Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เวลาถกเถียงเรื่อง “การแยกศาสนาจากรัฐ” หรือ secularization ในบ้านเรา มักจะยกตัวอย่างปัญหาของรัฐโลกวิสัยบางแห่ง เช่น ปัญหาการห้ามคลุมฮิญาบในรัฐโลกวิสัยแบบฝรั่งเศสมาเป็นหนึ่งในข้อโต้แย้ง โดยลืมไปว่านั่นเป็นปัญหาในสังคมหลังโลกวิสัย (post-secular society) ที่เราไม่จำเป็นต้องมีปัญหาเช่นนั้นก็ได้ 

กล่าวคือ ฝรั่งเศสเป็นรัฐโลกวิสัยนานแล้ว และมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นหลังจากเป็นสังคมโลกวิสัยแล้ว ซึ่งเป็นเงื่อนไขเฉพาะทางประวัติศาสตร์และบริบทสังคมของเขาที่มีคนต่างศาสนาอพยพเข้ามาพร้อมกับการยึดหลักศาสนาที่มีมิติบางอย่างปะทะขัดแย้งกับคุณค่าแบบโลกวิสัย เป็นต้น 

แม้การยกตัวอย่างดังกล่าว อาจทำให้เห็น “ปัญหาบางประการ” ในสังคมหลังโลกวิสัย แต่อาจทำให้เข้าใจผิดไปว่านั่นคือปัญหาของตัวหลักการของแนวคิดโลกวิสัย (secularism) เหมือนที่ชอบยกตัวอย่างกันว่าในสังคมเสรีประชาธิปไตยอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ อเมริกามีแต่ความขัดแย้ง วุ่นวายจากการชุมนุมประท้วงต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เข้าใจผิดไปว่า “ประชาธิปไตยแบบไทย” ดีกว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตก เพราะประชาชนรู้รักสามัคคี สังคมสงบสุขมากกว่า แต่มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ สังคมไทยได้สัมผัสความเป็นประชาธิปไตยแบบตะวันตกแล้วหรือยัง สำหรับประเทศที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว สิ่งที่คนไทยมองว่าขัดแย้ง วุ่นวาย ไม่สงบ เขาอาจมองว่าเป็นเรื่องปกติของประชาธิปไตย หรือถือว่าการชุมนุมประท้วงเหล่านั้นเป็น “วัฒนธรรมประชาธิปไตย” ที่จำเป็นต้องมีก็ได้ ดังนั้น สังคมที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับวัฒนธรรมประชาธิปไตยเช่นนั้น ก็อาจมองเป็นความวุ่นวาย ไม่สงบ หรือไม่พึงประสงค์

ทำนองเดียวกัน นักวิชาการในสังคมที่ยังไม่เป็นรัฐโลกวิสัย อาจมองว่าปัญหาบางอย่างในสังคมหลังโลกวิสัยเป็นเรื่องใหญ่เสียจนทำให้เห็นว่าเป็นรัฐกึ่งศาสนาแบบไทยๆ ก็ดีแล้ว มีเสรีภาพทางศาสนามากกว่ารัฐโลกวิสัยเสียอีก เพราะไทยไม่ได้ห้ามคลุมฮิญาบ เป็นต้น 

แต่หากมองในมุมสังคมโลกวิสัยแบบฝรั่งเศส ชาวฝรั่งเศสย่อมพึงพอใจในความเป็นรัฐโลกวิสัยมากกว่า เพราะในยุคที่ฝรั่งเศสอยู่ใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์ใช้อำนาจเผด็จการเทวสิทธิ์ตามหลักศาสนาปกครอง และศาสนจักรหรือกลุ่มนักบวชยังมีฐานันดร และมีอำนาจทางการเมือง ประชาชนย่อมไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออก และเสรีภาพทางศาสนาได้แบบในยุคปัจจุบันที่เป็นรัฐโลกวิสัย แยกศาสนาจากการเมืองแล้ว 

พูดอีกอย่างคือ เราจะเข้าใจความเป็นรัฐโลกวิสัยได้ชัดเจน ต้องเปรียบเทียบกับรัฐศาสนา ในรัฐศาสนาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ย่อมไม่มีเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางศาสนาได้จริง แต่รัฐประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular democracy) ให้หลักประกันเสรีภาพดังกล่าว  

ดังนั้น “ประเด็นหลัก” ของการแยกศาสนาจากรัฐคือ ต้อง “แยกศาสนาจากรัฐทางการเมือง” หรือต้อง “ทำให้เป็นโลกวิสัยทางการเมือง” (political secularization) หมายถึง การกำหนดอุดมการณ์ กฎกติกา หรือระเบียบทางการเมืองให้เป็นแบบทางโลก คือหลักประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค หลักนิติรัฐ และอื่นๆ โดยไม่มีอำนาจตามหลักความเชื่อทางศาสนา เช่น อำนาจเทวสิทธิ์ อำนาจในนามธรรมะ หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพสักการะตามหลักศาสนาใดๆ อยู่เหนือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตย ซึ่งทำกันสองแบบคือ เปลี่ยนรัฐศาสนาหรือเปลี่ยนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ปกครองด้วยอำนาจเทวสิทธิ์ หรืออำนาจตามความเชื่อศาสนาใดๆ เป็นระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ หรือเป็นประชาธิปไตยแบบกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยที่กษัตริย์ไม่มีอำนาจแบบศาสนาเหนือหลักเสรีภาพและประชาธิปไตยอีกต่อไป 

สาระสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง จึงเป็นการเอาหลักความเชื่อทางศาสนา, อำนาจทางการเมืองแบบศาสนา หรืออำนาจศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ตามหลักความเชื่อทางศาสนาออกไปจาก “คุณค่าสาธารณะ” (public values) เช่น อุดมการณ์ทางการเมือง และกติกาทางการเมือง โดยไม่นำศาสนามาเป็นอุดมการณ์ความมั่นคงของรัฐ ไม่บัญญัติศาสนาประจำชาติ ไม่บัญญัติอำนาจแบบศาสนาที่ศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะและแตะต้องไม่ได้ในรัฐธรรมนูญ ไม่บัญญัญติหลักการปกครองตามความเชื่อศาสนาใดๆ ในรัฐธรรมนูญ ไม่มีกฎหมายศาสนา หรือกฎหมายให้อภิสิทธิ์ทางศาสนา ไม่มีศาลศาสนา เป็นต้น  

ถามว่าสังคมไทยศาสนายังมีอิทธิพลทางการเมืองหรือไม่? 

คำตอบตรงไปตรงมาคือ มีพรรคการเมืองกล้าเสนอนโยบายแยกศาสนาจากรัฐทางการเมืองหรือไม่ เช่น นโยบายยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตราที่กำหนดให้สถาบันกษัตริย์ต้องเป็นพุทธมามกะและเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หรือมาตราที่กำหนดให้กษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ (ซึ่งเป็นคติความเชื่อแบบพราหมณ์ฮินดู-พุทธ) หรือยกเลิกมาตราที่กำหนดให้รัฐมีหน้าที่อุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเถรวาท และศาสนาอื่นๆ ยกเลิกศาสนจักรและองค์กรศาสนาต่างๆ ที่เป็นองค์กรของรัฐเปลี่ยนให้องค์กรทุกศาสนาเป็นเอกชน ยกเลิกงบฯ อุดหนุนทุกศาสนา ยกเลิกการบังคับเรียนศาสนาในโรงเรียนกของรัฐ เป็นต้น 

ถ้าไม่มีพรรคการเมืองกล้า “แตะ” เรื่องดังกล่าว เพราะกลัวทัวร์ลง กลัวถูกต่อต้านจากกลุ่มศาสนาต่างๆ (ในบ้านเราคือกลุ่มชาวพุทธและมุสลิม) กลัวเสียคะแนนเสียง กลัวถูกยุบพรรค เป็นต้น ก็แสดงว่าศาสนายังมีอิทธิพลสูงในทางการเมือง หรือศาสนายังมีอิทธิพลในทางที่ขัดกับหลักการ political secularization อยู่จริง

แต่มีความพยายามทำ political secularization ในบ้านเราหรือไม่? 

มีแน่นอน เช่น นโยบายของพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้มาตรา 112 โดยลดอัตราโทษให้ได้สัดส่วนกับความผิด และกำหนดเงื่อนไขให้การวิจารณ์สถาบันกษัตริย์โดยสุจริตเพื่อประโยชน์สาธารณะเป็น “เสรีภาพ” ที่พึงกระทำได้ นี่คือการทำ political secularization ในประเด็นหลักเลย คือการทำให้หลักการทางโลก คือหลักเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่อยู่เหนือหลักอำนาจแบบศาสนาที่แตะต้องไม่ได้ หรือการทำให้อำนาจทางการเมืองแบบศาสนามาอยู่ใต้หลักการแบบโลกวิสัยเหมือนอังกฤษและญี่ปุ่นทำสำเร็จมาแล้ว 

การนิรโทษกรรมคดี 112 ก็คือการทำ political secularization อีกอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการทำให้การใช้เสรีภาพทางความคิดเห็น การพูด การแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยโลกวิสัยไม่ถูกลงทัณฑ์ตามกฎหมายที่ปกป้องอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบศาสนาที่แตะต้องไม่ได้

พูดชัดๆ คือ การเปลี่ยนแปลงเป็นโลกวิสัยทางการเมือง ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ไม่มีอำนาจทางการเมืองในนามศาสนา เช่น อำนาจเทวสิทธิ์ของกษัตริย์ ศาสนจักร และอำนาจในนามศาสนาใดๆ อยู่เหลือหลักเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางกศาสนาแบบที่เคยมีในยุคกลางอีกต่อไป ดังนั้น political secularization จึงจำเป็นต่อการสร้างประชาธิปไตยสมัยใหม่ให้เป็นจริง  

ในบ้านเราข้อเสนอ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริยให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ของ “อานนท์ นำภา” และคนรุ่นใหม่ ข้อเสนอยกเลิก หรือแก้ไขมาตรา 112 ข้อเสนอยกเลิกการบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในโรงเรียนรัฐ โดยให้เรียนจริยศาสตร์หรือปรัชญาศีลธรรมแทน การตั้งคำถามต่ออำนาจศาสนจักร งบฯ อุดมหนุนศาสนา เป็นต้น ล้วนแต่เป็นกระบวนการ political secularization ทั้งนั้น 

แต่ทำไมข้อเสนอดังกล่าวที่จำเป็นต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพทางการเมืองได้จริง มีเสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางศาสนาได้จริงเหมือนประเทศประชาธิปไตยก้าวหน้าทั้งหลายจึงเป็นเรื่องยากมาก มีประชาชนจำนวนมากต้องติดคุก ลี้ภัยการเมือง และพรรคการเมืองที่ต่อสู้ในเรื่องพวกนี้ต้องถูกยุบ คำตอบก็ชัดเจนในตัวมันเองอยู่แล้วว่า อิทธิพลของศาสนาในทางการเมืองยังมีอยู่สูง หรือสภาวะที่ขัดแย้งกับความเป็นรัฐโลกวิสัยของรัฐไทยยังมีอยู่สูงมาก

ที่ว่าอิทธิพลศาสนายังมีอยู่สูงในทางการเมือง ไม่ใช่อิทธิลความเชื่อ หรือประเพณีศาสนาแบบบ้านๆ เพราะนี่เป็นเพียงศาสนาในมิติวัฒนธรรมที่ไม่ได้มีอำนาจทางการเมืองในระดับโครงสร้าง นักการเมืองอาจไปร่วมประเพณีงานศพ หรือประเพณีทางศาสนาต่างๆ ร่วมกับวัด โบสถ์ มัสยิด หรือชุมชนศาสนานั้นๆ ได้ หรือหาเสียงกับชาวศาสนานั้นๆ ได้ ถ้าการหาเสียงนั้นๆ ไม่ใช่เพื่อขายนโยบาย “ออกกฎหมายทางศาสนา” เพื่อให้อภิสิทธิ์ทางศาสนา (religious privileges) แก่กลุ่มศาสนาใดๆ แต่หาเสียงด้วยการเสนอนโยบายทางโลก เช่น เรื่องปากท้อง การศึกษา การเพิ่มสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นธรรมด้านต่างๆ แก่คนทุกศาสนาและคนไม่มีศาสนา 

อิทธิพลศาสนาในทางการเมืองจริงๆ คือ อิทธิพลศาสนาในมิติของอำนาจทางการเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ ศาสนาในมิติที่กฎหมายให้อภิสิทธิ์ต่างๆ เช่น การบัญญัติให้รัฐอุปถัมภ์ศาสนา การบัญญัติศาสนาประจำชาติ การบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาชาติ การให้ยศ ตำแหน่ง อำนาจทางกฎหมาย และงบฯ อุดหนุนองค์กรศาสนาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งอิทธิพลทางศาสนาเหล่านี้ขัดกับหลักการของ political secularization เพราะเป็นอิทธิพลทางศาสนาที่ทำให้ไม่สามารถจะมีเสรีภาพทางการเมืองและเสรีภาพทางศาสนาแบบที่สังคมประชาธิปไตยโลกวิสัยเขามีกัน

ดังนั้น การแยกศาสนาจากรัฐในทางการเมือง หรือ political secularization จึงจำเป็นต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีเสรีภาพทางการเมือง เสรีภาพปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางศาสนาได้จริง และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับอิทธิพลศาสนาทางการเมืองตามที่มีอยู่จริง

การหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญอิทธิพลศาสนาทางการเมือง ย่อมสะท้อนการบรรลุวัตถุประสงค์ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมต้องการคุมศาสนจักรและองค์กรทุกศาสนา เพื่อใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการรักษาอำนาจศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ 

ฝ่ายก้าวหน้าที่พยายามเลี่ยงจะแตะประเด็นศาสนากับการเมือง ก็มักจะละเลย หรือ “ขาดการตระหนัก” ในความเป็นจริงของปัญหา นั่นคือ ความเป็นจริงที่ว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมทำการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่ทำให้ศาสนากับรัฐผูกติดกันอย่างเหนียวแน่นมากขึ้นๆ ตลอดมา บางครั้งพวกเขาก็เปลี่ยนโครงสร้างทางการเมืองเพื่อเพิ่ม “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) แก่ฝ่ายตัวเองมากขึ้น ผ่านการทำรัฐประหารครั้งต่างๆ บางครั้งก็เปลี่ยนโครงสร้างเนียนๆ ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย เช่น การตั้งสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด และการให้อภิสิทธิ์ทางศาสนาของกลุ่มมุสลิมทั้งในยุครัฐบาลจากรัฐประหาร และในยุครัฐบาลประชาธิปไตย เป็นต้น

พูดอีกอย่างคือ ขณะที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมรุกคืบในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพื่อเพิ่มอำนาจนำทางการเมือง และอำนาจควบคุมศาสนาเพื่อใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ฝ่ายก้าวหน้ากลับเลี่ยงที่จะแตะปัญหาโครงสร้าง เพราะกลัว “ความขัดแย้ง” คิดกันแต่เรื่อง “ให้การศึกษาแก่ประชาชน” ทั้งที่ความไม่พร้อมไม่ได้อยู่ที่ประชาชน แต่อยู่ที่พรรคการเมืองที่ก้าวหน้าและปัญญาชนหรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ที่นิยามตนเองเป็น “ฝ่ายก้าวหน้า” จะพร้อมหรือไม่ในการแก้ปัญหาโครงสร้างที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสร้างขึ้นมาพันธนาการประชาชนอย่างซับซ้อนมากขึ้นๆ 

และพวกเขายังพยายามสร้างพันธนาการต่อเนื่องมากยิ่งขึ้นๆ ผ่านการจัดการศึกษาประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรมที่เน้นความจงรักภักดีต่ออำนาจในนามศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพสักการะ และแตะต้องไม่ได้ 

 

 

ที่มาภาพ: SOL Bar Talk #24 : ถ้า(ไม่)เอารัฐโลกวิสัย แล้วไงต่อ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net