สุรพศ ทวีศักดิ์: "ความ(ไม่)เถรตรงของเถรวาทไทย"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในแวดวงชาวพุทธบ้านเรา อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถือเป็นชาวพุทธเถรวาทแนวยึดคัมภีร์แบบเถรตรงมากที่สุดในการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์พระสงฆ์ เช่นว่า

“กัณฑ์เทศน์คือการแสดงธรรมในหมวดต่างๆ กัณฑ์เทศน์ไม่ใช่เงิน บวชคือสละทรัพย์สมบัติ บวชเพื่อดับกิเลส แต่กลับมารับเงิน เรี่ยไรเงิน ใช่พระภิกษุในธรรมวินัยหรือเปล่า บวชทำไม บวชให้คฤหัสถ์ให้สิ่งของที่สมควรกับพระภิกษุ ไม่ใช่เงิน” (www.dhammahome.com)

สำหรับพระสงฆ์และชาวพุทธที่คิดว่าตนเองไม่ยึดติดคัมภีร์แบบเถรตรงเช่นนั้น หรือคิดว่าตนเอง “ก้าวหน้า” ยอมรับการปรับตัวของพระสงฆ์ให้เข้ากับบริบทโลกสมัยใหม่ ก็ย่อมจะไม่ยอมรับการอ้างคัมภีร์แบบเถรตรงอย่างอาจารย์สุจินต์ โดยเฉพาะการวิจารณ์เรื่องพระ “รับเงิน” เพราะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันจะดำรงชีวิตอยู่ได้หากไม่มีเงิน

แต่ประเด็นของอาจารย์สุจินต์ก็ไม่ใช่แค่เรื่อง “รับเงิน” แต่พูดถึงการ “เรี่ยไรเงิน” ซึ่งหมายถึงการแสวงหาเงิน หรือการมีเงินจนไม่มีขอบเขตที่ชัดเจนว่าพระควรมีได้แค่ไหน เช่นมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวเป็นหลักล้าน สิบล้าน, ร้อยล้าน ฯลฯ ก็ได้ใช่หรือไม่ และก็ไม่ใช่แค่เรื่องติดกัณฑ์เทศน์ด้วยเงินเท่านั้น ทุกอย่างที่เป็นเรื่องของ “บริการพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนา” ก็มีเงินตอบแทนในนามของการ “ทำบุญ” แทบทั้งนั้น

มีงานวิจัยระบุว่า ปีหนึ่งๆ มีเงินหมุนเวียนในวัดต่างๆ ทั่วประเทศกว่า 100,000 ล้านบาท แต่กระนั้นก็ยังไม่พอแก่การใช้ใน “กิจการพระศาสนา” อยู่นั่นเอง รัฐบาลต้องจัดงบฯ ให้สำนักกงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ในการสนองงานคณะสงฆ์อีกปีละกว่า 5,000 ล้านบาท จะเห็นได้ง่าเงินเป็นของจำเป็นแก่วิถีชีวิตแบบพระสงฆ์ผู้ถือพรหมจรรย์และกิจการพระศาสนามากจริงๆ คนที่มองในมุมนี้ ย่อมคิดว่าคำวิจารณ์แบบเถรตรงของอาจารย์สุจินต์ช่างไม่รู้จัก “ผ่อนสั้นผ่อนยาว” เอาเสียเลย

แต่อะไรคือ “อำนาจชอบธรรม” ที่ทำให้คำวิจารณ์ของอาจารย์สุจินต์ “ฟังขึ้น” ในมุมมองของชาวพุทธบางกลุ่ม (ขณะที่ชาวพุทธบางกลุ่มอาจหมั่นไส้, เย้ยเยาะ) ผมคิดว่าคือการแสดงให้เห็นความแม่นยำ แตกฉานในไตรปิฎกของอาจารย์เอง ทำให้พระสงฆ์ทั่วไปไม่สามารถจะเถียงได้ว่าคำพูด คำวิจารณ์ของอาจารย์สุจินต์ผิดไปจากข้อความหรือความหมายตามคัมภีร์

โดยเฉพาะก็เป็นคัมภีร์ที่พระสงฆ์ใช้อ้างในการตัดสินชี้ถูก ชี้ผิดคนอื่นๆ และใช้อ้างเพื่อรองรับความชอบธรรมของสถานะความเป็นพระภิกษุที่ควรแก่การเคารพกราบไหว้และควรแก่การรับ “ของถวาย” ด้วยศรัทธาของบรรดาสาธุชนชนั่นเอง อันเป็นคัมภีร์ของ “นิกายเถรวาท” ที่ถือกันว่าเป็นบันทึกธรรมวินัยที่ถูกต้องดั้งเดิมมากที่สุดที่สืบทอดมาจากการสังคายนาครั้งที่ 1 และมีเพิ่มเติมเข้ามาอีก 1 ปิฎก คือ “อภิธรรมปิฎก” ในการสังคายนาครั้งที่ 3 ที่อุปถัมภ์โดยธรรมราชาอโศกมหาราช

การอ้างไตรปิฎกตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบพระสงฆ์ไทยที่เน้นย้ำเสมอๆ ว่ายึดธรรมวินัยดั้งเดิมแบบเถรวาท จึงทำให้ “เจ้ากู” เถียง(ในทางหลักการ) ไม่ได้ และเถียงในทางข้เท็จจริงของปัญหาที่พระมีบัญญชีเงินฝากส่วนตัวอย่างไม่จำกัดจำนวนก็เถียงไม่ได้อีก จึงมักจะเถียงกลับด้วยการยกประเด็นความจำเป็นอื่นๆ ขึ้นมาแย้ง แทนการแย้งตัวหลักการโดยตรง หรือไม่ก็เสียดสีอายุ บุคลิกภาพ กระทั่งกล่าวหาถึง “ความใจแคบ” ของอาจารย์สุจินต์ที่ช่างไม่มองความเป็นจริงเอาเสียเลย

โดยส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับการอ้างคัมภีร์ตรวจสอบ “ความบริสุทธิ์” ของพระสงฆ์เถรวาทไทย เพราะผมคิดว่า การอ้างธรรมวินัยตามคัมภีร์ภายใต้ระบบปกครองสงฆ์ที่ไม่แยกรัฐกับศาสนา ย่อมไม่ต่างอะไรกับการอ้างกฎหมายในระบบเผด็จการไทยๆ

ตัวอย่างเช่น พระเถรวาทไทยอ้างธรรมวินัยตามตัวอักษรอย่าง “เถรตรง” ในการกีดกันสิทธิของคนที่คิดต่าง เชื่อต่าง เช่น อ้างว่าการบวชภิกษุณียังไงๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะขัดธรรมวินัย(ตามตัวอักษร) เนื่องจากภิกษุณีสายเถรวาทขาดสูญแล้ว ไปบวชจากนิกายอื่นก็ถือว่าไม่สำเร็จเป็นภิกษุณีแท้ แล้วก็อ้างว่า “ฆราวาสก็สามารถปฏิบัติธรรมและบรรลุธรรมได้ ไม่เห็นจำเป็นต้องบวชเลย” ทั้งๆ ที่พระสงฆ์ไทยก็รู้แก่ใจว่าความต้องการการบวชมีมากกว่าต้องการบรรลุธรรม เพราะพระจำนวนมาก (น่าจะ)กว่าร้อยละเก้าสิบก็ไม่ได้บวชเพื่อต้องการเป็นอรหันต์

ส่วนในเรื่องที่พวกตนจะได้ประโยชน์ บรรดาเจ้ากูก็อ้างธรรมวินัยแบบ “เลี่ยงบาลี” หรือ “ตีความ” ธรรมวินัยให้เอื้อแก่พวกตนเอง เช่นเรื่องรับเงิน, การมีบัญชีเงินฝากส่วนตัวได้ไม่จำกัดจำนวน, การมีสมณศักดิ์ฐานันดร, ตำแหน่ง, อำนาจทางกฎหมายของคณะสงฆ์, เงินนิตยภัต, งบประมาณจากรัฐอุปถัมภ์พุทธศาสนา, ฉันปุ๊ปเฟ่ต์, เดินห้าง, ขับรถยนต์, และฯลฯ ก็อ้างเรื่องความจำเป็นในการปรับตัวตามยุคสมัย อ้างการ “อนุวัตรตามราชา” หรือตามรัฐ และอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่เพื่อ “ผ่อนปรน” ในทางเอื้อประโยชน์แก่พวกตนเองเป็นด้านหลัก  

ประเด็นคือ ขณะที่เจ้ากูอ้างสิ่งที่เรียกว่า “ธรรมวินัย” ตามคัมภีร์พุทธศาสนาเพื่อรองรับความน่าศรัทธาเลื่อมใสของตนเองในฐานพระสงฆ์ผู้ถือพรหมจรรย์ หรือมีวิถีชีวิตอันประเสริญเจริญรอยตามทางหลุดพ้นของพุทธะ เจ้ากูก็อ้าง “อภิสิทธิ์” อื่นๆ ที่จะได้จะเอาความสะดวกสบาย ความสุข ความพรั่งพร้อมแบบโลกวิสัยแทบทุกอย่าง แต่ครั้นถูกเรียกร้องให้เคารพหลักการโลกวิสัยอย่างแฟร์ๆ คือให้แยกศาสนาจากรัฐ เจ้ากูก็ปฏิเสธ

กลายเป็นว่าบรรดาเจ้ากูต้องการมีสถานะน่าศรัทธาเลื่อมใสตามธรรมวินัย เพื่อให้คนเคารพกราบไหว้และ “ถวาย” ปัจจัยและทุกสิ่งที่ตนต้องการ แต่ก็อ้างความจำเป็นว่ามีข้อยกเว้นที่จะไม่ทำตามธรรมวินัยหากพวกตนจะเสียประโยชน์ ขณะที่อ้างธรรมวินัยตามตัวอักษรกีดกันสิทธิการบวชภิกษุณี และพระสงฆ์กลุ่มอื่นที่อยู่นอกระบบมหาเถรสมาคม พร้อมกับอยากได้ทุกอย่างแบบทางโลก แต่กลับไม่ยอมเคารพหลักการโลกวิสัยที่กำหนดให้ทุกคนมีตำแหน่งแห่งที่อยู่ภายใต้หลัก “สิทธิเท่าเทียม” ในฐานะคนเท่ากัน

ถ้าพูดบนหลักการโลกวิสัยแล้ว เจ้ากูจะหาเงิน ขายธรรมะ ขายพิธีกรรม รวย หรือโคตรรวยอย่างไรก็ได้ ถ้าหากทำมาหาเลี้ยงชีพเองแบบพระญี่ปุ่น(เป็นต้น) แต่นี่ทั้งจะเอาประโยชน์ต่างๆ ทางโลกวิสัยและอยู่ในฐานะ “ผู้บริสุทธิ์สูงส่ง” กว่าคนธรรมดาและ “รับของถวาย” จากคนธรรมดาด้วย อีกอย่างจะตีความธรรมวินัยอย่างไรก็ได้ แล้วแต่กลุ่มต่างๆ จะว่ากันไป แต่นี่เจ้ากูกลับมีอำนาจทางกฎหมายในการ “ผูกขาด” การตีความธรรมวินัยอย่างผิดหลักการโลกวิสัยด้วย

ดังนั้น การอ้างธรรมวินัยของพระสงฆ์เถรวาทไทยจึงไม่ต่างจากการอ้างกฎหมายในระบบเผด็จการไทยๆ ที่อ้างเพื่อกีดกัน, จับผิดกลุ่มคนที่คิดต่าง เชื่อต่างจากพวกตน ขณะที่ “เลี่ยงบาลี” เพื่อผลประโยชน์ของพวกตน ไม่รู้ว่าวิธีคิดแบบนี้ระหว่างพระสงฆ์เถรวาทไทยกับเผด็จการไทยๆ ใครลอกใครกันแน่

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่เห็นด้วยกับการอ้างคัมภีร์ภายใต้ระบบที่บิดเบี้ยว แต่กรณีอาจารย์สุจินต์นั้นเป็นการอ้างในฐานะปัจเจกบุคคลนอกระบบปกครองของคณะสงฆ์ และโดยเฉพาะในฐานะ “ผู้หญิง” ด้วยนั้น ย่อมน่านับถือในความกล้าหาญ เพราะแทบจะไม่มีผู้หญิงในบ้านเราที่กล้าอ้าง “คัมภีร์ของพระ” ในการตรวจสอบพระอย่างตรงไปตรงมา เพื่อชี้ให้เห็นว่า แท้จริงแล้วพระที่อ้างคัมภีร์ปกป้องความบริสุทธิ์ผุดผ่องของพวกตนและชี้ถูกชี้ผิดคนอื่นๆ เสมอนั้น หาได้ประพฤติตามคัมภีร์ที่อ้างอย่างตรงไปตรงมาไม่

แน่นอนว่า การอ้างคัมภีร์วิจารณ์พระสงฆ์แบบอาจารย์สุจินต์ ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เพราะระบบผูกขาดอำนาจทางธรรมวินัยภายใต้การปกครองคณะสงฆ์ที่มีอำนาจทางกฎหมาย หรือภายใต้ระบบไม่แยกรัฐกับศาสนา คือระบบที่กำหนดให้มีวัฒนธรรมการอ้างธรรมวินัยแบบ “สองมาตรฐาน” เช่นนี้มานานมากแล้ว ยากที่จะเปลี่ยนแปลงได้

ระบบสองมาตรฐานในการอ้างธรรมวินัยแบบ “เถรตรง” ในการกีดกันหรือเอาผิดคนคิดต่าง เชื่อต่าง และ “เลี่ยงบาลี” ในทางที่เอื้อประโยชน์แก่พวกตนเองเช่นนี้ ย่อมเป็นระบบที่ทำให้พระสงฆ์ไม่สามารถที่จะมี “ความรับผิดชอบ” (accountability) ทั้งต่อหลักการธรรมวินัยเองและทั้งต่อหลักการโลกวิสัย ไม่ต่างจากเผด็จการไทยๆ ที่สอนให้คนอื่นรู้หน้าที่และเคารพกฎหมาย แต่พวกตนเองกลับทำผิดหน้าที่และอยู่เหนือกฎหมายเสียเอง

 

  

หมายเหตุ: ภาพประกอบ จิตรกรรมฝาผนังที่วัดเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย (ในภาพ) พระโมคคลีบุตรติสสเถระ และพระเจ้าอโศกมหาราช ขณะทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ ๓ ณ วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ชมพูทวีป (ปัจจุบันคือ เมืองปัตนะ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) ที่มา https://www.norkaew.net/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2/%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%8E%E0%B8%81%E0%B8%9D%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%96%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%97.html
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท