Skip to main content
sharethis
  • บอร์ด สปสช. ถก 2 ชั่วโมงปม ‘อนุทิน’ ไม่เซ็นประกาศงบกองทุนบัตรทองปี 66 หลังที่ปรึกษาตีความสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคครอบคลุมเฉพาะสิทธิบัตรทองเท่านั้น ด้านบอร์ดมีมติให้ลงนาม ย้ำป้องกันโรคต้องครอบคลุมคนไทยทุกคนทุกสิทธิการรักษาพยาบาล
  • หนึ่งสัปดาห์แล้ว ‘อนุทิน’ ยังเงียบ หมอประสบศรี บอร์ด สปสช.ห่วง หากดำเนินการล่าช้าหรือจำกัดให้สิทธิเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง จะเกิดผลกระทบแรงทั้งแผ่นดิน

14 พ.ย.2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา ได้มีการพิจารณาทบทวนประกาศ สปสช. เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 กรณีบริการด้านเสริมสุขภาพและป้องกันให้แก่ประชาชนไทยทุกคน ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2565 แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการให้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. ลงนามเพื่อประกาศใช้ ปรากฎว่าได้รับการทักท้วงจากที่ปรึกษาของอนุทินว่าร่างหลักเกณฑ์ฯดังกล่าว ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติตามมาตรา 7 มาตรา 9 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 กล่าวโดยสรุปคือ เห็นว่าการจัดบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง ไม่ใช่คนไทยทุกคนทุกสิทธิตามที่กำหนดในร่างหลักเกณฑ์ฯ ฉบับนี้

ด้วยเหตุนี้ อนุทินจึงมิได้ลงนามและส่งคืนเรื่องคืนให้ สปสช. ดำเนินการทบทวนอีกครั้ง จนเป็นที่มาของการประชุมในวาระดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมใช้เวลาอภิปรายกว่า 2 ชั่วโมง โดยความเห็นของกรรมการมีทั้งส่วนที่เห็นว่าควรให้อนุทินลงนามได้เลย และควรทำหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชัดเจนเสียก่อน และสุดท้าย บอร์ด สปสช. ลงมติให้ลงนามประกาศฯ ทันที  15 เสียง ให้มีการสอบถามเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 9 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

อนึ่ง ก่อนการประชุมในวันนี้ ทางสำนักงบประมาณได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0712/641  ลงวันที่ 3 พ.ย. 2565 เพื่อตอบข้อซักถามในประเด็นนี้ มีความเห็นโดยสรุปว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 อนุมัติและเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณนั้น สำนักงบประมาณได้พิจารณาค่าใช้จ่ายให้สอดคล้องกับผลการดำเนินงานและอัตราค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม โดยคงวัตถุประสงค์ตามที่ สปสช. เสนอต่อ ครม. ทั้งนี้ เมื่อ ครม. มีมติอนุมัติและเห็นชอบแล้ว จึงเป็นกรณีที่ ครม. มอบหมายให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการตามนัยมาตรา 18(14) และ งบประมาณรายจ่าย ตาม พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบประมาณของ สปสช. สำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนการจัดสรรค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จัดสรรให้จำนวน 66.286 ล้านคน ซึ่งก็คือจำนวนของประชากรไทยทั้งหมด และผู้แทนสำนักงบประมาณที่เข้าร่วมประชุม ก็ได้ยืนยันความเห็นของสำนักงบประมาณในเรื่องนี้ต่อที่ประชุมอีกครั้ง

ลงนามประกาศงบกองทุนบัตรทองล่าช้า กระทบหน่วยบริการทั้งประเทศ

อนุทินแจ้งต่อที่ประชุมว่าเหตุผลที่ยังไม่ลงนามในประกาศฉบับนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณากลั่นกรองการเสนอเอกสารตามระบบของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และมีประเด็นทักท้วงว่าอาจขัดต่อกฎหมาย จึงได้เร่งรัดให้มีการหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องจากการลงนามเป็นการดำเนินการในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ลงนามในฐานะตามมติของคณะกรรมการ จึงจำเป็นต้องมีข้อมูลและตรวจสอบเพื่อให้เกิดความมั่นใจ 

ทั้งนี้ หลังจากที่อนุทินได้กล่าวอธิบายถึงเหตุผลที่ยังไม่ลงนามแล้ว กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนด้านชุมชนแออัด อภิปรายว่า การพิจารณาลงนามในร่างประกาศหลักเกณฑ์ฯฉบับนี้ เป็นการลงนามในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้าของทีมงานรัฐมนตรีในการกลั่นกรองเรื่องนี้ก่อนเสนอรัฐมนตรีพิจารณา โดยใช้เวลา 2 เดือน ทั้งที่รู้ว่าถ้าไม่มีการประกาศหลักเกณฑ์ฯนี้จะกระทบหน่วยบริการในระบบทั้งหมด

ชี้ตีความป้องกันโรคต้องครอบคลุมคนไทยทุกคน  

กรรณิการ์ กล่าวต่อว่า ถ้าตีความทางกฎหมายว่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจะต้องให้เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลองมาก และจะทำให้เกิดผลกระทบต่อบริการที่ประชาชนทุกสิทธิเคยได้รับ เช่น สิทธิในการรับถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี หรือการแจกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ หากตีความเช่นนี้เท่ากับสิทธิอื่นๆที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองไม่สามารถเบิกผ้าอ้อมผู้ใหญ่ได้ เป็นต้น

ขณะที่เหตุผลเรื่องเกิดประเด็นการทุจริตเบิกจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามที่เกิดขึ้นในระยะที่ผ่านมานั้น ขอให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยไม่ควรทำลายหรือลดทอนหลักการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโครงการใหญ่ๆ แม้มีแนวโน้มที่จะเกิดการทุจริตก็คงไม่ใช้ไม่ทำการจัดซื้อจัดจ้างไปเลย แต่ควรเน้นการแก้ไขปัญหาโดยการทำให้เกิดกระบวนการตรวจสอบที่เข้มแข็ง จัดระบบการป้องกันการเกิดซ้ำ และพัฒนาระบบการกำกับติดตามให้มีประสิทธิภาพ

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนด้านเด็กและเยาวชน ให้ความเห็นว่า งานป้องกันโรคไม่สามารถเลือกได้ว่าจะป้องกันเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และหากแยกให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น จะส่งผลกระทบในวงกว้างในหลายกลุ่มวัย เช่น กรณีเด็กเล็กที่ไม่ใช่สิทธิบัตรทองจะไม่ได้รับบริการวัคซีน ไม่ได้รับการคัดกรองสายตาผิดปกติ บริการถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ยังไม่รวมถึงกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นที่จะไม่สามารถดำเนินการแบบเดิมได้ เกิดการเลือกปฏิบัติทันที

และสุดท้ายสุภาพร ยังตั้งคำถามด้วยว่า ระหว่างความเห็นของที่ปรึกษารัฐนตรี และความเห็นของบอร์ด สปสช. อะไรมีความสำคัญกับการทำงานเพื่อประเทศมากกว่ากัน

กรรมการผู้แทนปลัดกระทรวงกลาโหม ให้ความเห็นว่า หากพิจารณาตีความข้อกฎหมายว่าไม่สอดคล้อง จะทำให้สิทธิประกันสุขภาพอื่นไม่ได้รับบริการสาธารณสุขด้านการสร้างเสริมและป้องกันโรค ซึ่งเป็นบริการที่สำคัญ เช่น สิทธิผ้าอ้อมผู้ใหญ่ การส่งเสริมและป้องกันการติดเชื้อเอดส์ เป็นต้น

เช่นเดียวกับ จอน อึ๊งภากรณ์ กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนด้านเอชไอวีฯ ให้ความเห็นว่า หากกำหนดให้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้กับเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะสร้างความเสียหายกับระบบสุขภาพของประชาชนโดยรวม เพราะที่ผ่านมาจะยึดหลักการในการให้บริการกับประชาชนทุกคนมาโดยตลอดไม่เฉพาะแค่สิทธิบัตรทอง ดังนั้น จึงขอเสนอว่าไม่ว่าอนุทินจะลงนามหรือไม่ลงนามก็ตาม ขอให้พิจารณาหาวิธีการเพื่อสามารถให้สามารถจัดบริการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคครอบคลุมคนไทยทุกคนอย่างที่เคยเป็นมาตลอด

ผู้แทนกฤษฎีกาย้ำ ลงนามในฐานะประธานบอร์ด ไม่ใช่ในฐานะ รมว.สาธารณสุข

ทั้งนี้ หลังจากรับฟังความเห็นของกรรมการไปบางส่วนแล้ว อนุทินได้สอบถามความคิดเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งทางที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องการออกร่างประกาศฯของบอร์ด สปสช.  เมื่อคณะกรรมการมีมติต่อเรื่องนั้นๆ แล้ว ประธานกรรมการจะต้องลงนามในร่างประกาศฯ ตามที่คณะกรรมการได้มีมติ ไม่สามารถพิจารณายับยั้งหรือไม่ลงนามได้

ส่วนกรณีข้อห่วงใยของอนุทินเกี่ยวกับการเชื่อมโยงปัญหาการทุจริตเบิกจ่ายงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาความเห็นว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับการลงนามในประกาศฯ ฉบับนี้แต่อย่างใด เนื่องจากข้อกังวลเรื่องการทุจริตเป็นประเด็นของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อตรวจสอบและควบคุม ซึ่งเป็นคนละประเด็นกัน 

ด้าน รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ ให้ความเห็นว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1.กระบวนการเสนอเรื่องเพื่อขออนุมัติต่อ ครม. มีความชัดเจนจากความเห็นของสำนักงบประมาณว่ามีเจตนารมณ์ให้สิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคครอบคลุมประชาชนไทยทั้งแผ่นดิน ดังนั้นประเด็นนี้น่าจะยุติได้

ส่วนที่ 2  กรณีการจัดทำร่างประกาศฯ คือการทำรายละเอียดว่าให้ สปสช.ดำเนินการต่อเนื่องโดยใช้มติ บอร์ด สปสช. ที่ได้เห็นชอบต่อร่างประกาศฯดังกล่าวโดยไม่มีการทักท้วงแต่อย่างใด เพราะฉะนั้น อนุทินจะต้องลงนามในประกาศฯ ในฐานะประธานบอร์ด  ทั้งนี้ตนสนับสนุนความเห็นของที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในการเห็นชอบให้มีการลงนามในร่างประกาศฯ ดังกล่าว ส่วนกรณีปัญหาการทุจริต อาจเป็นคนละประเด็น ซึ่งคณะกรรมการและสำนักงานได้มีกระบวนการในการทบทวนแก้ไขปัญหา โดยได้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีความเข้มแข็งและเข้มงวดแล้ว

รศ.พญ.ประสบศรี ยังอภิปรายถึงผลกระทบว่าหากดำเนินการล่าช้าหรือจำกัดให้สิทธิเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง จะเกิดผลกระทบแรงทั้งแผ่นดิน เพราะตลอด 20 ปีที่ผ่านมา สปสช. ให้สิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกับคนทั้งแผ่นดิน อีกทั้งการไม่ลงนามในประกาศฯฉบับนี้ นอกจากเรื่องสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแล้ว ยังกระทบกับการรักษาพยาบาลทั้งแผ่นดินด้วย หากมีการลงนาม เงินงบประมาณก็จะกระจายไปสู่หน่วยบริการ ดังนั้นขอให้อนุทินพิจารณาอย่างรอบคอบ

ขณะที่ นิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสตรี ให้ความเห็นว่า ตนเข้าใจความกังวลของอนุทิน อย่างไรก็ดีการบริหารงบประมาณในอดีตจะรวมบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไว้ในรายการงบเหมาจ่ายรายหัว จึงเกิดการทักท้วงเพื่อให้การเสนอของบประมาณมีความชัดเจนมากขึ้นและครอบคลุมประชาชนไทยทุกคน จึงมีการแยกเป็นรายการเฉพาะ เพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าไม่ได้มีการนำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้กับสิทธิอื่น ซึ่งหลักการดังกล่าวเป็นไปเพื่อลดความกังวลทางข้อกฎหมายอยู่แล้ว และได้กำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนทุกคน โดยระบุในขั้นตอนการเสนอเรื่องต่อสำนักงบประมาณ 

เรียกร้องภาวะผู้นำ รีบลงนามประกาศโดยเร็ว

นิมิตร์ ระบุต่อว่า ฝ่ายบริหารได้มีความพยายามแก้ไขกติกา เพื่อทำให้กระบวนการเสนอของบประมาณมีความชัดเจนขึ้น โดยใช้มาตรา 18(14) มากำกับอีกทางหนึ่งแล้วว่า ครม. มอบหมายให้ดำเนินการแล้ว ดังนั้นตนจึงอยากเห็นภาวะผู้นำของอนุทิน ในการพิจารณาลงนามในร่างประกาศฯ เพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตามเจตนารมณ์ที่ระบบหลักประกันสุขภาพวางไว้ เพราะหากเรื่องนี้ไม่มีข้อยุติ ทุกอย่างก็ดำเนินการต่อไม่ได้

ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ กล่าว เมื่อพิจารณาความหมายตามความในมาตรา 9 และมาตรา 10  สมมุติว่าผู้มีสิทธิบัตรทองมีสิทธิ 100% สิทธิประกันสังคมและข้าราชการอาจมี 80% และการจัดบริการ 80% นี้ จะต้องออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อให้ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ และต้องมีการจัดสรรเงินค่าใช้จ่ายให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นงบประมาณในส่วนของค่ารักษาพยาบาล ไม่ใช่ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแต่อย่างใด ส่วนอีก 20% นี้ สปสช. ต้องจัดสรรงบประมาณให้และก็ดำเนินการเช่นนี้มาโดยตลอด ประเด็นนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยตีความแล้ว

ดังนั้นเมื่อพิจารณาเรื่องนี้แล้ว เชื่อว่า อนุทินและที่ปรึกษาคงไม่ได้มีเจตนาที่จะตัดสิทธิการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของคนกลุ่มอื่น เพียงแต่ต้องการทำตามกฎหมายและการตีความทางกฎหมายของคณะที่ปรึกษาของ อนุทิน กับการตีความของ บอร์ด สปสช. และคณะกรรมการกฤษฎีกา มีการตีความต่างกัน ดังนั้นเสนอให้มีการพิจารณาข้อกฎหมายให้มีความชัดเจนเนื่องจากจะส่งผลการต่อดำเนินงานในอนาคตต่อไป

ขณะที่ อนุทิน ย้ำต่อที่ประชุมว่า ขอยืนยันเจตนารมณ์ชัดเจนว่ายินดีและพร้อมที่จะทำทุกอย่าง ทั้งความรวดเร็วและประสิทธิภาพในการดูแลประชาชน ตนต้องการเพียงให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้และเป็นไปตามกฎหมาย เราคงไม่สามารถใช้วิจารณญาณของตัวเองตัดสินใจโดยที่ยังมีความเห็นแตกต่างทางด้านกฎหมายอยู่ แต่รับปากว่าจะเร่งพิจารณาเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ เมื่อกรรมการในที่ประชุมได้อภิปรายกันไประยะหนึ่งแล้ว อนุทินจึงเสนอให้ที่ประชุมลงมติในประเด็นว่าจะ “เห็นชอบให้มีการลงนามในประกาศฯทันที” หรือ “ให้มีการสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน” โดยลงคะแนนด้วยวิธีแสดงตนโดยการยกมือและกล่าวด้วยวาจา  ผลปรากฎว่ามีกรรมการเห็นชอบให้มีการเสนอลงนามประกาศฯ ทันที  จำนวน 15 เสียง และ เห็นชอบ ให้มีการสอบถามเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน  9 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง

ส่วนประเด็นที่ว่าใครจะเป็นผู้ลงนามในประกาศฯ ระหว่างอนุทิน หรือมอบหมายให้เลขาธิการ สปสช. เป็นผู้ลงนามนั้น กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า ควรดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายตามแนวทางปฏิบัติเดิม โดยเสนอร่างประกาศฯให้อนุทินลงนาม เว้นแต่ว่าอนุทินมีข้อขัดข้องไม่สามารถลงนาม ถึงจะมอบหมายโดยอาศัยมาตรา 26(14) ให้เลขาธิการ สปสช. ลงนามแทนตามลำดับต่อไป

เช่นเดียวกับ กรรณิการ์ กรรมการผู้แทนองค์กรเอกชนด้านชุมชนแออัด ที่กล่าวว่า หากคณะกรรมการมอบหมายให้เลขาธิการ สปสช.เป็นผู้ลงนามในร่างประกาศฯ จะเป็นหลักเกณฑ์ฉบับแรกที่ลงนามโดยเลขาธิการ สปสช. และถือเป็นความกระอักกระอ่วน ทั้งนี้ไม่ว่าอนุทินจะลงนาม หรือเลขาธิการ สปสช. ถูกบังคับให้ลงนามตาม มาตรา 26(14) หากมีประเด็นฟ้องร้องในอนาคต ถือเป็นความรับผิดชอบของบอร์ด สปสช. ทั้งหมด ดังนั้นอยากเห็นความสง่างามจากอนุทิน เพราะเมื่อดูในร่างประกาศหลักเกณฑ์แล้ว ไม่มีข้อใดที่มีความเสื่อมเสียเลย และหากกังวลเรื่องการทุจริตก็ต้องสร้างระบบป้องกันตรวจสอบไม่ใช่ทำลายหลักการ

อนุทิน กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อมติบอร์ด สปสช. เป็นเช่นนี้แล้วก็ให้ส่งเรื่องมาที่ตน ตนจะเร่งพิจารณา ถ้าลงนามได้ก็จะลงนามเลย แต่ถ้าดูแล้วมีความสุ่มเสี่ยง ก็จะแสดงท่าทีต่อไป

อย่างไรก็ตามจนถึงขณะที่รายงานนี้เผยแพร่ อนุทิน ยังคงไม่ลงนามในประกาศหลักเกณ์ดังกล่าว 

หมายเหตุ : 14 พ.ย.2565 เวลา 16.35 น. ประชาไทดำเนินการปรับพาดหัว โปรยและเนื้อข่าวเป็นแบบปัจจุบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net