Skip to main content
sharethis

ทีมสื่อคณะก้าวหน้ารายงานว่า คณะก้าวหน้าแถลงข่าวเปิดตัวผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 32 ทีม ภายใต้ยุทธศาสตร์ 'เปลี่ยนประเทศไทยเริ่มได้ที่บ้านเรา' โดยมีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นผู้กล่าวเปิดการแถลงข่าวพร้อมกล่าวถึงหลักการของคณะก้าวหน้า ในการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563

ชูวิสัยทัศน์เปลี่ยนประเทศเริ่มได้ที่บ้านเรา

ธนาธร ระบุว่าในฐานะพลเมืองไทย เราต่างมีสิทธิในการเลือกตัวแทนเพื่อเข้าไปใช้อำนาจแทนพวกเรา 5 วาระด้วยกัน นั่นคือในการเลือกตั้งระดับชาติเป็น ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎร การเลือกผู้บริหารในระดับจังหวัด, การเลือกสมาชิกสภาจังหวัด, และการเลือกนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับเทศบาล และอบต.

การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญ เพราะเป็นการเลือกตัวแทนเข้าไปบริหารงบประมาณกว่า 8 แสนล้านบาทของท้องถิ่นทั่วประเทศ เฉพาะในระดับ อบจ.เองก็มีงบประมาณกว่า 8 หมื่นล้านบาทแล้ว เป็นตัวแทนในระดับที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าระดับ ส.ส.เสียอีก แต่ในขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาการเมืองท้องถิ่นมีข้อครหามากมายเกี่ยวกับการทุจริตและเรื่องของอิทธิพล

ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ คณะก้าวหน้าจึงตัดสินใจลงมาทำการเมืองท้องถิ่น ทำให้การเมืองท้องถิ่นรับใช้ประชาชน โดยยึดแนวทางการทำงานของพรรคอนาคตใหม่เดิม ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์หาเสียงด้วยความคิด นโยบาย ไม่ใช่การซื้อเสียง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการทุจริตและสร้างระบบอุปถัมภ์ในประเทศไทย

“เราจะลงแข่งด้วยนโยบาย โดยออกแบบนโยบายภายใต้การยึดอุดมการณ์ของพรรอนาคตใหม่ นั่นคือ ‘คนไทยเท่าเทียมกัน ประเทศไทยเท่าทันโลก’ แปรนโยบายระดับชาติของพรรคอนาคตใหม่เดิม ให้เป็นนโยบายที่จับต้องได้ในระดับท้องถิ่น นี่คือเครื่องมือที่สำคัญที่สุดในการลงสมัครครั้งนี้” นายธนาธรกล่าว

นโยบาย ขนส่ง-ท่องเที่ยว-สิ่งแวดล้อม-การศึกษา - ออกแบบผ่านการเดินพบประชาชนจริง

จากนั้น ธนาธรจึงยกตัวอย่างวิสัยทัศน์ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ในจังหวัดต่างๆ นำเสนอต่อคณะก้าวหน้า และกลายมาเป็นนโยบายที่มีความน่าสนใจหลายนโยบายในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นแผนการสร้างระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ การศึกษาท้องถิ่น ฯลฯ

รวมทั้งการจัดการปัญหาการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่นการใช้แอพพลิเคชันในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามผลการร้องเรียน รับฟังความคิดเห็นของประชาชน เปิดเผยข้อมูลการใช้งบประมาณต่างๆ

นโยบายทั้งหมด ไม่ได้เกิดการจากนั่งคิดในห้องแอร์ แต่เกิดจากการเดิน 3 จริง คือการลงไปในพื้นที่จริง พบกับประชาชนจริง และอยู่ในสถานการณ์จริง ที่ทำให้เราเข้าใจถึงปัญหา เอาข้อมูลที่ได้กลับมาเป็นนโยบาย จนเป็นนโยบายต่างๆที่ทุกคนเห็นในวันนี้

ธนาธรกล่าวต่อไป ว่าเรามาประกาศความพร้อมของคณะก้าวหน้าในการลงสมัคร อบจ. 32 จังหวัด รวมกับทีมงานเป็น 640 คน ทั้งหมดจะทำงานภายใต้กรอบการทำงาน อันประกอบไปด้วยความยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย และพร้อมร่วมผลักดันการสร้างประชาธิปไตย, ไม่ซื้อเสียง เอาชนะด้วยนโยบายและการทำงานอย่างจริงจัง, ไม่มีประวัติการค้ามนุษย์หรือค้ายาเสพติด, ไม่ทุจริต ไม่เข้ามามีอำนาจเพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง และที่สำคัญที่สุดคือพร้อมร่วมการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปรัฐราชการ ยุติการรวมศูนย์อำนาจและทรัพยากรไว้ที่ส่วนกลาง

“เราอยากชักชวนให้ทุกท่านกลับมาสนใจการเมืองท้องถิ่นอีกครั้ง นี่คือเรื่องของภาษีทุกท่านที่มีโอกาสเลือกผู้บริหารโดยตรง 8 แสนล้านในท้องถิ่นทุกระดับ 8 หมื่นล้านบาทใน อบจ. ถ้าท่านไม่สนใจการเมืองท้องถิ่นเท่ากับว่าไม่สนใจภาษีของท่านเองส่วนหนึ่ง นี่คือเวลาที่ดีที่สุดที่จะเริ่มเปลี่ยนแปลงประเทศไทย วันนี้คณะก้าวหน้ายืนยันอีกครั้ง และขอเชิญพ่อแม่พี่น้องประชาชนมาร่วมกัน เปลี่ยนแปลงประเทศไทยเริ่มต้นได้ที่บ้านเรา” ธนาธรกล่าว

ประธานคณะก้าวหน้ายังกล่าวด้วย ว่าพวกเราพร้อม ใน 32 จังหวัดที่เราเปิดตัววันนี้ และในอีกหลายจังหวัดที่เรากำลังอยู่ในกระบวนการคัดสรร เรายืนยันเจตนารมณ์ และเจตจำนงที่มุ่งมั่นของพวกเราในการผลักดันประเทศไทยไปข้างหน้า ขอให้ประชาชนให้โอกาสพวกเราเข้าไปทำงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

ดักทางอย่าไม่ตรงวันหยุดยาว จงใจให้ประชาชนมาใช้สิทธิน้อย

จากนั้น ธนาธรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนพร้อมกับผู้สมัครทั้ง 32 คน โดยช่วงหนึ่งธนาธรแสดงความเห็นต่อกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่า แม้ตนจะยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้จริงหรือไม่ แต่เท่าที่ดูความเป็นไปได้ตอนนี้ หากการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้จริง จะมีทางเลือกอยู่สองทาง คือระหว่างจะเป็นวันที่ 13 ธันวาคม หรือ 20 ธันวาคม

ประธานคณะก้าวหน้า เห็นว่า การกำหนดวันเลือกตั้งระหว่าง 13 กับ 20 มีผลทางการเมืองอย่างมาก เพราะวันที่ 13 เป็นวันหยุดยาวที่ต่อเนื่องมาจากวันที่ 10 ธ.ค. มีการประกาศให้เป็นวันหยุดยาวไปแล้ว แต่วันที่ 20 ไม่ได้เป็นวันหยุดยาว นั่นหมายความว่าถ้ารัฐบาลจัดการเลือกตั้งในวันที่ 20 ธ.ค. ประชาชนจะต้องกลับบ้านไปเลือกตั้งท้องถิ่นอีกรอบ เท่ากับต้องกลับบ้านสามครั้ง รวมกับวันที่ 27 ธ.ค. ซึ่งเป็นช่วงปีใหม่อีก

การกำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันที่ 20 ธ.ค. จึงไม่สมเหตุสมผลด้วยประการทั้งปวง ทำให้คนกลับไปเลือกตั้งน้อยลง รัฐบาลควรจะลดภาระในการเดินทางไปเลือกตั้งของประชาชน ไม่ใช่การสร้างอุปสรรค คณะก้าวหน้าจึงเห็นว่าการกำหนดให้เป็นวันที่ 13 ธ.ค. มีความเหมาะสมมากกว่า

“หากกำหนดวันเลือกตั้งให้เป็นวันที่ 20 ประชาชนจะต้องกลับบ้านที่ต่างจังหวัดถึงสามครั้ง ในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้คนที่พร้อมกลับบ้านได้ถึงสามครั้งมีน้อยมาก และสุดท้ายจะไม่มีใครไปเลือกตั้ง คณะก้าวหน้าเราพร้อมอย่างมาก แต่ถ้ารัฐบาลจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นวันที่ 20 ธ.ค. ก็คงชัดเจนว่ากลัวความพร้อมของคณะก้าวหน้า และต้องการให้ประชาชนมาใช้สิทธิเป็นจำนวนน้อย” ธนาธรกล่าว

สำหรับรายชื่อจังหวัดที่คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ในทั้ง 32 จังหวัดนั้น ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา, พะเยา, นครราชสีมา, นครสวรรค์, สุรินทร์, นครพนม, แพร่, ร้อยเอ็ด, สิงห์บุรี, ลพบุรี, สมุทรสงคราม, สระบุรี, สมุทรสาคร, สุราษฎร์ธานี, อุบลราชธานี, หนองคาย, หนองบัวลำพู, อยุธยา, อ่างทอง, อุดรธานี, อุตรดิตถ์, ราชบุรี, ตาก, นครปฐม, นนทบุรี, ระยอง, บึงกาฬ, พิษณุโลก, ปราจีนบุรี, พังงา, สกลนคร, และมุกดาหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net