Skip to main content
sharethis

อนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ แถลงข่าว มั่นใจเอกสารหลักฐานเอาผิด “คลินิกเอกชนทุจริตกองทุนบัตรทอง” ได้ เชื่อทำกันเป็นกระบวนการ สมรู้ร่วมคิด เหตุคลินิกหลายแห่งใช้วิธีโกงรูปแบบเดียวกัน แต่งข้อมูล ไม่ให้บริการจริง ชี้เลวร้ายต่อวิชาชีพผู้ให้บริการ โกงเงินภาษี โกงสุขภาพประชาชน พร้อมลุยตรวจสอบเอาผิดถึงที่สุด  ด้าน สปสช. เร่งตรวจสอบเอกสารต่อเนื่องกว่า 1.6 แสนฉบับแล้ว พร้อมเดินหน้าระบบป้องกัน 1 ส.ค. 63  เริ่มใช้รหัสยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการแล้ว  

6 ส.ค. 2563 ทีมสื่อสาร สปสช. รายงานว่า คณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมแถลงข่าว “ความคืบหน้าการเร่งดำเนินการเอาผิดกับหน่วยบริการทุจริตเงินบัตรทอง”     

นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นเท็จ สปสช. กล่าวว่า จากที่คณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ได้เห็นเอกสารและหลักฐานการเบิกจ่ายค่าบริการเท็จ ทั้งในส่วนของคลินิก 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่ง ที่ สปสช. ได้แจ้งความดำเนินคดีแล้ว และที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม 63 แห่ง และคลินิกทันตกรรมอีก 3 แห่ง มั่นใจว่าจะเอาผิดได้แน่นอน เพราะเมื่อดูรายละเอียด พบการปลอมแปลงแก้ไขข้อมูลจำนวนมาก ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง และข้อมูลอื่น เพื่อให้เข้าเกณฑ์รับการตรวจคัดกรองและเบิกจ่ายบริการ เป็นข้อมูลเพียงพอที่จะให้ดีเอสไอดำเนินการต่อจนถึงที่สุดได้  

ขณะเดียวกันกรณีนี้ทำให้เรามั่นใจระบบการตรวจสอบของ สปสช. มีหลักเกณฑ์ที่ดีจนทำให้สามารถตรวจสอบการโกงในครั้งนี้ได้ และหลังตรวจพบ สปสช. ได้ระดมเจ้าหน้าที่กว่า 300 คน  เร่งตรวจสอบการเบิกจ่ายของคลินิกย้อนหลัง พร้อมขยายการตรวจสอบคลินิกเพิ่มเติม และจากการทำงานต่อเนื่องมาเป็นสัปดาห์ ทำให้พบคลินิกที่กระทำผิดเพิ่ม และเตรียมที่จะขยายผลตรวจสอบคลินิกใน กทม. ที่เหลือทั้งหมด 107 แห่ง และคลินิกทันตกรรมอีก 95 แห่ง       

ทั้งนี้งบเหมาจ่ายรายหัว กองทุนบัตรทอง ที่ส่งให้กับคลินิกที่ร่วมเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ ดูแลประชาชนผู้มีสิทธิ แต่ละแห่งมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 8 ถึง 9 แสนบาทต่อเดือน เป็นเงินจำนวนไม่น้อยและมากพอที่คลินิกจะให้บริการป้องกันกันโรคควบคู่ได้ แต่เมื่อ สปสช. มีนโยบายรุกตรวจคัดกรองเบาหวานความดัน ต้นเหตุโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหามาก เพื่อเร่งป้องกันไว้ก่อน แต่การที่ค่าบริการนี้ถูกรวมอยู่ในงบเหมาจ่ายรายหัว ทำให้ประชาชนไม่ค่อยได้รับบริการนี้ ดังนั้นเพื่อกระตุ้นคลินิกให้บริการเชิงรุก สปสช.จึงแยกงบและเปลี่ยนเวิธีจ่ายตามการบริการ แต่กลับกลายทำให้คลินิกเห็นช่องทางทุจริตเบิกจ่ายเท็จแทน ไม่น่าเชื่อว่าคลินิกเหล่านี้จะทำแบบนี้ได้และเชื่อว่าทำกันเป็นกระบวนการ มีการสมรู้ร่วมคิดกัน เพราะหลายคลินิกมีการกระทำผิดในรูปแบบเดียวกัน ถือเป็นคดีแรกๆ ที่มีการโกงอย่างมโหฬารของหน่วยบริการ ไม่มีการให้บริการจริง 

นับเป็นเรื่องเลวร้ายของวิชาชีพผู้ให้บริการ รุนแรงมากต่อประชาชน นอกจากโกงเงินภาษีประชาชนแล้ว ยังโกงสุขภาพ โกงชีวิตของประชาชน ที่จะได้รับการตรวจคัดกรองจริงๆ เพื่อรู้สุขภาพตนเองว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องรักษาหรือไม่ ทั้งเป็นการสั่นคลอนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะเมื่อไม่มีการคัดกรองสุขภาพจริงเกิดขึ้น นั่นหมายถึงเป้าหมายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่พยายามทำกันก็ไม่เกิดขึ้น จำนวนผู้ป่วยยังคงเพิ่มขึ้นและเข้าสู่การรักษา ดังนั้นคณะอนุกรรมการฯ จะเดินหน้าถึงที่สุด นำคนผิดมารับโทษ หากตรวจเจอกรณีไหนก็ให้แจ้งความไปก่อน ปลอมเอกสารเบิกจ่ายหนึ่งคน ถือเป็นหนึ่งความผิด หากเบิกจ่ายแสนคนก็เป็นแสนความผิด คลินิกไหนใช้ข้อมูลเท็จเบิกจ่ายมาก โทษก็หนักมาก  

นิมิตร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการฯ เร่งดำเนินการ วางแผนตรวจสอบ 5 ระยะ ขณะนี้อยู่ในระยะที่ 2 ต่อเนื่องระยะที่ 3 บางส่วน โดยพบหน่วยบริการเบิกจ่ายข้อมูลเท็จ 86 แห่ง จากนี้จะขยายผลตรวจสอบคลินิกใน กทม. ที่เหลือ 107 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 95 แห่ง ส่วนระยะที่ 4 จะตรวจสอบการเบิกจ่ายบริการคัดกรองโรคที่เหลือ 17 รายการ ขยายผลการตรวจสอบย้อนหลังถึงปี 2553 และระยะที่ 5 ขยายตรวจสอบคลินิกชุมชนอบอุ่นในเขตปริมณฑล โดยระยะที่ 4 และ 5 มีแผนดำเนินการในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2564 หรือเดือน ต.ค. - ธ.ค.2563 ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะทำงาน 2 ชุด ประกอบด้วย คณะทำงานตรวจสอบการดำเนินการและการบริหารจัดการค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค หน่วยบริการในโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่น และคณะทำงานพิจารณาเกี่ยวกับการบริหารจัดการภายในของ สปสช. เพื่อความรวดเร็ว ครอบคลุม และรอบด้าน ในการดำเนินการกับปัญหาที่เกิดขึ้น 

ด้าน ปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กล่าวว่า การบูรณาการสอบสวนของดีเอสไอกับกองบังคับการกองปราบในการเร่งตรวจสอบการทุจริตของคลินิกในครั้งนี้ โดยจะดำเนินการในส่วนทางคดีอาญา ซึ่งดีเอสไอจะดำเนินการในภาคการสืบสวน ส่วนกองบังคับการกองปราบจะดำเนินการในภาคสอบสวน ทั้งนี้ยังไม่นับความเสียหายทางแพ่ง และความผิดทางวิชาชีพที่กำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีเอกสารหลักฐานและบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก แต่ละหน่วยงานรวมถึงดีเอสไอ จึงได้มาแบ่งหน้าที่ทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการกับผู้กระทำผิด   

“วันนี้ดีเอสไอมาเพื่อเร่งรัดการดำเนินการในทางคดีอาญา และพิจารณาว่ามีหลักฐานเพียงพอหรือไม่ ต้องมีอะไรเพิ่มเติม ทั้งหมดเพื่อดำเนินการออกหมายจับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินความผิด ยืนยันว่าเรื่องนี้เนื่องจากเป็นการกระทำผิด เป็นการฉ้อโกงซ้ำๆ หลายครั้ง จึงจะมีเรื่องของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.การฟอกเงิน เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็ว” ปิยะศิริ กล่าว 

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ใน กทม. มีคลินิกชุมชนอบอุ่นประมาณ 180 แห่ง และคลินิกทันตกรรมประมาณ 100 แห่ง นอกจากคลินิกเอกชน 18 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 2 แห่งที่ดำเนินคดีไปแล้ว ขณะนี้ สปสช.ได้ระดมทีมผู้ตรวจสอบทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่จากต่างจังหวัดเข้ามา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ สปสช. รวมประมาณ 300 คน เร่งตรวจสอบเอกสารการเบิกจ่ายบริการคัดกรองโรคทั้งหมดของหน่วยบริการ 66 แห่งในพื้นที่ กทม. โดย สปสช.ได้อายัดเอกสารจากคลินิกทั้ง 63 แห่ง เมื่อวันที่ 20-24 ก.ค.2563 ได้เอกสารมากกว่า 5 แสนฉบับ ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม กำหนดระยะเวลาตรวจไว้ถึงวันที่ 14 ส.ค.นี้ ขณะนี้ตรวจไปแล้วเกือบ 160,000 ฉบับ พบเอกสารไม่น่าเชื่อถือประมาณ 80,000 ฉบับ ซึ่งกรณีที่พบว่าเป็นการตกแต่งข้อมูลเป็นเท็จ สปสช.ได้รวบรวมเพื่อส่งหลักฐานแจ้งความดำเนินคดีกับทางกองบังคับการปราบปรามและดีเอสไอแล้ว  

“ขอย้ำว่า สปสช.มีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้น การทำข้อมูลเบิกจ่ายเป็นเท็จแม้ว่าจะผ่านระบบการตรวจสอบก่อนเบิกจ่ายได้ แต่ก็ไม่ผ่านระบบการสุ่มตรวจหลังบริการ อย่างกรณีนี้ที่ สปสช.ได้ตรวจพบความผิดปกติของข้อมูลและดำเนินคดีกับคลินิกที่กระทำผิดในตอนนี้ อย่างไรก็ตามเพื่อป้องกันหลังจากที่ได้พบปัญหานี้ สปสช. ได้จัดทำระบบพิสูจน์ตัวตนออนไลน์แล้ว เริ่มเมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยประชาชนต้องขอรหัสเบิกจ่ายเพื่อให้กับหน่วยบริการก่อนเข้ารับบริการ และหน่วยบริการต้องมีรหัสนี้ในการส่งเบิก และในอนาคตจะมีการทำระบบเชื่อมโยงกับบัตรสมาร์ทการ์ด เพื่อเชื่อมโยงกับระบบพิสูจน์ตัวตนในการรับบริการที่หน่วยบริการ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net