Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงาน ตำรวจเรียกผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม_” เข้าพบสอบปากคำเพิ่มเติม ก่อนแจ้งพฤติการณ์ของข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีก 7 กรรม รวมทั้งหมด 8 กรรม เจ้าตัวปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

9 มิ.ย. 2563 ความคืบหน้าคดีเจ้าของบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ใช้ชื่อ 'นิรนาม_' (@ssj_2475) ซึ่งมีผู้ติดตามในทวิตเตอร์จำนวน 140,000 การติดตาม ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เหตุทวิตภาพและข้อความที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 นั้น

ล่าสุดวันนี้ (9 มิ.ย.63) ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. ที่สภ.เมืองพัทยา พ.ต.ท.สายใจ คำจุลลา พนักงานสอบสวน ได้เรียกตัวผู้ใช้ทวิตเตอร์ “นิรนาม_” มาสอบปากคำเพิ่มเติม ก่อนมีการแจ้งพฤติการณ์ของข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากข้อความในทวิตเตอร์อีก 7 ข้อความ โดยที่ “นิรนาม” ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมด้วย 

จากเดิมที่ข้อความที่นำมากล่าวหาในคดีของ “นิรนาม” นั้น อ้างเป็นข้อความจากทวิตเตอร์จำนวน 1 ข้อความ โดยเป็นทวิตภาพเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และมีข้อความในเชิงเสียดสี ก่อนที่ในการสอบปากคำวันนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์เพิ่มเติมจากข้อความในทวิตเตอร์ของแอคเคาท์ดังกล่าวอีก 7 ข้อความ รวมแล้วทำให้นิรนามถูกกล่าวหาในข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จำนวนทั้งหมด 8 กรรม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า ข้อความที่พนักงานสอบสวนนำมากล่าวหาเพิ่ม เป็นทวิตระหว่างวันที่ 29 ต.ค.2562 ถึงวันที่ 28 ม.ค.2563 โดยอ้างว่ามีภาพและเนื้อหาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 อาทิการกล่าวถึงเรื่องการเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่น, กล่าวถึงกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8, กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหาร 2549 

ในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ระบุข้อกล่าวหาของคดีนี้ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  พ.ศ.2560 มาตรา 14 ว่า 

“จากพฤติการณ์และการกระทำของผู้ต้องหาดังกล่าวเป็นการนำข้อความเท็จประกอบภาพรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ที่ผู้ต้องหาโพสต์หรือเผยแพร่ส่งต่อข้อความดังกล่าว เป็นการตัดต่อภาพประกอบอันเป็นเจตนาบิดเบือนที่มีลักษณะการเชื่อมโยงสถาบัน โดยเจตนากระทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นสถาบันหลักของประเทศที่ประชาชนสักการะ ด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ มีเจตนาทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย  จึงเป็นความผิดฐาน “นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน, เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่ว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานต่อว่า สำหรับคดีของนิรนาม ก่อนหน้านี้อัยการยังไม่สั่งฟ้องคดีในนัดฟังคำสั่งเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา เนื่องจากสั่งพนักงานสอบสวนมีการสอบสวนเพิ่มเติม กระทั่งพนักงานสอบสวนกลับมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มในวันนี้

กระบวนการต่อจากนี้ เมื่อตำรวจรวบรวมสำนวน จะนัดหมายเพื่อส่งตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนให้กับอัยการใหม่ และอัยการจะพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องคดีหรือไม่ต่อไป

ทั้งนี้ข้อหาตามมาตรา 14 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท การแจ้งข้อกล่าวหานิรนามเพิ่มรวมเป็น 8 กรรม หากศาลพิพากษาลงโทษว่ามีความผิดทุกกรรม อาจทำให้ผู้ถูกกล่าวหามีโทษจำคุกได้สูงสุดถึง 40 ปี 

สำหรับเจ้าของบัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ ‘นิรนาม_’ เป็นเด็กหนุ่มอายุ 20 ปี อาศัยอยู่ใน จ.ชลบุรี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นห้องพัก และพาตัวไปยัง สภ.เมืองพัทยา โดยไม่มีหมายจับ ตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ.2563 ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากโพสต์ภาพและข้อความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ ในรัชกาลที่ 10 เขาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน และได้รับการประกันตัวหลังจากการยื่นประกันครั้งที่สามในศาลชั้นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา ด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท

ทั้งนี้ คดีของนิรนามเป็นที่จับตามองกันมากจากคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้โซเชียลมีเดีย อาทิ เฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ซึ่งในวันที่ 20 ก.พ. 2563 #Saveนิรนาม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และในวันที่ 24 ก.พ. 2563 #Freeนิรนาม ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และคืนก่อนวันรายงานตัว (3 มิ.ย. 63) ชาวทวิตเตอร์เริ่มใช้ #นิรนามต้องได้กลับมา  

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net