เปิดงานวิจัย ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์’ กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก และคำวิจารณ์จาก ‘ประจักษ์-สฤณี’

รายงานวิจัย ‘ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรก' พบโน้มเอียงไปแนวคิดแบบเสรีนิยม มีศรัทธาต่ำในระบบการเมืองเชิงสถาบัน เปิดรับสื่อที่หลากหลาย แต่มีแนวโน้มที่จะเลือกรับข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับทัศนคติทางการเมืองของตน ด้าน 'ประจักษ์-สฤณี' ร่วมเสวนา “#EchoChamber กับการเมืองออนไลน์ของคนรุ่นใหม่”ตอบคำถามว่าแท้จริงแล้วเป็นอุปสรรค สาเหตุ หรือเพียงอาการสะท้อนโรคในสังคม

เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2563 ที่ห้องประชุม Mitr-ting Room สามย่านมิตรทาวน์ ศพิรงรอง รามสูต ศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะผู้วิจัยประกอบด้วย พิมลพรรณ ไชยนันท์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ วิโรจน์ สุทธิสีมา จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ รายงานผลโครงการวิจัยเรื่อง “ห้องแห่งเสียงสะท้อนออนไลน์กับผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562” ต่อผู้เข้าร่วมฟังจากสื่อมวลชนและบุคคลทั่วไปทั้งที่มาปรากฏตัวและผ่านระบบการประชุมออนไลน์ หลังการนำเสนอผลวิจัยมีการเสวนาในเรื่อง “#EchoChamber กับการเมืองออนไลน์ของคนรุ่นใหม่” โดย สฤณี อาชวานันทกุล และ ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้นำการอภิปราย

ห้องแห่งเสียงสะท้อน อุปสรรคต่อประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ

พิรงรอง หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงความหมายของห้องแห่งเสียงสะท้อน หรือ Echo Chamber ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการสื่อสารที่ระบบของแพลตฟอร์มออนไลน์กับผู้ใช้ต่างคัดเลือกกลั่นกรองเนื้อหาที่เปิดรับ ตลอดจนผู้คนที่พูดคุยแสดงความคิดเห็นกันในแพลตฟอร์มออนไลน์ จนอาจนำไปสู่การรวมกลุ่มแบบแบ่งขั้วของคนที่คิดและชอบเหมือนๆกัน โดยเฉพาะเรื่องการเมือง ซึ่งอาจส่งผลกระทบในแง่การขาดความหลากหลายทางความคิดพร้อมๆ การสร้างความสุดโต่งและไม่อดทนต่อความเห็นต่างในสังคม ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ 

คณะผู้วิจัยได้กล่าวถึงวิธีการวิจัยว่า การวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาแบบพหุวิธี มี 4 วิธีการวิจัย คือ การสำรวจโดยใช้แบบสอบถามกับกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกทั่วประเทศรวม 3,286 คน การจัดสนทนากลุ่ม 8 พื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคกับผู้เข้าร่วม 87 คน การทดลองติดตามและมีปฏิสัมพันธ์กับเพจเฟซบุ๊กเพื่อศึกษาภาวะฟองสบู่ตัวกรองทางการเมือง และการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าและเครือข่ายสังคมของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรกบนทวิตเตอร์ 1,500 บัญชี ที่สุ่มเลือกมาจากการคัดกรองโดยใช้แฮชแท็กในกระแส

คณะผู้วิจัย ได้อภิปรายถึงข้อค้นพบสำคัญจากการวิจัยดังนี้ ผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกส่วนใหญ่มีทัศนคติที่โน้มเอียงไปแนวคิดแบบเสรีนิยม มีศรัทธาต่ำในระบบการเมืองเชิงสถาบันที่ขับเคลื่อนโดยนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่ยังยึดมั่นในแนวคิดประชาธิปไตยและเชื่อในบทบาทและการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกมีการเปิดรับสื่อที่หลากหลาย โดยใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นหลักในการเปิดรับข้อมูลข่าวสาร การแสดงออก การปฏิสัมพันธ์ และการทำกิจกรรมทางการเมือง อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเลือกเปิดรับ ติดตาม และเชื่อในข้อมูลข่าวสารที่สอดคล้องกับทัศนคติทางการเมืองของตนเพื่อตอกย้ำและยืนยันความคิดความเชื่อ และมีแนวโน้มสูงที่จะตีความข้อมูลข่าวสารตามอคติที่แบ่งขั้วทางอารมณ์ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วมทางการเมืองผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกในพื้นที่ออนไลน์จะแตกต่างกันไปตามกรอบของประเภทเครือข่ายที่ตนเป็นสมาชิกร่วมอยู่ เช่นเครือข่ายความสัมพันธ์ฉันท์ญาติมิตร เครือข่ายในชุมชนหรือสังคมในชีวิตจริง และเครือข่ายตามประเด็นความสนใจ เป็นต้น

อัลกอริทึมโซเชียลมีเดีย ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิด Echo Chamber

อัลกอริทึมของเฟซบุ๊กสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เนื้อหาข้อมูลข่าวสารการเมืองมีลักษณะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทัศนคติทางการเมืองของผู้ใช้ กล่าวคือมีความสอดคล้องกับฝั่งที่ผู้ใช้เลือกติดตามและมีปฏิสัมพันธ์ด้วย อีกทั้งยังมีความเข้มข้นมากขึ้นตามประสบการณ์ของผู้ใช้ ส่งผลให้เกิดรวมของข้อมูลและข้อถกเถียงที่จำกัดในกลุ่มแบ่งขั้วหรือเครือข่ายแบบแบ่งขั้ว 

ผลการวิเคราะห์เครือข่ายสังคมบนทวิตเตอร์แสดงให้เห็นการจับตัวเป็นกลุ่มก้อนเครือข่ายย่อยของคนที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้ที่มีขั้วความคิดเดียวกัน ปรากฏชัดเจนกว่าที่มีขั้วความคิดต่างกัน ซึ่งเกิดจากครือข่ายความสัมพันธ์ที่เกิดจากพฤติกรรมการเลือกปฏิสัมพันธ์กับคนที่คิดหรือมีทัศนคติแบบเดียวกัน มากกว่าเวทีเปิดที่มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างความคิดเห็นที่หลากหลาย และพบว่ามีกลุ่มสะพานเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างเครือข่ายย่อย 2 ขั้ว แต่ยังมีจำนวนน้อยส่งผลให้การไหลข้ามระหว่างขั้วความคิดในเครือข่ายมีจำกัด 

นอกจากอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดีย และทัศนคติทางการเมืองตามบริบทแบบแบ่งขั้วแล้ว ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดภาวะห้องแห่งเสียงสะท้อนยังมีประเด็นของสถานการณ์แวดล้อมที่สร้างกระแส/วิวาทะในโลกออนไลน์จนนำไปสู่การใช้อารมณ์ในการตีความและมีส่วนร่วม

ประจักษ์ ชี้ Echo Chamber สะท้อนอาการเศรษฐกิจและการเมืองที่แย่

ประจักษ์ อธิบายว่า มีรายงานการวิจัยที่เผยว่าประชาธิปไตยในโลกมีลักษณะที่แบ่งขั้วสูงมากขึ้น ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่มีปัญหานี้ โซเชียลมีเดียเป็นปรากฏการณ์ใหม่ และเป็นส่วนหล่อเลี้ยงการแบ่งขั้วทางการเมืองให้อยู่ได้ยาวนานและหยั่งลึกมากขึ้น

ข้อถกเถียงในสายรัฐศาสตร์คือปรากฏการณ์ Echo Chamber ในโซเชียลมีเดียเป็นสาเหตุ หรือเป็นแค่อาการของการเมืองที่แบ่งขั้วทางการเมืองอยู่ก่อนแล้ว ฝ่ายที่เชื่อว่า Echo Chamber เป็นสาเหตุ จะมองว่าการเมืองอาจมีลักษณะเป็นแบบหลายขั้วแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้ แต่โซเชียลมีเดียเข้ามาทำให้เกิด Echo Chamber ทำให้การเมืองลักษณะแบบพหุนิยมหลายขั้ว ค่อยๆ ถูกลดทอนเหลือเป็นเพียงสองขั้ว ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งมองว่า Echo Chamber ไม่ใช่สาเหตุ เพราะการแบ่งขั้วทางการเมืองปรากฏอยู่ก่อนแล้วจากสาเหตุหลากหลายประการ คือ 1. มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง 2. ระบบการเมืองมีลักษณะเป็นกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ทำให้พื้นที่ทางการเมือง สถาบันทางการเมือง ไม่สามารถสะท้อนความหลากหลายทางความคิดได้ กล่าวคือ ถ้าเป็นประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ พื้นที่สาธารณะจะเข้มแข็ง สถาบันทางการเมืองต่างๆ ก็ทำหน้าที่ได้ดี ฉะนั้นคนจะรู้สึกว่าตัวเองมีที่ทาง มีเสียงสะท้อนที่หลากหลายด้าน กลุ่มประเทศที่มีความแตกขั้วทางการเมืองสูงจะพบปัญหาเรื่อง Echo Chamber สูงตามไปด้วย 

“ด้วยลักษณะที่สังคมเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง สถาบันประชาธิปไตยง่อนแง่น ไม่ตั้งมั่น Echo Chamber ในโซเชียลมีเดีย อาจไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง แต่เป็นเพียงอาการสะท้อนโรคในสังคมนั้น ในทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ลงลึกกว่า จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ตัว Echo Chamber ได้ ต่อให้เราพยายามทำให้มีพื้นที่ตรงกลาง หรือสื่อสารมากขึ้น แต่ถ้ารากฐานปัญหายังไม่ถูกแก้ มันก็จะหล่อเลี้ยงให้มี Echo Chamer ต่อไป” ประจักษ์ กล่าว

สฤณี ชี้ ปรากฏณ์การณ์ ‘ทัวร์ลง’ ผลจาก Echo Chamber

สฤณี ร่วมอภิปราย โดยกล่าวถึงประสบการณ์การโดน ‘ทัวร์ลง’ เธอมองว่า Echo Chamber ในตัวมันเองอาจไม่ใช่ปัญหา มนุษย์ในทางจิตวิทยาคืออยากหาความจริงที่ทำให้ถูกใจ ความจริงที่ตรงกับความเชื่อ เพราะฉะนั้น หากเชื่ออะไรมานานๆ ก็ไม่อยากรับฟังอะไรที่ไม่เหมือนความเชื่อ และจะฟังแค่คนที่มีแนวคิดคล้ายกัน ทำให้เกิดแนวโน้มในการสร้าง Echo chamber ขึ้นมา ประเด็นที่ทำให้มีปัญหาคือ Echo Chamber ทำให้เกิดการแบ่งขั้ว หากรับฟังความเห็นจากขั้วอื่นเฉยๆ อาจไม่ส่งผลอะไรมากนัก แต่หากเราลงไปแสดงความคิดเห็นด้วย Echo Chamber จะกลายเป็นขนเม่นที่พร้อมสลัดใส่ขั้วตรงข้ามในทันที ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ทัวร์ลง’ ในที่สุด 

สฤณี กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ Echo Chamber ค่อนข้างส่งผลไปสู่การแตกแยกและแบ่งขั้วคือ 1. สื่อมวลชน ที่ไม่ใช่แค่สร้าง Echo Chamber แต่ผลิตเนื้อหาที่สร้างความยุยงนำไปสู่การเกลียดชัง 2. ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือ ไอโอ - IO (Information Operation) บทบาทของไอโอต่อการสร้าง Echo Chamber ทำเพื่อสร้างความแตกแยกโดยมีการตั้งเป้าหมายศัตรูคือขั้วตรงข้าม และ 3. ทัศนคติ ทำให้อยากไปอยู่แวดล้อมกับคนที่คิดเหมือนกัน ไม่ใช่แค่ปิดกั้นแต่ถึงขั้นมองผู้อื่นเป็นศัตรู ซึ่งจะยิ่งสร้างความแตกแยกมากขึ้น 

‘IO’ จากรัฐสร้างความแตกแยกเกลียดชัง ส่งผลถึงการล่าแม่มด

ประจักษ์ กล่าวสนับสนุนความคิดของสฤณี ในเรื่องของไอโอ โดยมองว่า Echo Chamber ไม่ได้มีปัญหามากถ้าเป็นกรณีประชาชนกับประชาชนด้วยกัน แต่เมื่อรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างกรณีไอโอ ที่เป็นปฏิบัติการของรัฐ ทำให้มีผู้เล่นที่มีเป้าหมายของตนเองเข้ามาเพิ่ม ซึ่งจริงๆ รัฐควรจะเป็นกลาง แต่ตอนนี้รัฐเข้ามา ทั้งยังใช้ทรัพยากรของรัฐ  และมีความจงใจให้เกิดความขัดแย้งและสร้างความเกลียดชัง รวมถึงสูญเสียพื้นที่การถกเถียง

หากในสังคมมีคนหลายขั้วอาจไม่เป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหาต่อเมื่อชุดข้อมูลความเชื่อที่ต่างกันนำไปสู่ความเกลียดชัด จนมองว่าคนอีกขั้วไม่ใช่พลเมืองร่วมสังคม ไม่ควรมีสิทธิเท่ากับเรา จนเกิด Zero-Sum Game

Echo Chamber มีทั้งระดับที่ไม่อันตราย และระดับที่อันตรายคือ นำไปสู่การยุยงปลุกปั่นทำให้เกิดการล่าแม่มด โจมตีชื่อเสียง ในเรื่องนี้เป็นปัญหาหลักที่เราต้องมองว่า Echo Chamber นำไปสู่อะไรบ้าง จากการวิจัยพบว่ากรณีของสังคมไทยยังไม่อันตรายเท่าใดนัก เพราะมีลักษณะเปิดรับอยู่บ้างไม่ได้ปิดเสียทีเดียว ตนมองว่าการออกแบบแก้ปัญหาอาจต้องแก้จากสภาพความเป็นจริง เช่นประเด็นไอโอ ที่จะสร้างปัญหาแน่ๆ 

Echo Chamber ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ของคนรุ่นใหม่

ต่อประเด็นคำถามว่า คนรุ่นใหม่เติบโตมากับความรู้สึกไม่มีที่ทางให้แสดงความคิดเห็น เช่น ไม่สามารถพูดบางเรื่องในห้องเรียน หรือที่บ้านได้ จึงทำให้ต้องไปพูดในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเปรียบเสมือน Comfort Zone (พื้นที่ปลอดภัย) ที่มีเพื่อนที่คิดเห็นไปในทางเดียวกัน ในแง่นี้ Echo Chamber จึงอาจเป็นสิ่งที่ปกป้องคนเหล่านั้น ให้สามารถใช้เสรีภาพได้เต็มที่ 

ประจักษ์ อธิบายว่า การที่พื้นที่สาธารณะไม่สะท้อนเสียงที่หลากหลาย รวมถึงวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยมในห้องเรียน ที่สอนและปลูกฝังแนวคิดทางเดียว หรือการเซ็นเซอร์ข้อมูลข่าวสารจนทำให้ข้อมูลข่าวสารบางชุด หรือแนวคิดบางอย่าง ไม่เคยปรากฏในพื้นที่สื่อกระแสหลัก จนวันหนึ่งสื่อสังคมออนไลน์ได้เสนอข้อมูลชุดใหม่ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนตื่นเต้น และรู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ที่ทำให้ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ อีกทั้งการที่บรรยากาศโดยรวมในพื้นที่สาธารณะถูกปิดกั้น พื้นที่อย่าง Twitter และ Facebook กลายเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพมากกว่า ปลอดภัยกว่า หรืออย่าง Twitter อย่างน้อยก็ปลอดจากผู้ปกครอง สามารถเข้าไปคุยกับคนรุ่นเดียวกัน เกิดเป็นชุมชนเสมือน เป็น Imagined Community อีกแบบหนึ่ง

ทั้งนี้ ประจักษ์ เสนอว่า หากอยากทำให้เกิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ หรือการแลกเปลี่ยนแบบข้ามขั้ว ไม่สามารถแก้ที่พื้นที่สังคมออนไลน์อย่างเดียวได้ แต่ต้องแก้ที่พื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก ห้องเรียน หรือเวทีเสวนา เพราะตอนนี้กลายเป็นว่าพื้นที่ Twitter เป็นพื้นที่ที่สนุกสนาน และทำให้คน ‘ตาสว่าง’ เพราะไม่เคยได้ยินข้อมูลชุดนี้จากพื้นที่อื่น ซึ่งมันก็อาจอันตรายได้หากเป็นข้อมูลเท็จ แต่ผู้เสพสารก็มีแนวโน้มที่จะเชื่อไปแล้วเพราะว่าไม่สามารถหาข้อมูลจากแหล่งอื่นได้ ดังนั้นจึงต้องไปทำพื้นที่สาธารณะเดิม เช่น โทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ หรือห้องเรียน ให้มีคุณภาพมากกว่านี้ เพราะสื่อสังคมออนไลน์ในแง่นี้เปรียบเสมือน Alternative Sources of Information หรือกระทั่ง Alternative Truth คือความจริงอีกชุดหนึ่งที่ถูกปิดกั้นมาโดยตลอด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท