Skip to main content
sharethis

'บ้านสมเด็จโพล' เผยผลสำรวจคน กทม. อยากเลือกตั้งผู้ว่าแล้ว 81% อยากได้ตัวแทนที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใส 23.5% อยากให้เน้นนโยบายเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ 34.8% แก้ปัญหาคอรัปชั่น 32.9% 'ซูเปอร์โพล' เผยผลสำรวจอยากให้เปลี่ยนผู้บริหารประเทศถ้าเลือกตั้งวันนี้พร้อมกาคะแนนให้พรรคใหม่

26 ก.ค. 2563 ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพล สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,123 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 8-11 ก.ค. 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คน ต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื่องจากการเลือกตั้งการเมืองท้องถิ่นทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่จะมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เสียงสะท้อนของคนกรุงเทพมหานครในด้านปัญหาต่างๆ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1.กำหนดนโยบายและบริหารราชการของกรุงเทพมหานครให้เป็นไปตามกฎหมาย 2.สั่ง อนุญาต อนุมัติ เกี่ยวกับราชการของกรุงเทพมหานคร 3.แต่งตั้งและถอดถอน รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่งตั้งและถอดถอนผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานที่ปรึกษา หรือคณะที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเป็นคณะกรรมการเพื่อปฏิบัติราชการใดๆ 4.บริหารราชการตามที่คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยมอบหมาย 5.วางระเบียบเพื่อให้งานของกรุงเทพมหานครเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร 6.อำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้  

กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2563 ร้อยละ 69.5 และปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจในการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจากตัวผู้สมัคร ร้อยละ 65.7 พรรคการเมืองที่สังกัด ร้อยละ 34.3

และอยากได้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่มีคุณสมบัติที่มีความซื่อสัตย์โปร่งใสมากที่สุด ร้อยละ 23.5 อันดับสองคือมีการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้ประกาศไว้ ร้อยละ 18.8 อันดับสามคือมีการปฏิบัติงานให้เห็นเป็นรูปธรรม ร้อยละ 18 อันดับสี่คือมีความขยันทุ่มเทในการทำงาน ร้อยละ 15.8 อันดับห้าคือมีการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 13.4 และอันดับสุดท้ายคือมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ร้อยละ 10.5

ในส่วนของนโยบายที่อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญอันดับหนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจและการส่งเสริมอาชีพ ร้อยละ 34.8 อันดับสองคือด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิต ร้อยละ 20 อันดับสามคือด้านความสะอาดและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 14.7 อันดับสี่คือด้านศิลปวัฒนธรรมและการพัฒนาเมือง ร้อยละ 12.5 อันดับห้าคือด้านการจราจรและขนส่งมวลชน ร้อยละ 9.6 และอันดับสุดท้ายด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 8.4
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนมากที่สุด อันดับหนึ่งคือ ปัญหาการคอรัปชั่น ร้อยละ 32.9 อันดับสองคือ ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 20.7 อันดับสามคือ ปัญหาสถานบริการฝ่าฝืนกฎหมาย ร้อยละ 11.4 อันดับสี่คือ ปัญหาการจัดการขยะมูลฝอย ร้อยละ 9.4 อันดับห้าคือ ปัญหาการกีดขวางทางเท้า (ฟุตบาท) ร้อยละ 8.6 อันดับหกคือ ปัญหาการจัดการน้ำเสีย ร้อยละ 6.3 อันดับเจ็ดคือ ปัญหาการจัดการน้ำท่วม ร้อยละ 4.5 อันดับแปดคือ ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะ ร้อยละ 3.5 และอันดับสุดท้ายคือ ปัญหาการตัดต้นไม้ริมทาง/การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 2.7

ซูเปอร์โพล เผยผลสำรวจอยากให้เปลี่ยนผู้บริหารประเทศถ้าเลือกตั้งวันนี้พร้อมกาคะแนนให้พรรคใหม่

26 ก.ค. 2563 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง เลือกตั้งวันนี้ กาให้พรรคใด กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,319 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20-25 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา พบว่าความรู้สึกของประชาชน หลังจากนึกถึงภาพผู้บริหารประเทศ พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 อยากให้เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.4 รู้สึกหดหู่ใจ และร้อยละ 57.7 รู้สึกไม่สง่างาม

อย่างไรก็ตามที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 63.6 ระบุ เป็นไปได้ที่ ม็อบเยาวชนจะลุกลามบานปลายเป็นวิกฤติการเมือง ในขณะที่ร้อยละ 36.4 ระบุเป็นไปไม่ได้

แต่ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถาม ถ้าเลือกตั้งวันนี้ กาให้ ส.ส.พรรคใด พบว่าร้อยละ 32.8 ระบุพรรคการเมืองใหม่ ไม่ทรยศหักหลัง ไม่เสร็จนาฆ่าโคถึก ไม่หลอกหลวงประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 23.8 ระบุ พรรคฝ่ายค้านได้แก่ พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย เสรีรวมไทย เป็นต้น มากกว่าพรรคฝ่ายรัฐบาลที่มีอยู่ร้อยละ 16.7 ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา เป็นต้น และที่เหลือร้อยละ 26.7 ระบุอื่น ๆ เช่น ยังไม่ตัดสินใจและไม่เลือกใครเลย

นายนพดล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ถ้าวันนี้เลือกตั้ง โดยภาพรวมประชาชนจะกาให้ผู้สมัครของพรรคร่วมฝ่ายค้านรวมกันมากกว่า ผู้สมัครของพรรคร่วมฝ่ายรัฐบาล แต่จำนวนมากที่สุดของตัวอย่างประชาชนในผลโพลนี้ตั้งใจจะกาให้ผู้สมัครของพรรคการเมืองใหม่ ตอบโจทย์ความรู้สึกของประชาชนได้คือ ไม่หลอกลวงประชาชน ไม่ทรยศหักหลังกัน อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะคือ ทุกพรรคควรเน้นสร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ สร้างความมั่นคงให้กับคนวัยทำงาน และสร้างความสุขความปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุ และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เป็นอย่างที่เป็นในเวลานี้

'สวนดุสิตโพล' เผยผลสำรวจพบปรับ ครม.ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์-ความเชื่อมั่นลดลง

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจ "ประชาชนได้อะไร? จาก "การปรับ ครม."" พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ มองว่าการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นรัฐบาลลดลง และไม่ได้รับประโยชน์จากการปรับ ครม. อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากให้ครม.ชุดใหม่เร่งทำมากที่สุด คือการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ

สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,078 คน ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค. 2563

ทั้งนี้ ผลสำรวจต่อประเด็นประชาชนคิดว่า "การปรับ ครม." ครั้งนี้ จะทำให้รัฐบาลทำงานได้ดีขึ้นหรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 55.75% มองว่าเหมือนเดิม ขณะที่มองว่าแย่ลง 28.48% และดีขึ้น 15.77% ส่วน"การปรับ ครม." ครั้งนี้ จะทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นรัฐบาลมากน้อยเพียงใด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเชื่อมั่นลดลง 52.88% เหมือนเดิม 33.67% และเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้น 13.45%

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประชาชนอยากให้ ครม.ชุดใหม่ เร่งทำมากที่สุด อันดับ 1 แก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ 89.29% อันดับ 2 แก้ปัญหาตกงาน/ว่างงาน 74.06% อันดับ 3 ความโปร่งใสในการทำงาน 72.84% อันดับ 4 ดูแลให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน 70.68% อันดับ 5 รายได้น้อย ภาวะหนี้สินของประชาชน 68.05%

ส่วนประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการปรับ ครม. ครั้งนี้หรือไม่ พบว่าประชาชนส่วนใหญ๋ 48.70% มองว่าไม่ได้ เพราะคนที่ได้ประโยชน์คือนักการเมือง เป็นเพียงการหมุนเวียน ผลัดเปลี่ยนตำแหน่ง ไม่ใช่จากความสามารถที่แท้จริง ฯลฯ ขณะที่ไม่แน่ใจ 37.11% เพราะต้องรอดู ครม.ชุดใหม่ว่ามีใครบ้าง ปัญหาทางการเมืองมีมาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการบริหารบ้านเมืองเท่านั้น ฯลฯ และอีก 14.19% มองว่าได้ประโยชน์ เพราะรัฐบาลมีเสถียรภาพและบริหารงานได้ดีขึ้น ได้คนเก่งมีฝีมือเข้ามาทำงาน มีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ฯลฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net