีสุวรรณ กล่าว  

(ที่มา : สำนักข่าวไทย)

ครป. ค้านต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยกเลิกทหารและนักการเมืองนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้จัดประชุมคณะกรรมการและแถลงข้อเสนอภาคประชาชนต่อรัฐบาล โดย รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. เสนอให้รัฐบาลหยุดขยายอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ จี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิดรองรับกองทัพคนตกงาน

ประธาน ครป. กล่าวว่า ครป.ขอเสนอให้รัฐบาลหยุดขยาย พรก.ฉุกเฉินฯ ออกไป เนื่องจากการขยายเวลา พรก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีความเหมาะสมและจำเป็นอีกต่อไป เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยควบคุมโควิดได้เป็นอย่างดี และเงื่อนไขหลักไม่ได้เกิดมาจากการใช้อำนาจในพรก.ฉุกเฉิน แต่มาจากความแข็งแกร่งของฝ่ายสาธารณสุข ทั้งจากการรักษาของแพทย์และพยาบาล การป้องกัน และความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านทั่วประเทศ อีกด้านหนึ่งมาจากวัฒนธรรมความร่วมมือของภาคประชาชนเป็นหลัก 

พิชาย กล่าวว่า ตนเห็นว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระยะยาวต่อไปจะกระทบต่อเสรีภาพประชาชน และกระทบต่อเศรษฐกิจไทย สิ่งที่ ครป.กังวลคือ รัฐจะฟื้นฟูอย่างไร นโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้  ซ้ำร้ายบางนโยบายยังเป็นไปเพื่อส่งเสริมกลุ่มทุนมากกว่าแทนที่จะการส่งเสริมภาคประชาชน รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการรองรับในระยะยาว เนื่องจากมาตรการทางเศรษฐกิจยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะรองรับกองทัพคนตกงานในอนาคต

 

“สำหรับพัฒนาการทางการเมือง ยังมีแนวโน้มว่ารัฐบาลจะเสพติดอำนาจเด็ดขาด มีแนวโน้มไปที่การรวมศูนย์อำนาจและจะสร้างความขัดแย้งได้ในอนาคต การพัฒนาประชาธิปไตยต้องกระจายอำนาจไปยังพื้นที่ต่างๆ  ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ทางออกจากความขัดแย้ง ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย จะต้องมีการเตรียมการ โดยให้คนจำนวนหนึ่งในรัฐบาลที่ว่างงานอยู่เตรียมการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญตั้งแต่ตอนนี้” ประธาน ครป. กล่าว 

กษิต ภิรมย์ ที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า สาธารณสุขของไทยได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก และความร่วมมือของคนไทยทำให้การแก้ไขปัญหาโควิดเป็นไปด้วยดี การยืดเวลาการใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯ จึงไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้ การใช้อำนาจพิเศษในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องแจ้งภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ผ่านเลขาธิการสหประชาชาติอย่างเป็นระบบ แต่ไม่ได้ยินว่ารัฐบาลดำเนินการแล้ว และการใช้อำนาจต้องมีกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลภายใน รวมถึงความเห็นจากฝ่ายตุลาการศาลทั้งหลาย 

"ผมตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขปัญหาการบินไทย ไม่เกี่ยวกับปัญหาโควิด ดังนั้นรัฐบาลอย่าลักไก่ทำในอำนาจพิเศษ ควรให้ระบบรัฐสภาทำงานและมีการตรวจสอบปัญหาการคอร์รัปชันที่ผ่านมาในหลายรัฐบาล" กษิต กล่าว

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)  และกรรมการ ครป. เห็นว่า  พ.ร.บ.โรคติดต่อสามารถใช้แก้ปัญหาได้ จึงไม่เห็นด้วยในการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉินฯ ปัญหาในรัฐวิสาหกิจไทยโดยเฉพาะการบินไทยคือ การทุจริตคอร์รัปชัน การเอาการบินไทยเข้าสู่กระบวนการล้มละลายยังไม่มีการตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่ผ่านมาๆ ว่ามาจากรัฐบาลในยุคไหนบ้าง และบอร์ดบริหารชุดใดบ้าง ไม่ใช่ความผิดของพนักงาน แต่กลับมีการผลักดันเพื่อให้พ้นสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเร็ว โดยไม่มีการแก้ปัญหาที่สาเหตุ

นอกจากนี้ มาตรการในการเยียวยาภาคแรงงานยังเป็นปัญหา ยังมีนายจ้างประมาณ 5-6 หมื่นคนยังไม่ยืนยันสถานะให้ลูกจ้างเพื่อให้ได้รับเงินประกันสังคม และหลังโควิดจะมีคนตกงานจะมีมากขึ้น คนเหล่านั้นจะหันหลังกลับไปชนบทก็ลำบาก เนื่องจากภาคเกษตรกรรมก็ถูกกลุ่มทุนผูกขาดปัจจัยการผลิต

กิตติชัย ใสสะอาด ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวว่า ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลลดค่าครองชีพให้ประชาชน โดยการลดค่าไฟฟ้าก่อน เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนมากขึ้นในช่วงโควิดและอัตราค่าไฟฟ้าเป็นอัตราก้าวหน้าของการใช้ไฟ ซึ่งเหมาะสมสำหรับภาคอุตสาหกรรม  ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง มาจากการกำหนดของ รัฐบาล และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และปัจจุบันรัฐบาลให้โรงไฟฟ้าเอกชนผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่มากกว่า กฟผ. ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 56  ที่รัฐต้องเป็นเจ้าของสาธารณูปโถคขั้นพื้นฐานเกินกึ่งหนึ่ง โดยมีการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและประกันรายได้ให้นายทุนโรงไฟฟ้าจนร่ำรวย

เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. กล่าวสรุปว่า บทเรียนจากการแก้ไขปัญหาโควิดไม่ใช่วิธีการใช้อำนาจรัฐรวมศูนย์ หรือระบบรัฐราชการ แต่แนวทางการแก้ไขคือการกระจายอำนาจ ให้พื้นที่และท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะยั่งยืนในระยะยาว  

เลขาธิการ ครป.  กล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังเข้าใจผิดคิดว่าการบังคับใช้อำนาจเป็นคำตอบและจะต่ออายุการใช้อำนาจพิเศษเรื่อยไปในระยะยาวโดยอ้างโควิดระบาด แต่แท้จริงหวังผลทางการเมือง โดยใช้อำนาจควบคุมความขัดแย้งและการชุมนุมทางการเมือง ปัจจุบันการใช้อำนาจฉุกเฉินยังเป็นการรวบอำนาจมาจากรัฐมนตรีทั้งหลายที่มาจากพรรคร่วมและระบบเลือกตั้ง ทำให้ระบบรัฐสภาไม่ทำงาน และไม่มีกลไกการตรวจสอบและรับผิด รัฐบาลแอบฉวยโอกาสในช่วงบังคับใช้อำนาจพิเศษ ต่อเวลาให้ตนเอง นโยบายด้านเศรษฐกิจไม่มีความมั่นคงและยั่งยืนนอกจากการเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าภาคแรงงาน ไม่มีการปฏิรูปที่ดินเพื่อสร้างหลังพิงให้ประเทศไทยด้านเกษตรกรรมที่มีอนาคตและเป็นทรัพยากรสำคัญในโลกยุคหลังโควิด แต่ให้ท้ายกลุ่มทุนครองตลาดทั้งภาคสินค้าอุปโภคบริโภค และทรัพยากรที่มนุษย์ไม่สามารถผลิตขึ้นได้เองที่รัฐควรเป็นเจ้าของ และกลับให้สัมปทานเอกชนผูกขาดหากำไร 

เมธา กล่าวอีกว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจไทยเพื่อรองรับการบริการสาธารณะจากรัฐ ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการส่งทหารมาเป็นบอร์ดบริหารในทุกรัฐวิสาหกิจ เพราะปัจจุบันมีทหารเป็นประธานบอร์ดกว่า 16 แห่งและเป็นกรรมการบอร์ดกว่า 40  รัฐวิสาหกิจ และหยุดใช้การเมืองแทรกแซงการบริหารและการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้การแต่งตั้งบอร์ดบริหารจากนักบริหารมืออาชีพทั้งหมดที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่ให้ทหารและนักการเมืองไปนั่งเป็นบอร์ด ฝ่ายการเมืองมีหน้าที่กำกับและตรวจสอบเท่านั้น เพราะปัญหาการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจรวมถึงการบินไทยคือการแทรกแซงการบริหารจากฝ่ายการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้องและการทุจริตคอร์รัปชันเชิงนโยบาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net