Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ข้อแตกต่างสำคัญหนึ่งของการอ้างเหตุผลทางศีลธรรม ระหว่างพุทธเถรวาทไทยกับมหายาน เห็นได้อย่างชัดเจนในการอ้างเหตุผลทางศีลธรรมกรณีการรักษาศีลข้องดเว้น “ปาณาติบาต” หรือการไม่ทำลายชีวิตสัตว์ การทำความเข้าใจประเด็นนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจปัญหาการอ้างเหตุผลทางศีลธรรมโดยภาพรวมของพุทธเถรวาทไทย และทำให้เราเข้าใจชัดขึ้นว่า ทำไมสังคมที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธเถรวาทอย่างสังคมไทย (เป็นต้น) จึงมีปัญหาศีลธรรมทางสังคมและการเมืองในทางที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนมายาวนาน

เหตุผลของการรักษาศีลข้อ “ไม่ทำลายชีวิตสัตว์” ของพุทธฝ่ายมหายานเชื่อมโยงกับการ “ไม่กินเนื้อสัตว์” เพราะเขาถือว่า การกินเนื้อสัตว์คือสาเหตุของการฆ่าสัตว์มาเป็นอาหาร นี่คือเหตุผลทางศีลธรรมที่ “นึกถึงคนอื่น” เป็นด้านหลัก คือนึกถึงการปกป้องชีวิตสัตว์เป็นสิ่งสำคัญสูงสุด ความยากในการตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ และความลำบากในการใช้ชีวิตถือมังสวิรัติของตนเองเป็นเรื่องรอง 

แต่เหตุผลของเถรวาทไทยอ้างว่า การรักษาศีลข้อไม่ทำลายชีวิตสัตว์ เรากินเนื้อสัตว์ได้ นักบวชก็กินเนื้อสัตว์ได้ ถ้าไม่สงสัยว่าเขาเจาะจงฆ่าสัตว์นั้นๆ มาทำอาหารถวายตน นี่คือเหตุผลที่ “นึกถึงตัวเอง” เป็นด้านหลัก คือยึด “ความบริสุทธิ์ในการรักษาศีลของตน” เป็นสิ่งสำคัญกว่าเจตจำนงมุ่งปกป้องชีวิตสัตว์ 

นักบวชเถรวาทไทยมักอ้างว่า ที่ไม่ถือมังสวิรัติเพราะต้องการทำตนให้ “เป็นผู้เลี้ยงง่าย” ไม่เป็นภาระของชาวบ้าน แต่การทำตนให้เป็นผู้เลี้ยงง่ายเช่นนั้น ก็เป็นภาระแก่คนอื่นโดยตรงอยู่ดี เพราะต้องคอยแต่พึ่งพา หรือ “ขอ” จากคนอื่นเลี้ยงชีพ ขณะที่นักบวชมหายานเขาทำมาหาเลี้ยงชีพตนเอง การถือมังสวิรัติจึงไม่ตกเป็นภาระของคนอื่น

อย่างไรตาม บทความนี้ไม่ต้องการถกประเด็นว่า ระหว่างมังสวิรัติกับการกินเนื้อสัตว์อันไหนดีกว่า แต่ต้องการวิพากษ์ “ปัญหาการอ้างเหตุผลทางศีลธรรม” แบบพุทธเถรวาทไทยว่าก่อให้เกิดปัญหาสำคัญอื่นๆ ตามมาอย่างไรบ้าง 

เมื่อเราเชื่อมโยงเหตุผลทางศีลธรรมในการไม่ทำลายชีวิตสัตว์กับ “ความคิดพื้นฐาน” (basic idea) ของฝ่ายมหายาน จะเห็นความสอดคล้องทางตรรกะชัดเจนขึ้น นั่นคือ ฝ่ายมหายายึดถือ “อุดมคติโพธิสัตว์” ที่นึกถึงคนอื่น และสังคมส่วนรวมเป็นสิ่งสำคัญมาก่อน (priority) ความหมายตรงตัวอักษรตามอุดมคตินี้คือ การทำความดีทางศีลธรรม หมายถึง การช่วยให้คนอื่น, คนส่วนใหญ่ หรือสรรพสัตว์พ้นทุกข์ก่อน แล้วค่อยช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ทีหลัง และความหมายที่ตีความได้จากหลักการการนี้ก็คือ การทำเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมถูกจัดลำดับความสำคัญมาก่อนประโยชน์สุขส่วนตัว 

ในทางปฏิบัติ เราทำตามอุดมคติดังกล่าวได้จริงไหม ตัวอย่างที่เห็นเมื่อเร็วๆ นี้ คือกรณีอุบัติเหตุเครื่องบินของสายการบินเจแปนแอร์ไลน์ (JAL) เที่ยวบิน 516 ชนกับเครื่องบินของหน่วยยามฝั่ง ขณะลงจอดที่สนามบินฮาเนดะ ในกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา ลูกเรือและนักบินได้ช่วยผู้โดยสารร่วม 400 คนให้รอดชีวิต โดยลูกเรือและนักบินออกจากเครื่องบินทีหลัง ก่อนเครื่องบินจะระเบิด 

ที่จริงแล้ว เราหาตัวอย่างได้มากว่ามีการกระทำที่เสียสละเพื่อคนอื่นและสังคมส่วนรวมอยู่จริง ทั้งในทางประวัติศาสตร์และปัจจุบัน ทั้งที่เป็นการเสียสละในบ้านเราและในสังคมนานาชาติ พูดให้ชัดขึ้น สังคมเปลี่ยนแปลงในทางที่เป็นธรรมมากขึ้นได้ เพราะมีคนเสียสละเพื่อส่วนรวมอยู่จริง

อีกข้อสังเกตหนึ่งคือ ความคิดแบบมหายาน เป็นความคิดที่ยืดหยุ่นปรับตัวตามบริบททางสังคมและยุคสมัยที่เปลี่ยนไป นิยามของ “ความพ้นทุกข์” และ “ประโยชน์สุขส่วนรวม” จึงยืดหยุ่นด้วย ไม่จำเป็นว่าความพ้นทุกข์ จะต้องหมายถึงการบรรลุนิพานเท่านั้น อาจรวมถึงการพ้นทุกข์ทางสังคม จากอำนาจกดขี่ทางการเมือง เศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียม และความอยุติธรรมด้านต่างๆ ด้วย สิ่งที่เรียกว่า “ประโยชน์สุข” จึงไม่จำต้องเป็นประโยชน์สุขตามกรอบคิดทางศาสนาเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความเป็นธรรมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเป็นต้นด้วย พุทธฝ่ายมหายาน (ที่มีนิกายย่อยหลากหลายนิกาย) ในจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม อินเดีย และสังคมตะวันตก จึงสามารถปรับตัวกลมกลืนไปกับนิยามของประโยชน์สุขในสังคมนั้นๆ ได้ดีกว่า

อีกอย่าง ความคิดพื้นฐานฝ่ายมหายานที่ถือว่า “ทุกคนหรือสรรพสัตว์ต่างก็เป็นโพธิสัตว์” หรือมี “พุทธภาวะ” เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง นี่คือการยืนยัน “คุณค่าพื้นฐาน” อันเป็น “คุณค่าในตัวเอง” ของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีเหมือนกัน เราทุกคนจึงมี “ความเป็นคนเท่ากัน” ความแตกต่างภายนอก เช่น เชื้อชาติ เพศ สีผิว สถานภาพทางสังคม ศาสนา และอื่นๆ ไม่ใช่เหตุแบ่งแยกมนุษย์จากการมีความเป็นคนเท่ากัน ในฐานะที่ทุกคนมีพุทธภาวะเป็นคุณค่าพื้นฐานในตัวเองเสมอภาคกัน จากความคิดพื้นฐานเช่นนี้ เราจึงคิดต่อได้ว่า การจัดระบบสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และอื่นๆ ก็ควรจัดให้สอดคล้องกับความเป็นคนเท่ากัน นั่นคือ ต้องวางระบบที่เป็นธรรมบนความเสมอภาคเท่าเทียมมากที่สุด เพื่อให้เอื้อต่อความพ้นทุกข์มิติต่างๆ ของปัจเจกบุคคล และสังคมส่วนรวม 

แต่เหตุผลทางศีลธรรมแบบพุทธเถรวาทไทย ที่ “นึกถึงตัวเอง” สำคัญอันดับแรก เป็นเหตุผลที่เชื่อมโยงกับความคิดพื้นฐานที่ว่า “ต้องช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ได้ก่อนจึงช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์ตาม” แนวคิดนี้เน้นความเป็น “พระอรหันต์” ผู้หมดจดจากกิเลสแล้วจึงมาสอนคนอื่นให้ทำตาม จะเห็นว่าเป็นความคิดพื้นฐานที่เน้น “คุณธรรมส่วนบุคคล” มากกว่า คือเน้นการถือศีล ปฏิบัติธรรม การบวชเพื่อให้ตนเองเป็นคนดี มีความสุขความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรม จนถึงเป้าหมายสุดท้ายคือการเป็นพระอรหันต์ ส่วนในเรื่องทางสังคมหรือส่วนรวม แนวคิดนี้เชื่อว่าถ้าแต่ละคนเป็นคนดี สังคมก็จะดีเอง ปัญหาทางสังคมและการเมืองจึงมีต้นเหตุมาจากการมีคนไม่ดี หรือมีคนเลวไปมีอำนาจทางการเมืองและอื่นๆ มากเกินไป การแก้ปัญหาที่ระบบ สร้างระบบให้ดีแค่ไหนก็เปล่าประโยชน์ ถ้าไม่ทำให้คนเป็นคนดี

อันที่จริง พุทธเถรวาทไทยก็เชื่อเรื่องโพธิสัตว์เช่นกัน แต่ไม่ได้เน้นว่า “ทุกคนเป็นโพธิสัตว์” หรือ “ทุกคนมีความเป็นพุทธะในตัวเอง” กลับเน้นการอุปโลกน์ชนชั้นปกครองเป็นพระโพธิสัตว์ สมมติเทพ พระพุทธเจ้าอยู่หัว ที่ผู้ใต้ปกครองต้องศรัทธา เชื่อฟัง และคอยพึ่งบารมี ตามอุดมคติ “การปกครองโดยธรรม” หรือการปกครองโดยกษัตริย์ที่เป็นคนดีมีคุณธรรม เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์แล้ว คติการปกครองโดยธรรม ก็ยังอยู่คู่สถาบันกษัตริย์ และถูก “ขยายความ” มาสู่การปกครองของรัฐบาลจากรัฐประหารว่า “ต้องให้คนดีมีคุณธรรมมาปกครองเพื่อแก้วิกฤตบ้านเมือง” และสู่รัฐบาลจากการเลือกตั้งว่า “ต้องเลือกคนดีมีคุณธรรมมาบริหารบ้านเมือง” รวมทั้งข้าราชการก็ต้องเป็นคนดีมีคุณธรรมด้วย 

ยิ่งกว่านั้น ตามบรรทัดฐานทางศีลธรรม “ที่ปฏิบัติอยู่จริง” ในสังคมที่คนส่วนใหญ่ถือพุทธเถรวาทไทย คนดีมีคุณธรรมก็แบ่งเป็นช่วงชั้นชัดเจน นั่นคือ คนดีมีคุณธรรมระดับสูงสุดคือกษัตริย์ ซึ่งถือว่าเป็นคนดีมีคุณธรรมตามคติการปกครองโดยธรรมที่แท้จริง และอยู่เหนือหลักเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบ รองลงมาคือคนดีมีคุณธรรมที่มาปกครองประเทศผ่านการทำรัฐประหาร ที่ตรวจสอบไม่ได้ตามหลักการประชาธิปไตย และเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้ (เช่น ทำรัฐประหารก็นิรโทษกรรมได้ง่ายดาย และไม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เป็นต้น) และคนดีมีคุณธรรมระดับต่ำสุด คือนักการเมืองและข้าราชการต่างๆ ที่ตรวจสอบตามตามหลักการประชาธิปไตย และเอาผิดทางกฎหมายได้ (บ้างก็เอาผิดทางกฎหมายได้ง่ายเป็นพิเศษ เช่น ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ์ทางการเมืองได้ง่ายดาย เป็นต้น) 

จากบรรทัดฐานทางศีลธรรมดังกล่าว ทำให้เกิด “วัฒนธรรมยึดติดตัวบุคคลบวกอำนาจนิยม” คือ วัฒนธรรมที่ชนชั้นปกครอง สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา และอื่นๆ สร้างความคาดหวัง หรือปลูกฝังให้ประชาชนคาดหวังว่า ต้องให้ “คนดี” มาเป็นผู้ปกครอง และยอมรับการใช้อำนาจเผด็จการโดยธรรม หรือเผด็จการในนามความดีของผู้ปกครองเช่นนั้นได้ 

ความคิดพื้นทางการเมืองที่คาดหวังจะได้คนดีมาปกครอง และยอมรับอำนาจเผด็จการโดยคนดี อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “ระบบดีไม่ดีไม่สำคัญเท่าคนดี” ซึ่งสอดรับกับความคิดทางศีลธรรมแบบเถรวาทไทยที่คำนึงถึงตัวเองก่อนว่า ต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์ก่อนค่อยมาสอนคนอื่นให้พ้นทุกข์ตาม แต่ในความเป็นจริง นักบวชและชาวพุทธส่วนใหญ่ ก็ไม่ต้องจะบรรลุอรหันต์ หรือไม่ได้บำเพ็ญเพียรเพื่อเป็นพระอรหันต์ พวกเขาได้แต่คาดหวังว่าจะมีพระอรหันต์มาโปรด ซึ่งเป็น “จิตสำนึกแบบพึ่งพาคนที่เหนือกว่าตน” จิตสำนึกแบบนี้สอดรับกับจิตสำนึกทางการเมือง ที่หวังพึ่งพาคนดีที่มีอำนาจเด็ดขาดมาทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเจริญรุ่งเรือง

นอกจากใน “ทางการเมือง” จิตสำนึกแบบพุทธเถรวาทไทย จะทำให้ผู้คนคาดหวังต่อสมมติเทพ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าอยู่หัว หรือคนดีมีคุณธรรมาปกครองบ้านเมืองแล้ว ใน “ทางสังคม” ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์คลั่งผู้วิเศษ เช่น ผู้ที่ถูกโฆษณาว่าเป็นพระอริยะ พระอรหันต์ พระเกจิที่มีชื่อเสียงด้านต่างๆ กระทั่งสมเด็จผ้ายันตร์ เรื่อยมาถึงอาจารย์น้องไนซ์ เป็นต้น ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งก็คลั่ง “เซเลบพุทธ” ทั้งพระและฆราวาสที่แสดง “ภูมิรู้” ออกมามา “ฟาด” ความเชื่อต่างๆ ที่ถูกมองว่า “งมงาย” นี่คือเรื่องราวหลักๆ ที่เป็นกระแสความคิด และปรากฏการณ์ซ้ำๆ ในสังคมพุทธไทย

แต่ไม่มีกระแสความคิด หรือปรากฏการณ์ของการเคลื่อนไหวในนามพุทธเถรวาทไทยที่คำนึงถึง “คนอื่น” เช่น มีประชาชนที่เสียสละเพื่อส่วนรวม ออกมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความยุติธรรม ที่ถูกขังคุกด้วยมาตรา 112 ถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า และลี้ภัยการเมืองในต่างประเทศ แต่ไม่เคยมี “การส่งเสียงในนามพุทธเถรวาทไทย” ที่เรียกร้องให้ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมแก่ประชาชนเหล่านั้นเลย 

พูดให้ตรงที่สุด บรรดาผู้รู้หรือนักวิชาการพุทธไทย ไม่ว่านักบวชหรือฆราวาสไม่สนใจหรอกว่าการแยกศาสนาจากรัฐ เพื่อทำให้ศาสนาไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของชนชั้นปกครอง และเพื่อสร้างประชาธิปไตยโลกวิสัยให้เป็นจริง จะเกิดประโยชน์และมีความเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกศาสนา และคนไม่มีศาสนาอย่างไรบ้าง พวกเขาคิดถึงแต่ตัวเองหรือพวกของตนเองเป็นด้านหลักว่า ทำอย่างไรจะบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้พุทธศาสนาเป็น “ศาสนาประจำชาติ” ทำอย่างไรรัฐจะอุปถัมภ์พุทธเถรวาทไทยเป็นพิเศษมากขึ้นๆ เป็นต้น

ยิ่งกว่านั้น พวกเขาไม่เคยตั้งคำถามด้วยซ้ำว่า การสร้างและการคงไว้ซึ่ง “ระบบศักดินาพระ” เพื่อค้ำ “ระบบศักดินาเจ้า” เป็นการเดินสวนทางกับ “เส้นทางอิสรภาพ” ของพุทธะไหม ดูพวกเขามีความสุขและภาคภูมิใจกับการเรียกตนเองด้วยภาษาโบราณๆ ว่า “เจ้าคุณ” และยินดีปกป้องระบบศักดินาพระไว้สนับสนุนระบบศักดินาเจ้า มากกว่าที่จะต้องการ “แยกศาสนาจากรัฐ” เพื่อให้พุทธศาสนาปรับตัวสอดคล้องและสนับสนุนประชาธิปไตยโลกวิสัย ที่เกิดประโยชน์แก่คนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะถือศาสนาใดๆ หรือไม่มีศาสนาก็ตาม  

ตัวอย่างที่ว่ามาเป็นต้น คือภาพสะท้อน “วัฒนธรรมทางศีลธรรมแบบพุทธเถรวาทไทย” ที่ยึดถือว่าการทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม และอื่นๆ คือการกระทำที่ “คำนึงถึงตัวเอง” เป็นด้านหลัก เช่น เพื่อให้ตนเองได้บุญ ให้บุญดลบันดาลโชคลาภ ความมั่งคั่ง เกียรติยศ ความสุขในโลกนี้และโลกหน้า หรือปฏิบัติธรรมเพื่อความสงบ ความสุขของตนเอง อาจจะโพสเฟสว่า “วันนี้ไปทำบุญตักบาตรมา ปฏิบัติธรรมมา เอาบุญมาฝากทุกๆ คน” แล้วก็มีคนเข้ามาสาธุรัวๆ แต่นี่ไม่เกี่ยวอะไรกับการช่วยเหลือคนอื่น และทำให้สังคมดีขึ้น เป็นธรรม และน่าอยู่มากขึ้น

ยิ่งกว่านั้น บางคนต่อให้ทำเลวๆ มาอย่างไร พอเข้าวัดปฏิบัติธรรม หรือ “บวชพระ” ก็กลายเป็น “คนดี” เฉยเลย บางคนเป็นเผด็จการสั่งกองกำลังทหารปราปรามนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดเหี้ยม ก็ได้รับ “ผ้าไตรพระราชทาน” บวชพระในพระอารามหลวง โดยมีพระราชาคณะระดับสูงเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ เป็นต้น ซึ่งน่าสังเกตว่าตามธรรมวินัยของพุทธะ “ห้ามบวชให้โจร” แต่พุทธเถรวาทไทยกลับบวชให้เผด็จการที่สั่งใช้กองกำลังสังหารนักศึกษาและประชาชนอย่างโหดเหี้ยมได้ ทั้งๆ ที่เผด็จการทราราชเช่นนั้นเลวร้ายยิ่งกว่าโจร การกระทำเช่นนั้นของพุทธเถรวาทไทยจึงกลายเป็นชนวนเหตุนองเลือดในประวัติศาสตร์ 6 ตุลา ดังที่เราทราบกัน กระนั้นพุทธเถรวาทไทยก็ยังสนับสนุนเผด็จการทรราชมาทุกยุค  

ปัจจุบันมีคำถามมากขึ้นๆ ว่า การทำความดีที่นึกถึงตนเองเป็นที่ตั้งแบบพุทธเถรวาทไทยถือเป็น “ศีลธรรม” (moral, morality) ได้หรือไม่? 

เช่น นิธิ เอียวศรีวงศ์ ยืนยันว่า “การกระทำที่ถือเป็นศีลธรรมได้ ต้องเป็นการกระทำบนพื้นฐานของการนึกถึงคนอื่น” ซึ่งเรื่องนี้ถกเถียงกันได้ แต่แนวคิดจริยศาสตร์สมัยใหม่กระแสหลัก ก็ยืนยันสอดคล้องกับนิธิว่า การทำความดีทางศีลธรรมต้องอยู่บนพื้นฐานของการนึกถึงคนอื่น และสังคมส่วนรวม เช่น การกระทำสิ่งที่ถูกต้องบนพื้นฐานของการเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองและคนอื่นในฐานะ “คนเท่ากัน” ที่แสดงออกเป็นการปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรึความเป็นมนุษย์ ความยุติธรรมทางสังคม และการเมือง หรือการทำเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวมในแง่ต่างๆ 

โดยนัยดังกล่าว การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และประชาธิปไตยของพลเมืองที่ถูกกดปราบด้วย 112 ทำให้พวกเขาต้องตกเป็น “นักโทษการเมือง” หรือ “นักโทษทางความคิด” หรือตกเป็น “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” และถูกอุ้มหาย อุ้มฆ่า ย่อมเป็น “การกระทำที่นึกถึงคนอื่นและสังคมส่วนรวม” อย่างชัดแจ้ง จึงเป็นการกระทำที่มี “ศีลธรรมสาธารณะ” ตามเกณฑ์ของจริยศาสตร์สมัยใหม่กระแสหลัก ไม่ว่าจะเป็นจริยศาสตร์สายคานท์ หรือสายประโยชน์นิยม เป็นต้น

แต่ความคิดพื้นฐานทางศีลธรรม และบรรทัดฐานทางศีลธรรมแบบพุทธเถรวาทไทย ที่เน้นการทำดีบนเหตุผลที่นึกถึงตนเองเป็นที่ตั้ง นำไปสู่วัฒนธรรมยึดติดตัวบุคคลบวกอำนาจนิยมทางการเมืองและทางสังคม ซึ่งขัดแย้งกับศีลธรรมสาธารณะ การสร้างประชาธิปไตยโลกวิสัย ความยุติธรรมทางสังคม และการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ 

 

 

ที่มาภาพ http://www.anakame.com/page/5_Misc/N158.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net