Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายสิทธิฯ รายงาน พ่อนักเรียนที่ถูกหยิกหลังที่ผูกผมด้วยโบว์สีขาวไปโรงเรียนเผย ลูกถูกกระทำ แต่ถูกกล่าวหาว่าหลอกลวง ขณะ ร.ร.ยังไม่ติดต่อมา - 'ภาคีนักเรียน' เปิดชื่อ 109 รร. ละเมิดสิทธิเด็กที่ร่วมแสดงออกทางการเมือง

 

24 ส.ค.2563 กรณีเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2563 แฟนเพจเฟซบุ๊ก “สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก” โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า มีนักเรียนที่ผูกโบว์สีขาวถูกครูหยิกแขนจนช้ำ เหตุเกิดที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ด ต่อมา มีสื่อหลายสำนักรายงานข่าวว่า ครูให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้หยิกแขนหรือแก้มของนักเรียนตามที่ถูกกล่าวหา หรือนักเรียนคนดังกล่าวยืนยันว่า ครูหยิกจริงแต่ไม่ได้เขียวช้ำอย่างที่เป็นข่าว รวมถึงมีการระบุว่า เป็นเรื่องการผิดระเบียบโรงเรียน ไม่เกี่ยวกับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์นั้น

ล่าสุดวันนี้ (24 ส.ค.63) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ทางศูนย์ทนายความฯ ได้ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และติดต่อนักเรียนคนดังกล่าวพร้อมทั้งครอบครัวได้ในเวลาต่อมา โดย พิม (นามสมมติ) นักเรียนชั้น ม.3 เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 ว่า ตนได้ผูกผมด้วยโบว์สีขาวไปโรงเรียน ปกติโรงเรียนมีระเบียบให้ผูกโบว์สีดำอย่างเดียว แต่ก่อนหน้านี้ก็มีคนผูกโบว์ขาวไปโรงเรียนหลายคน

ประมาณ 09.00 น. ขณะที่พิมและเพื่อนเดินเข้าหอประชุมเพื่อไปร่วมกิจกรรม ก็ถูกครูท่านหนึ่งซึ่งยืนอยู่ระหว่างทางเรียก ซึ่งครูคนดังกล่าวไม่ใช่ครูที่พิมเรียนด้วย พิมพอจะทราบว่าถูกเรียกเพราะเรื่องโบว์ขาว จึงเดินไปหาครูพร้อมกับแกะโบว์ออกจากผม และได้ดึงแขนเพื่อนซึ่งไม่มีใครผูกโบว์ขาวให้ไปด้วยกัน แต่ครูไล่ให้เพื่อนกลับไปหอประชุม จากนั้นครูก็หยิกที่แขนซ้ายของพิมพร้อมกับบิด จนเธอเจ็บมาก ครูยังบอกให้พิมถอดแมสค์ออก เมื่อพบว่า พิมแต่งหน้า ครูก็ถ่ายรูปไว้ก่อนที่จะหยิกที่แก้มอีก แล้วจึงปล่อยกลับไปหอประชุม ระหว่างทางพิมได้เอาโบว์ขาวไปทิ้งขยะ โดยมีเพื่อนผู้ชายเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวแต่ก็ไม่มีใครถ่ายรูปหรือคลิปไว้ 

พิมยังเล่าต่อว่า จากนั้นระหว่างที่เธอพักทานข้าวอยู่ที่โรงอาหาร ได้มีสื่อมาขอสัมภาษณ์ โดยมีครูคนอื่นยืนอยู่และให้สัมภาษณ์ด้วย ทำให้เธอไม่กล้าพูดอะไรมาก ในช่วงบ่ายก็มีครูปกครองเข้ามาสอบถามว่าเธออยู่ห้องไหน และพูดเหมือนข่มขู่ แต่พิมจำไม่ได้ว่าครูพูดอะไรบ้าง เพราะตอนนั้นเธอตกใจมาก นอกจากนี้ พิมยังทราบจากครูประจำชั้นว่า มีครูบางคนพูดในที่ประชุมว่า รูปที่มีคนเอาไปโพสต์โดยเห็นรอยช้ำที่แขนนั้น เธอเป็นคนเอาสีมาทาที่แขนเอง 

จากการสอบถามเหตุผลในการผูกโบว์สีขาวไปโรงเรียน พิมเล่าว่า เธอตั้งใจแสดงออกว่าไม่ชอบรัฐบาลนี้ รวมทั้งสนับสนุนคนที่ออกมาชุมนุมในช่วงนี้ ส่วนสาเหตุที่แต่งหน้าไปโรงเรียนในวันนั้น พิมชี้แจงว่า ในวันนั้นที่โรงเรียนมีกิจกรรมประกวดชุดรีไซเคิล ซึ่งเพื่อนนำเครื่องสำอางมาแต่งหน้า เธอก็เลยหยิบมาแต่งตามเพื่อนด้วย 

ต่อเหตุการณ์ที่เธอถูกทำโทษนี้ พิมกล่าวว่า เธอต้องการให้ครูคนที่ทำโทษพูดความจริง โดยยอมรับว่าครูได้หยิกเธอจริงๆ 

นอกจากพิมที่ถูกครูทำโทษแล้ว พิมเล่าว่า เมื่อวันพฤหัสบดี (20 ส.ค. 2563) ซึ่งมีเพื่อนในห้องผูกโบว์ขาวไปหลายคน เพื่อนก็ถูกครูเรียกไปถาม โดยเพื่อนได้เอาหนังสือของกระทรวงศึกษาที่มีการเผยแพร่ให้ครูดู แต่เธอไม่ทราบว่าครูว่ายังไง เพราะตอนนั้นเธอไม่ได้อยู่กับเพื่อน แต่วันต่อมาเพื่อนในห้องก็ไม่มีใครผูกโบว์ขาวไปอีก มีเธอคนเดียว ส่วนชั้นอื่นก็มีคนผูกไปอยู่ ซึ่งเธอรู้มาว่า พวกเขาก็ถูกครูเรียกไปคุยว่าผิดระเบียบ แต่ไม่มีใครถูกหยิก

ทางด้านพ่อของพิมให้ข้อมูลว่า เขามาทราบภายหลังว่าลูกผูกโบว์สีขาวไปโรงเรียน แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะเห็นเป็นเรื่องธรรมดา และพอทราบว่า ลูกถูกหยิกก็โมโห แต่ตอนแรกคิดว่า จะให้ลูกทำเฉยๆ ไปโรงเรียนตามปกติ และรอฟังว่า ทางโรงเรียนจะไกล่เกลี่ยหรือเรียกไปคุย แต่ก็ยังไม่เห็นทางโรงเรียนติดต่อมา ไปๆ มาๆ ได้ยินข่าวว่า มีการตำหนิหรือกล่าวหาว่า ลูกไม่ได้ถูกหยิกจนเป็นรอยช้ำจริง จากการเป็นคนถูกกระทำกลายเป็นคนหลอกลวง เขาจึงตัดสินใจว่า จะดำเนินการร้องเรียนกับทางโรงเรียนต่อไป 

ทั้งนี้ ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 กำหนดวิธีการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ ของสถานศึกษาไว้ 4 สถาน คือ ว่ากล่าวตักเตือน, ทำทัณฑ์บน, ตัดคะแนนความประพฤติ หรือทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ห้ามลงโทษด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้ง หรือด้วยความพยาบาท โดยให้คำนึงถึงอายุของนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษ

ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน (สพฐ.) มีหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 18 ส.ค. 2563 ถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต ขอให้ดำเนินการให้โรงเรียนในสังกัดเปิดพื้นที่ให้สถานศึกษาดำเนินกิจกรรมในการแสดงความคิดเห็นภายใต้หลักการและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยคำนึงถึงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และความปลอดภัยของนักเรียน 

เห็นได้ว่า แม้โรงเรียนหรือครูเห็นว่า นักเรียนทำผิดระเบียบของโรงเรียน ก็ไม่อาจลงโทษโดยการหยิกได้ และหากนักเรียนยืนยันที่จะใช้เสรีภาพในการแสดงออกด้วยการผูกโบว์สีขาว ครูก็อาจให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ที่นักเรียนจะยังแสดงออกได้โดยไม่ขัดต่อระเบียบโรงเรียน ไม่ใช่การห้ามหรือทำโทษที่ขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน

'ภาคีนักเรียน' เปิดชื่อ 109 รร. ละเมิดสิทธิเด็กที่ร่วมแสดงออกทางการเมือง

บีบีซีไทย รายงานว่า ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย (AST) และ Uncommon International Group (UNG) เข้ายื่นข้อร้องเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ช่วงบ่ายวันนี้ (24 ส.ค.) เปิดเผยรายชื่อโรงเรียนอย่างน้อย 109 แห่งที่ถูกกล่าวหาว่าปิดกั้นและคุกคามนักเรียนที่ร่วมแสดงออกทางการเมืองในรั้วโรงเรียน ต่อหน้าผู้บริหาร ศธ. ผ่าน สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ คณะทำงาน รมว.ศธ. ในฐานะตัวแทนรัฐมนตรี และวัลลพ สงวนนาม ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้วยการให้พวกเขาสแกนคิวอาร์โคว้ด จากนั้นรายชื่อโรงเรียนที่ถูกเยาวชนร้องเรียนก็จะปรากฏขึ้นมา ตามด้วยคิวอาร์โคว้ดที่ 2 ที่แสดงหลักฐานการร้องเรียนเบื้องต้นจากนักเรียนโรงเรียนต่าง ๆ

สมบูรณ์ได้รับปากจะนำข้อมูลทั้งหมดไปรายงานนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. และให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำไปดำเนินการต่อไป พร้อมระบุว่า "คงต้องสังคายนากันครั้งใหญ่" โดย ศธ. พร้อมเปิดรับข้อมูลเรื่องการคุกคามนักเรียนจากทุกภาคส่วน รวมถึงข้อมูลที่ปรากฏตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนด้วย

ข้อเสนอด้านมาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล Introduction and...

โพสต์โดย ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย - Associate of students in Thailand เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม 2020

ขณะที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย - Associate of students in Thailand' เผยแพร่ข้อเสนอด้านมาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล 

โดยมีรายละเอียดดังนี้

Introduction and Report Conclusion

เนื่องจากตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ด้านการคุกคาม ข่มขู่ ทำร้าย บุคลากรทางการศึกษา อาทิ นักเรียน นักศึกษา ครู ฯลฯ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินการต่าง ๆ ที่ปราศจากมาตรการการป้องกันที่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจากรายงานของการรับคำร้องเรียนที่เกี่ยวกับ การข่มขู่ คุกคาม พบว่านักเรียน และนักศึกษา เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบนี้มากที่สุด อย่างเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในสังคมในกว้าง ส่งผลให้มีการรวมกลุ่มหรือสร้างวิธีการเรียกร้องหรือร้องเรียนจำนวนมาก

หากว่าด้วยเรื่องของสิทธิมนุษยชน ตามหลักประชาธิปไตย ที่มุ่งเน้นไปที่ความเท่าเทียมในการแสดงออกถึงความคิดเห็น และสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล ในระดับสากล นับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรถูกอ้างอิงถึง ในการวางมาตรการการป้องกันการคุกคามบุคลากรทางการศึกษา และความไม่โปร่งใสของข้อมูล

จากประกาศ เรื่องการชุมนุมของนักเรียนนักศึกษา และ การเปิดรับฟังความคิดเห็น ของนักเรียนนักศึกษา ที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่สอดคล้องกับหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการ ทางภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย (AST) และ Uncommon International Group (UNG) ได้นำไปทำการศึกษา วิพากษ์ อภิปราย รับรายงาน จากนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาจากทั่วประเทศ ควบคู่กับการสอดส่องความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจทางการศึกษา ว่ามีการออกมาตรการการรับมืออย่างไร มีความเถียรภาพ และประยุกต์ได้จริงหรือไม่

ผลลัพธ์ที่มาจากการแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นและการศึกษาที่สอดคล้องกับประกาศข้างต้นและอื่น ๆ ในวงกว้าง (รับข้อร้องเรียน สังเกตุความเคลื่อนไหวทางสังคม และเปิดพื้นที่สนทนาสาธารณะ) สรุปได้ว่า มาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษา และความไม่โปร่งใสของข้อมูล ที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะชนของทางกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้รับผลตอบลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ และไม่สามารถประยุกต์ใช้เพื่อการแก้ปัญหาได้จริงในระดับประเทศ ที่มีเรื่องของความแตกต่างทางแนวคิด สังคม สถานะ วิถีชีวิต และโอกาส มาเกี่ยวข้อง

โดยละเอียดเพิ่มเติม หลักฐานการคุกคาม หรือรายชื่อโรงเรียนที่มีการร้องเรียนจากนักเรียนที่ https://student.uncommonsupport.com/

Request

จากการรายงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการของ AST และ UNG เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปด้านข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ ที่ว่าด้วยมาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล

ทางคณะบริหารของ AST และ UNG ขอประกาศความท้าทาย เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างจริงจัง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. หลังจากที่ตัวแทนจาก Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย นำข้อเสนอ ฯ นำเสนอในวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ขอความกรุณาจากทางกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการออกแถลงการณ์มาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล ที่สอดคล้องกับความยืดหยุ่นในการแสดงออกต่าง ๆ ภายใต้สิทธิและเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และยึดตามโครงสร้างทางสิทธิและเสรีภาพ ความเท่าเทียม การกระจายโอกาสในระดับสากล ที่มาพร้อมกับแนวทางการป้องกันปัญหาด้านการข่มขู่ คุกคาม และการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะที่ไม่โปร่งใส ในวันที่ 27 สิงหาคม 2563

หากภายในวันที่ 27 สิงหาคม 2563 ทางกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถออกประกาศมาตรการการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้นได้ ทาง Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย จะแสดงตัวเป็นผู้นำสาธารณะในการออกแถลงการณ์มาตรการการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะในวงกว้าง และดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนต่าง ๆ ตามแผนที่เตรียมไว้ อาทิ การรวบรวมข้อมูลและวางแผนพัฒนาระบบหรือแพลตฟอร์มสาธารณะ ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากรทางการศึกษาในวงกว้าง ฯลฯ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านการศึกษาที่สอดคล้องกับการป้องกันการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล และการพัฒนาระบบการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมในอนาคต

แต่หากทางกระทรวงศึกษาธิการสามารถออกประกาศมาตรการการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้นได้ รวมถึงทางคณะบริหารของ Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย มีความเห็นพร้องตรงกันตามหลักประชาธิปไตยว่า ประกาศ ฯ นั้น สามารถเป็นที่ยอมรับได้และใช้ได้จริง และยืนหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และความเหมาะสมในอนาคตอย่างสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้น ทาง Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย จะดำเนินการที่สอดคล้องกับการรับฟังข้อคิดเห็นของสาธารณะชน เพื่อสนับสนุนมาตรการการดำเนินการต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนขยายคำอธิบาย : ข้อเสนอด้านความท้าทายนี้มุ่งเน้นด้านการสร้างแรงกดดัน ที่เป็นตัวพิสูจน์ทักษะการเป็นผู้นำทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ และความเข้าใจถึงปัญหาที่สอดคล้องอย่างลึกซึ้ง ฯลฯ

2. ขอความกรุณาจากทางกระทรวงศึกษาธิการ ให้ดำเนินการเผยแพร่ระบบใด ๆ ที่เป็นส่วนนำร่องแนวทางเพื่อรับมือกับมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของทางกระทรวงศึกษาธิการเอง ในวันที่ 1 กันยายน 2563

หากทางกระทรวงศึกษาธิการไม่สามารถเผยแพร่ระบบ ที่จะสามารถรองรับประกาศ ฯ ที่เหมาะสมของตนได้ ทาง Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย จะออกระบบที่จะมารองรับและสอดคล้องกับประกาศมาตรการการดำเนินการของทาง Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทยเอง จะแสดงตัวเป็นผู้นำสาธารณะในการเผยแพร่ระบบเพื่อรองรับมาตรการการป้องกันที่เกี่ยวข้องกับการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล ภายใต้การรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณะในวงกว้าง และดำเนินการเพิ่มเติมในส่วนต่าง ๆ ตามแผนที่เตรียมไว้

แต่หากทางกระทรวงศึกษาธิการสามารถเผยแพร่ระบบที่รองรับมาตรการการดำเนินการต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับประกาศของทางกระทรวง ฯ ที่เป็นที่ยอมรับได้ รวมถึงทางคณะบริหารของ Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย มีความเห็นพร้องตรงกันตามหลักประชาธิปไตยว่า ระบบนั้น ๆ สามารถเป็นที่ยอมรับได้และใช้ได้จริง และยืนหยุ่นต่อการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์และความเหมาะสมในอนาคตอย่างสมเหตุสมผล และสอดคล้องกับข้อเรียกร้องข้างต้น ทาง Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย จะดำเนินการที่สอดคล้องกับการรับฟังข้อคิดเห็นของสาธารณะชน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบต่าง ๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ

ส่วนขยายคำอธิบาย : ข้อเสนอด้านความท้าทายที่สอดคล้องกับการวางระบบนี้ มุ่งเน้นด้านการสร้างแรงกดดัน ที่เป็นตัวพิสูจน์ความเข้าใจถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษา และความรู้ความเข้าใจ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่สู่การประยุกต์ใช้ในระบบการศึกษา การรับรู้ถึงความล้าสมัยของแนวคิดและระบบอย่างถูกจุดของคณะผู้บริหารและผู้นำทางการศึกษา พร้อมทั้งพิสูจน์ความเข้าใจถึงทักษะ ความสำคัญ และการเข้าถึงเทคโนโลยีของบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ

ทาง Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย ขอนำเสนอและประกาศความท้าทาย 2 ข้อนี้ต่อกระทรวงศึกษาธิการอย่างจริงจัง เพื่อเป็นช่องทางการนำเสนอและพิสูจน์ความสามารถของกระทรวงศึกษาธิการในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะที่สอดคล้องต่อทักษะความเป็นผู้นำและความรู้ความเข้าใจถึงปัญหาและแนวทางการแก้ไขของระบบการศึกษา รวมถึงความจริงจังและกระบวนการในการพัฒนาทางการศึกษา

Representatives

ตัวแทนจาก Uncommon International Group และภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย นำโดย นายนฤเบศน์ รักษ์วิจิตร นายพีรพล ระเวกโสม นางสาวภวรัญชน์ จิตรัตนโสภณ และนายยศภัทร หว้านหอม ซึ่งต่างเป็นผู้ทำงานร่วมระหว่างองค์ของ UNG และ AST ในตำแหน่งที่สำคัญ ข้อเสนอด้านมาตรการการรับมือกับสถานการณ์ด้านการคุกคามบุคลากรทางการศึกษาและความไม่โปร่งใสของข้อมูล ฉบับที่ 1/2020 เข้าเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ

นายนฤเบศน์ รักษ์วิจิตร ประธานสูงสุดประจำ Uncommon International Group, ฝ่ายพัฒนาระบบ แผน และกลยุทธ์ และโฆษก ประจำภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย

นายพีรพล ระเวกโสม ประธานภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย และ ที่ปรึกษาด้านการดำเนินงานประจำ Uncommon Environment

นางสาวภวรัญชน์ จิตรัตนโสภณ เลขานุการ ประสานงานประจำ Uncommon International Group และประชาสัมพันธ์ประจำภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย

นายยศภัทร หว้านหอม หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์ประจำภาคีนักเรียนแห่งประเทศไทย และฝ่ายประสานงานประจำ Uncommon International Group

ด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net